เราทุกคนต่างโหยหา สถานะทางสังคม แทบทั้งสิ้น (Social Status)

บุคคลจะรู้สึกมีสถานะทางสังคมที่สูงขึ้นก็ต่อเมื่อคนรอบตัวมีสถานะทางสังคมที่ต่ำกว่าตัวเอง

            ในฐานะที่ผมเป็นครูการศึกษาพิเศษ ทำให้ผมมีโอกาสได้สังเกตนักเรียนที่มีภาวะออทิสติกสเปกตรัม (Autism Spectrum Disorder) และนักเรียนปกติทั่วไป แม้ทั้งสองจะมีระบบการคิดหลายอย่างที่แตกต่างกัน และมีการแสดงออกทางพฤติกรรมที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ความต้องการความสุข การเห็นคุณค่าในตนเอง ความรัก ความอยากรู้สึกมีอำนาจ และอีกมากมายรวมไปถึงความต้องการสถานะทางสังคม

            ความต้องการที่ผมกล่าวมาข้างต้นทั้งหมดล้วนสอดคล้องกันทั้งหมด เพราะเป็นความรู้สึกด้านบวกที่เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น เราจะเห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้น เมื่อมีคนชมเชย ให้กำลังใจ หรือ เราจะรู้สึกว่ามีความสุขมากขึ้น เมื่อเรามีเพื่อนที่คอยรับฟังเรื่องราวต่าง ๆ หรือมีอำนาจมากขึ้น เมื่อมีคนให้คุณค่า เชื่อมั่นในการตัดสินใจของเรา แน่นอนเราสามารถสร้างความสุข คุณค่าในตนเอง และความรู้สึกมีอำนาจได้จากภายในตัวเองด้วย แต่เราต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่อยู่ภายใน กับสิ่งที่อยู่ภายภายนอกล้วนสอดประสานจนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน

            สถานะทางสังคมก็ไม่แตกต่างกัน เพราะปัจจัยนี้จำเป็นต้องอาศัยบุคคลในสังคมเพื่อสร้างหรือหล่อหลอมให้เกิดขึ้นมา หลายคนอาจจะมองว่าสถานะทางสังคมไม่ได้สำคัญถ้าเทียบกับคุณค่าในตนเองหรือความสุข แต่ที่จริงแล้วสถานะทางสังคมเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมาก และเราทุกคนต่างโหยหามันอย่างไม่รู้ตัว ในบทความนี้ผมจะนำเสนอว่าสถานะทางสังคมคืออะไร แล้วทำไมเราถึงต้องการมัน รวมไปถึงพฤติกรรมอะไรบ้างที่เราแสดงออกมาเวลาที่ต้องการมันอย่างสุดหัวใจ

เราทุกคนโหยหาสถานะทางสังคม

            สถานะทางสังคม คือ ระดับคุณค่าทางสังคมอันประกอบไปด้วย ความเคารพ เกียรติยศ คุณค่า ความนับถือที่บุคคลพิจารณาว่าตนได้ถือครอง กล่าวคือ เป็นปัจจัยที่บุคคลจะต้องพิจารณาด้วยตนเองอยู่ในระดับใดของสังคม ยกตัวอย่างเช่น คนบางคนได้รับความเคารพในระดับที่ใกล้เคียงกัน แต่รู้สึกว่าตนเองมีสถานะทางสังคมไม่เท่ากัน เพราะอย่างที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น ไม่ใช่เพียงปัจจัยภายนอกเท่านั้นที่มีผล แต่มันขึ้นอยู่กับภายในตัวเราด้วยที่จะกำหนดสถานะทางสังคมว่ามีมากน้อยเท่าไหร่

            หลายคนอาจไม่ยอมรับกับคำว่า "เราทุกคนโหยหาสถานะทางสังคม" โดยอาจจะอ้างว่า "จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้อยากมีชื่อเสียง เกียรติยศสักเท่าไหร่หรอก" ซึ่งที่จริงแล้วลึก ๆ ภายในจิตใจของเราต่างต้องการความเคารพ เกียรติยศ คุณค่า หรือความนับถือแทบทั้งสิ้น เราสามารถมองเห็นได้จากพฤติกรรมของคนทั่วไปรวมถึงตัวเองด้วย ทั้งเสื้อผ้าที่ซื้อ บ้านที่เลือกอยู่อาศัย และของขวัญที่มอบให้คนอื่น เหนือสิ่งอื่นใดก็คือมาตรฐานความ "พอ" ที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา สังเกตว่าเราไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองมีรายได้เพียงพอต่อให้เงินเดือนจะเพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ก็ตาม

            เราสามารถสังเกตการโหยหาสถานะทางสังคมของตนเองได้จากพฤติกรรมการเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นหลักฐานได้อย่างดี การเปรียบเทียบเป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน ไม่ว่าคนคนนั้นจะอยู่ในสถานะเศรษฐกิจสังคมอย่างไรก็ตาม เนื่องจากพฤติกรรมส่วนใหญ่ของเราถูกกำหนดด้วยอารมณ์โดยที่เราไม่รู้ตัว แม้ว่าเราจะอ้างว่าตัวเองไม่เคยเปรียบเทียบกับใคร แต่จริง ๆ แล้วเราทุกคนทำมันลงไปโดยอัตโนมัติ และเรามักจะเปรียบเทียบกับคนที่เรารู้สึกว่าเขาอยู่เหนือกว่าเรา ส่วนหนึ่งเพราะกิเลสในตัวของเรา 
และส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเรารู้สึกทุกข์ ไม่พอใจ ไม่สบายใจกับสภาพปัจจุบันของตนเอง

เรายกระดับสถานะทางสังคมโดยการเปรียบเทียบกับผู้อื่น

            เราใช้วิธีการเปรียบเทียบกับผู้อื่นรอบตัวเพื่อกำหนดสถานะทางสังคมให้กับตัวเองโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว เป็นกลไกเพื่อวิเคราะห์ว่าเรามีรายได้มากพอหรือไม่ เมื่อเพื่อนบ้านถอยรถคันใหม่ เราไม่ได้คิดหรอกว่า "ดีจัง รถสวย" หรือ "ดีจัง แบบนี้ต้องหามาขับบ้าง" แต่เรารู้สึกอยากแข่งขันขึ้นมา และหันมามองรถตัวเอง พร้อมกับสังเกตเห็นว่ารถตัวเองเก่าแล้ว หรือรถคันนี้ไม่ดีเหมือนเมื่อก่อนเลย อีกทั้งเราจะสังเกตเห็นรายละเอียดเชิงลบบางอย่างที่เราเคยมองข้ามมาทั้งหมด

            เราเปรียบเทียบทางสังคมกับคนทุกกลุ่มในทุกโอกาส แต่ก็ยังมองเห็นตัวเองอยู่ฝั่งบนของบนไดสถานะได้ครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างน่าสงสัย เราจะรู้สึกสบายใจเมื่ออยู่ด้านบนของบันได ลองนึกดูว่าเราประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานแค่ไหน ฉลาดแค่ไหน มีศีลธรรมแค่ไหน เป็นเพื่อนที่ดีแค่ไหน ขับรถเก่งไหม ลึก ๆ แล้วเรารู้สึกว่าตัวเองเก่งกว่าคนทั่วไปเกือบทุกเรื่อง อันที่จริงคนส่วนมากก็รู้สึกเช่นนี้เหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่ในความจริงแล้วมันแทบเป็นไปไม่ได้เลย

เราจะรู้สึกสบายใจเมื่ออยู่ด้านบนของบันได

            หากถามว่าความรู้สึกว่าตนเองมั่นใจ หรือเหนือกว่าคนอื่นมันเกี่ยวข้องอย่างไรกับการโหยหาสถานะทางสังคม คำตอบก็คือจริง ๆ แล้วมันสอดคล้องกันอย่างปฏิเสธไม่ได้เลย นั่นก็เพราะว่าบุคคลจะรู้สึกมีสถานะทางสังคมที่สูงขึ้นก็ต่อเมื่อคนรอบตัวมีสถานะทางสังคมที่ต่ำกว่าตัวเอง การขยับตัวเองให้ดูเก่ง มีความสามารถ ใช้เสื้อผ้าราคาแพง ๆ บ้านคอนโดหรู รถยนต์ไฮโซก็คือการขยับสถานะทางสังคมให้สูงกว่าคนรอบข้าง 

            หลายคนอาจจะบอกว่า "มันคือความสุข" หรือ "มันคือความภูมิใจ" แต่สิ่งที่น่าพิจารณาก็คือทำไมเราถึงต้องอยากได้ความสุขหรือความภูมิใจกับวัตถุสิ่งของด้วยล่ะ หรืออย่างที่ผมกล่าวไว้ว่าการพยายามให้ตัวเองดูเก่งมากขึ้น ดีหรือฉลาดมากขึ้น ก็เป็นหนึ่งในการยกระดับสถานะทางสังคมเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างการศึกษาหนึ่งของคอลเลจบอร์ด (College Board) ซึ่งเป็นผู้ออกข้อสอบ SAT สำหรับเข้ามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา 

            การศึกษาดังกล่าวขอให้นักเรียนที่สอบ SAT ในปีหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนราวหนึ่งล้านคน ระบุอันดับของตนเองโดยเทียบกับนักเรียนกลุ่มมัธยฐาน (กลุ่มที่มีคะแนนอยู่ในระดับกลาง) การจัดอันดับไม่ได้พิจารณาแค่ผลการสอบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงลักษณะส่วนตัว เช่น ความเป็นผู้นำและการปรับตัวเข้ากับผู้อื่น นักเรียนร้อยละ 70 ระบุว่าตัวเองอยู่เหนือมัธยฐานด้านความเป็นผู้นำ และร้อยละ 85 ระบุว่าตัวเองอยู่เหนือมัธยฐานด้านการปรับตัวเข้ากับผู้อื่น 

            หรือการศึกษาหนึ่งที่ขอให้นักโทษที่ชดใช้ความผิดอยู่ในเรือนจำด้วยข้อหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย ลักทรัพย์ ฉ้อโกง หรืออาชญากรรมอย่างอื่น มาเปรียบเทียบตัวเองกับประชาชนทั่วไป พวกเขา (นักโทษ) จะมองว่าตัวเองมีศีลธรรมและซื่อสัตย์ที่มากกว่า และยังมีความเห็นอกเห็นใจและควบคุมตัวเองได้ดีกว่า (ประชาชนทั่วไป) ด้วย 

            ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าคนเราส่วนมากเชื่อว่าตนเองฉลาด อดทนอดกลั้น มุ่งมั่น ตั้งใจ เก่ง และมีคุณสมบัติเชิงบวกอื่น ๆ เหนือกว่าคนทั่วไป ยิ่งเราให้ความสำคัญกับคุณลักษณะนั้น เราก็ยิ่งให้คะแนนตัวเองเกินจริงมากขึ้น ทั้งหมดนี้คือการผลักดันให้ตัวเองก้าวเข้าสู่บันไดในใจขั้นสูงขึ้น อย่างไรก็ตามการดันตัวเองให้สูงกว่าคนอื่นก็ไม่ได้เป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะยกระดับสถานะทางสังคมของตัวเอง

            บางครั้งการดึงคนอื่นให้ต่ำลงมาด้วยก็สามารถยกระดับสถานะทางสังคมได้เช่นกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ข่าวลบ ๆ ของคนเด่นคนดังได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม และสามารถขายได้ไม่ว่าจะยุคใดสมัยใด นับตั้งแต่สมัยอริสโตเติล คนที่มีสถานะทางสังคมสูงคือตัวเอกในละครต่าง ๆ เพราะผู้ที่อยู่สูงเท่านั้นจึงจะร่วงลงสู่ที่ต่ำได้ ทั้งในชีวิตประจำวันและในงานศิลป์ ตาของเราจะมองไปยังชีวิตของคนรวยและคนดัง ในขณะที่มองข้ามคนที่เราประเมินว่าต่ำกว่าเราที่อยู่รอบ ๆ ตัว

            มาถึงตรงนี้อาจจะเห็นว่าสถานะทางสังคมอาจจะเป็นปัจจัยทางลบ แต่สิ่งนี้ก็คือธรรมชาติของมนุษย์ เราไม่สามารถปฏิเสธมันได้ เพียงแต่จะต้องสังเกตพฤติกรรมและความรู้สึกของเราให้ดี เพื่อไม่ให้เราเดินทางไปยังจุดที่จะดึงชีวิตคนอื่นให้ตกต่ำ หรือจะพยายามยกตัวเองให้สูงขึ้นจนถึงขนาดที่ต้องทำให้ตนเองหรือคนรอบข้างเดือดร้อน ผมจะไม่แนะนำให้ใครเดินทางสายกลาง หรือต้องรู้จักพอประมาณ เพราะมันเป็นไปได้ยากอย่างมากที่เราทุกคนจะหาจุดตรงกลางเจอ ผมแนะนำว่าเราทุกคนควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ และใคร่ครวญพฤติกรรมของตนเองอยู่เสมอ

เพื่อให้เราไม่พาตัวเองไปยังจุดที่เราจะไม่สามารถหวนกลับคืนมาได้อีกครั้งหนึ่ง

อ้างอิง

Payne, K. (2017). The Broken Ladder: How Inequality Affects the Way We Think, Live, and Die. NY: Viking.

Tierney, J., & Baumeister, R. (2019). The Power of Bad: How the Negativity Effect Rules Us and How We Can Rule It. NY: Penguin Books

คาลอส บุญสุภา. (2565). ความเหลื่อมล้ำ ก่อให้เกิดจิตสำนึกแห่งการเปรียบเทียบที่เกินตัว. https://sircr.blogspot.com/2022/07/blog-post.html

คาลอส บุญสุภา. (2565). หายนะ ของการมองในแง่บวก มากจนเกินไป (Toxic Positivity). https://sircr.blogspot.com/2022/03/toxic-positivity.html

ความคิดเห็น