การออกแบบบทบาทของงานให้มีคุณค่า ทำให้พนักงานรู้สึกมีความสำคัญและลดภาวะหมดไฟได้

การมองงานที่ทำอยู่อย่างมีคุณค่า ช่วยยกระดับความสำคัญได้แม้แต่กับงานที่ธรรมดาที่สุด

            เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่างานเป็นส่วนสำคัญของชีวิต เพราะตลอดทั้งวันคนเราจะใช้เวลาทำงานเป็นสัดส่วนหนึ่งในสามของวัน (ไม่รวมเวลาเดินทาง) บางคนอาจจะทำงานล่วงเวลาหรือทุ่มเทกับการทำงานจนเกินเวลาก็ยิ่งทำให้เวลางานเพิ่มมากขึ้นไปอีกในแต่ละวัน งานจึงกลายมามีบทบาทสำคัญที่สามารถกำหนดคุณค่าและทิศทางของชีวิตได้ 

            สิ่งที่ผมกล่าวมาไม่ได้เกินจริงเลย เราจะพบเห็นกันทั่วไปว่าในปัจจุบันคนมากมายซึมเศร้าหรือหมดไฟจากการทำงาน ที่น่ากลัวก็คือสัดส่วนของบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพจิตจากการทำงานก็จะค่อย ๆ มากขึ้นไปด้วย ผมเองที่หลายครั้งก็รู้สึกซึมเศร้าจากการทำงานอย่างมาก และผมก็เชื่อว่าผู่อ่านหลายคนก็เผชิญกับช่วงเวลาแบบนี้บ้างเช่นเดียวกัน

            แน่นอนแหละความทุกข์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นเพราะตัวงานหรือผู้ร่วมงาน แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทัศนคติของเราที่มีต่องานก็มีส่วนสำคัญเหมือนกันที่จะกำหนดสุขภาพจิตของเราได้ ในหนังสือ The Upside of Stress: Why Stress Is Good for You, and How to Get Good at It ผู้เขียน เคลลี แม็คโกนิกาล (Kelly McGonigal) ได้เล่าถึงเรื่องราวของ โมนิกา วอร์ไลน์ (Monica Worline) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มวิจัยคอมแพสชั่นแล็บ

            องค์กรดังกล่าวได้รวบรวมนักจิตวิทยาองค์กรที่ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคมในการทำงาน การวิจัยของเธอแสดงให้เห็นว่าการรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้คนในที่ทำงานช่วยลดอาการหมดไฟในการทำงานและเพิ่มความทุ่มเทของพนักงาน โดยสาเหตุที่สำคัญที่สุดคือการรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้อื่นทำให้พวกเขาพร้อมที่จะหยิบยื่นความช่วยเหลือให้คนเหล่านั้นได้

            วอไลน์ทำงานร่วมกับบริษัท 20 แห่งที่ติดอันดับ 100 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก และบริษัทอีกหลายแห่งที่ติดอันดับ "บริษัทที่น่าชื่นชมที่สุดในโลก" ของนิตยสารฟอร์จูน แบบฝึกหัดหนึ่งที่เธอมักจะใช้ในการเพิ่มความยืดหยุ่นทางจิตใจของบรรดาพนักงานในบริษัทเหล่านั้นก็คือการออกแบบบทบาทใหม่ ซึ่งหมายถึงการเขียนคำบรรยายลักษณะงานของตัวเองใหม่โดยยึดเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเองเป็นหลัก

การรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้คนในที่ทำงานช่วยลดอาการหมดไฟในที่ทำงานและเพิ่มความทุ่มเทของพนักงาน

            ส่วนใหญ่แล้วคำบรรยายลักษณะงานจะกล่าวถึงภาระหน้าที่ ทักษะที่ต้องการ และปัจจัยสำคัญสำคัญสำหรับตำแหน่งนั้น แต่แทบไม่ได้บอกเหตุผลว่าทำไมงานดังกล่าวจึงมีประโยชน์ต่อองค์กรหรือชุมชน  วอร์ไลน์จึงขอให้ผู้คนออกแบบบทบาทใหม่ โดยขอให้พวกเขาพิจารณาคำถามที่ว่า 

            "หากมองจากมุมมองของผู้คนที่คุณทำงานด้วยหรือทำงานให้ คุณจะอธิบายเกี่ยวกับงานของตัวเองอย่างไร พวกเขาจะบอกว่าบทบาทของคุณสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไรบ้าง และงานของคุณช่วยสนับสนุนพันธกิจอันยิ่งใหญ่ของบริษัทหรือสวัสดิการของผู้คนในองค์กรอย่างไร"

            ผู้อ่านจะเห็นว่าวิธีการนี้เป็นการตีกรอบของงานใหม่ ซึ่งมันไม่ได้เพิ่มภาระหน้าที่ของพวกเขาเลย ในทางกลับกันมันช่วยเปลี่ยนวิธีคิดที่พวกเขามีต่อภาระหน้าที่เหล่านั้น วอร์ไลน์พบว่าแบบฝึกหัดนี้สามารถช่วยให้ผู้คนพึงพอใจและรู้สึกว่างานของตัวเองมีความหมายมากขึ้นได้จริง ๆ 

            หนึ่งในตัวอย่างของการกำหนดเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเองสำหรับการทำงานที่วอร์ไลน์ชื่นชอบเกิดขึ้นที่เมืองหลุยส์วิลล์ รัฐเคนทักกี ตอนนั้นความกังวลของผู้คนเกี่ยวกับความปลอดยภัยในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะกำลังเพิ่มสูงขึ้น เพราะผู้คนทั้งเมืองหวาดผวาหลังเกิดเหตุการณ์อันน่าหวาดหวั่นตอนกลางวันแสก ๆ โดยวันนั้นมีชายสามคนทะเลาะกันบริเวณท้ายรถโดยสารประจำทาง ซึ่งเหตุการณ์บานปลายจนถึงขั้นใช้อาวุธปืน

            ส่งผลให้ชายหนุ่มอายุ 17 ปีเสียชีวิต ทำให้นายกเทศมนตรีสั่งให้ผู้ดูแลระบบขนส่งยกระดับความปลอดภัย พวกเขาจึงได้ออกแบบแนวทางบางอย่าง ซึ่งกิจกรรมหนึ่งในโครงการนี้คือการให้พนักงานขับรถโดยสารประจำทางพิจารณาว่าพวกเขาจะเข้ามามีบทบาทในการปกป้องสวัสดิภาพของผู้โดยสารได้อย่างไรบ้าง 

            บรรดาพนักงานขับรถพิจารณาคำถามนั้นอย่างจริงจังและพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาจะเปลี่ยนชื่อตำแหน่งของตัวเองเป็น "ฑูตแห่งความปลอดภัย" ซึ่งการขับรถยังคงเป็นหน้าที่หลักของพวกเขา แต่ในขณะเดียวกันพนักงานเหล่านี้ก็เริ่มวาดภาพบทบาทของตัวเองใหม่ โดยคำนึงถึงการทำให้รถโดยสารประจำทางกลายเป็นพื้นที่ที่ผู้โดยสารรู้สึกว่าได้รับการดูแลเอาใจใส่

            สิ่งที่พวกเขาทำก็คือ "การพูดคุยกับผู้โดยสารตอนขึ้นรถ" พวกเขาจะไม่ทำเพียงรับเงินหรือตรวจบัตรโดยสาร แต่ยังสบตาและกล่าวคำทักทายด้วย การสานสัมพันธ์กับผู้โดยสารทุกคนเช่นนี้ช่วยลดภาวะนิรนาม (ไร้ตัวตน) ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการก่ออาชญากรรมในที่สาธารณะ อีกทั้งยังทำให้ผู้โดยสารรู้สึกสบายใจและเป็นที่ต้อนรับมากขึ้นอีกด้วย

            สิ่งที่น่าประหลาดใจที่สุดเกี่ยวกับการออกแบบบทบาทใหม่ครั้งนี้คือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพนักงานขับรถ วอร์ไลน์พบว่าพวกเขารู้สึกว่างานของตัวเองมีความหมายมากขึ้นอย่างมหาศาล ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับงานที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะหมดไฟในการทำงาน เพราะพนักงานขับรถโดยสารประจำทางต้องเผชิญกับความเครียดในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย แต่มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

            พนักงานขับรถทุกคนมองว่าบทบาทใหม่ของตัวเองในฐานะ "ฑูตแห่งความปลอดภัย" ทำให้มุมมองเรื่องความหมายของงานเปลี่ยนแปลงไป พวกเขามองว่าตนเองกำลังทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวพวกเขาเอง ซึ่งก็คือการสนับสนุนโครงการด้านความปลอดภัยในชุมชนของนายกเทศมนตรีและพวกเขาก็ได้เชื่อมโยงกับเป้าหมายนี้ทุกครั้งที่มีผู้โดยสารขึ้นมาบนรถ

            โมนิกา วอร์ไลน์ ยกกรณีของพนักงานขับรถประจำทางในเมืองหลุยวิลส์เพราะสอดคล้องกับประสบการณ์ที่เธอพบเจอจากการทำงานร่วมกับผู้อื่น นั่นคือการมองงานที่ทำอยู่ด้วยกรอบความคิดแบบยึดเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเองช่วยยกระดับความสำคัญได้แม้แต่กับงานที่ธรรมดาที่สุด รวมถึงป้องกันภาวะหมดไฟในการทำงานด้วย

            ผมเรียกสิ่งนี้ว่า "การออกแบบบทบาทของงานให้มีคุณค่า" คล้ายกับกรณีของเรื่องเล่าพนักงานทำความสะอาดของศูนย์อวกาศขององค์การนาซาที่พนักงานบอกกับประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) ว่า "เขากำลังร่วมส่งคนไปดวงจันทร์" แต่แตกต่างกันตรงที่พนักงานขับรถประจำทางเหล่านี้มีบทบาทหน้าที่ที่สามารถทำให้ประชาชนที่ขึ้นรถประจำทางปลอดภัยได้นั่นคือการ "ทักทาย การพูดคุย หรือสนทนาประจำวัน"

            เพียงแค่การทักทายก็เป็นการตอบสนองต่อความต้องการอยากมีค่าและตัวตนของมนุษย์ได้อย่างดี มันแสดงให้เห็นว่า "มีคนกำลังให้คุณค่าฉันนะ เขาทักทายฉัน" ทุกวันนี้คนเราเดินผ่านกันไปมา เหมือนกับว่าเราโดดเดี่ยวในหมู่ผู้คน การที่มีคนทักทาย พูดคุย หรือให้ดีที่สุดคือการรับฟัง ก็เป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สามารถพลิกชีวิตของใครหลายคนได้เลย

            หากเราอยากสร้างคุณค่าในการทำงานให้กับตัวเอง เราก็สามารถออกแบบบทบาทหน้าที่ใหม่ได้ เช่น การสร้างความสุขให้กับเพื่อนร่วมงาน การให้เพื่อนร่วมงานมีไฟในการทำงาน การทำให้เพื่อนร่วมงานเครียดน้อยลง หรือการทำให้เพื่อนร่วมงานอยากมาทำงานมากขึ้น โดยเราสามารถทำได้โดยการรับฟังปัญหา ช่วยเหลือ ให้กำลังใจ ชมเชย 

เพราะอย่าลืมว่าการกระทำเพียงเล็กน้อย ได้เคยเปลี่ยนแปลงชีวิตของใครหลายคนมาแล้ว 

อ้างอิง

McGonigal, K. (2016). The Upside of Stress: Why Stress Is Good for You, and How to Get Good at It. NY: Avery.

ความคิดเห็น