เหตุผลที่ผู้คนมักแนะนำว่า ไม่ควรวิ่งไล่ตามหาความสุขอยู่ตลอด

การที่เราวิ่งตามหาความสุขเพียงอย่างเดียว มันคือการที่เราวิ่งหนีออกจากสมดุลของชีวิต

            เท่าที่ผมเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับความสุขมาไม่ว่าจะเป็นตะวันออกหรือตะวันตก ผู้เขียนแทบทุกคนมักจะแนะนำเป็นเสียงเดียวกันว่า "เราไม่ควรวิ่งไล่ตามหาความสุข" ซึ่งผมก็เห็นด้วยทุกประการ แต่ก็ไม่ค่อยเข้าใจนักว่าเพราะอะไรคนที่พยายามวิ่งไล่ตามหาความสุขจึงมักจะไม่พบกับความสุข

            ผมจึงพยายามศึกษาว่าเพราะอะไรกัน การที่เราวิ่งไล่ตามหาความสุข ถึงไม่ได้ความสุขกลับมา ซึ่งทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับกรอบความคิดของมนุษย์เรา หากเรารู้สึกว่ามีความสุข เราก็จะมีความสุข หากเรารู้สึกว่ามีความทุกข์ เราก็จะมีความทุกข์ เพียงแต่ว่ากรอบความคิดไม่ใช่สิ่งที่ควบคุมได้เสมอ

            เราพบเห็นกันโดยทั่วไปว่าต่อให้คนจะร่ำรวยมีทุกสิ่งทุกอย่างมากแค่ไหนก็ตามก็ยังมีความทุกข์อยู่ดี และคนที่ไม่ว่าจะยากจนแค่ไหนก็สามารถที่จะมีความสุขได้ หรือในบางกรณีอาจจะมากกว่าคนที่ร่ำรวยด้วยซ้ำ ดังนั้นปัจจัยที่จะทำให้คนสุข ทุกข์ จึงเป็นเรื่องของสมดุลระหว่างกรอบความคิดและสภาพแวดล้อม

            มีการศึกษาว่าคนที่มีความคิดเชิงบวก จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าในการมีภาวะเจ็บป่วยทางจิต รวมทั้งโรคซึมเศร้า วิตกกังวล และบุคลิกภาพแปรปรวนน้อยกว่าด้วย ไม่เพียงแค่นั้นความคิดเชิงบวกยังขับเคลื่อนเราไปสู่ความสำเร็จ ช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและทำให้เรามีชีวิตที่ยืนยาวมากยิ่งขึ้น

            ข้อเท็จจริงนี้ก็ไม่ต่างจากการรับประทานผักและผลไม้นั้นแหละครับ กล่าวคือ ผักและผลไม้มีประโยชน์อย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่หากรับประทานมากจนเกินไปก็เกิดอันตรายต่อร่างกายอยู่ดีนั้นแหละครับ

            ทุกสิ่งทุกอย่างมันจะต้องมีสมดุลอยู่เสมอการเอนไปทางไหนมากจนเกินไปก็จะเกิดผลเสียขึ้นมาทันที ความสุขก็เช่นเดียวกัน หากเรามีความสุขมากจนเกินไปโดยการวิ่งหาความสุขแบบผิด ๆ ด้วยวิธีผิด ๆ ก็อาจจะตามมาด้วยผลเสียอย่างที่เราคาดไม่ถึงเลยก็ได้

            เพราะกรณีที่เราคิดว่าตัวเองมีความสุขมากจนล้นเกิน เรามักจะมีแนวโน้มที่จะเพิกเฉยต่อความเสี่ยงที่จะเป็นอันตราย ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เราไปงานปาร์ตี้ เราจะดื่มและกินอย่างไม่อั้น ความสนุกสุดเหวี่ยงและการขาดสติสามารถทำอันตรายเราได้อย่างคาดไม่ถึง ความสุขจนล้นเกินสามารถฆ่าเราได้

หากเราวิ่งหาความสุขด้วยวิธีผิด ๆ ก็อาจจะตามมาด้วยผลเสียอย่างที่เราคาดไม่ถึงเลยก็ได้

            เมื่อเราคิดว่าชีวิตของตัวเองดี ยอดเยี่ยมไปหมด เรามักจะมีแนวโน้มที่จะไม่คิดมากและไม่คิดไกล มักง่ายต่อทุกสิ่ง และสามารถกลายเป็นคนที่คิดแบบเหมารวมทุกสิ่งทุกอย่างได้ ซึ่งการมองคนอื่นในเชิงบวกมากเกินไปเรียกว่า Halo Effect เป็นอคติรูปแบบหนึ่งที่ทำให้เราตัดสินคนอื่นในแง่ดีเสียทุกอย่าง

            ยกตัวอย่างเช่น เราชอบผู้หญิงคนหนึ่งที่หน้าตาดี คุยสนุก ทำให้เราตัดสินใจไปเลยว่าผู้หญิงคนนี้เป็นคนดี ฉลาดเสียไปหมดทุกอย่าง ซึ่งอาจจะทำให้เราผิดพลาดก็ได้ในภายหลัง

            นิกโกเลาะ มาเกียเวลี (Niccolò Machiavelli) นักเขียน นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงเคยกล่าวไว้ว่า "มนุษยชาติส่วนใหญ่พึงพอใจกับภาพลักษณ์ที่ปรากฎ ราวกับภาพพวกนั้นเป็นความจริง และมักตกอยู่ใต้อิทธิพลของสิ่งต่าง ๆ ที่ดูเหมือนเป็นเช่นนั้นยิ่งกว่าที่มันเป็นจริง"

            ดังนั้นเราจึงต้องตระหนักถึงสมดุลระหว่างความคิดเชิงลบและความคิดเชิงบวก เพราะแม้แต่ความคิดหรืออารมณ์เชิงลบก็มีประโยชน์อย่างที่เราคาดไม่ถึง มนุษย์เราแสดงอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมออกมาบ่อยครั้ง

            หลายครั้งเราทำโทษตัวเอง และไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงต้องแสดงอารมณ์เหล่านี้ออกมา ทั้ง ๆ ที่มันเป็นสัญญาณบางอย่างที่เรียกร้องให้เราแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา บางคนแสดงอารมณ์โกรธมาก เพราะเขากำลังปกปิดอะไรบางอย่างอยู่ บางคนรู้สึกผิดมากเพราะเขาทำผิดอะไรบางอย่างเอาไว้

            ซูซาน เดวิด (Susan David) เรียกทักษะในการรู้เท่าทันอารมณ์ว่า ความคล่องแคล่ว (Emotional Agilitiy) ทางอารมณ์ เธออธิบายว่า "คนที่มีความคล่องแคล่วทางอารมณ์นั้นแม้จะพบกับอุปสรรค ก็ยังแน่วแน่ต่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของพวกเขาต่อไป"

            การที่เราวิ่งตามหาอะไรก็ตามที่เป็นความพึงพอใจหรือความสุขเพียงอย่างเดียว มันก็คือการที่เราวิ่งหนีออกจากสมดุลของชีวิตและด้วยความเป็นมนุษย์ก็ทำให้ชีวิตพยายามที่จะยัดเยียดความสมดุลกลับมาให้กับเรา เราจึงมักจะพบเห็นว่าบุคคลมากมายที่ร่ำรวย ที่ดูเหมือนจะมีความสุขอย่างมากกลับมีความทุกข์แทบจะไม่ ต่างกับคนชั้นกลางเลยด้วยซ้ำ

            นอกจากนั้นแล้วเรายังมีความสามารถในการปรับตัวต่อความสุขและความทุกข์ที่เกิดขึ้น เมื่อเราต้องเผชิญกับความเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา จิตใจของเราจะพยายามปรับตัวให้ชินกับความเจ็บปวดนี้ จึงทำให้ความเจ็บในระดับ 10 ตอนแรก ลดลงเหลือ 6-7 ในอีกหลายเดือนต่อมา เช่นเดียวกับเวลาที่เรามีความสุข เมื่อเราซื้อสิ่งของที่เราอยากได้มานานเรียบร้อยแล้ว จิตใจของเราที่มีความสุขในช่วงแรก และจะลดลงอย่างน่าใจหายในท้ายที่สุด

            สิ่งนี้คือกระบวนการของจิตใจที่จะพยายามปรับตัวเข้าหาสมดุล ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์ที่จะวิ่งตามหาความสุข เพราะมันจะวิ่งมาหาเราเป็นระยะ ๆ 

เช่นเดียวกับความทุกข์ ทั้งหมดนี้คือธรรมชาติของชีวิต

อ้างอิง

David, S. (2016). Emotional Agility: Get Unstuck, Embrace Change, and Thrive in Work and Life. NY: Avery.

Tierney, J., & Baumeister, R. (2019). The Power of Bad: How the Negativity Effect Rules Us and How We Can Rule It. NY: Penguin Books

คาลอส บุญสุภา. (2565). หายนะ ของการมองในแง่บวก มากจนเกินไป (Toxic Positivity). https://sircr.blogspot.com/2022/03/toxic-positivity.html

ความคิดเห็น