หายนะ ของการมองในแง่บวก มากจนเกินไป (Toxic Positivity)

การยอมรับอารมณ์หรือความคิดเชิงลบเป็นเรื่องดีกว่า จะปล่อยให้ความรู้สึกเหล่านี้ทำให้เราเสียศูนย์

            คำว่า "มองในแง่บวก" หรือ "มองโลกในแง่บวก" เป็นคำที่ใช่กันอย่างเอ่อล้นทั่วโลก ผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านคุ้นเคยกับคำ ๆ นี้อย่างดีแน่นอน เราทุกคนล้วนพยายามจะหลีกเลี่ยงมุมมองเชิงลบที่มีต่อสังคมและกับตัวเอง เพราะมันก่อผลเสียอย่างมาก อีกทั้งการความคิดเชิงบวกยังเป็นทิศนคติที่หลายบริษัทต้องการ พนักงานที่มีความคิดเชิงบวก ย่อมสามารถสร้างสรรค์ผลงานและมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในการทำงานมากกว่าบุคคลที่มีความคิดเชิงลบ เป็นข้อเท็จจริงที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้

            แต่การมองในแง่บวกมากจนเกินไป ก็สามารถทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบขึ้นได้ เราเรียกสิ่งนี้ว่า มุมมองเชิงบวกที่เป็นพิษ (Toxic Positivity) เป็นภาวะที่บุคคลมองในแง่บวกมากจนเกินไปโดยมองข้ามข้อเท็จจริง หรือไม่มีเหตุผลใด ๆ มารองรับ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาตามมาอีกมากมาย คนที่อยู่ในภาวะมุมมองเชิงบวกที่เป็นพิษ จะพยายามคิดทุกอย่างในด้านดี ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์เลวร้ายมากแค่ไหนก็ตาม เขาก็จะบอกกับตัวเอง เช่น “ยังไหวอยู่” หรือ “เดี๋ยวทุกอย่างจะดีขึ้น” 

            ดูเหมือนจะเป็นเรื่องดี แต่หากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาจจะนำมาซึ่งปัญหากับทั้งตัวเองหรือผู้อื่นที่เกินกว่าจะแก้ไขได้ ผมมักจะเรียกพฤติกรรมดังกล่าวว่า "มักง่าย" ยกตัวอย่างเช่น หัวหน้าที่ส่งลูกน้องไปนำเสนองานที่ยากลำบากโดยคาดหวังว่าผลลัพธ์ว่าจะต้องออกมาดี หรือคนที่หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบโดยไม่ใส่ใจว่าจะมีอะไรตามมา หรือคาดหวังว่าสังคมจะต้องดีได้อย่างแน่นอนโดยที่เราไม่ต้องทำอะไรเลย ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ คนเหล่านี้มักจะมองตัวเองว่ามีความสามารถ และเป็นคนที่ดีมากกว่าคนอื่นอย่างน่าสมเพชเสียด้วย

            การมองในแง่บวกมากจนเกินไป จึงเป็นหายนะมากกว่าที่เราคาดคิดเอาไว้ กับทั้งตัวเองและผู้อื่นในระยะยาว เพราะมนุษย์เราทุกคนจำเป็นที่จะต้องรักษาสมดุลระหว่างความคิดเชิงลบและความคิดเชิงบวกเอาไว้ การที่ทำให้สมดุลดังกล่าวเสียหาย ย่อมตามมาด้วยสุขภาพจิตที่แย่ในระยะยาว มุมมองเชิงบวกที่เป็นพิษก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของสมดุลที่เสียหาย ผมจึงเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อนำเสนอหายนะของการมองโลกในแง่บวกมากจนเกินไป เพื่อให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงความจริงที่น่ากลัวของมุมมองดังกล่าวที่อาจจะสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคมอย่างคาดไม่ถึง

ข้อเสียของการมองในแง่บวกมากจนเกินไป

            มนุษย์ทุกคนมักจะมองว่าตัวเองมีคุณงามความดีเกินความเป็นจริง และศักยภาพในการหลอกตัวเองของเราก็น่าทึ่งอย่างมาก เรียกสิ่งนี้ว่า ภาพลวงตาทางบวก (Positive Illusions) เป็นอคติเพื่อเข้าข้างตนเอง ซึ่งเป็นกลไกในการป้องกันตัวเอง (Defense Mechanisms) รูปแบบหนึ่ง เป็นการที่บุคคลพยายามหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองว่าเป็นคนดีมีศีลธรรมเหนือกว่าใคร ๆ เพื่อที่จะทดแทนพฤติกรรมเชิงลบบางอย่างที่ตนเองได้ก่อเอาไว้ แต่พยายามจะมองข้าม

            เมื่อขอให้นักโทษที่ชดใช้ความผิดอยู่ในเรือนจำด้วยข้อหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ทำร้ายร่างกาย ลักทรัพย์ ฉ้อโกง หรืออาชญากรรมอย่างอื่น มาเปรียบเทียบตัวเองกับประชาชนทั่วไป พวกเขา (นักโทษ) จะมองว่าตัวเองมีศีลธรรมและซื่อสัตย์กว่า และยังมีความเห็นอกเห็นใจและควบคุมตัวเองได้ดีกว่า (ประชาชนทั่วไป) ด้วย อย่างไรก็ตามมีคุณสมบัติข้อเดียวเท่านั้นที่พวกเขาคิดว่าตนเองไม่ได้มีอะไรโดดเด่นไปกว่าคนอื่น ๆ ที่เหลือในสังคม เมื่อพูดถึงเรื่องปฏิบัติตามกฎหมาย อาชญากรที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดเหล่านี้จะให้คะแนนตัวเองอย่างถ่อมตนในระดับกลาง ๆ 

            เราทุกคนล้วนมีแนวโน้มจะประเมินศักยภาพของตัวเอง ซึ่งรวมไปถึงพลังอำนาจในการควบคุมชะตากรรมของเราแบบเกินความจริง คนเราจะมีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยแบบผิด ๆ เมื่ออยู่บนทางหลวงระหว่างเมือง เพราะคิดว่าตัวเองขับรถได้ดีกว่าระดับเฉลี่ย และคาดว่าทักษะที่มีจะปกป้องพวกเขาได้ ทั้งที่จริง ๆ แล้วอุบัติเหตุหลายครั้งจะเกิดจากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมก็ตาม เช่นเดียวกัน เมื่อถามผู้คนว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ในการทำโปรเจ็กต์บางอย่างให้เสร็จ พวกเขาจะประเมินเวลาต่ำเกินจริง เพราะมั่นใจในตัวเองมากเกินไป 

            เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าอคติมองบวก มันทำให้เราประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดเรื่องเลวร้ายกับเราต่ำเกินไป อคติดังกล่าวเกิดขึ้นมาตลอดประวัติศาสตร์โลก ยกตัวอย่าง ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมีผู้เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารของยุโรปมีแข็งแกร่งมากจนประเทศเพื่อนบ้านไม่มีใครกล้าและบ้าบิ่นพอที่จะมาทำสงครามด้วย แต่ผู้นำเยอรมันกลับหมกมุ่นกับสัญญาณความเป็นปฏิปกษ์ทุกอย่างจากชาติอื่น ๆ ในปี ค.ศ. 1912 นายกรัฐมนตรีเยอรมันนึกสงสัยว่าการปลูกต้นไม้ไว้ในที่ดินของเขาจะคุ้มค่าหรือเปล่า เพราะเขาคาดว่า พวกรัสเซียอาจจะบุกมาที่นี่ในอีกไม่กี่ปี 

            การทำสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ก็เกิดจากอคติมองบวกเช่นเดียวกัน พวกเขามั่นใจอย่างมากว่าจะสามารถชนะสงครามได้แต่สุดท้ายก็จบลงด้วยความพ่ายแพ้ หรือเหตุการณ์ไม่นานมานี้ที่รัสเซียบุกยูเครนอย่างรวดเร็วและคาดหวังว่ายูเครนจะพ่ายแพ้ในเวลาไม่กี่วัน แต่ยูเครนกลับต่อสู้อย่างกล้าหาญ รวมไปถึงประเทศต่าง ๆ ในตะวันตกที่ร่วมกันช่วยเหลือและกดดันโดยการคว่ำบาตรรัฐเซียอย่างรุนแรง ทำให้รัสเซียเข้าสู่สภาวะกดดันจะเดินไปข้างหน้าก็ลำบาก จะถอยหลังก็ลำบาก 

            การมั่นใจในตัวเองแบบผิด ๆ และความมักง่ายสร้างปัญหาอย่างใหญ่หลวงตั้งแต่ปัญหาส่วนบุคคลจนไปถึงปัญหาต่อโลกดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่หลายครั้งการตัดสินใจเพียงส่วนตัวก็สามารถส่งผลกระทบรุนแรงอย่างคาดไม่ถึง ยกตัวอย่างเช่น การสนับสนุนให้เกิดรัฐประหารในประเทศไทยจากคนส่วนน้อยที่คิดว่า รัฐบาลในปัจจุบันซื้อเสียง คอร์รัปชั่น ดังนั้นพวกเขาจึงคิดว่าจะต้องล้มกระดานใหม่แล้วแก้ไขระบบทุกอย่างก่อนจะเลือกตั้ง ซึ่งนำมาสู่รัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 และตามมาด้วยยุคขาลงของประเทศไทยชนิดที่ยากจะดึงกลับคืนมาได้

            เรามักง่ายเข้าข้างตัวเองว่าสิ่งรอบตัวของเราจะดีขึ้น โดยที่เราไม่พิจารณาถึงความเป็นจริงว่าโลกใบนี้มีคนมากมายที่ยากจนแบบที่เราไม่มีทางคาดถึง ประชาชนบางประเทศในทวีปแอฟริกา ถือถังพลาสติกเดินเท้าเปล่าไปตักน้ำจากหลุมโคลนสกปรกที่อยู่ห่างออกไปด้วยระยะเดินประมาณหนึ่งชั่วโมงระหว่างทางกลับบ้านพวกเขาต้องเก็บฟืน ในขณะที่คนที่บ้านต้องเตรียมข้าวบดสีเทามากินเพื่อประทังชีวิต บางครอบครัวต้องเสียลูกไปเพราะการติดเชื้อโดยที่ไม่มีเงินพอจะรักษาลูกของตัวเอง

            เราทุกคนสนใจแต่ปัญหาของตัวเอง มักง่ายกับความเป็นจริง พยายามมองโลกในแง่บวกเข้าไว้ โดยไม่ได้คาดคิดว่าหลายคนแม้แต่ในประเทศไทยมีชีวิตที่ยากลำบาก พวกเขาไม่มีเวลามากพอที่จะพักผ่อนหย่อนใจ เด็กหลายคนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา หลายครอบครัวจึงไม่สามารถหลุดออกจากวงจรความยากจนได้ นโยบายทางการเมืองจึงมีผลต่อชีวิตของพวกเขามาก น่าจะถึงเวลาที่พวกเราจะต้องตระหนักถึงความเป็นจริงให้มากที่สุด 

และไม่คาดหวังอะไรโง่ ๆ มากจนเกินไป

ข้อเสียของการวิ่งหาความสุขอยู่ตลอด

            มีการศึกษาว่าคนที่มีความคิดเชิงบวก จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าในการมีภาวะเจ็บป่วยทางจิต รวมทั้งโรคซึมเศร้า วิตกกังวล และบุคลิกภาพแปรปรวนน้อยกว่าด้วย ไม่เพียงแค่นั้นความคิดเชิงบวกยังขับเคลื่อนเราไปสู่ความสำเร็จ ช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและทำให้เรามีชีวิตที่ยืนยาวมากยิ่งขึ้น ข้อเท็จจริงนี้ก็ไม่ต่างจากการรับประทานผักและผลไม้นั้นแหละครับ กล่าวคือ ผักและผลไม้มีประโยชน์อย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่หากรับประทานมากจนเกินไปก็เกิดอันตรายต่อร่างกายอยู่ดีนั้นแหละครับ

            ทุกสิ่งทุกอย่างมันจะต้องมีสมดุลอยู่เสมอการเอนไปทางไหนมากจนเกินไปก็จะเกิดผลเสียขึ้นมาทันที ความสุขก็เช่นเดียวกัน หากเรามีความสุขมากจนเกินไปโดยการวิ่งหาความสุขแบบผิด ๆ ด้วยวิธีผิด ๆ ก็อาจจะตามมาด้วยผลเสียอย่างที่เราคาดไม่ถึงเลยก็ได้ เพราะกรณีที่เราคิดว่าตัวเองมีความสุขมากจนล้นเกิน เรามักจะมีแนวโน้มที่จะเพิกเฉยต่อความเสี่ยงที่จะเป็นอันตราย ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เราไปงานปาร์ตี้ เราจะดื่มและกินอย่างไม่อั้น ความสนุกสุดเหวี่ยงและการขาดสติสามารถทำอันตรายเราได้อย่างคาดไม่ถึง 

ความสุขจนล้นเกินสามารถฆ่าเราได้

            เมื่อเราคิดว่าชีวิตของตัวเองดี ยอดเยี่ยมไปหมด เรามักจะมีแนวโน้มที่จะไม่คิดมากและไม่คิดไกล มักง่ายต่อทุกสิ่ง และสามารถกลายเป็นคนที่คิดแบบเหมารวมทุกสิ่งทุกอย่างได้ ซึ่งการมองคนอื่นในเชิงบวกมากเกินไปเรียกว่า Halo Effect เป็นอคติรูปแบบหนึ่งที่ทำให้เราตัดสินคนอื่นในแง่ดีเสียทุกอย่าง ยกตัวอย่างเช่น เราชอบผู้หญิงคนหนึ่งที่หน้าตาดี คุยสนุก ทำให้เราตัดสินใจไปเลยว่าผู้หญิงคนนี้เป็นคนดี ฉลาดเสียไปหมดทุกอย่าง ซึ่งอาจจะทำให้เราผิดพลาดก็ได้ในภายหลัง

            สิ่งนี้สอดคล้องกับเนื้อหาข้างต้นที่ผมนำเสนอมา เรียกว่า ภาพลวงตาทางบวก (Positive Illusions) เราแทบจะไม่ได้ตระหนักเลยว่าเรามีเจตนาที่ไม่ดีอย่างไรบ้าง เพียงแต่เรามองว่าสิ่งที่เราทำไปคือสิ่งที่ถูกต้องและดีอยู่เสมอ แม้เราจะแสดงออกแย่มากในสายตาคนอื่น ๆ ก็ตาม นิกโกเลาะ มาเกียเวลี (Niccolò Machiavelli) นักเขียน นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงเคยกล่าวไว้ว่า "มนุษยชาติส่วนใหญ่พึงพอใจกับภาพลักษณ์ที่ปรากฎ ราวกับภาพพวกนั้นเป็นความจริง และมักตกอยู่ใต้อิทธิพลของสิ่งต่าง ๆ ที่ดูเหมือนเป็นเช่นนั้นยิ่งกว่าที่มันเป็นจริง"

            ดังนั้นเราจึงต้องตระหนักถึงสมดุลระหว่างความคิดเชิงลบและความคิดเชิงบวก เพราะแม้แต่ความคิดหรืออารมณ์เชิงลบก็มีประโยชน์อย่างที่เราคาดไม่ถึง มนุษย์เราแสดงอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมออกมาบ่อยครั้ง หลายครั้งเราทำโทษตัวเอง และไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงต้องแสดงอารมณ์เหล่านี้ออกมา ทั้ง ๆ ที่มันเป็นสัญญาณบางอย่างที่เรียกร้องให้เราแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา บางคนแสดงอารมณ์โกรธมาก เพราะเขากำลังปกปิดอะไรบางอย่างอยู่ บางคนรู้สึกผิดมากเพราะเขาทำผิดอะไรบางอย่างเอาไว้ 

            ซูซาน เดวิด (Susan David) เรียกทักษะในการรู้เท่าทันอารมณ์ว่า ความคล่องแคล่ว (Emotional Agilitiy) ทางอารมณ์ เธออธิบายว่า "คนที่มีความคล่องแคล่วทางอารมณ์นั้นแม้จะพบกับอุปสรรค ก็ยังแน่วแน่ต่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของพวกเขาต่อไป" การจะรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองได้ เราจะต้องมีความคล่องแคล่วทางอารมณ์ และรับรู้ถึงอารมณ์ต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น และมันเกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายอะไร 

            การยอมรับอารมณ์หรือความคิดเชิงลบเป็นเรื่องดีกว่าจะปล่อยให้ความรู้สึกเหล่านี้ทำให้เราเสียศูนย์ นอกจากนั้นการมีมุมมองเชิงบวกที่เป็นพิษ (Toxic Positivity) มากจนเกินไปจะตามมาด้วยหายนะ เพราะจะทำให้เราหลงไปในภาพลวงตาที่เต็มไปด้วยอคติเชิงบวกเต็มไปหมด ทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดอีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อผู้อื่นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้างานที่สั่งงานอย่างมักง่าย ประชาชนที่คาดหวังว่าสังคมจะดีขึ้นโดยการทำรัฐประหาร หรือการทำสงครามกับประเทศอื่น ๆ และคิดว่าสิ่งนั้นจะชอบธรรม 

เราจะต้องไม่ลืมว่าผักผลไม้หากรับประทานมากจนเกินไป ก็สามารถสร้างโทษต่อร่างกายกว่าที่เราคิดเอาไว้ได้เช่นกัน

อ้างอิง

David, S. (2016). Emotional Agility: Get Unstuck, Embrace Change, and Thrive in Work and Life. NY: Avery.

Rosling, H., Rönnlund, A., & Rosling, O. (2018). Factfulness: Ten Reasons We're Wrong About the World--and Why Things Are Better Than You Think. NY: Flatiron Books.

Tierney, J., & Baumeister, R. (2019). The Power of Bad: How the Negativity Effect Rules Us and How We Can Rule It. NY: Penguin Books

คาลอส บุญสุภา. (2564). การรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง (Emotional Awareness). https://sircr.blogspot.com/2021/08/emotional-awareness.html

คาลอส บุญสุภา. (2565). เราอยู่ในสังคมแห่งการเสแสร้งที่เต็มไปด้วยหน้ากาก (Positive Illusions). https://sircr.blogspot.com/2022/02/positive-illusions.html

ความคิดเห็น