แรงจูงใจ (Motivation) แรงขับเคลื่อนที่สำคัญของมนุษย์

แรงจูงใจภายในเป็นสิ่งที่เราทำเพียงเพราะเราให้คุณค่ากับสิ่งนั้นล้วน ๆ ไม่ใช่เพราะเราได้ประโยชน์อะไรจากมัน

            แรงจูงใจเป็นคำที่ถูกใช้กันในทุกบริบทของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่เพียงแค่นั้นยังรวมไปถึงการพัฒนาตัวเอง ความสุข ไปจนถึงโรคภัยใข้เจ็บต่าง ๆ อีกด้วย เพราะอะไรคำ ๆ นี้จึงได้รับความสนใจและมีความสำคัญอย่างมากในทุกบริบทอย่างที่ผมกล่าวมา ก็เพราะว่าแรงจูงใจเป็นแรงขับเคลื่อนให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมออกมา

            เหมือนกับการเติมน้ำมันให้กับรถยนต์ ซึ่งน้ำมันแต่ละชนิดก็ให้พลังงานแตกต่างกัน น้ำมันบางชนิดราคาถูกให้พลังงานได้ไม่เยอะ น้ำมันบางชนิดที่ราคาแพงก็จะให้พลังงานกับรถยนต์ที่สูงมากกว่า ไม่เพียงแค่นั้นรถยนต์บางชนิดก็ต้องการน้ำมันที่มีราคาแพงเท่านั้น หรือแม้แต่เครื่องบินก็ต้องการน้ำมันในอีกรูปแบบเช่นเดียวกันเพื่อที่จะขับเคลื่อนตัวเองให้บินไปบนท้องฟ้าได้

            แรงจูงใจก็มีหลายชนิดเช่นเดียวกัน ถ้าผู้อ่านรู้จัก เดวิด แมคเคิลแลนด์ (David Mcclelland) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันผู้โด่งดัง เขาได้อธิบายแรงจูงใจของมนุษย์ว่าเป็นความต้องการอย่างหนึ่งซึ่งจะแบ่งออกใหญ่ ๆ เป็น 3 รูปแบบซึ่งจะทำให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมออกมาแตกต่างกัน ประกอบไปด้วย 1) ความต้องการความสำเร็จ (Need for Achievement 2) ความต้องการความผูกพัน (Need for Affiliation) และ 3) ความต้องการอำนาจ (Need for Power) 

            มนุษย์แต่ละคนมีความต้องการทั้งสามแบบเพียงแต่จะมีระดับความต้องการในแต่ละรูปแบบที่แตกต่างกันไป บางคนอาจต้องการความสำเร็จมากที่สุด เขาคนนั้นก็จะมุ่งมั่น มีเป้าหมาย พยายามแข่งขันกับคนอื่น ในขณะที่บางคนอาจต้องการความผูกพันมากเป็นพิเศษ ก็จะเป็นคนชอบเข้าหาคนอื่น ชอบทำงานร่วมกับคนอื่น เป็นห่วงเป็นใยและเข้าอกเข้าใจคนอื่น ตรงกันข้ามกับบุคคลที่มีความต้องการอำนาจมากที่สุด ก็จะชอบออกคำสั่ง มักคิดว่าตัวเองถูกเสมอไป มักจะชอบกดคนอื่นให้อยู่ใต้ตัวเองและพยายามควบคุม ซึ่งในหลายกรณีเป็นลักษณะของบุคลิกภาพที่เป็นพิษ (Toxic Personality)

            อย่างไรก็ตามในบทความนี้ผมจะไม่ได้ลงลึกเกี่ยวกับทฤษฎีความต้องการของแมคเคิลแลนด์ แต่ผมจะพูดถึงทฤษฎีที่เก่ากว่านั้น และอยู่ในตำราทางด้านจิตวิทยาแทบจะทุกตารา เพราะเป็นการอธิบายแรงจูงใจที่กว้างมากที่สุด ซึ่งทฤษฎีนี้นักจิตวิทยารู้จักกันอย่างดีตั้งแต่ในปี 1960 เป็นต้นมาว่ามนุษย์เราจะมีเพียงสองวิธีที่จะจูงใจให้ตนเองลุกจากเตียงในตอนเช้าได้

            วิธีแรกเรียกว่า แรงจูงใจภายใน (Intrinsic motivation) เป็นสิ่งที่เราทำเพียงเพราะเราให้คุณค่ากับสิ่งนั้นล้วน ๆ ไม่ใช่เพราะเราได้ประโยชน์อะไรจากมัน เวลาที่เด็ก ๆ เล่นสนุกก็มาจากแรงจูงใจภายในเพียงอย่างเดียว มันเป็นช่วงเวลาแสนสุขอย่างแท้จริง หรือเวลาที่เราทำกิจกรรมอะไรก็ตามที่เรารู้สึกว่ามันให้ความบันเทิงแก่เราไม่ว่าจะเป็นการดูภาพยนต์ การฟังเพลง หรือแม้แต่การไปร่วมงานปาตี้กับเพื่อน ๆ แรงจูงใจนี้จะคงอยู่ไปตลอดชีวิตของมนุษย์ และทำให้เราขับเคลื่อนชีวิตได้ด้วยความเพลิดเพลินและมีความสุข

เวลาที่เด็กเล่นสนุกก็มาจากแรงจูงใจภายในเพียงอย่างเดียว มันเป็นช่วงเวลาแสนสุขอย่างแท้จริง

            ขณะเดียวกันก็มีค่านิยมอีกชุดหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นขั้วตรงข้ามนั่นคือ แรงจูงใจภายนอก (Extrinsic Motivation) มันเป็นแรงผลักดันให้เราทำอะไรบางอย่าง ที่ไม่ได้อยากทำมันจริง ๆ ยกตัวอย่างเช่น การทำงานที่ไม่อยากทำเพราะจำเป็นต้องใช้เงินในการดำเนินชีวิต หรือการยกยอคนอื่นเพื่อให้ได้รับการยอมรับ คำชม หรือสถานะที่สูงขึ้น 

            กิจกรรมทุกอย่างที่เราทำจะไปประกอบไปด้วยแรงจูงใจภายในและภายนอก เพียงแต่แรงจูงใจใดจะมีพลังงานสูงกว่ากันขึ้นอยู่กับกิจกรรมและตัวบุคคลที่ทำกิจกรรมนั้น ยกตัวอย่างเช่น หากเราชอบเล่นเปียโน ถ้าเราเล่นเพราะชอบเล่น แล้วแสดงในร้านแห่งหนึ่งที่อาจได้ค่าจ้างไม่มากนักก็ไม่เป็นไร นั่นแสดงว่าเรามีแรงจูงใจภายในขับเคลื่อนแรงกว่าแรงจูงใจภายนอกที่เป็นตัวเงิน 

            ในขณะเดียวกันหากเราเล่นเปียโนในรูปแบบที่เราไม่ชอบที่ผับแห่งหนึ่ง เพียงเพราะต้องการหาเงินให้ได้มากพอจะใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือบัตรเครดิต นั่นแปลว่าเรามีแรงจูงใจภายนอกผลักดันมากกว่าแรงจูงใจภายในที่เราชอบเล่นเปียโน ผมหวังว่าวิธีการอธิบายแบบนี้คงไม่ยากจนเกินไป เพราะสิ่งที่ยากก็คือการวิเคราะห์ว่ากิจกรรมอะไรที่เราทำ แรงจูงใจชนิดไหนกันแน่ที่มีแรงผลักดันมากกว่ากัน เนื่องจากหลายคนสามารถโกหกตัวเองได้อยู่เสมอ

            องค์กรมากมายหรือในกระบวนการเรียนการสอนมักจะเน้นการใช้แรงจูงใจภายนอกมากกว่าภายในเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนมีตั้งใจเรียนหรือทำงานมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การใช้คำชมบ่อย ๆ การเพิ่มเงินเดือน การเลื่อนต่ำแหน่ง หรือ การให้สิ่งของ แต่พฤติกรรมที่ตั้งใจเรียนหรือทำงานนั้นจะไม่คงทนอยู่ตลอดไป และใช้ไม่ได้ผลตลอดเวลาขึ้นอยู่กับบริบท ยกตัวอย่างเช่น หากครูชมนักเรียนที่ไม่อยากเรียนอยู่แล้ว ก็ยากที่จะกระตุ้นให้นักเรียนตั้งใจเรียนได้ แต่หากครูชมนักเรียนที่ตั้งใจเรียนอยู่แล้วก็จะสามารถเสริมพฤติกรรมตั้งใจเรียนเพิ่มขึ้นได้

            ยิ่งไปกว่านั้นแรงจูงใจภายนอกยังมีผลเชิงลบอีกด้วย เพราะหากนักเรียนตั้งใจเรียนมากขึ้นเพราะอยากได้คำชมหรือพนักงานตั้งใจทำงานมากขึ้นเพราะอยากได้เงินเดือนหรือตำแหน่ง แล้วเขาไม่ได้ในสิ่งที่ปรารถนา ความตั้งใจนั้นจะหายไปทันทีและเกิดทัศนคติลบต่อการทำงานหรือเรียน และมีแนวโน้มว่าประสิทธิภาพในการเรียนหรือการทำงานก็จะลดลงด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นการจะใช้แรงจูงใจภายนอกจะต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้ดาบที่มีสองคมมันทิ่มแทงผู้ใช้กลับมา

            ในหนังสือ Lost Connections: Why You’re Depressed and How to Find Hope ผู้เขียน โยฮันน์ ฮารี (Jonathan Hari) เขาได้ศึกษางานวิจัยของนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ทิม แตสเซอร์ (Tim Kasser) ที่ศึกษาเกี่ยวกับการถูกขับเคลื่อนด้วยวัตถุนิยม หรือที่เขาเรียกว่า "ค่านิยมขยะ" ซึ่งเป็นแรงจูงใจภายนอก โดยคนที่ยึดกับวัตถุนิยมหรือแรงจูงใจภายนอกจะมีความสุขน้อยกว่าคนที่ถูกขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจภายใน 

            ไม่เพียงแค่นั้นมันยังทำให้อายุของความสัมพันธ์สั้นลงด้วย ยกตัวอย่างเช่น การที่บุคคลหนึ่งให้ค่ากับรูปลักษณ์ภายนอกหรือความน่าประทับใจอื่น ๆ ก็สามารถเดาได้ว่าบุคคลนั้นจะทิ้งคู่ของตนทันทีที่เจอคนอื่นที่น่าดึงดูดมากกว่าหรือน่าประทับใจกว่า ยิ่งไปกว่านั้นการที่เรามีค่านิยมรูปลักษณ์ภายนอกก็เป็นการดึงดูดคนแบบเดียวกันเข้าหาด้วย หากพวกเขาหรือเธอเจอคนอื่นที่น่าประทับใจไม่ทางใดก็ทางหนึ่งมากกว่าเขาหรือเธอก็พร้อมที่จะทิ้งเราไปทันที

            การมีค่านิยมที่เกิดจากแรงจูงใจภายในยังมีผลต่อความสุขอีกด้วย เหมือนกับที่ผมยกตัวอย่างเรื่องการชอบเล่นเปียโน หากเราเพียงแค่เล่นเปียโนด้วยความเพลิดเพลิน มันก็จะทำให้เรามีความสุขมากขึ้น เพราะอัตตาของตัวเองมันหายไปและจดจ่ออยู่กับปัจจุบันอย่างแท้จริง มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีน้ำหนักบ่งชี้ว่าเราทุกคนมีความสุขมากขึ้นเมื่อได้อยู่ในภาวะลื่นไหล (Flow State) เป็นเวลาที่เราดื่มด่ำไปกับสิ่งที่เรารักและปล่อยตัวเองล่อยไปกับช่วงเวลานั้น

            นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่าเราสามารถรักษาแรงจูงใจภายในอันบริสุทธ์ไว้ได้เหมือนกับความรู้สึกของเด็กเวลาเล่นสนุก ในทางกลับกันหากเรายึดติดกับวัตถุนิยมหรือแรงจูงใจภายนอกก็จะทำให้มีภาวะลื่นไหลน้อยกว่าคนอื่น ๆ เรื่องนี้ไม่ได้แปลกอะไร หากเราเล่นเปียโนด้วยความเพลิดเพลินเพียงอย่างเดียวเราจะอยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่มีความกดดันอื่น ๆ มาพัวพัน ตรงกันข้ามกับการเล่นเปียเป็นอาชีพเพื่อให้ได้เงินมากที่สุด เราจะคิดว่าจะได้ค่าจ้างหรือไม่ จะได้เท่าไหร่ อนาคตของอาชีพนี้จะเป็นอย่างไร ความสุขของเราก็จะหดหายลงไปทันที 

            แทนที่อัตตาของเราจะหายไปมันกลับพองโตขึ้นไปอีก มันจะทำให้เราโฟกัสกับการแข่งขัน การเปรียบเทียบ การพัฒนาตัวเองที่ไม่มีสิ้นสุดแบบไร้สาระ ทำให้เราตกอยู่ในสภาวะทุกข์ สมองของเราออกแบบมาแบบนี้ ถ้าหากเราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่ใช่เพราะอยากทำสิ่งนั้นจริง ๆ แต่ทำเพื่อให้บังเกิดผลอะไรสักอย่าง เราจะไม่สามารถเข้าสู่ความสุขในชั่วขณะนั้นได้ เราจะคอยตรวจสอบตัวเองตลอดเวลา และสร้างบาดแผลให้กับตัวเราเองอย่างไม่หยุดหย่น

            คำถามก็คือแล้วเราจะเสริมสร้างแรงจูงใจภายในอย่างไรได้บ้าง ซึ่งคำถามตอบนั้นเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง ในสังคมที่เหลื่อมล้ำทำให้เราทุกคนดิ้นรนเพื่อจะมีชีวิตที่ดี ชีวิตที่ไม่ลำบากเหมือนกับเพื่อนบ้าน เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงสภาวะนี้ได้ สิ่งที่เราพอทำได้คือการสำรวจตรวจสอบตัวเองให้มากที่สุด ว่าเราทำบางสิ่งบางอย่างไปเพื่ออะไร การมีเงินมากขึ้นมันมีประโยชน์อะไรบ้าง เราทุกข์ทนกับปัจจุบันที่โหดร้ายไปเพื่ออะไร 

            หากเราไม่สามารถออกจากปัจจุบันที่กดดันได้ด้วยเงื่อนไขบางอย่าง เราสามารถออกแบบช่วงชีวิตในแต่ละวันที่เราไม่จำเป็นต้องใช้แรงจูงใจภายนอกขับเคลื่อนอยู่เสมอไป เราสามารถพักผ่อนโดยการอยู่กับครอบครัว พูดคุยกับเพื่อน สังสรรค์บ้างแทนที่จะหมั่นพัฒนาตัวเองอย่างไรจุดหมายเพื่อบางสิ่งบางอย่างที่อาจจะฆ่าเราได้ในอนาคต อย่างไรก็ตามผมไม่ได้หมายความว่าจะให้เราหยุดนิ่งในการพัฒนาตัวเอง 

แต่เราควรจะตั้งคำถามกับพฤติกรรมของเราอยู่เสมอว่ามันคุ้มค่าหรือไม่เท่านั้นเอง

อ้างอิง

Hari, J. (2018). Lost Connections: Why You’re Depressed and How to Find Hope. NY: Bloomsbury USA.

Kasser, T, & Ryan, R. (1996). Further Examining the American Dream: Differential Correlates of Intrinsic and Extrinsic Goals. Personality and Social Psychology Bulletin. 22(3): 280–287.  https://doi.org/10.1177/0146167296223006

ความคิดเห็น