การช่วยเหลือผู้อื่น สามารถส่งเสริมสุขภาพจิตให้ดีขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ

การเอื้อเฟื้อยังเป็นวิธีที่จะพัฒนาความยืดหยุ่นทางจิตใจ

            ผมเคยคิดว่าการที่มนุษย์ของเราจะอยู่รอดได้จำเป็นจะต้องพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด เราจะต้องเข้มแข็ง อยู่เหนือกว่าทุกคนเพื่อจะเป็นผู้ที่อยู่รอด แต่ผมเข้าใจผิดมาตลอด สิ่งมีชีวิตแทบทุกชนิดต่าาอาศัยการทำงานร่วมกัน เอื้อเฟื้อกันจึงจะสามารถอยู่รอดได้จนถึงทุกวันนี้ แม้เราจะมียีนเห็นแก่ตัวที่ส่วนมากจะเต็มไปด้วยกลไกแง่ลบ แต่มนุษย์เราทุกคนก็จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันเพื่อความอยู่รอดอยู่ดี

            ในฐานะที่เป็นครูการศึกษาพิเศษทำให้ผมได้ใช้เวลากับนักเรียนที่มีภาวะออทิสติกอย่างมาก นอกจากที่เราจะให้ความรู้ อบรม สั่งสอน เรายังต้องช่วยเหลือเขาให้สามารถเรียนในโรงเรียนได้อย่างเท่าเทียมกับเด็กคนอื่นให้มากที่สุด จนผมนิยามงานของตัวเองว่าเป็นการพยายามสร้างความเท่าเทียมให้กับนักเรียนออทิสติกให้มากที่สุด

            แน่นอนว่ามันก็ไม่ได้เต็มไปด้วยรอยยิ้มและความสุข เพราะมันทั้งเหนื่อยกายและเหนื่อยใจ แต่เมื่อทุกอย่างผ่านไปแล้วก็เหลือเพียงแต่ช่วงเวลาที่ดี ๆ และความรู้สึกดีกับตัวเองที่เกิดขึ้น มันไม่ใช้การหลอกตัวเองแต่มันทำให้เรารู้สึกมีค่ามากขึ้นที่ได้ช่วยเหลือ สนับสนุน และเป็นมิตรกับเด็ก ๆ ทุกคน รวมไปถึงการที่ผมช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ก็ด้วยเช่นกัน

            การที่เราจะเอาตัวรอดบนโลกที่เราไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากเราจะต้องเห็นแก่ตัวแล้วเราจำเป็นจะต้องหาพันธมิตรซึ่งเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษของเรารู้ดี การหาพันธมิตรก็ไม่ได้เป็นการผูกมิตรทำสัญญากันเหมือนโลกของธุรกิจแต่เป็นการ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กล่าวคือ เราสามารถเอาตัวรอดบนโลกใบนี้ได้โดยใช้ความเห็นแก่ตัวและผูกมิตรไปด้วยพร้อม ๆ กันได้

            มันเป็นเรื่องดีที่ความขัดแย้งระหว่างความเห็นแก่ตัว และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันสามารถดำเนินไปพร้อม ๆ กันได้ เพราะการสนับสนุนและผูกมิตรทำให้เราเข้าสังคม กล้าหาญ และฉลาด ทั้งยังมอบความกล้าและความหวังที่จะช่วยผลักดันให้เราลงมือทำ รวมถึงความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ซึ่งช่วยให้เราลงมือทำได้อย่างชาญฉลาด

            สิ่งที่น่าสนใจคือแม้การตอบสนองแบบสนับสนุนและผูกมิตรจะถูกวิวัฒนาการขึ้นมาเพื่อช่วยให้เราปกป้องลูกหลานได้ แต่แท้จริงแล้วความกล้าหาญที่เกิดจากการตอบสนองรูปแบบนี้สามารถช่วยให้เรารับมือกับความท้าทายได้ทุกประเภท และประเด็นที่สำคัญที่สุดคือทุกครั้งที่เราเลือกที่จะช่วยเหลือผู้อื่น นั่นหมายความว่าเรากระตุ้นตัวเองให้ตอบสนองแบบสนับสนุนและผูกมิตร ซึ่งการห่วงใยผู้อื่นเช่นนี้จะทำให้เรามีความกล้าและความหวัง

การห่วงใยผู้อื่นเช่นนี้จะทำให้เรามีความกล้าและความหวัง

            การส่งเสริมสุขภาพจิตก็เช่นเดียวกัน การที่เราสนับสนุนผูกมิตรกับผู้อื่นสามารถยกระดับสุขภาพจิตของเราได้อย่างน่าทึ่ง เพราะไม่ว่าเราจะรู้สึกอึดอัดใจเพราะความเครียดของตัวเองหรือความทุกข์ของผู้อื่น สิ่งที่จะช่วยให้เรารู้สึกมีความหวังก็คือการเชื่อมโยง ไม่ใช่การหลีกหนีปัญหาแล้วพยายามฝันกลางวันว่าทุกอย่างได้ผ่านไปแล้วอย่างที่ใครหลายคนเลือกทำกัน

            การตอบสนองแบบสนับสนุนและผูกมิตรไม่ได้มีประโยชน์ในแง่ของการได้ช่วยเหลือคนที่เรารักเท่านั้น แม้นั่นจะเป็นหน้าที่ที่แสนสำคัญของมันก็ตาม ทว่าการทำอะไรสักอย่างเพื่อสนับสนุนผู้อื่นในขณะที่เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่อับจนหนทางยังช่วยให้เรารักษาแรงจูงใจและความหวังของตัวเองเอาไว้ด้วย

            แรงจูงใจและความหวังเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เราอยากลุกขึ้นมาตอนเช้าแล้วเผชิญหน้ากับความเครียด ความทุกข์เพื่อดำเนินชีวิต่อไป หากขาดมันเราก็จะอยากนอนเป็นผักเสียมากกว่าจะทำอย่างอื่น มันจึงวิเศษอย่างมากที่ผลข้างเคียงของการตอบสนองแบบสนับสนุนและผูกมิตรทำให้การช่วยเหลือผู้อื่นกลายเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพอย่างไม่น่าเชื่อสำหรับการแปรรูปความเครียด

            ในหนังสือ The Upside of Stress: Why Stress Is Good for You, and How to Get Good at It ผู้เขียน เคลลี แม็คโกนิกาล (Kelly McGonigal) ได้นำเสนอการศึกษาจากโรงเรียนธุรกิจวอร์ตันแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียที่ต้องการค้นหาวิธีบรรเทาความกดดันเรื่องเวลาในที่ทำงาน ผู้อ่านก็น่าจะเข้าใจความรู้สึกของการมีงานที่ต้องทำมากมายแต่มีเวลาไม่พอจริงมั้ยครับ การรู้สึกว่ามีเวลาไม่พอไม่เพียงทำให้เราเกิดความเครียด แต่ยังสามารถนำไปสู่การตัดสินใจที่แย่และไม่เหมาะสมอีกด้วย

            ในการศึกษานี้ทีมวิจัยได้ลองใช้สองวิธีในการบรรเทาความรู้สึกว่ามีเวลาไม่มากพอ โดยผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งสองกลุ่มจะได้รับเวลาว่างจำนวนหนึ่ง กลุ่มแรกสามารถใช้เวลาว่างนั้นทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ ในขณะที่อีกกลุ่มต้องใช้เวลาไปกับการช่วยเหลือผู้อื่น หลังจากนั้นทีมวิจัยก็จะขอให้พวกเขาประเมินว่าตัวเองมีเวลาว่างมากแค่ไหน และรู้สึกว่าตัวเองขาดแคลนเวลามากแค่ไหนเมื่อมองในภาพรวม

            ผลลัพธ์ที่ได้น่าประหลาดใจทีเดียว ปรากฎว่าการช่วยเหลือผู้อื่นสามารถบรรเทาความรู้สึกที่ว่าตัวเองมีเวลาไม่พอได้ดีกว่าการได้เวลาเพิ่มเสียอีก โดยกลุ่มที่ใช้เวลาไปกับการช่วยเหลือผู้อื่นระบุว่าพวกเขามีความสามารถ มีศักยภาพ และมีประโยชน์มากกว่ากลุ่มใช้เวลาเพื่อตัวเองส่งผลให้ความรู้สึกที่พวกเขามีต่อสิ่งที่ต้องทำให้เสร็จและความสามารถของตัวเองในการรับมือกับความกดดันเปลี่ยนแปลงไป

            ผลการศึกษานี้จึงคล้ายคลึงกับการทดลองแทรกแซงกรอบคิดของเจเรมี เจมีสัน ที่พบว่าการช่วยเหลือผู้อื่นส่งผลให้ความมั่นใจในตัวเองเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้ความรู้สึกที่มีต่อสิ่งที่ต้องจัดการเปลี่ยนแปลงไป ความมั่นใจที่เพิ่มขึ้นนี้ยังทำให้มุมมองที่พวกเขามีต่อข้อเท็จจริงซึ่งเป็นสิ่งที่ตายตัวอย่างเวลาเปลี่ยนไปด้วย โดยมองว่าตัวเองมีเวลามากขึ้นหลังจากที่ได้ช่วยเหลือใครสักคน

            การศึกษานี้น่าสนใจอย่างมาก มันแสดงให้เห็นว่าความรู้สึกของเราเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน ในเวลาที่เราช่วยเหลือใครสักคนหนึ่ง มันจึงตรงกันข้ามกับความคิดที่ว่า หากเราอยากมีเวลามากขึ้นเราจะต้องหวงแหนเวลาของตัวเองให้มากที่สุด คนเรามักจะประเมินความรู้สึกดีจากการช่วยเหลือคนอื่นไว้ต่ำจนเกินไป เช่น ผู้คนมักคาดการณ์ผิด ๆ ว่าการใช้เงินเพื่อตัวเองจะทำให้พวกเขามีความสุขมากกว่าการใช้เงินเพื่อคนอื่น

            ทั้งที่ความจริงนั้นตรงกันข้ามเลย การให้ส่งผลทำให้เรามีอารมณ์ดีมากกว่าที่คิดเอาไว้ นอกจากนั้นการเอื้อเฟื้อยังเป็นวิธีที่จะพัฒนาความยืดหยุ่นทางจิตใจซึ่งช่วยเสริมสร้างการตอบสนองแบบสนับสนุนและผูกมิตร ดังนั้นการช่วยเหลือผู้อื่นจึงเป็นหนึ่งในวิธีสร้างแรงจูงใจที่ทรงพลังที่สุดที่เราสามารถทำได้ เมื่อต้องต่อสู้กับการหลีกเลี่ยงอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความสงสัยในตัวเองหรือความรู้สึกแย่จนเกินรับไหว

            ดังนั้นเราสามารถแปรรูปความเครียด เปลี่ยนความอึดอัดใจให้เป็นความหวังได้โดยการมองหาวิธีช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งเราอาจจะตั้งเป้าหมายหรือหาโอกาสช่วยเหลือผู้อื่นให้เป็นกิจวัตรประจำวัน การทำเช่นนี้เท่ากับเราได้เตรียมร่างกายและสมองให้พร้อมลงมือทำสิ่งดี ๆ รวมทั้งเก็บเกี่ยวความกล้า ความหวัง และความรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้อื่น

            นักจิตวิทยาด้านสุขภาพ เคลลี แม็คโกนิกาล (Kelly McGonigal) ผู้เขียนหนังสือ The Upside of Stress แนะนำกลยุทธิ์การช่วยเหลือผู้อื่นเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางจิตใจแบ่งออกเป็นสองกลยุทธ์

            กลยุทธ์แรก คือการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยการทำสิ่งใหม่ ๆ หรือสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ซึ่งสามารถกระตุ้นระบบการให้รางวัลของสมองได้ดีกว่าการทำสิ่งเดิม ๆ ทุกวัน 

            กลยุทธ์ที่สอง คือการตระหนักถึงความจริงที่ว่าการกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ มีพลังเท่ากับการกระทำที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้น เราควรมองหาสิ่งเล็ก ๆ ที่สามารถทำได้อย่างง่ายดาย แทนที่จะมัวรอแต่จังหวะดี ๆ เพื่อทำความดีครั้งใหญ่ แม็คโกนิกาลได้เล่าประสบการณ์ที่เธอกระตุ้นนักศึกษาคิดหาวิธีใหม่ ๆ ในการหยิบยื่นความเอื้อแก่ผู้อื่นเสมอ 

            ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถกล่าวชมหรือทุ่มเทความสนใจให้กับใครสักคนอย่างเต็มที่ หรือถึงขั้นเปิดใจที่จะเชื่อคนคนนั้นแม้จะยังไม่มั่นใจ ซึ่งเป็นวิธีที่ผมใช้บ่อยอย่างมาก เมื่อผมฟังเรื่องราวของใครสักคนที่ดูไม่น่าเป็นความจริง ผมจะพิจารณาว่า "หากผมเชื่อเรื่องนี้จะส่งผลเลวร้ายอะไรกับผมหรือไม่" ถ้าไม่ ผมก็จะเลือกเชื่อไปก่อนเพราะมันไม่ได้ส่งผลเสียอะไรทั้งสิ้นเลย

            กลยุทธ์ทั้งสองนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงกรอบแนวคิดจากที่เราคิดในปัจจุบัน โดยปกติเรามักจะคิดว่าจะต้องเอาตัวเองให้รอดไว้ก่อน เห็นแก่ตัวไว้ก่อน คิดแต่ประโยชน์ของตัวเองไว้ก่อน ทั้งที่จริง ๆ แล้วองค์กร หรือสังคมจะไปข้างหน้าได้ก็ด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเท่านั้น ผมคิดว่าเราควรจะรู้สึกดีที่การเอื้อเฟื้อ สนับสนุน ผูกมิตรทำให้สุขภาพจิตของเราแข็งแกร่งขึ้นจากความยืดหยุ่นทางจิตใจที่เพิ่มมากขึ้น 

เพราะมันทำให้เรายังคงมีหวังในตัวของมนุษย์ได้ต่อไป

อ้างอิง

McGonigal, K. (2016). The Upside of Stress: Why Stress Is Good for You, and How to Get Good at It. NY: Avery.

ความคิดเห็น