ซูซูกิ ยูซึเกะ อายุรแพทย์ผู้เปลี่ยนชีวิต หลังจากที่คนใกล้ตัวตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง

"ความสุขที่ต้องชนะไปเรื่อย ๆ เท่านั้นถึงจะรักษาเอาไว้ได้เป็นสิ่งที่มีราคาแพงเกินไป ผมเหนื่อยกับมันแล้ว"

            ผมได้อ่านหนังสือชื่อ "ชีวิตเราไม่ได้ยืนยาวพอที่จะอยู่อย่างอดทน" แล้วก็พบว่าเป็นเนื้อหาที่ค่อนข้างน่าสนใจ เหมาะสมกับบริบทในปัจจุบันอย่างมาก ที่ทุกคนต่างวิ่งแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย พยายามได้รับความสนใจ ทำทุกอย่างเพื่อตอบสนองความคิดเห็นของคนอื่น ใฝ่หาความสุขที่ลวงตา และพร้อมจะเผชิญกับความทุกข์เพื่อความสำเร็จ

            ทั้งหมดนี้ทำให้เราทุกคนต่างอดทน เพื่อมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายที่เราก็ไม่รู้อย่างแน่ชัดว่าเป็นเส้นทางที่ถูกต้องหรือไม่ หนังสือเล่มนี้แนะนำให้เราใส่ใจกับความรู้สึกของตัวเองเหนือสิ่งอื่นใด สังเกตความรู้สึก แล้วกลับมาให้เห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น โดยหัดปฏิเสธผู้อื่นบ้าง อดทนให้น้อยลงบ้าง ลดการโทษตัวเองบ้าง และให้รู้จักขอความช่วยเหลือจากคนที่เชื่อใจบ้าง

            หนังสือเล่มนี้เขียนโดย ซูซูกิ ยูซึเกะ อายุรแพทย์ด้านเวชศาสตร์กายและจิตชาวญี่ปุ่น เขามีชื่อเสียงด้านสุขภาพจิตและได้เปิดคลินิกชื่อ Save ที่อากิฮาบาระ เขาปรารถนาอยากให้ที่แห่งนี้เป็นฐานที่มั่นแห่งความสบายใจ (Save Point) โดยเขาให้ความสำคัญกับความทรมานในการมีชีวิต ความเจ็บปวดที่หยั่งรากลึก และความรู้สึกสูญเสียของผู้คน

            ครั้งหนึ่ง ยูซึเกะ ไม่ได้สนใจทางด้านสุขภาพจิตมากนัก เขาประสบความล้มเหลวในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยถึง 2 ปี ทำให้ต้องเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยท้อนถิ่นแทน เขาไม่ได้เป็นคนที่มีความสามารถมากนัก สื่อสารไม่เก่ง ทักษะการใช้มือไม่ดี กำลังกายก็ไม่มี เขาจึงพิจารณาว่าตัวเองน่าจะเหมาะกับการเป็นแพทย์รังสีมากที่สุด บวกกับศาสตราจารย์ภาควิชารังสีวิทยาเป็นคนที่มีน้ำใจ

            แต่เขาก็พบว่าสาขานี้ไม่เหมาะกับเขาเลย เพราะจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความแม่นยำสูงแต่เขาทำผิดพลาดร้ายแรงอยู่บ่อยครั้ง "ผมทำงานในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในฐานะแพทย์ประจำบ้านอาวุโสได้แย่มาก" เขาเล่า "ถึงขนาดอาจารย์ที่สอนเรียกผมว่าหัวขโมยเงินเดือนและเคยถูกประจานความผิดพลาดในการประชุมแพทย์ด้วย"

            จนกระทั่งวันหนึ่งเหตุการณ์ที่เลวร้ายก็ได้เกิดขึ้นแต่มันก็เป็นเหตุการณ์ที่พลิกชีวิตและความคิดของเขาไปตลอดกาล เขาเผชิญกับประสบการณ์ที่แพทย์ซึ่งเป็นคนใกล้ตัวเขาฆ่าตัวตาย ซึ่งมันกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งกลุ่มให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตสำหรับบุคลากรทางการแพทย์กับเพื่อนรุ่นเดียวกัน 

            เขาค้นพบว่ากิจกรรมนี้มีความหมายอย่างยิ่ง ในที่สุดหลังจากทำงานเป็นรังสีแพทย์ได้ 2 ปี เขาก็ตัดสินใจย้ายไปโรงพยาบาลอื่นแล้วหันมาเป็นอายุรแพทย์แทน เนื่องจากเขาค้นพบว่าตนเองไม่เหมาะสมกับแพทย์รังสี แต่ด้วยประสบการณ์ที่เขาให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต ทำให้เขาค้นพบจุดเด่นบางอย่างที่เหมาะสมกับการเป็นอายุรแพทย์

            เขาให้เหตุผลว่า "การที่ผมเป็นอายุรแพทย์ทำให้มีโอกาสแก้ปัญหาด้านการบริหารจัดการซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาในที่ทำงานแพทย์ และสามารถทำการรักษาแบบทั่วไปมากกว่าด้วย" นอกจากนั้นในระหว่างที่เขาทำงานในโรงพยาบาล เขาก็รับตำแหน่งบริหารในองค์กรปฏิรูปการแพทย์ของจังหวัดโคจิไปด้วย ส่งผลให้เขาได้ให้คำปรึกษากับผู้คนมากมายทั้งในด้านอาชีพและจิตใจ "การได้มีส่วนช่วยเหลือชีวิตคนอื่นเป็นเรื่องสนุก" เขากล่าว

            ประสบการณ์ให้คำปรึกษามากมายและความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่เพิ่มพูนมากขึ้น จึงทำให้เขาเลือกไปทำงานกับบริษัทให้คำปรึกษาสำหรับองค์กรทางการแพทย์อยู่ 3 ปีในเมืองโตเกียว แต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจเปิดคลินิกในย่านที่มีการแข่งขันสูงเพื่อที่จะสร้างสถานที่แห่งความอุ่นใจกับคนสำคัญรอบตัว โดยเขาปรารถนาที่จะใช้คลินิกแห่งนี้เป็นที่พักฟื้นของผู้คนเวลาที่พวกเขารู้สึกทรมานกับการมีชีวิต 

            ด้วยประสบการณ์ชีวิตที่เพิ่มากขึ้นจากการทำงาน และการมีหลักการใช้ชีวิตที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าของตัวเอง ทำให้เขาเลือกที่จะดำเนินชีวิตตามที่ตนเองต้องการ เขาเปิดคลินิกตอนเย็นโดยเน้นการตรวจรักษาตอนกลางคืนเพราะไม่ชอบตื่นเช้า เขาใช้ชีวิตโดยทำสิ่งที่อยากทำและหนีจากสิ่งที่ไม่อยากทำ ซึ่งแตกต่างจากแพทย์ทั่วไปในญี่ปุ่น จนถึงขนาดที่เขานิยามตัวเองว่า "นอกรีต"

            เขามีความเห็นว่า "การเดินไปตามเส้นทางที่ใคร ๆ ก็เดินกัน แล้วคว้าตำแหน่งอันทรงเกียรติมาได้อาจเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับพ่อแม่ แต่ถ้ายึดติดว่าต้องไปตามเส้นทางนั้นเท่านั้น ไม่ว่าจะอย่างไรก็หนีไม่พ้นต้องเอาความต้องการและสิ่งที่ตัวเองอยากทำจริง ๆ เป็นเรื่องรองลงมา"

            "นอกจากนี้ เส้นทางที่ใคร ๆ ก็เดินกันอาจดูเป็นเส้นทางที่ปลอดภัย แต่มันเป็นที่ที่มีคนอยู่หนาแน่นเกินไป" เขาเล่าต่อ "หากจะปักหลักให้ได้ก็ต้องคอยตอบสนองความคาดหวังของคนอื่นไปเรื่อย ๆ แถมอัตราการแข่งขันยังสูงลิบลิ่วอีกต่างหาก การปักหลักในเส้นทางที่ควรจะเป็น มันมีราคาที่ต้องจ่ายแพงเกินไป กลับกันการออกนอกเส้นทางมาสักหน่อยจะช่วยให้เราได้เห็นโลกที่อยู่ง่ายอยู่สบายได้เต็มตา"

การออกนอกเส้นทางมาสักหน่อยจะช่วยให้เราได้เห็นโลกที่อยู่ง่ายอยู่สบายได้เต็มตา

            ทุกวันนี้ ซูซูกิ ยูซึเกะ เป็นคนที่มีชื่อเสียงแต่ก็ให้เวลากับตัวเองมากพอที่จะเล่นเกม โดยเฉพาะ Splatoon 2 ที่เขาเล่นมาแล้วกว่า 2,000 ชั่วโมง เขามองว่าการหมกมุ่นกับเกมเหมือนเด็กเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ถึงขนาดที่ลดชั่วโมงการทำงานลงเพื่อจะได้มีเวลาเล่นเกมมากขึ้น เพราะมันทำให้เขามีความสุขมากกว่า

            "คนส่วนใหญ่มักใช้ชีวิตโดยคิดว่า การเดินบนเส้นทางที่สังคมหรือที่ทำงานบอกว่าดีคือเส้นทางที่ถูกต้อง" เขาเล่า "ในหมู่พวกเขาคงมีคนบางคนที่ถูกพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดคาดหวังจนรู้สึกว่าถูกกำหนดให้ต้องเดินบนเส้นทางนี้หรือไม่มีทางหนีไปได้ แต่มันไม่ใช่แบบนั้นเลย ไม่ว่าใครก็สามารถคิดนอกกรอบและเอาแต่ใจและไม่เลือกสิ่งที่ทุกคนมองว่าดีได้"

            "ถ้าทำแบบนั้นแล้วมันช่วยให้สบายใจได้ละก็ แม้จะไม่ใช่เส้นทางที่สังคมหรือที่ทำงานบอกว่าดี ก็ไม่เป็นไรเลย ถ้าเจอเส้นทางที่เป็นความสุขของตัวเอง ต่อให้มันไม่ใช่สิ่งที่สังคมบอกว่าดีผมก็ขอแนะนำให้คุณมั่นใจแล้วก้าวเดินไปบนเส้นทางนั้นทันที คุณไม่จำเป็นต้องมีชีวิตเพื่อคนอื่นครับ"

ข้อคิด

            1) มีชีวิตในแบบฉบับของตัวเอง ผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกคนต่างตระหนักกันดีว่า "เราต้องมีชีวิตในแบบฉบับของตัวเอง" แต่สุดท้ายเราก็ดำรงชีวิตตามเส้นทางที่เต็มไปด้วยความคาดหวังของผู้อื่นทุกครั้งไป เราใส่ใจกับความเห็นของผู้อื่น เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกค้า คุณครู เพื่อน พ่อแม่ แน่นอนว่าหลายครั้งเป็นสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยบริบทสังคม ซึ่งทำให้ยากอย่างยิ่งที่จะเดินบนเส้นทางที่ตนเองปรารถนาได้อย่างแท้จริง

            เพียงแต่ว่าชีวิตมันสั้นเกินกว่าที่จะอดทนไปกับทุกเรื่อง หากเราสามารถประนีประนอมกับชีวิตเพื่อให้เราได้ทำตามใจตัวเองบ้าง มีความสุขกับเส้นทางของตัวเองบ้าง และเห็นคุณค่าในตนเองได้มากขึ้น แต่ทุกวันนี้เราหาข้ออ้างให้กับทุกสิ่ง เราตึงเกินไป เราพยายามเปรียบเทียบและแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อได้รับการยอมรับและการชื่นชม ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่มีจุดสิ้นสุด

            2) ความสุขไม่ใช่สิ่งที่จะต้องชนะไปเรื่อย ๆ ซูซูกิ ยูซึเกะ เล่าว่า "ทุกวันนี้แม้จะเป็นแพทย์ แต่อาชีพการงานของผมก็ห่างไกลจากเส้นทางที่เป็นที่ยอมรับมาพอสมควร แต่เรื่องนี้ไม่ได้ทำให้ผมลำบากใจ กลับรู้สึกว่าชีวิตตอนนี้ง่ายกว่าเมื่อก่อนเยอะด้วยซ้ำไป" อย่างที่ได้เล่าไปแล้วว่าเขาลดงานของตัวเองลงซึ่งเป็นช่องทางทำเงิน เพื่อเล่นเกมมากขึ้น มันแตกต่างกับค่านิยมของแพทย์ทั่วไปอย่างมาก

            เขาอธิบายว่า "เมื่อดำเนินชีวิตมาถึงจุดหนึ่ง ผมก็เกลียดโลกแห่งการแข่งขันเข้าใส้ เพราะรู้แล้วว่าต่อให้ชนะมาได้ครั้งหนึ่ง การแข่งขันก็ยังคงดำเนินต่อไปไม่มีสิ้นสุดอยู่ดี ความสุขที่ต้องชนะไปเรื่อย ๆ เท่านั้น และถึงจะรักษาเอาไว้ได้ แต่มันก็เป็นสิ่งที่มีราคาแพงเกินไป ผมเหนื่อยกับมันแล้ว" สิ่งนี้เป็นข้อเท็จจริงอย่างมาก เพราะมนุษย์มีกระบวนการปรับตัวที่มีประสิทธิภาพ เราจะปรับตัวต่อความสุขที่เราได้รับจนกลายเป็นความเคยชิน ซึ่งทำให้เราต้องวิ่งหาความสุขใหม่ ๆ ไปตลอดชีวิต

            การออกแบบความสุขและเส้นทางชีวิตในแบบฉบับของตัวเองจึงสำคัญ ข้อคิดทั้งสองข้อที่ผมสกัดออกมาได้ อาจจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่เราสามารถสร้างสมดุลบางอย่างเพื่อประนีประนอมกับบริบทสังคมของแต่ละบุคคลได้ เราสามารถออกแบบชีวิตที่เราไม่เหนื่อยล้าจนเกินไป ไม่ต้องอดทนมากจนเกินไป และมีความสุขกับมันได้ แม้จะไม่ประสบความสำเร็จตามค่านิยม แม้จะไม่มีร่ำรวยเงินทองมีหน้ามีตาเหมือนกับคนอื่น ๆ ก็ตาม

            แต่มันก็ทำให้สุขภาพจิตของเราแข็งแกร่งและเห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้น ผมเคยคิดว่าเราจะเห็นคุณค่าในตนเองเมื่อเราสามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้ในระดับหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นเพียงแค่การประเมินตนเองในด้านบวกเท่านั้น เราจะเห็นคุณค่าในตนเองได้โดยเริ่มจากการที่เราเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง และดำเนินชีวิตไปตามความปรารถนาของตนเอง มันถึงเวลาแล้ว

ที่เราจะเลิกมองตัวเองในกระจก แล้วมองความรู้สึกของตัวเองให้ออกว่า "อะไรกันแน่ที่เราต้องการอย่างแท้จริง"

อ้างอิง

Suzuki, Y. (2021). 我慢して生きるほど人生は長くない, Tokyo: Ascom. (ชีวิตเราไม่ได้ยืนยาวพอที่จะอยู่อย่างอดทน ผู้เขียน ยูซึเกะ ซูซูกิ แปลโดย ชลฎา เจริญวิริยะกุล. กรุงเทพฯ: วีเลิร์น.)

ความคิดเห็น