เรื่องราวการจบชีวิตตัวเองของนักศึกษาที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของ เคลลี แม็คโกนิกาล (Kelly McGonigal) ตลอดกาล

"ฉันน่าจะแบ่งพลังงานที่ใช้ไปกับการเตรียมการบรรยายให้ไร้ที่ติไปใช้พูดคุยกับนักศึกษาให้มากขึ้น"

            เคลลี แม็คโกนิกาล (Kelly McGonigal) เป็นนักจิตวิทยาสุขภาพ อาจารย์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และเป็นที่ปรึกษาองค์กรต่าง ๆ รวมถึงโครงการด้านการศึกษาของหนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ เธอมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงแนวคิดด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยาศาสตร์ให้กลายเป็นกลยุทธ์ที่สามารถนำไปใช้ให้ผู้คนมีความสุขมากขึ้น

            เธอเคยบรรยายในงาน TED Talks หัวข้อ "How to make stress your friend" ซึ่งมียอดผู้เข้าชมกว่า 28 ล้านครั้ง และเธอยังเขียนหนังสือ The Upside of Stress: Why Stress Is Good for You, and How to Get Good at It ซึ่งบรรจุงานวิจัยของเธอและงานวิจัยอื่น ๆ จำนวนมากเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดของผู้คนเกี่ยวกับความเครียดเพื่อผูกมิตรกับมันแทนที่จะหวาดกลัวหรือเกลียดชังมัน

            ครั้งหนึ่งเธอเคยหวาดกลัวและเกลียดชังความเครียดเหมือนกับเราทุกคน ในช่วงปี 2006 เป็นปีที่เธอรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานสำหรับวิชาจิตวิทยาเบื้องต้นของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด วิชานี้มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนหลายร้อยคนและใช้ผู้ช่วยอาจารย์มากกว่าสิบคน อีกทั้งยังมีอาจารย์จากคณะต่าง ๆ เข้าร่วมการบรรยายพิเศษด้วย

            การดูแลวิชานี้จึงเป็นงานใหญ่อย่างมาก ซึ่งเธอดำเนินทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี จนกระทั่งวันหนึ่งในเดือนมกราคมปี 2007 เธอได้รับอีเมลจากผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการประจำหอพักนักศึกษาปริญญาตรี เขาแจ้งว่านักศึกษาคนหนึ่งที่ลงเรียนวิชาจิตวิทยาเบื่องต้นแต่เรียนไม่จบได้เสียชีวิตลงแล้วในช่วงปิดภาคเรียนฤดูหนาว โดยไม่ได้ระบุว่านักศึกษาคนนี้เสียชีวิตอย่างไร

            ด้วยความไม่สบายใจเธอจึงลองค้นหาชื่อนักศึกษาคนนี้บนอินเทอร์เน็ตและเจอข่าวสองเรื่องที่น่าตกใจ ข่าวแรกเป็นรายงานข่าวท้องถิ่นในช่วงฤดูร้อนของปีที่แล้วซึ่งยกย่องนักศึกษาคนนั้นในฐานะตัวแทนนักเรียนผู้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีจบการศึกษาของโรงเรียนมัธยมปลาย และบอกว่าเขามีเป้าหมายที่จะศึกษาต่อในคณะแพทย์ศาสตร์

            ข่าวที่สองเป็นข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเขาในช่วงปิดภาคเรียนฤดูหนาว ซึ่งระบุว่าก่อนถึงเทศกาลคริสต์มาสไม่กี่วัน เขาราดน้ำมันเบนซินลงบนตัวและจุดไฟเผาตัวเองในห้องน้ำที่บ้าน ผู้คนในโลกออนไลน์คาดว่าเขาคงทำคะแนนในภาคเรียนแรกที่สแตนฟอร์ได้ไม่ดีอย่างที่คาดหวังเอาไว้และฆ่าตัวตายเพราะความอับอาย

            แม็คโกนิกาลย้อนกลับไปดูอีเมลทุกฉบับที่โต้ตอบหรือพูดถึงนักศึกษาคนนี้ซึ่งมีไม่มากนัก เขาลาพักการเรียนตอนใกล้จบภาคเรียน เธอเสนอให้เขาสอบปลายภาคจากที่บ้านแต่เขาปฏิเสธ เธอจึงไม่ได้ติดตามอะไรต่อจากนั้น ด้วยความที่เธอยุ่งอยู่กับการเตรียมการสอบปลายภาคและการรวบรวมคะแนนของนักศึกษาทั้งหมด 

            เธอเล่าว่า "หากพิจารณาด้วยเหตุผล ฉันเชื่อว่าการเรียนจิตวิทยาเบื้องต้นไม่จบไม่ใช่จุดพลิกผันของนักศึกษาคนนี้ เขาอาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวชอย่างอื่น แต่ไม่ว่าเขาจะจบชีวิตตัวเองเพราะเหตุใด ฉันก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าตัวเองเลินเล่อเกินไปในการดูแลนักศึกษาที่มีปัญหาเรื่องผลการเรียน"

เคลลี แม็คโกนิกาล (Kelly McGonigal) ระหว่างการบรรยายในงาน TED Talks

            "ฉันน่าจะแบ่งพลังงานที่ใช้ไปกับการเตรียมการบรรยายให้ไร้ที่ติไปใช้พูดคุยกับนักศึกษาให้มากขึ้น" เธอเล่าต่อ "ถ้าฉันทุ่มเทความพยายามเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาคนนั้นมากกว่าเดิม ฉันก็คงได้คุยกับเขาและบอกเขาว่ามีนักศึกษาหลายคนที่ต้องดิ้นรนตอนปี 1 แต่ก็เรียนจบและได้เกียรตินิยม ถ้าเป็นแบบนั้นเขาก็อาจเรียนวิชานี้จบ แต่นั่นจะช่วยให้ผลลัพธ์เปลี่ยนแปลงไปได้หรือเปล่า ฉันไม่มีทางรู้ได้เลย"

            มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดจะไม่ได้เปิดเผยข่าวนี้ เธอจึงแทบไม่เคยเล่าให้ใครฟังยกเว้นเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งที่เธอไว้ใจและนักศึกษาปริญญาโทที่เป็นผู้ช่วยอาจารย์เท่านั้น เธอได้เก็บความละอายใจเอาไว้ จนกระทั่งหลายปีต่อมาเธอได้เล่าเรื่องนี้ให้เพื่อร่วมงานที่กลายเป็นเพื่อนสนิทฟัง เธอก็ตระหนักว่าประสบการณ์นั้นทำให้แนวทางในการเป็นอาจารย์ของเธอเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

            หลังจากการเสียชีวิตของนักศึกษาคนนี้ เธอได้ทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่มีปัญหาเรื่องการเรียน เธอมองว่าภารกิจของเธอคือการช่วยให้นักศึกษาเหล่านี้เข้าใจว่าความล้มเหลวในการเรียนเพียงครั้งเดียวไม่ได้ตัดสินอนาคตหรือความสามารถของพวกเขา 

            เธอเล่าว่ามีนักศึกษาปี 1 คนหนึ่งที่เข้าเรียนแพทย์ได้ทั้งที่ใบรับรองผลการศึกษาเต็มไปด้วยเกรด C- แถมช่วงสองปีแรกเกรดของเขายังแย่กว่านั้นเสียอีก จดหมายแนะนำที่บรรดาอาจารย์เขียนให้นักศึกษาคนนี้อัดแน่นด้วยคำชมเชยเกี่ยวกับความพากเพียรและพัฒนาการของเขา ซึ่งเธอก็เป็นหนึ่งในอาจารย์เหล่านั้น

            เธอกำหนดหลักการให้ตัวเองว่า "จงมองนักศึกษาทุกคนเป็นมนุษย์ก่อนที่จะพูดคุยเรื่องเกรดหรืองานของเขา" รวมทั้งพยายามปลูกฝังหลักการนี้ให้กับผู้ช่วยอาจารย์ที่อยู่ในความดูแลของเธอ และทำให้มันกลายเป็นรากฐานของทุกแผนการศึกษาในวิชาที่เธอสอนตลอดไป

ข้อคิด

            1) ใช้ความรู้สึกผิด อับอาย หรือผิดหวังเป็นแรงผลักดัน หลายคนเลือกที่จะเก็บความรู้สึกเชิงลบเหล่านี้เอาไว้ ปิดกั้นมันไว้ เพราะเราทุกคนต่างคาดหวังในตัวเองค่อนข้างสูง "เราจะต้องสมบูรณ์แบบ" "เราจะต้องไม่ล้มเหลว" ทั้งที่จริง ๆ แล้วเราผิดพลาดและล้มเหลวตลอดเวลา อีกทั้งสังคมก็คาดหวังให้ผู้อื่นต้องไม่ล้มเหลวด้วย ความผสมกันระหว่างภายในและภายนอกนี้ทำให้เรากดดันตัวเองมากเกินไป ส่งผลให้เราหลอกตัวเองและค่อย ๆ ทำลายสุขภาพจิตของตัวเองไปเรื่อย ๆ 

            แม็คโกนิกาลเลือกใช้ความรู้สึกผิด อับอาย หรือผิดหวังเป็นแรงผลักดันเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แม้เธอจะไม่ได้ผิดอะไรในกรณีการฆ่าตัวตายของนักศึกษาปี 1 คนนี้ แต่เธอตระหนักว่าเธอสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้เพื่อที่จะช่วยเหลือ ด้วยความมุ่งมั่นนี้ทำให้เธอใส่ใจและช่วยเหลือนักศึกษาผู้เปราะบางจำนวนมากได้ จนเธอกลายมาเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงอย่างในทุกวันนี้

            2) ความคาดหวังสามารถฆ่าเราได้ เด็กในปัจจุบันแบกความคาดหวังทั้งจากตัวเองและคนรอบข้างอย่างมาก ยิ่งเราเกิดมาในครอบครัวที่มีทรัพยากรที่พร้อมเสียทุกอย่าง ความคาดหวังก็ยิ่งมากโดยไม่รู้ตัว ทุกวันนี้พ่อแม่ขยันส่งเด็กไปเรียนพิเศษดนตรี การแสดง กีฬา และวิชาการมากขึ้นเพราะพวกเขาคาดหวังจะสร้างให้ลูกของพวกเขาเติบโตมาประสบความสำเร็จ มันไม่ใช่ความผิดอะไรเลย เพียงแต่มันส่งผลให้ลูกแบกรับความคาดหวังที่มองไม่เห็นนี้โดยไม่รู้ตัว 

            ยิ่งเราอยู่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมันยิ่งบีบให้เราตะกายขึ้นบันไดให้สูงมากที่สุดโดยไม่รู้ตัว เราต่างเปรียบเทียบกับคนอื่น และถ้าเราเห็นเพื่อนของเราเก่งมากมายเหลือเกินเราก็จะบอบช้ำโดยที่เราไม่รู้ตัว เด็กหลายคนในยุคสมัยปัจจุบันจึงเผชิญกับความเปราะบางทางจิตใจค่อนข้างสูง และเป็นความท้าทายของครู/อาจารอย่างมากที่จะต้องให้ความช่วยเหลือนอกเหนือจากการให้ความรู้

            3) ครู/อาจารย์ไม่ควรใช้เพียงแค่สมองแต่ต้องใช้หัวใจด้วย ด้วยความที่ผมเป็นครูการศึกษาพิเศษ มันจำเป็นอย่างยิ่งที่ผมจะต้องใช้หัวใจร่วมกับสมอง ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ ความใจเย็น และความรู้คือสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษ โดยเฉพาะเด็กออทิสติกที่มีระดับความต้องการความช่วยเหลือที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนั้นเด็กแต่ละคนยังมีรูปแบบการแสดงออกทางพฤติกรรมที่แตกต่างกันด้วย

            ครู/อาจารย์ทั่วไปก็จำเป็นอย่างมากเช่นเดียวกันที่จะต้องใช้หัวใจร่วมกับสมอง ทุกวันนี้นักเรียนทุกคนต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงของโลก สังคม และเทคโนโลยี แม้พวกเขาจะเก่งมากขึ้นรอบรู้มากขึ้น แต่มันก็ทำให้พวกเขาเปราะบางและมีความยืดหยุ่นทางจิตใจที่ลดน้อยลง ดังนั้นการให้ความรู้พร้อมกับให้กำลังใจ รับฟัง สั่งสอนอย่างเห็นอกเห็นใจ พร้อมกับสอดมือเข้าไปประคองช่วยเหลือในวันที่เขาล้มลง 

ก็จะสามารถป้องกันความสูญเสียที่เกินจะแก้ไขได้

อ้างอิง

McGonigal, K. (2016). The Upside of Stress: Why Stress Is Good for You, and How to Get Good at It. NY: Avery.

ความคิดเห็น