เชลยค่ายกักกันนาซี วิคเตอร์ แฟรงเคิล (Viktor Frankl) ความหมายของชีวิตจากช่วงเวลาอันโหดร้าย

 "ผมยังจำได้ดีว่าหัวหน้าคนงานคนหนึ่งแอบหยิบขนมปังให้ ซึ่งเป็นขนมปังที่หัวหน้าคนงานแอบแบ่งจากอาหารเช้าของตนเอง"

            ผมเชื่อว่าคำถามสำคัญของคนหลายคนก็คือ "อะไรคือความหมายของชีวิต" สำหรับผมแล้วความหมายชีวิตเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะกำหนดด้วยตนเอง เพราะมนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่างกัน ดังนั้นกระบวนความคิด ประสบการณ์และความเชื่อก็ต้องแตกต่างกันด้วย การที่เรายึดเอาความหมายชีวิตของใครบางคนมาดำเนินตาม ย่อมเป็นหนทางที่แสนน่าเศร้าอย่างมาก

            แล้วเราจะกำหนดความหมายชีวิตของตนเองอย่างไรดี เราอยู่ในยุคสมัยที่น่ากดดัน ทุกวันนี้แม้จะมีความสะดวกสบายและตัวเลือกสิ่งต่าง ๆ อันแสนมากมาย แต่เรากลับไม่มั่นใจในตัวเอง เศร้า เครียด วิตกกังวล เพราะเราอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยเหลื่อมล้ำ ที่ดำรงไปด้วยการแข่งขันและการเปรียบเทียบกันอย่างเอาเป็นเอาตาย จึงเป็นเรื่องยากที่เราจะกำหนดความหมายชีวิตในรูปแบบของตนเองได้

            แต่ก็ไม่ได้หมายความจะเป็นไปไม่ได้เลย ต่อให้สถานการณ์รอบตัวเลวร้ายมากแค่ไหนก็ตาม มนุษย์ก็สามารถที่จะค้นพบความหมายของชีวิตได้ เพราะครั้งหนึ่ง วิคเตอร์ แฟรงเคิล (Viktor Frankl) หัวหน้าแผนกประสาทวิทยา ซึ่งต่อมาเป็นจิตแพทย์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ก็เคยค้นพบความหมายในชีวิตท่ามกลางสิ่งเลวร้ายที่ไม่แตกต่างจากนรกในค่ายกักกันชาวยิว

            ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีสิ่งเลวร้ายมากมายเกิดขึ้นนอกจากการสูญเสียจากการรบ หนึ่งในนั้นคือการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิว เหตุการณ์นี้เกิดจากแผนฆ่าชาวยิวทุกชีวิตที่อาศัยอยู่บนพื้นดินภายใต้การยึดครองของเยอรมนี โดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) 

            แผนการนี้เริ่มต้นนับตั้งแต่ปี 1930 เหล่า นาซีได้เริ่มบัญญัติกฎหมายลิดรอนสิทธิของชาวยิว ห้ามมิให้ชาวยิวเข้าไปเรียนในสถานศึกษาของรัฐ บังคับให้มอบทรัพย์สินเงินทองแก่รัฐ และกำหนดให้พวกเขาต้องติดดาวสีเหลืองไว้กับตัว 

            อันนาห์ อาเรนท์ (Hannah Arendt) นักปรัชญาชาวเยอรมันเชื้อสายยิวที่อพยพไปอยู่สหรัฐอเมริกาเล่าว่า "นาซีจำนวนมหาศาลยินดีที่จะทุบตีชาวยิวให้ตายคาถนน หากชาวยิวคนนั้นไม่กล่าวทักทายด้วยวลี ไฮล์ ฮิตเลอร์" ไม่เพียงแค่นั้นพวกนาซียังได้สร้างค่ายกักกันชาวยิวจำนวนมากที่มีการกระทำต่อชาวยิวที่โหดร้าย

            วิคเตอร์ แฟรงเคิล เคยถูกจับเป็นเชลยในค่ายกักกันที่โหดร้ายที่สุดชื่อเอาชวิทซ์ ซึ่งเป็นค่ายที่มีการรมแก๊สเพื่อฆ่าชาวยิวอย่างเป็นระบบสำหรับผู้ที่อ่อนแอ ในขณะที่ผู้เข้มแข็งจะถูกใช้งานอย่างหนัก และได้รับประทานเพียงแค่เศษขนมปังกับซุปเย็นชืด

วิคเตอร์ แฟรงเคิล (Viktor Frankl) ผู้คิดค้นทฤษฎีทางจิตบำบัด “Logotherapy”

            ผู้คุมเกือบทุกคนปฏิบัติต่อเชลยเหมือนกับว่าเขาไม่ใช่มนุษย์ทั้ง เฆียนตี ทารุณ และอีกมากมาย ผู้คุมบางคนซึ่งเป็นเชลยเหมือนกัน กลับมีจิตใจหยาบกระด้างยิ่งกว่าผู้คุมนาซีเสียอีก เป็นการปฏิบัติกับเพื่อนร่วมชะตากรรมด้วยกันอย่างโหดเหี้ยมทารุณ 

            พวกเขาเฆี่ยนตีเชลยคนอื่นทุกครั้งที่มีโอกาส หรือที่ไซต์งานก่อสร้างเมื่อเชลยได้รับอนุญาตให้ผิงไฟเป็นเวลาสองสามนาที หลังจากทำงานท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ แต่ก็มีหัวหน้าคนงานบางคนที่มีความสุขมาก ถ้าได้ยื้อแย่งความสบายอบอุ่นลักษณะนี้ไปจากเชลย ใบหน้าของพวกเขาสะท้อนความพึงพอใจอย่างเห็นได้ชัดเจน เขาไม่เพียงออกคำสั่งให้พวกเชลยลุกขึ้น แต่ยังให้จับเตาไฟคว่ำทิ้งบนกองหิมะ 

            แฟรงเคิลเล่าไว้ในหนังสือ Man's Search for Meaning ว่า "ในขณะเดียวกันผู้คุมบางคนมีจิตใจและจริยธรรมที่เข้มแข็ง อย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็จะไม่ยอมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเจ็บปวด ผู้บัญชาการของค่ายบางคนไม่เคยอออกคำสั่งลงโทษเสียด้วยซ้ำ" 

            "ผมยังจำได้ดีว่าหัวหน้าคนงานคนหนึ่งแอบหยิบขนมปังให้" เขาเล่าต่อ " ซึ่งเป็นขนมปังที่หัวหน้าคนงานแอบแบ่งจากอาหารเช้าของตนเอง" สิ่งนี้ทำให้แฟรงเคิลน้ำตาซึม แต่เขาไม่ได้ตื้นตันจากการที่เขาได้รับขนมปัง แต่ตื้นตันเพราะบางสิ่งบางอย่างในตัวมนุษย์ที่ชายผู้นี้ได้มอบให้แก่เขา เป็นขนมปังที่หยิบยื่นให้พร้อมกับคำพูดและแววตาอันส่อถึงจิตใจ 

            ไม่เพียงแค่นั้นยังเคยมีเหตุการณ์ที่ผู้บัญชาการค่ายกักกันควักเงินตัวเองจำนวนไม่น้อย เพื่อซื้อยาจากตลาดในเมืองใกล้ที่สุดมาให้เชลยของเขาด้วยเช่นกัน สิ่งนี้ทำให้แฟรงเคิลเรียนรู้ว่าแม้สภาพแวดล้อมจะบีบบังคับให้ผู้คนกลายเป็นสิ่งที่เลวร้าย แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นแบบนั้น เขาอธิบายว่า "ตรงกลางระหว่างตัวกระตุ้นกับการตอบสนองนั้นคือพื้นที่ว่าง และในพื้นที่ว่างนั้น คืออำนาจของเราที่จะเลือกวิธีการตอบสนอง และสิ่งที่เราเลือกคืออิสรภาพที่จะทำให้เราเติบโต"

ข้อคิด

            1) มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะกำหนดความหมายชีวิตของตนเอง ความหมายของชีวิตไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แม้จะนับถือศาสนาเดียวกันก็ตาม เพราะมนุษย์ทุกคนมีความแตกต่างกัน ไม่มีใครที่เหมือนกัน แต่ละคนมีวิธีการคิด ประสบการณ์ชีวิต วิธีการแก้ไขปัญหา และมุมมองต่อโลกใบนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง ดังนั้นจึงไม่แปลกหากแต่ละจะมีความหมายของชีวิตแตกต่างกันออกไป

            เราสามารถกำหนดความหมายของชีวิตด้วยตัวเองได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ ดูมีราคา ดูน่าจดจำ แต่อาจจะดำรงไปด้วยความเรียบง่าย อย่างเช่นเกิดมาเพื่อกินของอร่อย เกิดมาเพื่อมีความสุข เกิดมาเพื่อทำงานที่ตัวเองรัก หรืออาจจะเกิดมาเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ก็ได้เช่นเดียวกัน 

            ดังนั้นการรับเอาความหมายของชีวิตจากคนใดคนหนึ่งหรือลิทธิใดลัทธิหนึ่งเข้ามาเพื่อปฏิบัติตาม จึงไม่สอดคล้องต่อเจตจำนงหรือความต้องการที่แท้จริงของแต่ละคน หากบุคคลสามารถใช้ชีวิตหรือมีรูปแบบชีวิตที่ตอบสนองตามความปรารถนาที่แท้จริงได้ เขาก็ย่อมดำรงชีวิตอย่างมีความสุข วิคเตอร์ แฟรงเคิล คือผู้คิดค้นทฤษฎีทางจิตบำบัด “Logotherapy” ซึ่งมีแนวคิดว่า ความหมายของชีวิตคือแรงจูงใจที่จะทำให้ผู้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป มันจึงไม่สำคัญว่าความหมายในชีวิตจะใหญ่โตมากเพียงใด แต่ขอให้เรามีแรงจูงใจในการดำเนินชีวิตก็เพียงพอแล้ว

            2) ไม่ว่าสถานการณ์รอบตัวจะเลวร้ายแค่ไหน การตอบสนองของเราก็อยู่ที่เราเลือกเอง ในปรัชญาสายสโตอิกมองว่าโลกใบนี้ประกอบไปด้วยสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้และสิ่งที่ควบคุมได้ ซึ่งนักปรัชญาสายนี้จะให้ความสำคัญไปที่สิ่งที่ควบคุมได้ นั่นคือวิธีคิดของเราเอง โดยเราสามารถเลือกที่จะปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องได้ หรือปฏิบัติตามอย่างมีคุณธรรมได้ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์แบบใดก็ตาม

            ดังนั้นไม่ว่าเราจะเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายมากแค่ไหนก็ตาม เราก็สามารถกำหนดการแสดงออกของเราได้ อย่างที่ วิคเตอร์ แฟรงเคิล กล่าวไว้ว่า "ตรงกลางระหว่างตัวกระตุ้นกับการตอบสนองนั้นคือพื้นที่ว่าง และในพื้นที่ว่างนั้น คืออำนาจของเราที่จะเลือกวิธีการตอบสนอง และสิ่งที่เราเลือกคืออิสรภาพที่จะทำให้เราเติบโต" หมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องตอบสนองไปตามสัญชาตญาณเพียงอย่างเดียว 

แต่เราสามารถกำหนดเจตจำนงของเราเองได้ ไม่ว่าจะเผชิญกับสิ่งที่เลวร้ายแค่ไหนก็ตาม

อ้างอิง

Frankl, V. (2006). Man's Search for Meaning. MS: Beacon Press.

ความคิดเห็น