แอสโตร เทลเลอร์ (Astro Teller) ผู้สร้างวัฒนธรรมแห่งความล้มเหลวเพื่อการเรียนรู้ในบริษัท Google X

พนักงานจะต้องล้มเหลวกับความพยายามหลายครั้งก่อนจะได้มาซึ่งความสำเร็จหนึ่งครั้ง

            หากผู้อ่านพบเจอข้อความที่เขียนว่า "ความล้มเหลวคือการเรียนรู้" ผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกคนคงเห็นด้วยตรงกันทั้งหมด เราทุกคนรู้กันดีว่าความล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน แต่เมื่อถึงเวลาทำงานเรากลับพยายามอย่างเต็มที่ที่จะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดและความล้มเหลว ไม่เพียงแค่นั้นเรายังพร้อมที่จะประนาม (ในใจ) กับใครก็ตามที่ทำในสิ่งที่ผิดพลาดหรือล้มเหลว

            มันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเพราะสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นกับผมเช่นเดียวกัน สาเหตุเป็นเพราะว่าสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ด้วยส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียนหรือที่ทำงานก็ตาม ล้วนแต่ปฏิบัติต่อผู้ที่ผิดพลาดและล้มเหลวราวกับเป็นอาชญากร นักเรียนที่ทำการบ้านผิดหรือทำข้อสอบผิดจะได้รับคะแนนน้อยเป็นการลงโทษซึ่งจะมีผลติดตัวไปตลอด พนักงานบริษัทที่ทำผิดพลาด ล้มเหลวก็อาจจะส่งผลให้เขาโดนตำหนิ ลงโทษ ไปจนถึงโดนไล่ออก

            คนที่ไม่ล้มเหลวคือคนที่ไม่ทำอะไรเลย หรือเป็นคนที่พยายามหลีกเลี่ยงกระบวนการใหม่ ๆ การลองผิดลองถูกใหม่ ๆ ไปซึ่งน่าเสียดายอย่างยิ่ง กล่าวคือ วัฒนธรรมที่ปฏิเสธความล้มเหลวไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียน หรือที่ทำงานจะเป็นการทำลายนวัตกรรมแห่งความก้าวหน้าอย่างน่าเสียดาย 

            ในโลกใบนี้มีหลายองค์กรที่ไม่ปฏิเสธความล้มเหลว อีกทั้งยังส่งเสริมให้พนักงานล้มเหลวให้มากขึ้นอีกด้วย หนึ่งในนั้นคือบริษัท กูเกิลเอ็กซ์ (Google X) ที่ภายหลังถูกเรียกว่า "เอ็กซ์" หรือห้องปฏิบัติการสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ดำเนินการเป็นอิสระภายใต้บริษัทอัลฟาเบต (Alphabet) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิลที่เรารู้จักกัน

            เป้าหมายและพันธกิจของเอ็กซ์คือการสร้างเทคโนโลยีระดับเดียวกับการไปดวงจันทร์ ซึ่งจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่เพื่อทำให้โลกนี้น่าอยู่มากขึ้น โดยการพัฒนาวิธีแก้ปัญหาใหญ่ ๆ ที่จะพลิกโลกไปอย่างสิ้นเชิงและนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ให้นำไปสู่ความสำเร็จแบบก้าวกระโดดอย่างยิ่งใหญ่ราวกับเป็นกูเกิลรายต่อไป

            แอสโตร เทลเลอร์ (Astro Teller) คือซีอีโอของเอ็กซ์ซึ่งเขาเรียกตัวเองว่า "กัปตันของภารกิจสู่ดวงจันทร์" เขาเชื่อว่าการให้รางวัลคนเพื่อกำจัดโครงการที่ไร้แววสำเร็จนั้นเป็นยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าปล่อยให้ความคิดที่ไม่สามารถทำได้จริงลากยาวรอการพิจารณาอยู่เป็นปี ๆ และดูดกลืนทรัพยากรขององค์กรอย่างต่อเนื่อง

            สำหรับเอ็กซ์ ความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องต้องห้าม ในหนังสือ The Fearless Organization: Creating Psychological Safety in the Workplace for Learning, Innovation, and Growth ผู้เขียน เอมี เอ็ดมอนด์สัน (Amy Edmondson) ได้เล่าถึงสิ่งที่เทลเลอร์บอกกับสำนักข่าว บีบีซีว่า "ความล้มเหลวที่แท้จริงคือการลองทำอะไรบางอย่าง เรียนรู้ว่ามันไม่ได้ผล แต่ก็ยังทำต่อไปอยู่ดี" เอ็ดมอนด์สันให้นิยามความล้มเหลวที่แท้จริงว่าเป็น "การไม่เรียนรู้หรือไม่กล้าเสี่ยงทำอะไรที่อาจล้มเหลว"

ความล้มเหลวที่แท้จริงคือการลองทำอะไรบางอย่าง เรียนรู้ว่ามันไม่ได้ผล แต่ก็ยังทำต่อไปอยู่ดี

            กล่าวคือ พนักงานจะต้องล้มเหลวกับความพยายามหลายครั้งก่อนจะได้มาซึ่งความสำเร็จหนึ่งครั้ง ซึ่งเอ็กซ์ได้พิจารณาความคิดระดับเดียวกับการมุ่งสู่ดวงจันทร์มากกว่า 100 ความคิด ตั้งแต่พลังงานสะอาด การทำฟาร์มยั่งยืน ไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์ อย่างไรก็ตาม มีเพียงหยิบมือเดียวจากจำนวนนี้ที่กลายเป็นโครงการพร้อมกับมีพนักงานประจำ 

            ในปี 2016 เทลเลอร์อธิบายเอาไว้ในงานเท็ดทอล์ก (TED Talk) ถึงเหตุผลและวิธีที่บริษัทจะสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับความล้มเหลวได้ เขาอธิบายว่า "คุณไม่อาจตะโกนใส่ผู้คนและบังคับให้เขาล้มเหลวไว ๆ ได้ คนเรามักต่อต้าน เขาจะกังวล จะเกิดอะไรขึ้นถ้าฉันล้มเหลว คนอื่นจะหัวเราะเยาะฉันไหม ฉันจะถูกไล่ออกไหม ทางเดียวที่จะทำให้คนกล้าทำงานใหญ่ เสี่ยงกับความคิดบ้าบิ่น และวิ่งเข้าใส่ส่วนที่ยากที่สุดของปัญหา คือคุณต้องทำให้เส้นทางนั้นมีแรงเสียดทานน้อยที่สุด"

            "ที่เอ็กซ์ เราทำงานอย่างหนักเพื่อทำให้ล้มเหลวได้อย่างปลอดภัย ทีมจะกำกัดความคิดของตัวเองทิ้งทันทีที่มีหลักฐานแสดงชัดเจน เพราะเขาจะได้รับรางวัลหากทำเช่นนั้น เขาจะได้รับเสียงปรบมือจากเพื่อนร่วมงาน ได้รับกอดและแปะมือไฮไฟฟ์จากผู้จัดการโดยเฉพาะจากผมเอง เขาจะได้ขึ้นเงินเดือน เราให้โบนัสทุกคนในทีมที่พับโปรเจกต์ของตัวเอง ตั้งแต่ทีมขนาดเล็กแค่ 2 คนไปถึงทีมที่มีมากกว่า 30 คน"

            เทลเลอร์รู้ดีว่าความล้มเหลวคือสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา โดยเฉพาะในที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นความกังวลที่จะโดนตำหนิหรือตกงาน ซึ่งหากไม่มีผู้นำที่กระตุ้นและทำให้พนักงานเห็นว่า "ความล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมดาแล้วเราสนับสนุนมัน" พนักงานก็จะพยายามหลีกเลี่ยงจนถึงที่สุด และก็จะไม่มีนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้น นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เขาเปิดเผยและกระตือรือร้นที่จะสร้างความปลอดภัยเชิงจิตวิทยาเพื่อให้พนักงานกล้าที่จะล้มเหลว

            อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าเขาส่งเสริมให้คนล้มเหลวแบบเปล่าประโยชน์ เพราะเขาสร้างกระบวนการเฉพาะและชัดเจนไว้จัดการความล้มเหลว เรียกว่า "กระประเมินเร่งด่วน" (Rapid Evalution) เพื่อประเมินข้อเสนอ ตรวจคัดกรองความคิด และสนับสนุนเฉพาะข้อเสนอที่น่าจะทำสำเร็จ ทีมนี้ประกอบด้วยส่วนผสมระหว่างผู้จัดการอวุโสและนักประดิษฐ์ พวกเขาจะใช้วิธีชันสูตรก่อนตาย

            กระบวนการดังกล่าวเป็นการหาเหตุผลให้ได้มากที่สุดว่าทำไมความคิดนี้จึงล้มเหลว เรียกทีมนี้ว่า "ประเมินด่วน" (Rapid Eval) พวกเขาจะพิจารณาขนาดของปัญหา ความเป็นไปได้ และความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี ระหว่างขั้นตอนที่วนซ้ำหลายรอบนี้ ประเด็นต่าง ๆ จะถูกตั้งคำถาม เปลี่ยนแปลง และปรับแต่งด้วยการสนทนากันแบบตรงไปตรงมา

            มีเพียงไม่กี่ความคิดที่ผ่านขั้นตอนประเมินด่วนนี้มาได้ หากความคิดนั้นดูมีแววสำเร็จ ทีมจะต้องพัฒนาต้นแบบคร่าว ๆ ขึ้นมาภายในสองสามวัน เอ็กซ์มี "ครัวออกแบบ" (Design Kitchen) ในอาคารหนึ่งที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์และวัสดุสำหรับสร้างต้นแบบให้เป็นรูปเป็นร่าง ถ้ากลุ่มประเมินด่วนเห็นต้นแบบแล้วพิจารณาเห็นชอบ ก็จะนำความคิดนี้ไปเสนอกลุ่มที่สองซึ่งเป็นกลุ่มด้านธุรกิจเรียกว่า "โรงหล่อ" (Foundry) 

            กลุ่มดังกล่าวจะตั้งคำถามว่า "ควรมีวิธีแก้ปัญหาแบบนี้อยู่ในโลกหรือไม่ มีเหตุผลทางธุรกิจที่จะสนับสนุนวิธีแก้ปัญหาแบบที่เสนอมาหรือไม่ และถ้าเราสร้างมันขึ้นมาได้ ผู้คนจะนำไปใช้หรือไม่" ซึ่งกระบวนการดังกล่าวทั้งหมดคล้ายกับ กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ที่จะต้องสร้างนวัตกรรมออกมาผ่านกระบวนการศึกษาและระดมสมองเพื่อนำไปทดสอบหรือจำลองออกมาอย่างรวดเร็ว

            สิ่งนี้ถูกสร้างเป็นวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งมีกิจกรรมมากมายเพื่อขับเคลื่อนความล้มเหลว หนึ่งในนั้นคือ "งานเฉลิมฉลองความล้มเหลว" ซึ่งไม่ได้มีแต่นวัตกรรมเท่านั้น แม้แต่เรื่องราวส่วนตัวหรือวิธีการทำงานอื่น ๆ ก็สามารถนำมาแสดงในงานได้ โดยต้นแบบที่ล้มเหลวจะวางอยู่บนแท่นเล็ก ๆ ผู้คนจะผลัดกันกล่าวสั้น ๆ ว่าต้นแบบนี้มีความหมายต่อตนเองอย่างไร 

            พนักงานหลายคนรู้สึกว่าพิธีกรรมนี้ช่วยขจัดภาระทางอารมณ์ที่ตนยังแบกไว้หลังจากทุ่มเททำสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงในท้ายที่สุด ทำให้ที่เอ็กซ์พวกเขาโอบรับความล้มเหลวมากจนไม่พูดถึงความสำเร็จในโครงการของบริษัทเลย ในหนังสือ The Fearless Organization ผู้เขียน เอมี เอ็ดมอนด์สันกล่าวว่า "ความล้มเหลวที่ประสบความสำเร็จนั้นเป็นศิลปะ มันจะเป็นประโยชน์ถ้าคุณล้มเหลวถูกเวลาและด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง"

ข้อคิด

            1) สร้างกระบวนการที่มีประสิทธิภาพจากความล้มเหลว ไม่มีวิธีการทำงานอะไรที่สมบูรณ์แบบ ยั่งยืน มันควรจะมีวิธีที่ดีมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ส่งเสริมให้เกิดประสิทธิผลในการทำงาน ซึ่งการจะสร้างกระบวนดังกล่าวออกมาได้ ปฏิเสธไม่ได้เลยที่จะต้องล้มเหลว ดังนั้นวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้คนที่ทดลอง ออกแบบ ได้ผิดพลาด ได้ล้มเหลว จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น หากเราต้องการจะสร้างนวัตกรรมที่แก้ไขปัญหาหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร สังคม ประเทศชาติ ไปจนถึงโลกนี้ได้

            สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นทั้งที่โรงเรียนและที่ทำงาน โดยเฉพาะกับที่โรงเรียน กระบวนการเรียนการสอนควรเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ และควรมีเกณฑ์การให้คะแนนจากการล้มเหลวหรือผิดพลาดอย่างสร้างสรรค์แทน มีการกระบวนการสัมภาษณ์พูดคุย และการให้ความสำคัญที่กระบวนการทำงานหรือเรียนรู้มากกว่าการประเมินที่ผลลัพธ์เพียงอย่างเดียว

            2) สร้างพื้นที่ปลอดภัยที่พนักงานจะสามารถล้มเหลวได้ หากพนักงานอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยเชิงจิตวิทยา เขาย่อมสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ สามารถสื่อสารแบบตรงไปตรงมา ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ มันจะนำมาซึ่งความผิดพลาดและล้มเหลวอย่างแน่นอน เพราะไม่มีใครสมบูรณ์แบบ เราสามารถทำสิ่งที่ผิดพลาดและล้มเหลวได้ทุกเมื่อ การอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกคนได้รับคำชมจากการทดลอง ได้รับคำชมกับสิ่งที่ล้มเหลวจากการทำงานในรูปแบบใหม่ ๆ ย่อมส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพได้อย่างแน่นอน

            ไม่เพียงแค่นั้นความผิดพลาดและความล้มเหลวธรรมดาสามัญจะถูกจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่พัฒนามากขึ้นตามมา อย่างไรก็ตามหากพนักงานล้มเหลวหรือผิดพลาดกับสิ่งเดิม ๆ ก็ควรได้รับการสอนหรือมีกระบวนการบางอย่างเพื่อให้เขาเหล่านั้นมีความสามารถ มีความละเอียดรอบคอบ หรือมีความรู้มากขึ้นแทนที่จะตำหนิ ลงโทษ 

และทำลายเมล็ดพันธุ์แห่งความคิดสร้างสรรค์ตั้งแต่มันยังไม่เติบโตอย่างน่าเสียดาย

อ้างอิง

Edmondson A. (2018). The Fearless Organization: Creating Psychological Safety in the Workplace for Learning, Innovation, and Growth. NJ: Wiley.

Gertner, J. (2014). The Truth About Google X: An Exclusive Look Behind The Secretive Lab’s Closed Doors. https://www.fastcompany.com/3028156/the-google-x-factor

Teller, A. (2016). The unexpected benefit of celebrating failure. https://www.ted.com/talks/astro_teller_the_unexpected_benefit_of_celebrating_failure

ความคิดเห็น