ลดการใช้อำนาจและมุ่งบริหารงานอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน คือวิถีทำงานแห่งอนาคต

"อำนาจอาจทำให้ผู้นำหมกมุ่นกับผลลัพธ์และการควบคุมที่เกินไป จึงปลุกปั่นความกลัวของผู้คน"

            สิ่งที่เรามักจะพบเห็นกันทั่วไปในยุคสมัยนี้ก็คือ การลาออกจากงานของเด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่อาชีพมากขึ้น จนมีคำพูดว่า "เด็กรุ่นใหม่ไม่มีความอดทน" รวมไปถึงปัญหาสุขภาพจิตของเด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้หลายคนเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่มีความอดทน แต่สำหรับผมแล้วคำพูดประเภทนี้เป็นการตีความแบบฉาบฉวยจนเกินไป

            เหตุผลก็คือ มันง่ายเกินไปที่จะสรุปเพียงแค่ที่ตาเห็น แต่ไม่ได้มองลึกลงไปถึงต้นตอของปัญหาของบริบทแวดล้อมว่ามันมีปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลกระทบให้เด็กรุ่นใหม่มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิต และลาออกจากงานมากขึ้น ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่สำคัญและเป็นหัวใจหลักของบทความนี้ก็คือ การบริหารงานแบบมุ่งอำนาจและการทำตัวเป็นสารพิษมากเกินไปในองค์กร

            ด้วยความที่เด็กรุ่นใหม่เผชิญกับแรงเสียดทานของโลกใบนี้น้อยกว่าคนรุ่นเก่า ๆ ไม่ว่าจะเป็นการมีเทคโนโลยีหลายอย่างเพื่ออำนวยความสะดวกมากขึ้น เช่น มี Google Map ที่นำทางเขาไปโดยไม่หลงทาง เกิดมาพร้อมกับบ้านที่มีรถยนต์ มีข้อมูลเกี่ยวกับร้านอาหารที่อร่อย และข้อมูลต่าง ๆ มากมายที่ช่วยให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงแหล่งข้อมูลให้ศึกษาเรื่องต่าง ๆ อีกมากมาย

            ทั้งหมดนี้ทำให้แรงเสียดทานต่อโลกลดลงอย่างมาก ส่งผลให้การฝืนตัวเอง หรือความจำเป็นที่จะต้องอดทนลดน้อยลงตามไปด้วย "ก็ทำไมฉันต้องทนด้วยล่ะ" ทำให้เมื่อได้รับแรงกดดันที่แตกต่างกับวิถีการดำเนินชีวิตที่ผ่านมา พวกเขาหลายคนจึงไม่สามารถรับมันได้ และหากพวกเขาพยายามที่จะอดทน มันก็จะตามมาด้วยปัญหาสุขภาพจิตและการลาออกที่เพิ่มมากขึ้น (บวกกับทางเลือกทางด้านอาชีพที่มากขึ้นด้วย)

            ด้วยการบริหารงานแบบมุ่งอำนาจ สั่งงาน กดดัน ควบคุม เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ เป็นวิธีการที่ตกขอบไปแล้ว และยังเป็นผลร้ายอย่างยิ่งต่อองค์กร ซึ่งไม่ได้เป็นผลร้ายเพียงแค่ในปัจจุบันเท่านั้นแต่ในอดีตก็เช่นกัน เพราะทุกคนต่างคิดว่าตัวเองเป็นคนสำคัญ และอยากที่จะมีคุณค่าในโลกใบนี้ จึงไม่มีใครที่ชอบให้คนอื่นมากดดัน ควบคุม หรือใช้อำนาจกดขี่ตนเอง

ลดการใช้อำนาจและมุ่งบริหารงานอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน คือวิถีทำงานแห่งอนาคต

            วิธีการของนักบริหารที่ชาญฉลาดมักจะใช้กันก็คือ "การถ่อมตน" และสร้างความสัมพันธ์ที่ทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน นักบริหารขององค์กรระดับโลกอย่าง สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) CEO ของ Microsoft ก็ให้ความสำคัญกับการรับฟังผู้คนและเชื่อในเรื่องของการได้นำเสนอความคิด ความรู้สึก โดยเขาจะรับฟังไอเดียใหม่ ๆ เข้ามาก่อนโดยไม่รีบด่วนตัดสินใจ 

            ไม่เพียงแค่นั้นนาเดลลายังให้ความสำคัญกับการเป็นผู้ให้ก่อน เขามองว่าการให้เปรียบดั่งการฝากเงินในธนาคาร หากคุณไม่เคยฝากเงิน เป็นไปไม่ได้ที่คุณจะถอนเงินออกมาได้ ดังนั้นเวลาคุณไปร่วมมือกับใคร (พาร์ทเนอร์) คุณควรเข้าไปด้วยความคิดที่ว่า "เราจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง" มากกว่าที่จะคิดว่า "เราจะได้อะไรจากเขา"

            แดน เคเบิล (Dan Cable) อาจารย์ประจำวิทยาลัยธุรกิจลอนดอน อธิบายเหตุผลของความเลวร้ายในการใช้อำนาจกดดันเอาไว้ในความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Harvard Business Review โดยเขาอธิบายว่า "อำนาจอาจทำให้ผู้นำหมกมุ่นกับผลลัพธ์และการควบคุมที่เกินไป จึงปลุกปั่นความกลัวของผู้คน กลัวทำไม่ได้ตามเป้า กลัวไม่ได้โบนัส กลัวล้มเหลว และผลที่ตามมาคือ แรงขับที่จะลดลงและเรียนของพวกเขาถูกยับยั้ง" 

            ในหนังสือ The Fearless Organization: Creating Psychological Safety in the Workplace for Learning, Innovation, and Growth ผู้เขียน เอมี เอ็ดมอนด์สัน (Amy Edmondson) ได้อธิบายว่า "ผู้นำที่เป็นมิตรและเข้าถึงง่าย ยอมรับว่าตนเองก็ผิดพลาดได้ และกระตือรือร้นในการขอความเห็นจากผู้อื่น จะสามารถทำอะไรได้มากมายเพื่อสร้างและเสริมความปลอดภัยเชิงจิตวิทยาในองค์กรของตน" การอ่อนน้อมถ่อมตนเองจึงเป็นเครื่องในการบริหารที่ทรงพลังอย่างมาก

            คนมักเข้าใจผิดว่าความถ่อมตนกับความมั่นใจเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกัน แต่จริง ๆ แล้วการอ่อนน้อมถ่อมตนคือการยอมรับว่าเราไม่ได้มีคำตอบกับทุกเรื่องและเราไม่ได้มีลูกแก้วพยากรณ์ ซึ่งงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ค้นพบว่า เมื่อผู้นำแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน ทีมจะมีพฤติกรรมการเรียนรู้ที่มากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากการใช้อำนาจในการบริหารงาน

            ในโลกที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราไม่สามารถมั่นใจได้ว่าตนเองจะถูกต้องเสียทุกอย่าง และสภาพจิตใจของบุคคลแต่ละคนก็รับได้ไม่เหมือนกับในอดีต ด้วยความเป็นจริงดังกล่าวส่งผลให้การบริหารในอนาคตควรจะมีการเปลี่ยนแปลง ยกเว้นว่าคุณจะไม่แคร์ หรือสนใจกับสุขภาพจิตและอัตราการลาออกที่มากขึ้น

            หากคุณยอมรับในข้อนี้ได้ก็สามารถใช้ระบบการทำงานแบบเลวร้าย (ในสายตาผม) ได้ตามสบาย ในทางตรงกันข้ามหากคุณให้ความสำคัญในด้านสุขภาพจิตและอัตราการลาออกของพนักงานที่เพิ่งเริ่มงาน ด้วยความที่คุณเป็นหัวหน้างาน เป็นผู้บริหาร หรือแม้แต่ผู้ที่มีอายุงานมากกว่า คุณก็สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการ ทำงาน บริหารงาน เลือกใช้การสื่อสารอย่างเห็นอกเห็นใจ ถามถึงความรู้สึกของอีกฝ่าย และรับฟังให้มากขึ้น 

            เหมือนกับที่ สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ทำที่ Microsoft ซึ่งเป็นองค์กรระดับต้น ๆ ของโลก ผมเชื่อว่าบุคคลที่ฉลาดคือคนที่สามารถปรับตัวเข้ากับปัจจุบันได้มากที่สุด ไม่ว่าเหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้นเขาก็สามารถปรับตัวได้ ในเมื่อโลกใบนี้กำลังจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น ข้อมูลที่มากขึ้น ทางเลือกที่มากขึ้น ส่งผลให้การต้านทานต่อความกดดันก็จะลดน้อยลงไปด้วย 

            ดังนั้นเราจะต้องมองการณ์ไกล และตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินชีวิต และวิธีการทำงานให้สอดรับต่อความเปลี่ยนแปลงให้มากที่สุด 

เพื่อที่จะทำให้เราและองค์กรอยู่รอดบนความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น

อ้างอิง

Cable, D. (2018). How Humble Leadership Really Works. https://hbr.org/2018/04/how-humble-leadership-really-works

Edmondson A. (2018). The Fearless Organization: Creating Psychological Safety in the Workplace for Learning, Innovation, and Growth. NJ: Wiley.

Owens, B. P., Johnson, M. D., & Mitchell, T. R. (2013). Expressed humility in organizations: Implications for performance, teams, and leadership. Organization Science, 24(5), 1517–1538. https://doi.org/10.1287/orsc.1120.0795

Nadella, S. (2017). Hit Refresh: The Quest to Rediscover Microsoft's Soul and Imagine a Better Future for Everyone. NY: HarperCollins.

ความคิดเห็น