ประวัติศาสตร์ของตารางเวลา การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่ไม่อาจนำกลับคืนมาได้

ก่อนหน้านี้เวลาเป็นเพียงสื่อกลางที่ทำให้ชีวิตดำเนินไป แต่หลังจากนั้นเวลากับชีวิตเป็นสิ่งที่หลอมรวมกันอย่างแยกไม่ออกไปแล้ว

            มีคำที่พูดกันว่าจินตนาการของมนุษย์นั้นไม่มีจำกัด แต่ผมไม่เห็นด้วยทั้งหมด ผมคิดว่าจินตนาการของเราทุกคนมีข้อจำกัด นั่นก็คือ "ประสบการชีวิต" ยิ่งเรามีประสบการชีวิตมากขึ้นจะก่อให้เกิดข้อจำกัดในการจินตนาการ โดยเราจะยึดติดประสบการชีวิตของตัวเองเป็นที่ตั้ง ส่งผลให้เราไม่สามารถคิดไปได้ไกลมากนัก

            ยกตัวอย่างเช่น หากเราจินตนาการไปถึงวิถีชีวิตในประวัติศาสตร์ เราจะนำเอาบริบทที่เกิดขึ้นรอบตัวในปัจจุบันมาประกอบด้วยทันที ยกตัวอย่างเช่น ตอนเช้า กลางวัน เย็น และตอนค่ำ คนในประวัติศาสตร์ดำรงชีวิตกันอย่างไรบ้าง อาจจะไปทำงานและกลับรับประทานอาหารกับครอบครัว ก่อนนอนจุดเทียนไขอ่านหนังสือ หรือทำงาน 

            แต่จริง ๆ แล้วในประวัติศาสตร์มนุษย์ไม่ได้คำนึงถึงเวลาเสียด้วยซ้ำ ยกตัวอย่าง ชาวนาในยุคกลางไม่จำเป็นต้องมีแนวคิดเกี่ยวกับเวลาเช้า กลางวันเย็น และตอนค่ำ คนงานจะตื่นตอนดวงอาทิตย์ขึ้นและเข้านอนเมื่อดวงอาทิตย์ตกดิน ระยะเวลาในแต่ละวันของพวกเขาจะแปรผันไปตามฤดูกาล ไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเวลา

            พวกเขาจะรีดนมวัวตอนที่ต้องรีด และเก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว ใครก็ตามที่พยายามจะยัดเยียดสิ่งที่ต้องทำนอกเหนือจากนั้นเข้ามา เช่น รีดนมวัวสำหรับทั้งเดือนในวันเดียวมันจบ ๆ ไป หรือพยายามให้หน้าเก็บเกี่ยวมาถึงเร็วขึ้น คงจะถูกหาว่าสติไม่ดีอย่างแน่นอน 

            นอกจากนี้ยังไม่มีแรงกดดันชวนวิตกที่จะต้องทำทุกอย่างให้สำเร็จอย่างดีมากที่สุด หรือที่ในปัจจุบันเรียกว่า "Productive มากที่สุด" เพราะว่างานของชาวนานั้นไม่มีวันสิ้นสุด จะมีการรีดนมวัวอีกครั้งและเก็บเกี่ยวอีกหนไปตลอดกาล ดังนั้นจึงไม่มีความรู้สึกว่าต้องเร่งรีบไปสู่เวลาของการทำงานให้เสร็จสมบูรณ์ 

            นักประวิติศาสตร์เรียกแนวทางการใช้ชีวิตแบบนี้ว่า "การเน้นที่ภารกิจ" (Task Orientation) เป็นการกำหนดจังหวะของชีวิตไปตามสิ่งที่ปรากฎขึ้นมาโดยธรรมชาติจากตัวงานเอง ไม่ใช่การเรียงลำดับงานต่าง ๆ ไปตามไทม์ไลน์ที่จับต้องไม่ได้ตามวิถีในปัจจุบันที่พวกเราชินเป็นนิสัย วิถีในยุคกลางจึงดำเนินไปอย่างเชื่องช้าหากเทียบกันในปัจจุบัน เพียงแต่คนในยุคนั้นจะไม่เข้าใจว่าอะไรที่ช้าหรือเร็ว

ในอดีตมนุษย์เราไม่มีความกดดันว่าจะต้องทำอย่างไรให้ใช้เวลาอย่างมี Productive มากที่สุด

            เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีนาฬิกา เมื่อเราต้องอธิบายว่าบางอย่างต้องใช้เวลาทำเท่าไหร่ ทางเลือกเดียวที่เรามีคือการเปรียบเทียบกับกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นรูปธรรม ในหนังสือ Four Thousand Weeks: Time Management for Mortals โอลิเวอร์ เบอร์คีแมน (Oliver Burkeman) อธิบายว่า คนในยุคกลางอาจบอกว่างานงานหนึ่งยาวเท่าระยะเวลามิเซอร์แรเร หรือยาวเท่ากับการสวดบทเพลงสดุดีที่ 50 ที่รู้จักการในนาม Miserere จากคัมภีร์ไบเบิล หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ระยะเวลาปัสสาวะ" 

            การใช้ชีวิตแบบนี้ จึงยากที่เราจะจินตนาการได้ เพราะในปัจจุบันพวกเรายึดติดกับเวลามากเกินไป ทำอย่างไรถึงจะใช้เวลาอย่างมีคุณค่า ทำอย่างไรจะทำงานโดยทำให้เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วดั่งเวทมนตร์ (Flow) ชาวไร่ชาวนาในอดีตคงไม่เข้าใจ แต่ในทางกลับกันพวกเขาได้สัมผัสถึงมิติที่สว่างไสวและน่าทึ่งในโลกรอบตัว

            พวกเขาสามารถตระหนักถึงความคมชัดและสดใสของสิ่งต่าง ๆ ของธรรมชาติรอบตัวได้ อย่างที่ โอลิเวอร์ เบอร์คีแมน ได้เล่าถึงริชาร์ด โรห์ นักเขียนและบาทหลวงฟรานซิสกันร่วมสมัย ที่เรียกสิ่งนี้ว่า "การใช้ชีวิตในห้วงเวลาลึก" (Deep Time) ยามรุ่งสาง นักเดินทางในยุคกลางอาจสัมผัสได้ถึงการกระซิบกระซาบกันของเหล่าวิญญาณในป่า คลอไปกับเสียงของบรรดาหมีและหมาป่า 

            เมื่อไถดินในทุ่งเขาอาจรู้สึกว่าตัวเองเป็นเพียงหนึ่งเสี้ยวเล็ก ๆ  ในประวัติศาสตร์อันกว้างใหญ่ไพศาล เป็นดินแทนที่มีทุกสิ่งอย่างเพียงพอ ที่ที่เราไม่ต้องพยายามเติมเต็มความว่างเปล่าในตัวเองหรือโลกใบนี้ ขอบเขตซึ่งแบ่งแยกตัวเราจากความเป็นจริงที่เหลือเริ่มเลือนราง เพียงเพราะเราไม่ได้ยินเสียงเวลาที่กำลังเดินอยู่

            เวลาคือสิ่งที่หมดไปเมื่อเข็มสั้นเข็มยาวหมุนไปตามหน้าปัดนาฬิกา ปกติแล้วถือกันว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมเริ่มมาจากการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องจักรไอน้ำ แต่หนังสือ Technics and Civilization ผู้เขียน ลูวิส มัมฟอร์ด (Lewis Mumford) ชี้ว่ามันคงไม่เกิดขึ้นหากไม่มีนาฬิกา 

            เมื่อถึงปลายทศวรรษ 1700 ชาวนาวจากชนบทหลั่งไหลเข้ามาในเมืองอังกฤษ เพื่อเข้ามาทำงานในโรงสีและโรงงานอื่น ๆ ซึ่งแต่ละแห่งล้วนต้องมีการประสานงานร่วมกันของคนหลายร้อยคนที่ทำงานตามชั่วโมงที่กำหนด บ่อยครั้งเป็นกะต่อกะเพื่อให้เครื่องจักรทำงานได้ตลอดเวลา ส่งผลให้ตารางเวลากำเนิดขึ้นมา

            ไม่นานมนุษย์ก็เริ่มปฏิบัติต่อเวลาในฐานะที่มันเป็นทรัพยากร หรือสิ่งที่เอาไว้ซื้อขายและใช้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เช่นเดียวกับถ่านหิน เหล็ก หรือวัตถุดิบอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ผู้ใช้แรงงานได้รับค่าจ้างที่นับคร่าว ๆ ตาม วันทำงาน หรือชิ้นงานที่ทำ โดยรับค่าจ้างตามแต่กำหนดต่อฟางหนึ่งมัด หรือหมูที่ชำแหนะแล้วหนึ่งตัว 

            แต่ไม่นานนักการจ่ายค่าแรงรายชั่วโมงก็ค่อย ๆ แพร่หลายมากขึ้น และเจ้าของโรงงานที่ใช้ชั่วโมงการทำงานของคนงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการเค้นงานจากลูกค้าแต่ละคนให้ได้มากที่สุด เพื่อทำกำไรให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

            แน่นอนว่าทุกอย่างได้ผ่านไปแล้ว เราไม่มีทางกลับไปใช้วิถีชีวิตแบบเดิมได้อีกต่อไป และไม่มีอะไรเสียหายที่เราจะหยิบนาฬิกาขึ้นมาดู แต่สิ่งที่เราจะต้องพิจารณาก็คือ ก่อนหน้านี้เวลาเป็นเพียงสื่อกลางที่ทำให้ชีวิตดำเนินไปหรือองค์ประกอบของชีวิต แต่หลังจากนั้นเวลากับชีวิตเป็นสิ่งที่หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวอย่างแยกไม่ออกไปแล้ว

            เวลาเป็นบางอย่างที่เราใช้ และการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของความยากลำบากทุกรูปแบบที่เรามีต่อเวลาในยุคปัจจุบัน ทันทีที่เวลากลายเป็นทรัพยากรเพื่อการใช้สอย เป็นธรรมดาที่เราจะเริ่มรู้สึกกดดันที่จะใช้มันให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และเราก็มักพร้อมที่จะโทษตัวเองเมื่อใช้เวลาไปอย่างสิ้นเปลือง

            เราเคี่ยวเข็ญตัวเองหนักขึ้น หรือทำงานให้นานขึ้น ราวกับว่าเราเป็นเครื่องจักรในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม แทนที่จะตั้งคำถามว่าข้อเรียกร้องเหล่านั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ มันล่อลวงให้เราพยายามทำหลายอย่างในคราวเดียว หรือใช้วเลาเท่าเดิมในการทำหลายสิ่งหลายพร้อม ๆ กัน 

            แทนที่เราจะแค่ดำเนินชีวิตของเราให้มันเป็นไปตามเวลา หรือแทนที่จะมองเวลาเป็นเพียงเวลา แต่กลับกลายเป็นเรื่องราวที่เราจะไม่ให้คุณค่าของแต่ละห้วงเวลาโดยยึดจากประโยชน์ที่มีต่อเป้าหมายสักอย่างในอนาคต หรือเพื่อความผ่อนคลายในอนาคตที่เราหวังจะไปให้ถึงเมื่องานที่ทำอยู่ในปัจจุบันพ้นทางไปแล้ว 

            เมื่อทุกอย่างไม่ได้ดั่งใจก็จะทำให้เกิดความทุกข์ จนความรู้สึกสงบใจไม่มีวันเกิดขึ้นได้ ซึ่ง โอลิเวอร์ เบอร์คีแมน ได้เปรียบตารางเวลาเหมือนกับเผด็จการที่คอยกำหนดการกระทำของมนุษย์ เป็นความเร่งรีบที่ไร้สุข เพราะเรารู้สึกว่าจะต้องทำอะไรให้มากขึ้นอยู่ตลอดเวลา 

ทำให้เราหลีกเลี่ยงการพักผ่อนในปัจุบัน เพื่อการพักผ่อนอย่างเจ็บปวดในอนาคต

อ้างอิง

Burkeman, O. (2021). Four Thousand Weeks: Time Management for Mortals. NY: Farrar, Straus and Giroux.

Mumford, L. (2010). Technics and Civilization. Chicago: University of Chicago Press.

ความคิดเห็น