จิตวิทยาวัยรุ่น (Adolescent Psychology) เพราะอะไรยิ่งห้ามเขาเท่าไหร่ ก็เป็นการยุเขาเท่านั้น

"ปรากฎการณ์สไตรแซนด์" คือการที่ผู้คนไม่อยากทำในสิ่งที่ถูกบอกให้ทำ แต่อยากทำในสิ่งที่ถูกห้ามไม่ให้ทำ 

            แคลิฟอร์เนีย โคสทอล เรคคอร์ดส์ เป็นโปรเจกต์ที่เริ่มขึ้นในปี 2002 จุดมุ่งหมายของโครงการนี้คือการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับชายฝั่งของรัฐแคลิฟอร์เนียในรูปแบบภาพถ่าย วิธีการของพวกเขาก็คือการบินเลียบชายฝั่งด้วยเฮลิคอปเตอร์เพื่อบันทึกภาพจำนวนมากกว่า 12,000 รูป

            แต่ประเด็นหลักก็คือ บาร์บรา สไตรแซนด์ (Barbra Streisand) นักร้อง นักแสดงชื่อดังพบว่าหนึ่งในภาพถ่ายเหล่านั้นคือบ้านริมหาดของเธอในมาลิบู เธอจึงฟ้องร้องและเรียกค่าเสียหายจากโครงการนี้สูงถึง 50 ล้านดอลลาร์เนื่องจากเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของเธอ

            เดิมทีภาพถ่ายดังกล่าวตั้งชื่อว่า "ภาพหมายเลข 3850" มีผู้เข้าชมเพียงแค่ 4 ครั้งเท่านั้น แต่เมื่อสไตรแซนด์ฟ้องร้องจึงทำให้เป็นข่าวโด่งดัง ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากอยากเห็นภาพนี้ขึ้นมาทันที ซึ่งไม่นานภาพนั้นก็มียอดเข้าชมมากกว่า หนึ่งล้านครั้ง ทั้ง ๆ ก่อนหน้านั้นไม่มีใครสนใจภาพดังกล่าวเลยด้วยซ้ำ

            ไม่เพียงเท่านั้น ผลสุดท้ายผู้พิพากษาก็ยกฟ้อง และสไตรแซนด์ก็ต้องชดใช้ค่าดำเนินการทางกฎหมายให้ช่างภาพของโครงการนี้เป็นเงิน 155,567 ดอลลาร์ สรุปก็คือ ความพยายามของเธอในการปิดกั้นการเข้าถึงภาพถ่ายดังกล่าวก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เธอต้องการ ปรากฎการณ์นี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ "ปรากฎการณ์สไตรแซนด์" (Streisand Effect) คือการที่ผู้คนไม่อยากทำในสิ่งที่ถูกบอกให้ทำ แต่อยากทำในสิ่งที่ถูกห้ามไม่ให้ทำ 

            กล่าวคือ บาร์บรา สไตรแซนด์ พยายามอย่างยิ่งที่จะได้รับความเป็นส่วนตัวและรู้สึกเป็นผู้เสียหาย จึงยื่นฟ้องดำเนินคดีแก่โครงการดังกล่าว แต่ความพยายามของเธอกลับสูญเปล่า เพราะมันทำให้ภาพที่เธอต้องการจะปกปิดกลับโดนเข้าถึงจากผู้คนเป็นล้าน ไม่ต่างกับผู้ปกครอง หรือครูที่ยิ่งพยายามห้ามวัยรุ่นมากเท่าไหร่ ก็จะส่งผลตรงกันข้ามมากขึ้นเท่านั้น

            เหตุผลที่ผมใช้ปรากฎการณ์สไตรแซนด์เกรินนำก่อนเข้าบทความเกี่ยวกับจิตวิทยาวัยรุ่น ก็เพราะว่าสิ่งนี้สอดคล้องกับนิสัยของวัยรุ่นอยากมาก ซึ่งผู้ใหญ่ทุกคนคงจะรู้กันดีว่า "ยิ่งห้ามเขาเท่าไหร่ ก็เป็นการยุเขาเท่านั้น" เนื่องจากพฤติกรรมที่เขาแสดงออกมาจะเต็มไปด้วยพฤติกรรมและกระบวนการคิดเชิงลบ รวมไปถึงความต้องการต่าง ๆ ที่เกิดทั้งทางร่างกายและจิตใจ 

            วัยรุ่น คือช่วงวัยเปลี่ยนผ่านระหว่างวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ อายุประมาณ 12 - 20 ปี ซึ่งเป็นวัยที่กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงเจริญเติบโตไปสู่ความมีวุฒิภาวะหรือความพร้อม โดยมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาไปพร้อมกัน ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีความพร้อมที่แตกต่างกันออกไป แต่พวกเขาทุกคนมีสิ่งที่เหมือนกันก็คือ พวกเขาทุกคนต่างมีจะมีหน้าที่ทางจิตวิทยาด้วยกันทั้งสิ้น

วัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงเจริญเติบโตไปสู่ความมีวุฒิภาวะหรือความพร้อม

            นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ที่มีชื่อเสียงได้อธิบายว่า บุคคลในทุกช่วงวัยจะมีหน้าที่ทางจิตวิทยาที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งวัยรุ่นจะมีหน้าที่แบ่งออกเป็น 4 ประการ ประกอบไปด้วย 

            1) สร้างอัตลักษณ์ (Identity) โดยการค้นหาตนเองและสร้างลักษณะท่าทางนิสัยใจคอ และบุคลิกภาพของตัวเองที่ไม่ซ้ำใคร หากเขาไม่สามารถค้นพบความแตกต่างเฉพาะตัวหรือไม่สามารถตามหาค่านิยมของตัวเองจนพบเจอ ก็จะส่งผลให้เขาความสับสน อ่อนไหว และไม่มั่นคงออกมาง่ายมากขึ้น

            2) สัมพันธ์กับคนรัก นอกจากพวกเขาจะแสวงหาอัตลักษณ์แล้วยังเริ่มสนใจในเพศอื่นอีกด้วย แต่ไม่ได้เป็นการสร้างสัมพันธ์ที่แนบแน่นหรือลึกซึ้ง (Intimacyเป็นลักษณะความสัมพันธ์ที่ไม่นิ่ง ที่เรียกกันว่า ความสัมพันธ์แบบหลงใหล (Passion)

            3) สังกัดกลุ่มเพื่อน เนื่องจากวัยนี้มีความต้องการเป็นคนสำคัญ และมีการแสวงหาอัตลักษณ์ที่แตกต่าง การคบเพื่อนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของต่าง ๆ ลักษณะการแต่งกาย ฯลฯ พวกเขามักจะคบกับเพื่อนที่มีความสนใจและมีค่านิยมร่วมกัน ซึ่งจะสามารถเข้าใจปัญหากันได้ดีกว่า นอกจากนั้นหากเด็กนักเรียนในวัยรุ่นขัดแย้งกับครอบครัวมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งอยากใช้เวลากับเพื่อนมากกว่าครอบครัว ซึ่งจะทำให้ครอบครัวมีบทบาทน้อยลง 

            4) อนาคต พวกเขาจะพยายามหาตนเองว่าจะเติบโตไปทางไหน หากเขาสามารถเข้าใจความชอบ ความหลงใหล ความถนัด ความต้องการของตน ก็จะสามารถตั้งเป้าหมายในอนาคตได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

            ด้วยการเปลี่ยนแปลงและหน้าที่ของวัยรุ่นที่มีลักษณะโดดเด่นกว่าวัยอื่นจึงทำให้วัยรุ่น ถูกเรียกว่า วัยวิกฤต (Critical periodโดยมีการนิยามว่าเป็นช่วงวัยพายุบุแคม (Strom and stressจึงทำให้เกิดความยากลำบากในการปรับตัวต่อทุก ๆ ความสัมพันธ์ด้วยเฉพาะกับผู้ใหญ่

            นั่นจึงเป็นเหตุผลให้วัยรุ่นเป็นวัยที่ยิ่งห้ามเขาเท่าไหร่ ก็เป็นการยุเขาเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ครูบอกให้นักเรียนเลิกทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง เขาจะยิ่งทำมันเพิ่มขึ้นเท่านั้น หรือในกรณีที่พ่อแม่บอกให้เลิกคบกับเพื่อนบางคนก็จะยิ่งทำให้เขาสนิทกับเพื่อนคนนั้นมากขึ้นไปอีก 

            ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับความต้องการที่จะเป็นคนสำคัญและความพยายามที่จะสร้างอัตลักษณ์เฉพาะตัว กล่าวคือ การที่เขาต่อต้านผู้ที่พยายามควบคุมเขาจะทำให้เขารู้สึกภูมิใจ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ต่อหน้าเพื่อนก็จะทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองได้รับการยอมรับมากขึ้นหรือเท่มากขึ้น

            ผู้เป็นพ่อแม่ ครูอาจารย์จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการที่แตกต่างกับในช่วงที่เขาอยู่วัยเด็ก หากมีความต้องการที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของวัยรุ่นจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องปล่อยให้พวกเขาคิดด้วยตัวเองแทน ในหนังสือ Irrationally Yours ที่เขียนโดย แดน อารีลีย์ (Dan Ariely) เป็นหนึ่งสือที่รวบรวมคำถามจำนวนมาก โดยแดนซึ่งเป็นอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมชื่อดังจะเป็นผู้ตอบคำถามและให้คำแนะนำ

            มีคำถามหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับคุณแม่และลูกสาววัยรุ่นของเธอ โดยเธอพบว่าลูกสาวของเธอกำลังเพิ่งเริ่มคบกับผู้ชายที่ทั้งซื่อบื้อและขี้เกียจ เธออยากจะบอกว่าเขาไม่เหมาะกับลูกสาวเธอ โดยไม่ให้ฟังดูเป็นการเทศนาสั่งสอนและลูกของเธอจะไม่ทำเป็นหูทวนลมใส่เธอ หรือที่แย่กว่านั้นก็คือจงใจทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่เธอบอก

            คำถามนี้เป็นคำถามที่ฉลาดมาก คุณแม่คนนี้เข้าใจพฤติกรรมลูกสาววัยรุ่นของเธอดี ซึ่งแดนได้ให้คำตอบว่า "คุณไม่ควรบอกลูกสาวตรง ๆ ว่าคุณคิดอย่างไร สิ่งที่คุณควรทำคือตั้งคำถามกับเธอและต้องเป็นคำถามที่กระตุ้นให้ฉุกคิด ปกติแล้วเรามักจะหลีกเลี่ยงการตั้งคำถามยาก ๆ กับตัวเอง แต่เวลาคนอื่นเป็นฝ่ายถามเรา คำถามนั้นมักจะฝึกลึกอยู่ในสมองและมีโอกาสที่เราจะนำมาคิดทบทวน"

            "ตัวอย่างเช่น คุณอาจถามว่า 'ลูกกับแฟนเข้ากันได้ดีไหม' 'เคยทะเลาะกันหรือเปล่า' 'ข้อดีของเขาที่ลูกชอบที่สุดสิบอย่างคืออะไร' 'อะไรในตัวเขาที่ลูกชอบน้อยที่สุด' ซึ่งคำตอบก็น่าจะออกมาในทำนองว่า ก็พอเข้ากันได้ค่ะ เราทะเลาะกันสัปดหา์ละสองสามครั้ง หนูนึกข้อดีของเขาออกแค่สามอย่าง หนูไม่ชอบที่เขาเห็นแก่ตัวค่ะ"

            "จากนั้นลูกสาวของคุณก็จะเริ่มใส่ใจกับการทะเลาะกันแต่ละครั้ง ข้อดีไม่กี่ข้อในตัวเขา รวมถึงความเห็นแก่ตัวของเขา" แดนยอมรับว่าวิธีการนี้อาจจะดูปั่นหัวไปบ้าง แต่ก็เป็นการทำให้ลูกสาวของเธอได้พิจารณาความสัมพันธ์ของตัวเองกับชายหนุ่มคนนี้อย่างถี่ถ้วนมากขึ้น

            ในฐานะที่เป็นครูและนักจิตวิทยา แดนตอบคำถามได้ดีมาก โดยพวกเราสามารถนำเอาหลักการตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิดนี้ไปใช้ได้ในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะเมื่อวัยรุ่นกำลังจะตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกของ เลือกที่เรียน เลือกเพื่อน เลือกคนรัก หรือเลือกเส้นทางอนาคตก็ตาม

            เพราะการที่เราจะตัดสินใจเลือกให้ หรือห้ามพวกเขามันก็จะยิ่งทำให้เกิดการต่อต้านมากขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ให้ความสำคัญกับเพื่อนมากกว่าครอบครัวหรือกระหายการยอมรับมากเป็นพิเศษ หากเราอยากจะทำให้พวกเขาที่ยังมีประสบการณ์น้อยเดินในทิศทางที่ถูกต้อง เราจะต้องกระตุ้นให้พวกเขาเกิดการฉุกคิดด้วยตัวของเขาเอง และตัดสินใจด้วยตัวของเขาเอง 

ดีไม่ดี เขาอาจจะมีเหตุผลที่ถูกต้องในแบบที่เราคาดไม่ถึงเสียด้วยซ้ำ

อ้างอิง

Ariely, D. (2015). Irrationally yours: on missing socks, pickup lines, and other existential puzzles. NY: Harper Collins Publishers.

Huli, P. (2014). Stress Management in Adolescence. Journal of Research in Humanities and 
Social Science, 2(7): 50-57.

Trott, D. (2021). The Power of Ignorance: How creative solutions emerge when we admit what we don’t know. Hampshire: Harriman House.

สุรางค์ โค้วตระกูล. (2559). จิตวิทยาการศึกษา. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์(2562)วัยรุ่น 4.0 ทำความเข้าใจมนุษย์วัยรุ่น. กรุงเทพฯแซนด์คล็อค บุ๊คส์.

ความคิดเห็น