ทักษะทางสังคม วิจารณญาณ และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คือสิ่งที่ Gen Alpha ควรได้รับการพัฒนา

พาเขาไปเล่นกับเพื่อนบ้าง สอนให้รู้จักรอคอย รู้จักเข้าใจอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น รู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และรู้จักการแยกแยะข้อเท็จจริงเบื้องต้น 

            เด็ก Generation Alpha หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Gen Alpha เกิดตั้งแต่ปี 2010 หรือระหว่าง พ.ศ. 2553 – 2568 ซึ่งปัจจุบันพวกเขายังเด็กอยู่ แต่พวกเขาก็ถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นประชากรส่วนสำคัญในโลกอนาคต โดยคาดการณ์ว่าในปี 2025 จะมีประชากรเจนดังกล่าวมากถึง 2,000 ล้านคนทั่วโลก พวกเขาจึงเป็นช่วงวัยที่ได้รับความกดดันจากสังคมค่อนข้างสูง และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากไม่ว่าะเป็น ความคิดเห็นและระดับความอดทนที่ต่ำแตกต่างกับเจนอื่น ๆ ก่อนหน้านี้

            เด็กกลุ่มนี้จะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีการเรียนรู้รวดเร็วในเรื่องของเทคโนโลยีเพราะเป็นปัจจัยในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งเด็ก Gen Alpha นี้จะมีอัตราเฉลี่ยในการใช้อินเตอร์เน็ตสูงถึงร้อยละ 47.4 ต่อวัน และยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงขนาดที่พ่อแม่หลายคนไม่มีความสามารถใช้เทคโนโลยีได้เทียบเท่ากับเด็กในเจนนี้เลยเสียด้วยซ้ำ พ่อแม่หลายบ้านจึงภูมิใจ ตามใจและทุ่มเทความรักให้ลูกมากเป็นพิเศษ

            นอกจากนั้นเด็กในเจนนี้ยังมีแนวโน้มถูกพ่อแม่รุ่นเจนวายหรือเจนเอ็กซ์ช่วงปลายเอาอกเอาใจมาก เพราะส่วนใหญ่พ่อแม่เจนนี้มีลูกค่อนข้างช้า มีลูกจำนวนจำกัดด้วยผลกระทบจากเศรษฐกิจหรือปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้มีลูกช้า ทำให้เด็ก Gen Alpha มีอัตราการเป็นลูกคนเดียวค่อนข้างสูง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เด็กในเจนนี้อยู่กับตัวเองมาก หรือเรียกว่ามีความเป็นปัจเจกสูง

            ดังนั้นด้วยเหตุผลทั้งการใช้เวลาจำนวนมากไปกับเทคโนโลยี และอัตราการเป็นลูกคนเดียวของเจนนี้ที่สูงขึ้นจึงทำให้เด็ก ๆ เติบโตขึ้นมารักอิสระและสามารถเล่นคนเดียวได้ จึงทำให้ขาดการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และพวกเขายังเติบโตมาโดยขาดความยืดหยุ่นและห่างไกลธรรมชาติมากกว่าเจนอื่น ๆ ซึ่งแตกต่างจาก Generation ก่อนหน้านี้ที่เกิดมาพร้อมกับเพื่อนในวัยเดียวกันจำนวนมาก ทำให้เพวกเขาได้เล่นด้วยกัน และมีปฏิสัมพันธ์ที่มากกว่าเด็กในยุคปัจจุบัน

            เด็กเจนนี้จึงห่างไกลจากสังคม ขาดความสามารถในการมีสัมพันธภาพ ยิ่งไปกว่านั้นยังทำให้ประสบการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ขาดไป แต่สิ่งที่พวกเขามีเหนือกว่าเจนอื่น ๆ ก็คือการกล้ากล้าลองผิดลองถูกเนื่องจากพวกเขาเติบโตมาพร้อมกับความสะดวกสบาย พวกเขาจึงกล้าที่จะเสี่ยงเพราะหากล้มก็ล้มบนฟูก แต่สิ่งนี้ก็อาจจะเป็นลบเหมือนกัน กล่าวคือพวกเขาเผชิญกับลำบาก ผิดพลาด และล้มเหลวน้อยกว่าในเจนอื่น ๆ ก่อนหน้านี้

            จึงไม่แปลกเลยที่มักจะมีคนพูดกันว่าเด็กรุ่นใหม่มีความอดทนน้อยกว่าเด็กในรุ่นก่อนหน้า ด้วยความที่พวกเขาเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่มีความพร้อม สิ่งอำนวยความสะดวกเยอะขึ้นมาก เทคโนโลยีที่มีพร้อมมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น สัญญาณ Wifi ที่รวดเร็ว หรือ Google ที่สามารถหาข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นด้วยความที่พ่อแม่ของพวกเขาไม่อยากให้ลูกของตนเองต้องเติบโตมาลำบากจึงให้ความสะดวกสบายอย่างมากแก่ลูกของตนเอง

เด็กกลุ่มนี้มีการเรียนรู้รวดเร็วในเรื่องของเทคโนโลยีเพราะเป็นปัจจัยในการดำเนินชีวิตประจำวัน

            ดังนั้นด้วยความสันโดษ การเข้าถึงข้อมูลที่ไม่รู้ว่าจะจริงหรือเท็จได้อย่างรวดเร็ว และความสามารถในการมีปฏิสัมพันธ์ที่ต่ำกว่าเจนอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ จึงทำให้ผู้เขียนซึ่งเป็นทั้งครูและนักจิตวิทยามีความเห็นว่าทักษะที่ควรจะสอนเด็ก Gen Alpha มากที่สุด มีอยู่ 3 ทักษะประกอบด้วย ทักษะทางสังคม การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

            1) ทักษะทางสังคม (Social Skill) คือความสามารถในการปรับตัว และใช้ความสามารถเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในทางบวกกับผู้อื่นอย่างเหมาะสมโดยแสดงออกผ่านคำพูด สีหน้า และท่าทาง ซึ่งการมีทักษะทางสังคมที่ดีจำเป็นอย่างยิ่งที่เด็กจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและสื่อสารอย่างเหมาะสม รวมไปถึงการจัดการอารมณ์ของตนเองและการเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่นด้วยเช่นกัน

            เหตุผลที่เด็กในปัจจุบันต้องการทักษะนี้มากขึ้น ก็เนื่องมาจากการสื่อสารผ่านแววตา กาย และวาจา ของเด็ก ๆ ในเจนนี้เริ่มลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ หลังจากที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลอย่างสูงในปัจจุบัน นอกจากนั้นด้วยความที่เด็กเจนนี้เล่นกับเพื่อนน้อยลง หรือเล่นกับพี่น้องน้อยลงจากการเป็นลูกคนเดียว ย่อมส่งผลให้การฝึกฝนและประสบการณ์ทางสังคมมีแนวโน้มจะลดลงกว่าเจนอื่น ๆ 

            การเพิ่มทักษะทางสังคมสามารถเริ่มได้จากการรับฟังความคิดความรู้สึกของเด็ก แล้วสะท้อนความรู้สึกของเราเองออกไป มีการโยนโจทย์ปัญหาให้เด็กได้ลองคิดตาม และแก้ไขจากมุมมองของตัวเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนหรือการเข้าใจอารมณ์ของตนเอง และทำให้เขาสื่อสารได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่เราจะต้องทำก็คือการเข้าใจ ตีความ และใส่ใจภาษาของเด็ก 

            ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเขาแสดงออกผ่านท่าทางที่ไม่เหมาะสม เราอาจถามเขาว่า "หากมีเพื่อนของหนูทำแบบนี้หนูจะรู้สึกอย่างไร" "หากหนูอยากให้เพื่อนเล่นกับหนู หนูจะต้องพูดอย่างไร" หรือ "หากหนูอยากให้เพื่อนแบ่งของเล่น หนูจะต้องพูดอย่างไรบ้าง" สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเราจะต้องสอนให้เขารู้จักวิธีแสดงออกทางอารมณ์ให้เหมาะสม และทำอย่างสม่ำเสมอ

            2) การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) คือกระบวนการที่จำเป็นต้องใช้ความรู้และทักษะในการตัดสินใจ พิจารณาไตร่ตรองก่อนจะเชื่อ หรือกระทำสิ่งใด โดยจะต้องแยกแยะว่าสิ่งใดเป็นความจริง หรือความเท็จ อีกทั้งยังต้องสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือ และสุดท้ายจะต้องสรุปได้ว่าข้อมูลนั้นมีหลักการพื้นฐานอะไร มีอคติ หรือลำเอียง มีใช้ตรรกะถูกหรือผิด 

            เราสามารถฝึกให้เด็กมีการคิดอย่างมีวิจารณญาณได้โดยฝึกให้เขาช่างสังเกต ช่างจดจำ รู้จักตั้งคำถามกับสิ่งที่พบเจอว่าถูกหรือผิด และรู้จักวิธีการหาคำตอบด้วยตัวเองอย่างชาญฉลาด เมื่อเจอปัญหาต้องฝึกแก้ไขด้วยตัวเอง โดยอาจจะสร้างสถานการณ์จำลองเพื่อสร้างทักษะการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม ให้เด็กเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหา 

            ยกตัวอย่างเช่น "ถ้าอาหารที่ลูกชอบไม่ขาย ลูกจะกินอะไรแทน" คำถามนี้เป็นการให้เขาได้ลองพิจารณาตัวเลือกใหม่ ๆ เป็นการเพิ่มประสบการณ์ให้เขารู้จักอาหารชนิดอื่น ๆ มากขึ้น ฮานส์ รอสลิง (Hans Rosling) แพทย์ นักวิชาการ ศาสตราจารย์ด้านสุขภาพผู้ทรงอิทธิพลอันดับต้น ๆ ของโลก ให้ความสำคัญกับการใฝ่รู้อย่างยิ่ง โดยเฉพาะทักษะในการยอมรับข้อเท็จจริง ซึ่งสามารถฝึกได้โดยการเรียนรู้ข้อเท็จจริงใหม่ ๆ และยอมรับข้อเท็จจริงที่ไม่เข้ากับมุมมองของตนเอง

            3) การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) คือความสามารถที่จะเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นโดยนำเอานำความรู้สึกและความคิดของตนเองไปอยู่ในบริบทของผู้อื่น ความเห็นอกเห็นใจสามารถแสดงออกได้ในรูปแบบของการรับฟัง การสบตา หรือการสัมผัสกายเบา ๆ ก็ได้เช่นกัน หากเด็กมีการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น ก็จะทำให้เขามีจิตใจอ่อนโยน ถ่อมตน รวมไปถึงการรับรู้ความรู้สึกตัวเอง ซึ่งเป็นการสร้างความแข็งแรงให้กับจิตใจด้านในของเด็กอย่างมาก

            แน่นอนว่ายังมีทักษะอื่น ๆ อีกมากมายที่เด็กรุ่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ เช่น ความอดทน การทำงานเป็นทีม การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน หรือการรู้เท่าทันสื่อ แต่หากเด็กรุ่นนี้ได้เรียนรู้ 3 ทักษะดังที่กล่าวมาก็จะส่งผลให้เขามีทักษะอื่น ๆ ตามมาโดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น หากเขามีทักษะทางสังคม ก็จะทำให้เขาสามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ดีมากขึ้น และสามารถทำงานเป็นทีมได้ดีมากขึ้นตามไปด้วย

            หรือ หากเขาเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ก็จะทำให้เขารู้จักอดทนมากขึ้นและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เข้าใจตัวเองมากขึ้น รับรู้อารมณ์ของตนเองได้ดีขึ้น เช่นเดียวกันหากเขามีวิจารณญาณมากขึ้นก็จะทำให้เขารู้จักวิเคราะห์สื่อต่าง ๆ อย่างเป็นระบบว่าตัดสินใจเชื่อหรือไม่เชื่อข้อมูลไหน อีกทั้งยังมีความสามารถในการคิดเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

            อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้หมายความว่าครู พ่อแม่ ผู้ปกครองทุกท่านจะต้องบังคับเคี่ยวเข็ญให้เด็กในรุ่นนี้มีทักษะต่าง ๆ ตามที่พวกท่านต้องการได้ เพราะอย่าลืมว่าทุก ๆ พฤติกรรมมีสาเหตุเสมอ มันเกิดมาจากบริบททางสังคมในปัจจุบัน เขาไม่ได้มีความอดทนต่ำเพราะจิตใจของเขาโดยตรง แต่มันมีผลกระทบจากสภาพแวดล้อมที่พวกเขาเหล่านั้นเติบโตขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวก เช่น มีการสั่งอาหาร ขนส่ง หรือการได้มาซึ่งข้อมูลรวดเร็วมากขึ้น

            การจะบังคับควบคุมตัวเขาให้เป็นในแบบที่เราต้องการก็เหมือนกับการฝืนแรงดึงดูด ดังนั้นอย่าต้านทานแรงดึงดูดของดวงจันทร์ เราควรจะปล่อยให้น้ำขึ้นน้ำลงอย่างเป็นอิสระ ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ เพียงแต่จะต้องคอยสอดแทรกการเรียนรู้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต พาเขาไปเล่นกับเพื่อนบ้าง สอนให้รู้จักรอคอย รู้จักเข้าใจอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น รู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และรู้จักการแยกแยะข้อเท็จจริงเบื้องต้น 

เพื่อให้เขาสามารถเติบโตขึ้นไปอย่างมีความพร้อมและแรงต้านทานต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วใบนี้

อ้างอิง

Rosling, H., Rönnlund, A., & Rosling, O. (2018). Factfulness: Ten Reasons We're Wrong About the World--and Why Things Are Better Than You Think. NY: Flatiron Books.

Plook Teacher. (2563). Gen Alpha กับคาแรคเตอร์ที่ครูผู้สอนต้องรู้ ตอน 1. https://www.trueplookpanya.com/education/content/84416

คาลอส บุญสุภา. (2563). ความสำคัญโรงเรียน และผลกระทบของวิกฤต COVID-19 ที่มีต่อการศึกษา. https://sircr.blogspot.com/2020/06/blog-post.html

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. (2561). เลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้ EF. พิมพ์ครั้งที่ 7 กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พบลิชชิ่ง. 

ความคิดเห็น