เหตุผลที่เราไม่สามารถเข้าใจซึ่งกันและกันได้ เพราะพวกเรามองโลกแตกต่างกัน

เราจะหาข้อมูลข่าวสารมาสนับนุนความเชื่อของเรา และเราจะตีความข้อมูลนั้นให้เป็นที่น่าพึงพอใจสำหรับตัวเองมากที่สุด

            จากประสบการณ์ของผมและคนรอบตัวในการสื่อสาร พบว่าพวกเราต่างทำความเข้าใจซึ่งกันและกันยากมาก บางคนมีเจตนาอีกแบบหนึ่ง แต่ผู้รับสารไม่ทราบเจตนาที่แท้จริง จึงทำให้ความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมดา และเป็นไปได้ง่ายมากที่พวกเราแต่ละคนจะเกลียดชังซึ่งกันและกันจากการโต้เถียงอย่างรุนแรง เพราะแต่ละคนต่างปิดกั้นช่องทางที่จะเข้าใจกันได้

            ในวิชาจิตวิทยาการสื่อสารที่ผมได้เรียนในสมัยปริญญาตรี อาจารย์สอนว่าระหว่างการผู้ส่งสาร และผู้รับสารมักจะมีสิ่งรบกวนเข้ามาขวางกั้นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเสียงรบกวนจากภายนอก ไปจนถึงอคติจากภายในจิตใจของเรา จนมาถึงตอนนี้ผมได้เรียนรู้ว่าสิ่งรบกวนสามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้อย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นอคติ ประสบการณ์ชีวิต มุมอง สภาพอากาศ เสียงรบกวน สุขภาพกาย และสุขภาพจิต ฯลฯ 

            แต่ในบทความนี้ผมอยากนำเสนอสิ่งรวบกวนบางอย่างที่ค่อนข้างสำคัญ และผู้อ่านทุกคนสามารถเข้าใจได้โดยง่าย นั่นคือมนุษย์ทุกคนมีมุมมองที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น เจ้านายที่สั่งงานลูกน้อง แล้วไม่ได้ดั่งใจ ส่งงานช้า แต่ในมุมมองของลูกน้องคนนี้ทำงานหนักมากจนเกินตัว และทุ่มเทพลังสุดความสามารถเพื่อจะทำงานตัวนี้ให้ออกมาดีที่สุด โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องของเวลา

            แน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้จะหมดไปหากทั้งสองคนเปิดใจพูดคุยถึงมุมมองแต่ละคนที่มีไม่เหมือน แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเราต่างรู้ดีว่าเป็นเรื่องยากอย่างมาก แต่หัวใจหลักของบทความนี้ผมอยากให้ผู้อ่านทุกท่านเข้าใจว่า พวกเรามองโลกแตกต่างกัน ดังนั้นเราจำเป็นต้องทำความเข้าใจในเรื่องราวของอีกฝ่ายหนึ่งให้ดี ว่าอะไรที่ซ่อนอยู่ลึกลงไปกันแน่

            การได้รู้ว่าเพราะเหตุใดเราจึงมีเรื่องราวที่แตกต่างกันย่อมเป็นประโยชน์อย่างสูง เนื่องจากเรื่องราวของเราไม่ได้เกิดขึ้นเองอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย มันไม่ได้เกิดขึ้นมาตามบุญตามกรรม แต่เรื่องราวมักจะถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นระบบโดยที่เราไม่รู้ตัว โดยในขั้นแรก เรารับเอาข้อมูลข่าวสารเข้ามา ซึ่งเราได้สัมผัสกับโลกผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งภาพ เสียง และความรู้สึก 

เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจในเรื่องราวของอีกฝ่ายหนึ่งให้ดี ว่าเขามีเหตุผลอะไรกันแน่

            ส่วนในขั้นที่สอง เราตีความสิ่งที่เราเห็น ได้ยิน และรู้สึก แล้วเราจึงให้ความหมายกับสิ่งนั้นอย่างครบถ้วน จากนั้นเราจึงสรุปผลเกี่ยวกับสิ่งที่้กิดขึ้น กล่าวคือ เราทุกคนมีเรื่องราวที่แตกต่างกัน เพราะเราต่างคนต่างรับเอาข้อมูลข่าวสารที่แตกต่างกันเข้ามา แล้วตีความข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นด้วยวิธีเฉพาะของตัวเราเอง ในหนังสือ Difficult Conversations ผู้เขียน ดั๊กลาส สโตน (Douglas Stone) และคณะ ได้นำเสนอเหตุผลที่พวกเรามองโลกแตกต่างกันได้อย่างน่าสนใจ ดังต่อไปนี้

            1) เราได้รับข้อมูลข่าวสารที่แตกต่างกัน ตลอดตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบันเราล้วนรับข้อมูลข่าวสารอย่างท่วมท้น แต่เราไม่สามารถรับเอาทุกสิ่งที่เห็น ได้ยิน ทุกข้อเท็จจริง และทุกความรู้สึกเข้ามาได้หมด นอกจากนั้นพวกเราแต่ละคนยังรับข้อมูลข่าวสารไม่เท่ากันอีกด้วย ในทางทฤษฎีทางจิตวิทยากลุ่มเกสตัลท์มีแนวคิดว่า มนุษย์จะรับรู้ขึ้นอยู่กับว่าให้ความสำคัญไปที่สิ่งใด ซึ่งสิ่งที่เราให้ความสำคัญจะเรียกว่า ภาพ (Figure) และสิ่งที่เราไม่ให้ความสำคัญจะเรียกว่า พื้น (Ground) 

            ยกตัวอย่างเช่น พ่อพาลูกชายที่ชอบรถไปดูการแข่งขันรถยนต์ เด็กชายผู้ชอบรถสามารถจดจำรถได้ทุกคัน (ภาพ) ขณะที่พ่อซึ่งไม่ได้สนใจรถซักเท่าไหร่ แทบจะจำรถอะไรไม่ได้เลย (พื้น) นั่นจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่มนุษย์เรารับรู้ข้อมูลข่าวสารไม่เท่ากัน หรืออคติก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เรารับรู้ข่าวสารไม่เท่ากัน เช่น เราชอบพรรคเพื่อไทย จึงมองข้ามข้อมูลของพรรคฝ่ายตรงกันข้ามทั้งหมด

            2) เรามีการตีความที่แตกต่างกัน แม้ในกรณีที่เรารับรู้ข่าวสารเหมือนกันก็ตาม แต่เราก็สามารถตีความแตกต่างกันได้ "ฉันเห็นแก้วที่มีน้ำแค่ครึ่งแก้ว นั่นเป็นเหตุที่ฉันกระหายน้ำ ในขณะที่อีกคนหนึ่งที่ดื่มน้ำจนอิ่มแล้ว กลับมองเห็นน้ำตั้งครึ่งแก้ว" ซึ่งปัจจัยสองประการที่มีอิทธิพลต่อการตีความของเราก็คือ ประสบการณ์ในอดีตของเรา และ กฎเกณฑ์แฝงที่เกิดจากการเรียนรู้ของเราว่าควรหรือไม่ควรทำสิ่งต่าง ๆ

                    2.1) อิทธิพลจากประสบการณ์ในอดีต มุมมองทุกด้านของเราได้รับอิทธิพลอย่างลึกซึ้งจากประสบการณ์ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่จะพักผ่อนในวันหยุดที่ไหน จะเอาไม้เรียวตีลูกดีหรือไม่ จะตั้งงบประมาณสำหรับโฆษณาไว้มากน้อยแค่ไหน ทั้งหมดล้วนได้รับอิทธิพลจากสิ่งที่เราสังเกตเห็นในครอบครัวหรือสิ่งที่เราเห็นตลอดชีวิต บ่อยครั้งเราไม่ได้ตระหนักว่าประสบการณ์เหล่านี้จะส่งผลต่อการตีความของเราอย่างไรบ้าง

                    ยกตัวอย่างเช่น การเลือกซื้อสินค้า นายเอผู้ที่เกิดมากับครอบครัวที่ยากจนมองว่า ไอโฟนเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็น ในขณะที่ผู้อื่นอาจมองว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก หรือเด็กบางคนเกิดมาพร้อมกับครอบครัวที่แตกแยก อาจมองว่าคนทุกคนพร้อมที่จะทอดทิ้งเขาเสมอ จึงทำให้เขาวิตกกังวลกับทุกความสัมพันธ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

                    2.2) กฎเกณฑ์แฝงที่แตกต่างกัน สิ่งนี้ต่อยอดมาจากประสบการณ์ในอดีต มันเป็นการที่เราตั้งกฎเกณฑ์บางอย่างเอาไว้ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เราจะประพฤติตนตามกฎเกณฑ์เหล่านั้นที่เราได้ตั้งขึ้นมา ซึ่งกฎเกณฑ์เหล่านี้จะบอกเราว่าโลกดำเนินไปอย่างไร คนเราควรจะปฏิบัติอย่างไร หรือสิ่งต่าง ๆ น่าจะเป็นอย่างไร นอกจากนี้มันยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อเรื่องราวของเราในการสนทนาที่ยากลำบาก

                    ปัญหาก็คือเมื่อกฎเกณฑ์ของทั้งสองฝ่ายต้องมาประจันหน้ากัน ยกตัวอย่างเช่น เราเป็นคนที่มีกฎเกณฑ์ด้านเวลาที่ชัดเจน นัดเท่าไหร่ก็ต้องตามนั้นเกินไปกว่านี้คือสาย ในขณะที่เพื่อนของเรามีกฎเกณฑ์ที่ว่าสายไม่เกินสิบนาทีไม่เป็นไร เมื่อถึงเวลาที่เพื่อนของเรามาสายก็ย่อมทำให้ความขัดแย้งระหว่างกันและกันเกิดขึ้นมาได้ 

                    กฎเกณฑ์แฝงมักจะอยู่ในรูปของสิ่งต่าง ๆ ที่คนเราควรทำ หรือไม่ควรทำ เช่น "ลูกควรใช้เงินกับเรื่องเรียนเท่านั้นนะ ไม่ควรใช้กับเรื่องเสื้อผ้า" หรือ "เธอไม่ควรวิจารณ์เพื่อนร่วมงานอย่างรุนแรงต่อหน้าคนอื่นนะ" การมีกฎเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องผิดอะไร ที่จริงแล้วมันช่วยให้เรามีระเบียบ แต่ในบางกรณีกฎเหล่านี้มักจะพาเราไปเผชิญกับความขัดแย้ง ดังนั้นสิ่งที่สามารถช่วยได้ก็คือ การทำให้กฎของเรามีความชัดแจ้งออกมา และส่งเสริมให้อีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจหรือทำเหมือนกับเรา

            3) เรามีความชอบส่วนตัว (อคติ) มนุษย์ทุกคนล้วนมีอคติแล้วมักจะหาข้อสรุปหรือข้อมูลที่เข้าข้างตัวเองที่สะท้อนให้เห็นประโยชน์ส่วนตัวเสมอ กล่าวคือ เราจะหาข้อมูลข่าวสารมาสนับสนุนความเชื่อของเรา และเราจะตีความข้อมูลนั้นให้เป็นที่น่าพึงพอใจสำหรับตัวเองมากที่สุด สิ่งนี้แม้จะเป็นเรื่องปกติก็สามารถกลายเป็นอันตรายได้ ดังนั้นเราจึงต้องผ่อนปรนเกี่ยวกับ "ความถูกต้อง" ส่วนตัวแม้มันจะเป็นที่น่าพึงพอใจสำหรับเราก็ตาม

            ทั้งสามข้อนี้เป็นเพียงเหตุผลสั้น ๆ ที่ดั๊กลาส สโตนและคณะผู้เขียนมีความเห็นว่ามันทำให้พวกเราทุกคนมองโลกแตกต่างกัน จริง ๆ แล้วมันยังมีสาเหตุทางจิตวิทยาอีกมากมายที่สามารถนำมาสนับสนุนและอธิบายเพิ่มเติมได้ แต่มันจะทำให้บทความนี้ยาวจนเกินไป 

            สิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้ก็คือ มันเป็นการยากอย่างมากที่จะจูงใจให้คนเดินไปในทิศทางเดียวกับเรา เพราะแต่ละคนมีการมองโลกที่ต่างกัน พวกเราทุกคนรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างกัน มีประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน และมีความชอบหรืออคติที่ติดตัวอยู่ตลอดเวลา

            การเข้าไปนั่งในความคิดของอีกฝ่าย และเรียนรู้สิ่งที่เขาคิด เขาเชื่อ และเรื่องราวในอดีตของเขาจะทำให้เราสามารถเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้น เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการทำงานร่วมกัน เพราะอย่าลืมว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการมีความสุขในทัศนะของจิตวิทยาเชิงบวก 

ดังนั้นเพียงแค่ตระหนักว่า พวกเราทุกคนมองโลกแตกต่างกันก็ย่อมสามารถทำให้เราใจเย็น และเข้าใจคนอื่นมากขึ้นแล้ว

อ้างอิง

Stone, D., Patton, B., Heen, S., & Fisher, R. (2010). Difficult Conversations: How to Discuss What Matters Most. London: Penguin Books.

คาลอส บุญสุภา. (2565). ความเหลื่อมล้ำ ก่อให้เกิดจิตสำนึกแห่งการเปรียบเทียบที่เกินตัว. https://sircr.blogspot.com/2022/07/blog-post.html

ความคิดเห็น