ความรู้สึกว่าตัวเองยากจนในขณะที่คนรอบตัวมีแต่คนที่ร่ำรวยส่งผลกระทบอย่างรุนแรง
ผมมักจะบอกกับคนอื่น ๆ เสมอว่าความทุกข์เป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับเรา ความทุกข์เป็นเพียงแค่ความรู้สึกหนึ่งที่ค่อนข้างคลุมเคลือเพราะ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเศร้า เหงา เครียด เบื่อ ก็ถูกเหมารวมว่าเป็นความทุกข์ไปเสียหมด อย่างไรก็ตามความทุกข์ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมของผู้อื่นที่มากระทำกับเรา และทำให้เรารู้สึกทุกข์ขึ้นมา แต่ก็มีพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่ทำให้เราเกิดทุกข์ขึ้นมาได้เองโดยอัตโนมัติ พฤติกรรมนั้นก็คือ "การเปรียบเทียบ"
การเปรียบเทียบ เป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน ไม่ว่าคนคนนั้นจะอยู่ในสถานะเศรษฐกิจสังคมอย่างไรก็ตาม เนื่องจากพฤติกรรมส่วนใหญ่ของเราถูกกำหนดด้วยอารมณ์โดยที่เราไม่รู้ตัว แม้ว่าเราจะอ้างว่าตัวเองไม่เคยเปรียบเทียบกับใคร แต่จริง ๆ แล้วเราทุกคนทำมันลงไปโดยอัตโนมัติ และเรามักจะเปรียบเทียบกับคนที่เรารู้สึกว่าเขาอยู่เหนือกว่าเรา ส่วนหนึ่งเพราะกิเลสในตัวของเรา และส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเรารู้สึกทุกข์ ไม่พอใจ ไม่สบายใจกับสภาพปัจจุบันของตนเอง
แม้ว่าความรู้สึกทุกข์จะเกิดมาจากจิตใจของเราเองแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสภาพสังคมในปัจจุบันก็เป็นตัวกระตุ้นให้เราเกิดความรู้สึกทุกข์ได้อย่างเท่าทวี ยิ่งเป็นสถาพสังคมที่มีความเลื่อมล้ำสูง ยิ่งสร้างจิตสำนึกแห่งการเปรีบบเทียบให้กว้างมากขึ้นตามด้วย และร้ายแรงมากขึ้นเกินกว่าที่เราจะคาดคิดได้ ในบทความนี้ผมจึงอยากจะนำเสนอถึงความเหลื่อมล้ำที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก และเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในประเทศไทย และความเหลื่อมล้ำก่อให้เกิดการเปรียบเทียบอย่างรุนแรงได้อย่างไร
ความเหลื่อมล้ำภัยร้ายต่อมนุษยชาติ
ความเหลื่อมล้ำคือ ความไม่เท่าเทียมกันอันเกิดจากการฉีดขาดทางสถานะทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยและคนจนที่มากจนเกินไป ทุกวันนี้คนรวยที่สุดในโลก 85 คน มีทรัพย์สินมากกว่าประชากรบนโลก 3,500 ล้านคน รวมกันเสียอีก ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกาคนรวยที่สุดร้อยละ 1 มีรายได้รวมกันแล้วมากกว่าร้อยละ 20 ของรายได้ทั้งหมดในประเทศ เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่พบว่า บุคคลร้อยละ 1 เป็นเจ้าของความมั่งคั่งมากกว่าคนไทยทั้งประเทศรวมกัน
อำนาจ มงคลสืบสกุล ได้กล่าวถึงรากเหง้าของปัญหาความเหลื่อมล้ำในบทความชื่อ ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยกับสิทธิมนุษยชน : ความเปราะบางของสังคมในสถานการณ์ปัจจุบัน เอาไว้ว่า "ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยเกิดจากระบบเศรษฐกิจ การเมืองที่เป็นปัจจัยสำคัญ เราพบว่าการ แข่งขันในภาคเอกชนถูกลดลง อำนาจทางธุรกิจมีความกระจุกตัวอย่างมาก การทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้นโดยง่าย โดยเฉพาะกับกลุ่มที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน
"ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำยังคงมีอีกหลายมิติ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางชาติพันธุ์ ความเหลื่อมล้ำทางผิวสี ความเหลื่อมล้ำทางเพศสภาพ ความเหลื่อมล้ำเพราะถิ่นที่อยู่อาศัย ความเหลื่อมล้ำด้านอายุ สังคม โอกาส และรวมถึงความเหลื่อมล้ำในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ (การดูถูก หรือรังเกลียดคนจน) ปัญหาทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจตามมา และถ้าหาก ปัจจัยดังกล่าวยิ่งมีมากเท่าไรความเหลื่อมล้ำยิ่งมีความทวีคูณมากยิ่งขึ้น"
ยิ่งเป็นสถาพสังคมที่มีความเลื่อมล้ำสูงยิ่งสร้างจิตสำนึกแห่งการเปรีบบเทียบให้กว้างมากขึ้น |
หากพูดถึงการศึกษาเกี่ยวกับความเหลื้อมล้ำจำเป็นต้องศึกษางานของ ริชาร์ด วิลกินสัน (Richard Wilkinson) และ เคท พิคเก็ตต์ (Kate Pickett) ในหนังสือของพวกเขาชื่อ The Spirit Level: Why Greater Equality Makes Societies Stronger พวกเขาได้ศึกษาและทำการวิจัยอย่างระเอียดโดยใช้กลุ่มประชากรหลายประเทศทั่วโลก การศึกษาของพวกเขาเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำและสุขภาพจิตทำให้เกิดการค้นพบว่า "ความเหลื่อมล้ำสามารถฆ่าคนให้ตายได้"
เนื่องจากความเหลื้อมล้ำสามารถทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอและสุขภาพย่ำแย่ลง ทำให้คนที่อยู่อาศัยอยู่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ (ย่านคนจน) มีอายุสั้นกว่าและมีอัตราการใช้สารเสพติด การเสียชีวิตของเด็ก โรคอ้วน รวมไปถึงความเจ็บป่วยทางจิต ฯลฯ และแม้ปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับทุกคนในสังคม แต่ส่วนใหญ่แล้วจะกระจุกตัวอยู่ในสังคมระดับล่างมากกว่า กล่าวคือยิ่งจนเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสตายก่อนวัยอันควรมากขึ้นเท่านั้น
ความเหลื่อมล้ำก่อให้เกิดจิตสำนึกแห่งการเปรียบเทียบที่เกินตัว
เราเห็นแล้วว่าความเหลื่อมล้ำ คือความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งทำเกิดความแตกต่างกันทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ในส่วนนี้ผมจึงอยากอธิบายว่าความเหลื่อมล้ำก่อให้เกิดการเปรียบเทียบได้อย่างไร โดยขอเริ่มต้นจากงานวิจัยโดยนักจิตวิทยา แคเธอรีน เดอเซลส์ (Katherine DeCelles) และไมเคิล นอร์ตัน (Michael Norton) ที่ Keith Payne นักจิตวิทยาชื่อดังได้ยกขึ้นมาในหนังสือ The Broken Ladder: How Inequality Affects the Way We Think, Live, and Die งานวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงลำดับชั้นของสถานะทางสังคมที่ซ้อนเร้นอยู่เมื่อพวกเราเดินทางด้วยเครื่องบิน
นักวิจัยทั้งสองได้วิเคราะห์ข้อมูลจากเที่ยวบินนับล้านเที่ยวเพื่อวิเคราะห์ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดเหตุผู้โดยสารอาละวาดในเที่ยวบิน ในขั้นแรกทั้งสองเปรีบบเทียบเที่ยวบินที่มีกับไม่มีห้องโดยสารชั้นหนึ่ง (First Class) โดยให้เหตุผลว่า หากสถานะทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันของผู้โดยสารคือสิ่งที่ขับเคลื่อนให้เกิดพฤติกรรมเสื่อมเสี่ย เราก็น่าจะพบเหตุผู้โดยสารอาละวาดในเที่ยวบินที่มีห้องโดยสารชั้นหนึ่งมากกว่าเที่ยวบินที่ไม่มี
ผลที่พบก็คือ เครื่องบินที่มีห้องโดยสารชั้นหนึ่งมีโอกาสเกิดเหตุผู้โดยสารอาละวาดในชั้นประหยัดมากกว่าเครื่องบินที่ไม่มีห้องโดยสารชั้นหนึ่งถึ่งสี่เท่า แม้จะพบปัจจัยอื่นอย่างเที่ยวบินล่าช้าด้วย แต่การที่เครื่องบินมีห้องโดยสารชั้นหนึ่งเพิ่มโอกาสเกิดเหตุกระทบกระทั่งได้มากเท่ากับเที่ยวบินล่าช้าไปกว่า 9 ชั่วโมงครึ่งเลยทีเดียว นักวิจัยได้ศึกษาลงลึกและพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า เครื่องบินที่มีห้องโดยสารชั้นหนึ่งส่วนมากจะให้ลูกค้าขึ้นเครื่องตอนหน้าของเครื่อง ซึ่งทำให้ผู้โดยสารชั้นประหยัดต้องลากกระเป๋าไปตามทางเดินผ่านบรรดาคนรวยที่นั่งปักหลักอย่างสบายเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม มีเที่ยวบินประมาณร้อยละ 15 ที่ผู้โดยสารขึ้นเครื่องทางตอนกลางหรือตอนท้ายเครื่อง ทำให้ผู้โดยสารชั้นประหยัดไม่ต้องทนภาวะกระอักกระอ่วนเช่นนี้ ซึ่งผู้วิจัยได้ทำการวิเคราะห์ด้วย และก็พบผลดังคาดคือ เที่ยวบินที่ผู้โดยสารขึ้นเครื่องตอนหน้าของเครื่องมีโอกาสเกิดเหตุผู้โดยสารอาละวาดมากกว่าเที่ยวบินที่ผู้โดยสารขึ้นเครื่องตรงส่วนอื่นของลำเป็นสองเท่า หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเหตุมากเท่ากับเที่ยวบินที่ล่าช้าไป 6 ชั่วโมงเลยทีเดียว
พฤติกรรมแปลกประหลาดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยความบังเอิญ ความเลื่อมล้ำส่งผลต่อการกระทำและความรู้สึกของเราอย่างเป็นระบบและคาดเดาได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันทำให้เรามองโลกแคบและกล้าเสี่ยง พร้อมสละชีวิตที่มั่นคงเพื่อความสุขเฉพาะหน้า ทำให้เราตัดสินใจแบบที่ส่งผลเสียต่อตัวเอง เชื่อเรื่องแปลก ๆ และยึดติดงมงายกับโลกที่เราวาดหวัง แทนที่จะยอมรับโลกตามที่เป็นจริง ความเลื่อมล้ำทำให้เราแตกแยกเป็นฝักฝ่ายไม่เฉพาะรายได้ แต่รวมถึงความเชื่อและเชื้อชาติด้วย อีกทั้งยังทำให้เราไว้ใจกันน้อยลง และมีความสุขน้อยลง รวมไปถึงสุขภาพแย่ลงดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
สิ่งที่เราต้องแยกแยะให้ออกก็คือ คนที่อยู่ข้างล่างของระบบเศรษฐกิจหรือที่เราเรียกว่าคนยากจน ไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบดังที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น แต่ความรู้สึกว่าตัวเองยากจนในขณะที่คนรอบตัวมีแต่คนที่ร่ำรวยต่างหากที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ไม่ว่าแท้จริงแล้วเราจะมีรายได้เท่าไรก็ตาม แน่นนอนว่างบางคนอาจรู้สึกยากจนเพราะพวกเขายากจนจริง ๆ แต่ข้อมูลเผยว่า ฐานะที่แท้จริงเกี่ยวข้องเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น
ลองพิจารณาชนชั้นกลางทั่วไปรอบ ๆ ตัวเรา (ผมคิดว่าคนอ่าน blog ส่วนใหญ่น่าจะเป็นชนชั้นกลาง) และตั้งคำถามว่าทำไมหลายคนรู้สึกเหมือนตัวเองใช้ชีวิตยากลำบาก ใช้เงินเดือนชนเดือน แถมเพื่อบ้านยังรู้เรื่องต่าง ๆ มากกว่าตัวเอง พวกเขาเชื่อว่าหากรายได้เพิ่มขึ้นอีกหน่อย ทุกอย่างจะดีขึ้นเองไม่ว่าที่จริงแล้วพวกเขาจะมีรายได้เท่าไรก็ตาม กล่าวคือ เราไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองมีรายได้เพียงพอต่อให้เงินเดือนจะเพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ก็ตาม
เนื่องจากเราใช้วิธีการเปรียบเทียบกับผู้อื่นรอบตัวเพื่อกำหนดสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจให้กับตัวเองโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว (ไม่รู้ตัวโดยส่วนใหญ่) เราเปรียบกับผู้อื่นเพื่อวิเคราะห์ว่าเรามีรายได้มากพอหรือไม่ เมื่อเพื่อนบ้านถอยรถคันใหม่ เราไม่ได้คิดหรอกว่า "ดีจัง รถสวย" หรือ "ดีจัง แบบนี้ต้องหามาขับบ้าง" แต่เรารู้สึกอยากแข่งขันขึ้นมา และหันมามองรถตัวเอง พร้อมกับสังเกตเห็นว่ารถตัวเองเก่าแล้ว หรือรถคันนี้ไม่ดีเหมือนเมื่อก่อนเลย อีกทั้งเราจะสังเกตเห็นรายละเอียดเชิงลบบางอย่างที่เราเคยมองข้ามมาทั้งหมด
ผมสามารถสรุปได้เลยว่าเราจะรู้สึกว่าตัวเองร่ำรวยหรือยากจน ก็มาจากการเปรียบเทียบกับคนอื่นในสังคมนี้แหละ ดังนั้นยิ่งสังคมเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำมากแค่ไหน เราก็จะกำหนดคู่เปรียบเทียบที่สูงเกินตัวมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะยิ่งทำให้เรารู้สึกแย่กับสถานะของตัวเองมากขึ้น เกิดความคิดเชิงลบขึ้นมากมาย และตามมาด้วยสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ การปฏิบัติกับคนรอบตัวที่แย่ลง การใช้จ่ายมากขึ้นจนสร้างปัญหาตามมา การบริโภคมากเกินไปจนน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากความเครียดและสุขภาพที่ย่ำแย่
เราอาจไม่รู้ตัวว่าการเปรียบเทียบส่งผลอย่างไรต่อชีวิตบ้าง เพราะกระบวนการเปรียบเทียบทำงานโดยอัตโนมัติอยู่เบื้องหลังเรา ขณะที่เรากำลังเผชิญประสบการณ์เบื้องหน้า ยกตัวอย่างเหตุการณ์ ในร้านอาหารแห่งหนึ่งระหว่างเราและเพื่อนร่วมงาน แล้วเสียงรอบตัวเริ่มดังขึ้น เราอาจรู้สึกว่าคนที่เรากินอาหารอยู่ด้วยพูดเบา เพราะเรามองใบหน้าของอีกฝ่ายเป็นหลักหรือให้ความสนใจกับอีกฝ่ายเป็นหลัก ไม่ได้มองพื้นที่รอบตัวว่าคนรอบข้างพูดเสียงดังกันขนาดไหน
สิ่งนี้สอดคล้องกับทฤษฎีทางจิตวิทยากลุ่มเกสตัลท์ที่เรียกว่าภาพและพื้น (Figure and Ground) กล่าวคือเมื่อเราให้ความสำคัญกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่สิ่งนั้นก็จะกลายเป็นภาพ (Figure) ในขณะที่สิ่งอื่น ๆ จะกลายเป็นพื้น (Ground) ยกตัวอย่างเช่นเวลาที่เราอ่านหนังสือ ตัวหนังสือคือภาพในขณะที่เนื้อกระดาษคือพื้น แนวคิดดังกล่าวและความจริงทางชีววิทยายืนยันได้อย่างดีว่าจริง ๆ แล้วพวกเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ทำหลายอย่างพร้อมกัน (Multitasking) ได้แย่มาก เพราะเวลาที่เราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (ภาพ) สิ่งอื่น ๆ จะกลายเป็นพื้นทันที ดังนั้นการทำหลายอย่างพร้อมกันก็คือการสลับจุดโฟกัสไปมานั่นเอง ภาพรวมจึงมักจะออกมาไม่ค่อยดีนัก
กลับมาที่เรื่องของการเปรียบเทียบ สุดท้ายคนเรามีความรู้สึกว่าร่ำรวยขึ้นหรือยากจนลงก็เพราะการเปรียบเทียบ แต่การเปรียบเทียบทางสังคมที่เกิดขึ้นอยู่เบื้องหลังตลอดเวลาก็ทำให้เกิดจุดบอดบางประการได้ ลองนึกถึงสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเราดูสิ ค่านิยมอะไรที่ทำให้เราเป็นเราอยู่ทุกวันนี้ ชีวิตเรามีแรงจูงใจอะไรที่ผลักดันอยู่บ้าง บางคนอาจจะตอบว่า ความรัก ศรัทธา จงรักภักดี ซื่อตรง หรือความซื่อสัตย์ สิ่งเหล่านี้ออกมาจากจิตสำนึกของผู้คนมากมาย แต่ไม่มีใครรู้เลยว่าเบื้องหลังของเราหรือภายในจิตไร้สำนึก มันกระหายสถานะทางสังคมมากแค่ไหน
นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เรามักจะเปรียบเทียบกับคนอื่นมากมาย และมันจะยิ่งแย่มากอย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว ในกรณีที่สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำ คู่เปรียบเทียบของเราก็จะยิ่งสูงมากขึ้น ทุกวันนี้เราเห็นคนที่รับประทานอาหารประเภทโอมากาเสะราคาแพง ๆ ได้ โดยที่เราแทบจะไม่สามารถรับประทานแบบนั้นได้เลยสักครั้งหนึ่ง หรือมีรถมีบ้าน ในขณะที่ตัวเราเองใช้เงินแทบจะเดือนจนเดือน กล่าวคือ สภาพสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง จะทำให้เราเปรียบเทียบกับคนอื่นอย่างเกินตัว
ในประเทศที่มีความเหลื่อล้ำไม่สูงมากจนเกินไปหรือประชาชนที่รวยกับประชาชนที่ยากจนมีช่องว่างห่างกันไม่มากจนเกินไป ยกตัวอย่างประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย เช่น เบลเยียม หรือสวีเดน ประเทศเหล่านี้ย่อมมีการเปรียบเทียบที่เลวร้ายน้อยกว่าประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงอย่างประเทศไทย หรือสหรัฐอเมริกา อาจจะถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจะต้องจริงจังกับการลดความเหลื่อมล้ำเพื่อรักษาสุขภาพจิต สุขภาพกายของผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
เพราะเราจะต้องไม่ลืมว่า "ความเหลื่อมล้ำสามารถฆ่าคนให้ตายได้"
อ้างอิง
Payne, K. (2017). The Broken Ladder: How Inequality Affects the Way We Think, Live, and Die. NY: Viking.
Wilkinson, R. & Pickett, K. (2011). The Spirit Level: Why Greater Equality Makes Societies Stronger. London: Bloomsbury.
คาลอส บุญสุภา. (2564). ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำร้ายสุขภาพจิตของเราอย่างคาดไม่ถึง. https://sircr.blogspot.com/2021/12/blog-post.html
อำนาจ มงคลสืบสกุล. (2563). ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยกับสิทธิมนุษยชน : ความเปราะบางของสังคมในสถานการณ์ปัจจุบัน. http://ucl.or.th/?p=3472
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น