พยายามเป็นตัวตนที่ไร้กังวล (Nonanxious Presence) เพื่อพัฒนาการที่ดีของลูก

"การที่พวกเขาเลือกที่จะบอกความจริง ละเลยการทำเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำให้ทั้งครอบครัวเข้ากันได้"

            หนึ่งในคติประจำใจของผมที่เป็นแรงบัลดาลใจในการดำเนินชีวิตคือ "fake it ti make it" แปลว่าแสร้งทำจนเป็นจริง เพราะผมเชื่อว่าหลายครั้งจิตใจของเราก็ไหลไปตามพฤติกรรมที่เราแสดงออกมา บางครั้งเรายิ้มก็สามารถกระตุ้นให้สมองคิดว่าเรามีความสุขได้ แต่แน่นอนมันไม่ใช่ทุกสถานการณ์เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะหลอกจิตใจของเราเองได้ 

            ผมเห็นผู้คนมากมายที่คิดว่าตัวเองเป็นคนดีแต่จริง ๆ แล้วแสดงพฤติกรรมที่เลวร้ายออกมา ผลที่ได้ก็คือวิถีการดำเนินชีวิตของเขามันแหลกแหลวตามไปด้วย ซึ่งทำให้ตามมาด้วยปัญหามากมาย ดังนั้นพฤติกรรมที่เราแสดงออกกับผู้อื่นล้วนสำคัญและหล่อหลอมให้เราเป็นเราในทุกวันนี้ 

            โดยเฉพาะวันหนึ่งที่เรามีลูก เขาจะสังเกตทุกการแสดงออกที่เรากระทำมากกว่าที่เราคิดเอาไว้ หากพ่อแม่มีความสุข ลูกก็จะมีความสุขไปด้วย และจะซึมซับบรรยากาศดี ๆ เหล่านั้นเอาไว้ตลอดชีวิต เช่นเดียวกันหากพ่อแม่เศร้า ทะเลาะ โกรธต่อกันและกันลูกก็จะซึมซับบรรยากาศ สีหน้า ท่าทางการแสดงออกเอาไว้แล้วบันทึกเอาไว้ในสมองลอดชีวิตด้วย

            ความกังวลและความเครียดก็เช่นเดียวกัน แม้มันจะไม่ได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความสัมพันธ์มากเท่าอารมณ์เชิงลบอื่น ๆ  แต่ความกังวลและความเครียดค่อนข้างมีผลต่อพัฒนาการของลูก เพราะมันสามารถถ่ายทอดสู่ลูกได้ เด็ก ๆ ไม่ต้องการพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ แต่เด็กจะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งจากพ่อแม่ที่สามารถเป็นตัวตนที่ไร้กังวล (Nonanxious Presence) ของพวกเขา

            ผู้อ่านอาจจะมีคำถามว่า "แม้ฉันจะกังวลแต่ฉันก็สามารถเก็บมันไม่แสดงออกมาได้" แต่จริง ๆ แล้วเราไม่สามารถปิดมันได้หรอกครับ โดยเฉพาะต่อหน้าลูก นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านอารมณ์ พอล เอกแมน (Paul Ekman) ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อระบุและรวบรวมสีหน้านับพันรูปแบบจากผู้คนทั่วทุกมุมโลก แม้ว่าจะมีสีหน้าหลายรูปแบบที่เราจงใจแสดงออกให้ผู้อื่นรับรู้ แต่เรายังมีระบบการแสดงออกที่ส่งสัญญาณความรู้สึกของเราออกไปไม่ว่าจะอยากให้ใครรับรู้หรือไม่ก็ตาม

ความกังวลและความเครียดค่อนข้างมีผลต่อพัฒนาการของลูก เพราะมันสามารถถ่ายทอดสู่ลูกได้

            มัลคอล์ม แกลดเวลล์ (Malcolm Gladwell) นักเขียนชื่อดังได้เคยสัมภาษณ์เอกแมนเกี่ยวกับเรื่องการแสดงออกทางสีหน้าโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเอกแมนอธิบายว่า "คุณต้องเคยถูกทักเรื่องสีหน้าที่คุณทำแบบไม่รู้ตัว... บางคนอาจถามคุณว่า 'คุณไม่พอใจอะไร' หรือ 'ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ไปทำไม" 

            เอกแมนชี้ให้เห็นสิ่งที่เรารู้กันอยู่แล้ว คือแม้ว่าเราจะได้ยินเสียงของตัวเองแต่เรามองไม่เห็นใบหน้าของตัวเอง "ถ้าเรารู้ตัวว่าเผลอแสดงอะไรทางสีหน้า" เขาบอก "เราคงปกปิดมันได้ดีขึ้น" นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เด็ก ๆ เห็นสิ่งที่เราแสดงออกแม้ว่าเราจะไม่อยากให้เขาเห็นก็ตาม ไม่เพียงแค่นั้นเด็ก ๆ ยังลอกเลียนแบบความรู้สึกนั้น ทำให้เขารู้สึกตามเราไปด้วย

            เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเพราะเด็กมักจะตีความสิ่งที่เห็นได้ไม่ดี ดังนั้นขณะที่ผู้ใหญ่เริ่มรู้สึกหงุดหงิด โมโห หรือโกรธ เด็กแทบจะทั้งหมดจะตีความว่า "เขาโมโหฉัน" ซึ่งมันจะยิ่งทำให้ทุกอย่างแย่ลงไปกว่าเดิม เพราะกว่าที่เขาจะสามารถตีความได้อย่างมีเหตุผล และสามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้อย่างเหมาะสม ก็เมื่อเขาเติบโตขึ้นไปแล้วซึ่งมันไม่ทันกาลเอาเสียเลย

            ในหนังสือ The Self-Driven Child: The Science and Sense of Giving Your Kids More Control Over Their Lives หนึ่งในผู้เขียน เน็ด จอห์นสัน (Ned Johnson) ได้เล่าถึงลูกศิษย์ของเขาคนหนึ่งที่แม่ป่วยเป็นมะเร็ง พ่อกับแม่อยากให้เน็ดรู้เพราะไอเซลูกสาววัย 16 ปีของพวกเขาซึ่งอารมณ์แปรปรวนอยู่แล้วมีแนวโน้มว่าจะมีคนมาดูแลน้อยลง เพราะแม่ต้องเข้ารับการรักษา ส่วนพ่อต้องดูแลแม่กับน้องสาวของไอเซ และทำหน้าที่แทนแม่ระหว่างนี้ และพวกเขาไม่อยากให้เน็ดบอกกับไอเซ เนื่องจากพวกเขาไม่อยากให้ลูกสาวคนนี้คิดมาก

            แต่เน็ดได้บอกกับพ่อแม่เกี่ยวกับ การที่ไอเซสามารถรับรู้ถึงความกังวลของสมาชิกครอบครัวได้ เธออ่านสีหน้าของพ่อแม่มาทั้งชีวิต มันเป็นเขตแดนที่เธอรู้จักทุกซอกทุกมุม เธอจะไม่สังเหตุเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ได้อย่างไร เพราะมันช่างผิดปกติเสียเหลือเกิน เมื่อไอเซคิดว่ามีบางอย่างผิดปกติแต่พ่อแม่บอกว่าไม่มี ทำให้เธอคิดว่า "พ่อแม่จะหย่ากันหรือเปล่า" หรือ "พวกเขาโกรธฉันหรือเปล่า" 

            ในท้ายที่สุดพ่อแม่ก็บอกไอเซเรื่องอาการป่วย ซึ่งการรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นและได้ทำความเข้าใจขั้นตอนการรักษาช่วยคลายความกังวลและความสงสัยของไอเซ ทำให้เธอสามารถทำประโยชน์ให้กับครอบครัวได้ เธอช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านและไปส่งน้องสาวเล่นฟุตบอลตอนที่พ่อแม่ไม่ว่าง โรคมะเร็งยังคงน่ากลัวแม้จะอยู่ในช่วงสงบก็ตาม แต่มันก็จะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขาตลอดไป เป็นความแน่นอนที่ไม่มีวันลบเลื่อนได้

            "แต่ความเข้าใจและความซื่อสัตย์จะประคองพวกเขาเอาไว้ การที่พวกเขาเลือกที่จะบอกความจริง ละเลยการทำเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรือละเลยที่จะโกหกกับลูก ทำให้ทั้งครอบครัวเข้ากันได้ในระดับที่เหนือกว่าการแสดงออกทั่วไป" เน็ด จอห์นสัน กล่าว

            ในทางการแพทย์อธิบายว่า ในสมองส่วนคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า มีเซลล์ประสาทกระจกเงา (Mirror Neuron) ซึ่งทำงานเหมือนกับชื่อมัน เซลล์นี้จะเลียนแบบสิ่งที่เราเห็น บุคคลที่บกพร่องในเซลล์ส่วนนี้ก็จะทำให้มีความเห็นอกเห็นใจหรือความเข้าใจคนอื่นที่น้อยกว่าระดับทั่วไป ซึ่งในหนังสือ The Self-Driven Child ได้อธิบายว่าผู้ป่วยออทิสติกมีความบกพร่องที่เซลล์ดังกล่าว ทำให้มีปัญหาในการเลียนแบบหรือเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว

            แต่ก็มีนักวิชาการหลายคนถกเถียงว่าบางทีเซลล์ส่วนนี้อาจจะไม่มีจริง หนึ่งในนั้นคือ อลิสัน ก็อปนิค (Alison Gopnik) เธอเป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและปรัชญา เธอเป็นที่รู้จักจากผลงานในด้านการพัฒนาความรู้ความเข้าใจและภาษา ก็อปนิคมองว่าสัญชาตญาณที่ว่าเราเชื่อมโยงกับคนอื่นอย่างลึกซึ้งและเป็นพิเศษมีอยู่จริง แต่เกิดจากการทำงานที่ซับซ้อนของเซลล์ประสาทหลายจุดในสมอง ซึ่งมันไม่ได้หมายความว่าเป็นเพราะเซลล์กระจกเงาเพียงส่วนเดียว

            อย่างไรก็ตามแม้เซลล์ดังกล่าวจะมีหรือไม่มีจริงก็ไม่สำคัญ เพราะพฤติกรรมในการเลียนแบบ และรับรู้อารมณ์ของผู้อื่น รวมไปถึงการตีความที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของลูกได้รับการยอมรับ และเป็นกระบวนการสำคัญต่อพัฒนาการตลอดชีวิตของลูก เขาจะเติบโตไปมีปมด้อย มีบาดแผลทางจิตใจ (Trauma) หรือจะเติบโตขึ้นไปเป็นบุคคลที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่เหมาะสมก็ด้วยการแสดงออกของพ่อแม่นี้แหละครับ

            ดังนั้นพ่อแม่ควรจะพยายามเป็นตัวตนที่ไร้กังวลเพื่อลดความเครียดและความกังวลจากการสังเกตและตีความไปเองของลูก ผู้อ่านจะเห็นว่าผมใช้คำว่าความพยายาม ก็เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ยากอย่างมากที่จะไม่กังวล นอกจากนั้นเราควรจะอธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงเสมอ ไม่ว่าครอบครัวกำลังจะเผชิญเรื่องอะไรก็ตาม 

ความจริงแม้จะเจ็บปวดแต่มันก็ดีกว่าที่ลูกของเราจะต้องใช้ชีวิตด้วยความความเครียด กังวล กับสิ่งที่ตนเองไม่รู้

อ้างอิง

Gladwell, M. (2019). Talking to Strangers: What We Should Know about the People We Don't Know. UK: Confer Books.

Gopnik, A. (2007). What the myth of mirror neurons gets wrong about the human brain. https://www.slate.com/articles/life/brains/2007/04/cells_that_read_minds.html

Stixrud, W., & Johnson, N. (2018). The Self-Driven Child: The Science and Sense of Giving Your Kids More Control Over Their Lives. NY: Viking.

ความคิดเห็น