เสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement) อย่างไรให้มีประสิทธิผลมากที่สุด

เราจะต้องเข้าใจลักษณะเชิงลึกของบุคคลที่เราต้องการจะเสริมแรงเสียก่อน

            อันดับแรกก่อนที่ผมจะอธิบายว่าจะเสริมแรงทางบวกอย่างไรให้มีประสิทธิผลมากที่สุด ผมขออธิบายเกี่ยวกับการเสริมแรงทางบวกเสียก่อน กระบวนการนี้เป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีการวางเงื่อนไขด้วยการกระทำ (Operant Conditioning Theory) ของนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เบอร์ฮัส สกินเนอร์ (Burhus Skinner) หรือที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในชื่อ บี เอฟ สกินเนอร์ (B.F. Skinner)  

            เขาเป็นนักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยมที่เชื่อว่า "ถ้าคุณให้รางวัลหรือลงโทษอย่างเหมาะสม คุณจะสามารถทำให้ผู้อื่นเกิดพฤติกรรมตามที่ต้องการได้" สกินเนอร์ให้ความสนใจกับผลกรรมสองประเภท ได้แก่ ผลกรรมที่เป็นตัวเสริมแรง (Reinforcement) ที่ทำให้พฤติกรรมที่บุคคลกระทำอยู่มีอัตราเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลกรรมที่เป็นตัวลงโทษ (Punishment) ที่ทำให้พฤติกรรมที่บุคคลกระทำลดลงหรือยุติลง 

            กล่าวคือ หากเราต้องการให้พฤติกรรมอะไรก็ตามดำเนินต่อไปหรือมีอัตราที่เพิ่มมากขึ้น เราสามารถใช้การเสริมแรง ยกตัวอย่างเช่น ทำให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นในชั้นเรียนมากขึ้น โดยการชมเชยว่า "เป็นความคิดเห็นที่ยอดเยี่ยมมาก พยายามได้ดีมากเลย" ก็จะทำให้นักเรียนคนนั้นแสดงความคิดเห็นมากขึ้น เพราะใคร ๆ ก็ชอบการชมเชยด้วยกันทั้งนั้น

            หรือหากอยากให้นักเรียนคนหนึ่งที่ชอบพูดคำหยาบในชั้นเรียนยุติการพูดคำหยาบ ก็สามารถใช้การลงโทษโดยการตักเตือนได้เช่นกัน หัวใจสำคัญของทฤษฎีนี้คือ พฤติกรรมของบุคคลเป็นผลพวงมาจากปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมสามารถเปลี่ยนแปลงได้เนื่องจากผลกรรมที่เกิดขึ้น หากเราสามารถเปลี่ยนแปลงผลกรรมที่เกิดขึ้น ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ 

            ในบทความนี้ผมให้ความสำคัญไปที่การเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement) ซึ่งเป็นกลยุทธิ์ที่ใช้กันอย่างกว้างขวางทั่วโลก และทั่วทุกวงการ ยกตัวอย่างเช่น การให้คำชมกับนักเรียน พนักงาน ลูก หรือสัตว์เลี้ยง หรือในกรณีการให้รางวัลอย่างอื่น เช่น อาหาร สิ่งของ หรือเบี้ยอรรถกร (Token Economy) เช่น ดาว แต้มคะแนน หรือการติ๊กถูก (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ตั้ง) หัวใจของเบี้ยอรรถกรก็คือการสะสมอะไรก็ตามเพื่อนำไปแลกบางสิ่งบางอย่างตามเงื่อนไขที่ตั้งเอาไว้

            อย่างไรก็ตามผู้ที่ต้องใช้การเสริมแรงทางบวกบ่อย ๆ มักจะพบว่ามันไม่ได้ผลในทุกกรณี โดยเฉพาะในวงการการศึกษา ไม่ใช่นักเรียนทุกคนที่มีอัตราการแสดงพฤติกรรมบางอย่างเพิ่มมากขึ้น หากได้รับคำชม หรือเบี้ยอรรถกร ยกตัวอย่างเช่น เจมส์ตอบสนองต่อคำชมในทางที่ดี แสดงพฤติกรรมการมีส่วนร่วมกับการเรียนมากขึ้น ในขณะที่เจสันไม่ว่าจะได้รับคำชมเท่าไหร่อัตราพฤติกรรมการมีส่วนร่วมกลับไม่เพิ่มขึ้นในทางตรงกันข้ามกลับน้อยลงด้วยซ้ำ

ไม่ใช่นักเรียนทุกคนที่มีอัตราการแสดงพฤติกรรมบางอย่างมากขึ้นเมื่อได้รับการเสริมแรงทางบวก

            นี่คือตัวอย่างที่ครู/อาจารย์มักจะพบเห็นได้ทั่วไป เพราะจริง ๆ แล้วการเสริมแรงทางบวกกับมนุษย์ค่อนข้างมีความซับซ้อนมากกว่าสัตว์ประเภทอื่น ๆ อย่างนกพิราบ แมว หรือสุนัข มนุษย์มีกระบวนการคิดที่ซับซ้อนและมีความแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็น พื้นฐานครอบครัว พันธุกรรม การศึกษา สภาพแวดล้อม สภาพสังคมและเศรษฐกิจ รวมไปถึงนิสัยใจคอและประสบการณ์ในอดีต

            โดยเฉพาะประสบการณ์ในอดีตเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากสำหรับกลยุทธิ์การเสริมแรงทางบวก ในหนังสือ What Happened to You? นายแพทย์บรูซ เพอร์รี่ (Bruce Perry, M.D., Ph.D) ได้เล่าถึงกลอเรียที่ถูกนำตัวมาจากครอบครัวตอนที่เธออายุหกขวบเพื่อเข้าระบบคุ้มครองเด็ก เธอย้ายบ้านอุปการะหลังแล้วหลังเล่า โรงเรียนแล้วโรงเรียนเล่า ชุมชนแล้วชุมชนเล่า 

            กลอเรียมีปัญหาด้านสุขภาพ อารมณ์ และสังคมที่สลับซับซ้อนอันเนื่องมาจากบาดแผลทางจิตใจมากมาย โชคร้ายที่เธอไม่ได้เจอกับนักบำบัด ผู้ดูแลบ้านอุปการะ หรือนักสังคมสงเคราะห์ ผู้พิพากษา และคุณครูที่ดีมากพอ จนกระทั่งเธออายุได้สิบแปดซึ่งเกินเกณฑ์ของระบบคุ้มครองเด็กแล้ว กลอเรียยังได้หันไปใช้ยาเสพติดหลายชนิดเพื่อเยียวยาตัวเองจากความเจ็บปวด 

            สุดท้ายเธอตั้งท้องและด้วยความที่เธอไม่มีงานทำ ไม่มีที่อยู่ ลูกสาวตัวน้อยของเธอชื่อทิวลี่จึงต้องเข้าระบบคุ้มครองเด็ก โชคยังดีที่ทิลลี่ถูกส่งตัวมาไว้กับมาม่าพี เธอคอยช่วยเหลือทั้งกลอเรียและทิลลี่ มาม่าพีตระหนักว่ากลอเรียเองก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลให้ความปลอดภัยมั่นคงพอ ๆ กับลูกสาวของเธอทิวลี่ เพราะกรอเลียยังคงเป็นเด็กน้อยที่ขาดความรัก

            ในครั้งหนึ่งที่กลอเรียและทิ่วลี่เล่นอยู่ด้วยกัน กลอเรียล้วงมือเข้าไปในกระเป๋าแล้วหยิบลูกกวาดออกมา นักสังคมสงเคราะห์นั่งตัวเกร็งขึ้นมาทันที เพราะทิลลี่มีภาวะก่อนเบาหวาน อันเนื่องมาจากกลอเรียมักจะใช้ลูกกวาดเพื่อทำให้ทิลลี่ "มีความสุข" เหตุผลที่กลอเรียเลือกใช้ลูกกวาดก็เพราะว่า นี่คือวิธีเบื้องต้นที่ผู้อุปการะของกลอเรียเคยใช้กับเธอเมื่อตอนเธอยังเด็ก

            ดังนั้นสำหรับกลอเรีย การได้ลูกกวาดจึงใกล้เคียงที่สุดกับการได้รับความรักมากที่สุด สมองคนเราพัฒนาขึ้นเหมือนเป็นภาพสะท้อนโลกที่เราเติบโตขึ้นมา เรารักคนอื่นด้วยวิธีเดียวกับที่เราได้รับความรักมา กลอเรียจึงเพียงแค่แสดงความรักต่อลูกสาวของเธอด้วยวิธีที่ดีที่สุดที่เธอรู้มา โชคดีที่นายแพทย์เพอร์รี่เข้าใจเรื่องนี้จึงแนะนำให้กลอเรียให้เฉพาะลูกกวาดไร้น้ำตาลเท่านั้น

            วิธีนี้ค่อนข้างได้ผลเพราะทิวลี่รู้สึกได้ความรักจากแม่ในตอนที่เธอได้ลูกกวาด มาม่าพีอธิบายว่า "แม่ผู้น่าสงสารคนนี้กำลังพยายามอย่างดีที่สุดที่เธอทำได้ เพราะนั่นคือทั้งหมดที่เธอรู้ คุณไม่มีทางทำให้เธอเป็นแม่ที่ดีขึ้นโดยการลงโทษหรือทำให้เธออาย ถ้าพวกเราอยากให้เธอเป็นแม่ที่แสดงความรักได้ดีกว่านี้ พวกเราเองก็จะต้องรักเธอให้มากกว่านี้"

            คำถามก็คือหากนักสังคมสงเคราะห์อยากให้กลอเรียเปลี่ยนวิธีการแสดงความรักด้วยวิธีอื่น ทิลลี่จะรับรู้ถึงความรักได้หรือไม่ นายแพทย์เพอร์รี่อธิบายว่ามันจะไม่ได้ผล เพราะกลอเรียรู้จักเพียงวิธีเดียว และทิวลี่ก็ได้รับความรักจากแม่ด้วยวิธีเดียวเช่นกัน ดังนั้นวิธีนี้จึงได้ผลแต่จะต้องเปลี่ยนเป็นลูกกวาดไร้น้ำตาลแทนเพื่อสุขภาพของทิวลี่

            เหตุผลที่ผมยกเรื่องราวของกลอเรียและทิ่วลี่ขึ้นมาก็เนื่องมาจาก การเสริมแรงทางบวกที่มีประสิทธิภาพจะต้องคำนึงถึงลักษณะเฉพาะตัวบุคคลแต่ละคน เราไม่สามารถใช้คำชมแบบเดียวกันกับบุคคลทุกคนได้ เช่นเดียวกันเราไม่สามารถใช้เบี้ยอรรถกรเป็นสติกเกอร์กับบุคคลทุกคนได้ ดังนั้นเราจะต้องเข้าใจลักษณะเชิงลึกของบุคคลที่เราต้องการจะเสริมแรงเสียก่อน

            ถ้าทิวลี่รู้สึกได้รับความรักจากแม่เมื่อได้ลูกกวาด หากเราให้ลูกกวาดเป็นตัวเสริมแรงก็จะได้ประสิทธิภาพสูงที่สุด มากกว่าสิ่งอื่น ๆ หรือในกรณีที่เด็กบางคนต้องการได้รับการยอมรับ การสนับสนุนโดยการใช้คำชมเรื่องการเรียนก็จะได้ผลมากกว่าลูกกวาด ในขณะเดียวกันการให้ลูกกวาดหรือคำชมเรื่องการเรียนอาจจะไม่ได้ผลกับเด็กมัธยมเทียบเท่ากับ การชมที่ความสามารถพิเศษหรือสิ่งที่เขาภูมิใจเป็นพิเศษ

            ดังนั้น ครู/อาจารย์ พ่อแม่ หรือนักจิตบำบัดที่อยากใช้การเสริมแรงทางบวกอย่างมีประสิทธิผลมากที่สุด จำเป็นจะต้องเข้าใจลักษณะ บุคลิกภาพเฉพาะตัวของกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการเสริมแรง ว่าเขาต้องการอะไร ภูมิใจกับอะไร ชอบอะไร มีความสุขกับอะไรมากที่สุด หากเราสามารถตอบสนองได้ตรงจุดก็จะสามารถทำให้พฤติกรรมที่ดีมีอัตราที่สูงมากขึ้น 

และยังส่งผลต่อพัฒนาการในภาพรวมต่อไปอีกด้วย

อ้างอิง

Perry, B., & Winfrey, O. (2021). What Happened to You?: Conversations on Trauma, Resilience, and Healing. NY: Flatiron Books: An Oprah Book.

คาลอส บุญสุภา. (2564). การเสริมแรงและการลงโทษ (B.F.Skinner). https://sircr.blogspot.com/2021/05/bfskinner.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). รูปแบบการเสริมแรง (Reinforcement). https://sircr.blogspot.com/2021/05/reinforcement.html

ความคิดเห็น