มนุษย์เราแต่ละคนมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียด (Stress) ที่แตกต่างกัน

"จู่ ๆ ก็มีเสียงปืนดังขึ้นมาจากชายป่ารอบ ๆ ค่อยพอดี ผู้คนมากมายหน้ามืดเป็นลมล้มลงไปตรงนั้นเลย"

            เรารู้กันดีว่ามนุษย์ทุกคนมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ชีวิต รสนิยม นิสัยใจคอ รูปแบบการดำเนินชีวิต สิ่งนี้ทำให้เราแสดงพฤติกรรมแตกต่างกันออกไป บางคนเศร้าอาจจะไม่ร้องไห้ออกมา แต่สำหรับบางคนอาจจะร้องไห้ฟูมฟาย บางคนกลัวก็จะพูดสิ่งนั้นออกมาเลย ในขณะที่บางคนอาจเก็บมันเอาไว้ กล่าวคือ เรามีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่แตกต่างกันออกไป

            ความเครียดก็เป็นอารมณ์เช่นเดียวกัน แต่เป็นอารมณ์ที่ค่อนข้างมีความซับซ้อน เพราะเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ และแต่ละคนอาจะตอบสนองแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง บางคนอาจจะยืนนิ่งตัวแข็ง บางคนร้องตะโกนออกมา บางคนอาจจะเฉยเมย แต่ในขณะที่บางคนอาจจะเป็นลมหมดสติ ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือการตอบสนองต่อความเครียดบางของเราเกิดจากกลไกป้องกันตัวเอง (Defense Mechanisms)

            หากพูดถึงความเครียด โรคหนึ่งที่หลายคนอาจจะคุ้นหูกันบ้างแล้วคือ PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) เป็นความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ เมื่อพบกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือเป็นญาติใกล้ชิดกับผู้ประสบเหตุและได้รับรู้ข้อมูลของสิ่งที่เกิดขึ้นจนเกิดความเครียด และแสดงพฤติกรรมบางอย่างที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตตามมา 

            หากเรามีภาวะ PTSD เราจะถูกกระตุ้นขึ้นมาในชั่วขณะนั้น เพราะความทรงจำ เรื่องเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลทางใจได้ถูกปลุกขึ้นมา และการตอบสนองของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป เนื่องจากปฏิกิริยาของ PTSD เกิดขึ้นจากกลไกป้องกันตัวเองอย่างที่ผมกล่าวเอาไว้ข้างต้น และเป็นไปตามสัดส่วนโดยตรงกับผลกระทบที่เหตุการณ์นั้นมีต่อเรามาตั้งแต่แรก

            ในหนังสือ What Happened to You? เขียนโดย นายแพทย์บรูซ เพอร์รี่ (Bruce Perry, M.D., Ph.D) และโอปราห์ วินฟรีย์ (Oprah Winfrey) ได้อธิบายเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างความทรงจำและการตอบสนองต่อความเครียด ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยบางคนของนายแพทย์บรูซ เพอร์รี่ (หนึ่งในผู้เขียน) ที่เคยรบในสงครามเกาหลีตอบสนองต่อเสียงดังคล้าย ๆ ปืนโดยการก้มหมอบและหาที่กำบัง 

PTSD คือ ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ เมื่อพบกับเหตุการณ์ความรุนแรง

            แต่ผู้ป่วยอีกคนหนึ่งกลับตอบสนองต่อเสียงดังแบบปืนแตกต่างออกไป เธอชื่อว่าบิซา เธอเป็นเด็กสาวผู้อพยพจากโซมาเลีย ผู้ใช้ชีวิตผ่านสงครามชนเผ่าที่แสนโหดร้ายทารุณ เธอเฝ้าดูโดยช่วยอะไรไม่ได้เลยตอนน้องชายของเธอถูกบังคับให้ยิงพ่อแม่ของตัวเอง และยังมีบาดแผนทางใจอีกมากมายตามมาก่อนที่เธอจะหนีไปแคนาดาได้สำเร็จ 

            นายแพทย์เพอร์รี่เล่าว่า "สำหรับบิซา เสียงปืนได้กลายเป็นสิ่งเตือนใจเหมือนผู้ป่วย PTSD คนอื่นแต่ขณะที่มันเป็นการกระตุ้นการตอบสนองแบบตื่นตัวของผู้อื่น มันกลับทำให้สมองของบิซาปิดการทำงานและแยกตัวออกมาในทันที เพราะบาดแผลทางใจของเธอประกอบด้วยชั่วขณะของความเจ็บปวดที่หนีไม่ได้และเกินทานทนไหว"

            บิซาตอบสนองโดยการหนีเข้าไปภายในตัวเอง ซึ่งเป็นสมองส่วนสัญชาตญาณที่เรียกว่า ก้านสมอง เป็นรูปแบบการปรับตัวอย่างหนึ่งเมื่อเผชิญกับความเครียดที่รุนแรง และสะสมในระยะเวลายาวนาน อัตราการเต้นของหัวใจจะลดลงจนกระทั่งเธอเป็นลมล้มพับไป กล่าวคือ เมื่อเธอได้ยินเสียงดัง ๆ โดยไม่ทันตั้งตัว ความคิดเชื่อมโยงกับเสียงปืนก็จะทำให้เธอเป็นลมหมดสติไปเลยจริง ๆ 

            ก้านสมองเป็นสมองส่วนล่างสุดที่กำกับอุณหภูมิร่างกาย การหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ และอื่น ๆ แต่สมองส่วนนี้ไม่มีโครงข่ายที่ใช้ความคิดได้เลย มีการเรียกสมองส่วนนี้ว่าสมองของ "สัตว์เลื้อยคลาน" เช่น กิ่งก่า พวกมันไม่มีการวางแผนหรือครุ่นคิดอะไรทั้งนั้น พวกมันมีชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในชั่วขณะนั้นและแสดงปฏิกิริยาออกไป

            กล่าวคือ การตอบสนองของคนที่เผชิญกับความเครียดอย่างรุนแรงและยาวนานจะตอบสนองทันทีผ่านก้านสมอง โดยที่ยังไม่ได้ส่งสัญญาณไปไม่ถึงคอร์เท็กซ์เลยด้วยซ้ำ จึงทำให้เราไม่สามารถใช้กระบวนการคิดหรือสติเพื่อควบคุมตัวเองได้เลย

            คอร์เท็กซ์ เป็นสมองที่อยู่ส่วนเปลือกมีเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น สมองส่วนนี้ทำให้พวกเราสามารถประดิษฐ์คิดค้น สร้างสรรค์ วางแผน และบอกเวลาได้ ในทางกลับกันหากกระแสประสาทยังส่งไปไม่ถึงคอร์เท็กซ์ สมองส่วนล่าง ๆ ก็จะทำงานโดยอัตโนมัติ ในกรณีของบิซาคือการสตอบสนองทันทีผ่านก้านสมอง จึงทำให้เธอหมดสติล้มลง 

            "เพื่อนร่วมงานของผมคนหนึ่งเป็นช่างภาพข่าว" นายแพทย์เพอร์รี่เล่า " เขาได้เข้าไปในค่ายอพยพแห่งแรก ๆ ที่สร้างเป็นที่พักให้แก่เหยื่อสงครามกลางเมืองรวันดา ที่นั่นมีผู้คนเดินไปเดินมาเหมือนซอมบี้ ไม่แสดงสีหน้า ไม่พูดจา จนเมื่อเพื่อนผมถามขึ้นมาว่าทำไมพวกเขาบางคนจึงสวมหมวกเหล็กไว้ 

            "จู่ ๆ ก็มีเสียงปืนดังขึ้นมาจากชายป่ารอบ ๆ ค่ายพอดี ผู้คนมากมายหน้ามืดเป็นลมล้มลงไปตรงนั้นเลย เพื่อนผมจึงเข้าใจว่าที่พวกเขาสวมหมวกเล็กเอาไว้ก็เพื่อจะได้ไม่บาดเจ็บที่ศรีษะเมื่อแต่ละคนเป็นลมล้มลงไปนั้นเอง" นายแพทย์เพอร์รี่ เรียกสิ่งนี้ว่า "การตอบสนองแบบแยกตัวมากเกินไป" 

            การตอบสนองแบบแยกตัวเป็นสภาวะทั่วไปที่เราทุกคนก็สามารถเป็นได้ หากเราเผชิญกับความเครียดในระดับไม่รุนแรงมากนัก เราอาจจะใช้วิธี จินตนาการ (ฝันกลางวัน) เพื่อแยกตัวเองออกจากความเครียดนั้นชั่วคราว หรือหากเผชิญกับความเครียดที่มากขึ้นไปอีกเราอาจจะ พยายามหลีกเลี่ยงหรือปล่อยเลยตามเลยตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

            ในขณะที่บางคนอาจเคยเผชิญกับความเครียดสะสมที่รุนแรงจนเป็น PTSD เขาอาจจะตอบสนองต่อความเครียดโดยการตัวแข็งทื่อ เป็นอัมพาตชั่วขณะ ไปจนถึงกับเป็นลมล้มพับไปจริง ๆ ดังตัวอย่างเรื่องราวของบิซา และเหยื่อสงครามกลางเมืองรวันดา 

            ที่น่าเป็นห่วงก็คือในปัจจุบันเด็กแต่ละคนเผชิญกับความเครียดสะสมในปริมาณที่มากขึ้น ความกดดัน การแข่งขัน การเปรียบเทียบ และอื่น ๆ อีกมากมายทำให้ พวกเขาเสี่ยงที่จะมีบาดแผลทางจิตใจ เพราะการจะมีบาดแผลทางจิตใจมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเหตุการณ์นั้น แต่มันขึ้นอยู่กับการตีความต่อเหตุการณ์นั้นว่ามันรุนแรงแค่ไหน

            การพัฒนาให้เด็กมีความยืดหยุ่นทางด้านจิตใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ เราสามารถสร้างกรอบความคิดแบบเติบโตที่มองว่าความเครียดเป็นเรื่องธรรมดา เราสามารถพัฒนาตนเอง สามารถเข้มแข็ง และเอาชนะอุปสรรคหรือความเครียดนั้นได้ พร้อมไปกับการสร้างให้ชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละครอบครัวดีมากขึ้น มีการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตของคนในชุมชน 

ก็สามารถสร้างรากฐานที่เข้มแข็งเพื่อให้เด็ก ๆ พร้อมที่จะรับมือกับอุปสรรคในชีวิตที่กำลังจะเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

อ้างอิง

Perry, B., & Winfrey, O. (2021). What Happened to You?: Conversations on Trauma, Resilience, and Healing. NY: Flatiron Books: An Oprah Book.

ชนม์นิภา แก้วพูลศรี. (2563). เป็นเด็กก็เครียดได้! ทำความรู้จักกับ PTSD โรคทางใจ..หลังประสบภัยรุนแรงในชีวิต. http://surl.li/gjpfz

ความคิดเห็น