สุขภาพจิตที่ดี (Good Mental Health) ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้ที่ดีมากขึ้น

เด็กที่เสียการควบคุมจะเรียนหนังสือไม่รู้เรื่องเลย

            ในอดีตสมัยตอนที่ผมยังเป็นเด็กก็มักพบเพื่อนที่มีปัญหาระหว่างช่วงสอบ บางคนปวดท้องบ้าง บางคนเครียดเกินไปบ้าง กังวลเกินไปบ้างไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียนหรือเรื่องส่วนตัว ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อการสอบทั้งสิ้น ทำให้ผมเริ่มตั้งคำถามว่า "การเรียนรู้ของมนุษย์เราเกี่ยวข้องกับสุขภาพกายและสุขจิตมากน้อยแค่ไหน"

            และเมื่อถึงวันที่ผมเป็นครูก็ได้ค้นพบกรณีนักเรียนหลายคนที่ไม่สามารถเรียนได้เต็มศักยภาพ เนื่องจากมีความกดดัน เครียด ไปจนถึงซึมเศร้ามากเกินไป พวกเขาไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จนส่งผลให้มีสมาธิในการเรียนรู้ไม่มากพอ และทำให้เรียนหรือสอบได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ

            เหตุที่เป็นแบบนี้เนื่องมาจากสมองของเราคอยรับข้อมูลจากร่างกายของเราเมื่อได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้าภายนอกอย่างต่อเนื่อง สัญญาณนำเข้าเหล่านี้ถูกประมวลผลตามลำดับขั้น โดยเริ่มแรกเกิดขึ้นในสมองส่วนล่าง ๆ (ก้านสมองที่ควบคุมประสาทสัมผัส และไดเอนเซฟาลอนที่ใช้ในการควบคุม) การพูดคุยแลกเปลี่ยนด้วยเหตุผลกับคนอื่น กระบวนการจะต้องผ่านส่วนล่าง ๆ เข้าสมอง แล้วนำไปสู่สมองส่วนที่ใช้เหตุผลหรือความคิด (คอร์เท็กซ์)

            แต่ถ้าบางคนมีความเครียด โกรธ หงุดหงิดใจ ซึมเศร้า หรือเสียการควบคุมในแบบอื่น ๆ ก็จะส่งผลให้ข้อมูลนำเข้าลัดวงจร ทำให้ข้อมูลที่จะเข้าไปยังคอร์เท็กช์นั้นถูกบิดเบือน ส่งผลให้เราไม่สามารถควบคุมตัวเองได้เท่าที่ควร และหากไม่มีการควบคุมเลย ก็จะทำให้เราจะเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น ผู้คน การเรียน หรือการสอบได้ยาก 

            เมื่อเรารู้สึกเครียดอย่างรุนแรงกับปัญหาชีวิตอะไรสักอย่าง ความหงุดหงิดใจ ความโกรธ ความกลัวอาจปิดการทำงานส่วนคอร์เท็กซ์ได้ เมื่อบางคนเสียการควบคุมไปแล้ว พวกเขาก็จะไม่สามารถใช้งานส่วนที่ฉลาดที่สุดของสมอง กล่าวคือทุกอย่างเป็นเรื่องของความสามารถในการควบคุมตัวเอง หากเราสามารถควบคุมตัวเองได้ หรือตระหนักว่าตนเองสามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ก็จะทำให้เราสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หากเราสามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ก็จะทำให้เราสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

            ลองพิจารณาในกรณีนักเรียนที่โดนกดดันจากเพื่อนในชั้นเรียน ครูผู้สอนหรือครอบครัวจนไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย เขาหรือเธอคนนั้นย่อมเกิดความเครียดขึ้นมา จากนั้นสมองในส่วนคอร์เท็กช์ก็จะถูกบิดเบือนจนยากที่จะเชื่อมโยงกับสิ่งเร้าภายนอกได้ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เรียนไม่รู้เรื่องไปจนถึงไม่อยากเรียนอีกต่อไปแล้วนั้นเอง

            ในหนังสือ What Happened to You? นายแพทย์บรูซ เพอร์รี่ (Bruce Perry, M.D., Ph.D) ได้เล่าถึงงานวิจัยของตนเอง ที่พูดถึงการเข้าถึงคอร์เท็กซ์ ซึ่งเป็นการเข้าไปในจุดที่เราสามารถสื่อสารด้วยเหตุผลกับคนอื่นได้ ถ้าเราอยู่ในการควบคุม เราจะสามารถเชื่อมสัมพันธ์กับใครก็ตามในแบบที่เอื้อให้เกิดการสื่อสารด้วยเหตุผล แต่ถ้าเขาเสียการควบคุมไม่ว่าเราจะพูดอะไรไปก็จะไม่สามารถเข้าไปถึงคอร์เท็กซ์ของพวกเขาได้เลย 

            ยิ่งเราเป็นครู เรายิ่งจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องนี้เพราะเด็กที่สามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้มากพอจะสามารถเรียนหนังสือได้ แต่เด็กที่เสียการควบคุมจะเรียนหนังสือแทบไม่รู้เรื่องเลย เฉกเช่นเดียวกันกับการดูแลควบคุมคนในที่ทำงานหรือการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน คนรัก ลูก หรือกับใคร ๆ ก็ไม่ต่างกัน 

            "การควบคุม" จึงเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และการเชื่อมโยงสัมพันธ์กันก็เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุดในการส่งข้อมูลเข้าไปสู่คอร์เท็กซ์ ครู ที่ปรึกษา นักบำบัด ทุกคนล้วนต้องใช้ความสัมพันธ์เพื่อเป็นทางเชื่อมตรงไปสู่คอร์เท็กซ์ ซึ่งเป็นสมองที่คิดโดยใช้เหตุผล

            ครั้งหนึ่งนายแพทย์เพอร์รี่ เคยได้รับการขอร้องให้ไปช่วยสัมภาษณ์โจเซฟเด็กชายวัยสามขวบ ผู้เห็นเหตุการณ์การลักพาตัวพี่สาวสิบเอ็ดขวบของตนเอง ในตอนที่เกิดเหตุการณ์ ทั้งสองกำลังวิ่งเล่นอยู่แถวบ้านตอนกลางวันแสก ๆ เมื่อโจเซฟวิ่งกลับเข้าบ้าน ทั้งหมดที่เขาบอกแม่ได้ก็คือ "มีผู้ชายคนหนึ่งจับซิสซี่ไป" แล้วอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมาก็มีคนพบศพของเธอ

            การสัมภาษณ์เด็กอายุสามขวบเป็นความท้าทายในทุก ๆ ด้าน และคุณหมอก็เป็นคนแปลกหน้าอย่างสิ้นเชิงที่เข้ามายุ่งย่ามในช่วงเวลาอันเจ็บปวดนี้ ดังนั้นเขาจึงขอให้คุณแม่ของโจเซฟส่งสัญญาณการยอมรับและความคุ้นเคยเมื่อคุณหมออยู่ใกล้ ๆ โจเซฟก็จะรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นเมื่ออยู่กับเขา นายแพทย์เพอร์รี่ เปรียบเปรยได้อย่างน่าสนใจว่า "นี่คือคำอธิบายของประโยคที่ว่า เพื่อนคุณก็เหมือนเพื่อนผม ในเวอร์ชันของสมอง"

            อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยสร้างความรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่กับอีกคนหนึ่ง คือการมีประสบการณ์เชิงบวกกับบุคคลนั้นในอดีต ยิ่งเราได้ใช้เวลาดี ๆ กับคนบางคน สมองของเราก็จะยิ่งจัดประเภทคนคนนั้นว่าปลอดภัยและคุ้นเคย นี่คือเหตุผลว่าทำไมการบำบัดจึงมักจะใช้เวลาสิบถึงสี่สิบครั้ง กว่าคนไข้จะเริ่มรู้สึกปลอดภัยมากพอที่จะเล่าประสบการณ์ที่สร้างความทุกข์ทางอารมณ์มากที่สุดของพวกเขาออกมา

            แต่คุณหมอไม่ได้มีเวลามากขนาดนั้นเพื่อให้โจเซฟรู้สึกปลอดภัยกับเขา ดังนั้นแทนที่เขาจะจัดเวลาบำบัดรักษาห้าสิบนาทีเป็นจำนวนสิบครั้งเพื่อให้โจเซฟสร้างชุดความทรงจำเกี่ยวกับคุณหมอในทางบวก คุณหมอเลือกใช้การมีปฏิสัมพันธ์กันห้านาทีเป็นจำนวนสิบหรือสิบสองครั้งแทน คือเขาจะเข้าไปหา เชื่อมโยงกับโจเซฟ อธิบายเรื่องต่าง ๆ แค่ห้านาทีแล้วก็ออกมา แล้วกลับเข้าไปใหม่แทน

            วิธีการนี้ช่วยให้โจเซฟรู้สึกปลอดภัย และคุ้นเคยมากพอที่จะเล่าประสบการณ์เลวร้ายออกมาเพื่อนำไปสู่การจับคุมคนร้ายที่ลักพาตัวพี่สาวของเขาไปฆาตกรรมได้ ดังนั้นความรู้สึกปลอดภัยเป็นสภาพแวดล้อมที่ทำให้เรามีสุขภาพจิตที่ดี เป็นสภาพแวดล้อมที่เราสามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้ เราสามารถควบคุมได้ว่าเราจะหยิบจับอะไรมากิน เราสามารถควบคุมได้ว่าจะพูดหรือจะคุยอะไรกับใครก็ได้ 

            สภาพแวดล้อมแบบนี้แหละครับที่เราต้องการให้เกิดกับนักเรียนของเราทุกคน หากนักเรียนสามารถควบคุมได้ว่าเขาจะพูด สื่อสาร กับครูหรือเพื่อนอย่างไรก็ได้ สามารถนำเสนอความคิดเห็น ปฏิเสธ เจรจาต่อรอง ไปจนถึงเลือกที่จะมีอิสระในกรอบของสิทธิเสรีภาพได้ ก็ย่อมทำให้เขามีสุขภาพจิตที่ดีมากขึ้น 

และสุดท้ายการมีสุขภาพจิตที่ดีนี่แหละที่จะนำมาสู่ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ที่ดีมากขึ้น

อ้างอิง

Perry, B., & Winfrey, O. (2021). What Happened to You?: Conversations on Trauma, Resilience, and Healing. NY: Flatiron Books: An Oprah Book.

ความคิดเห็น