ความยืดหนุ่นทางจิตใจ (Resilience) คือความสามารถหรือทักษะที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน

ความสามารถหรือทักษะในการปรับปรับตัวให้เข้ากับประสบการณ์ชีวิตที่ยากลำบากหรือท้าทายได้สำเร็จ คือ ความยืดหยุ่นทางด้านจิตใจ

            ผู้คนจำนวนมากมักจะบอกอยู่เสมอว่ายุคสมัยนี้เต็มไปด้วยสังคมที่เลวร้าย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการเมือง สังคม หรือเศรษฐกิจ รวมไปถึงปัจจัยแทรกซ้อนอื่น ๆ อีกมากมายที่เข้ามามีอิทธิพลให้เราแสดงพฤติกรรมหลายอย่างอันไม่พึงประสงค์ออกมา และสิ่งเลวร้ายเหล่านั้นก็ทำให้ผู้คนจำนวนมากล้มลงไปกับพื้น หลายคนไม่สามารถลุกขึ้นมา แต่ก็มีอีกหลายคนเช่นกันที่สามารถทำได้

            แล้วผู้คนที่สามารถลุกขึ้นมาได้ เขามีอะไรแตกต่างจากกลุ่มคนที่ไม่สามารถลุกขึ้นมาได้ สิ่งหนึ่งที่เหล่านักวิชาการ นักจิตวิทยา จิตแพทย์ แลนักสุขภาพจิตอีกมากมายคิดเห็นตรงกันก็คือ คนที่สามารถลุกขึ้นมาได้เหล่านั้นมีความยืดหยุ่นทางด้านจิตใจ (Resilienceมากกว่าคนที่ไม่สามารถลุกขึ้นมาได้ 

            ความยืดหยุ่นทางจิตใจ คือความสามารถหรือทักษะในการปรับตัวเมื่อเผชิญประสบการณ์ชีวิตที่ยากลำบากหรือท้าทาย เช่น เหตุการณ์​เลวร้าย บาดแผลทางจิตใจ โศกนาฏกรรม หรือภัยคุกคามอื่น ๆ หากเรามีความยืดหยุ่นทางด้านจิตใจต่อให้เจอสถานการณ์ที่ยากลำบากหรือปัญหาที่มีความซับซ้อนก็จะสามารถฟื้นกลับมาสู่เส้นทางได้อีกครั้งหนึ่ง 

            ปัญหาที่มีความซับซ้อน มีอยู่มากมายขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของบุคคลนั้น ๆ เช่น ปัญหาความสัมพันธ์ ปัญหาครอบครัว ปัญหาด้านสุขภาพ หรือปัญหาด้านการเงิน ความยืดหยุ่นทางจิตใจไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีความสุข ไม่เครียด ไม่ทุกข์ หรือไม่เศร้าเมื่อเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ แต่มันทำให้คนที่กำลังเผชิญปัญหาดังกล่าว กลับเข้าหาสมดุลของชีวิตได้อย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง 

ความยืดหยุ่นทางจิตใจทำให้คนที่กำลังเผชิญกับปัญหากลับเข้าหาสมดุลของชีวิตได้อย่างแข็งแกร่ง

เราสามารถสร้างความยืดหยุ่นทางจิตใจโดยการได้ดังต่อไปนี้ 

            1) เผชิญหน้ากับความจริงหรือยอมรับความจริง เราจะไม่สามารถข้ามผ่านปัญหาไปได้หากเรามัวแต่หลอกตัวเอง และไม่ยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คนบางคนอาจจะโทษคนอื่นไปมา ไม่เคยยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง ซึ่งจะทำให้เรายึดติดกับปัญหานั้นไปตลอด หากเราสามารถยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ก็ย่อมสามารถก้าวไปอีกขึ้นหนึ่งได้ หรือบางคนอาจจะใช้คำว่าให้อภัยตนเองหรือผู้อื่นก็ได้เช่นกัน

            2) ค้นหาความหมายของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหรือค้นหาคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของการเกิดมุมมองเชิงบวก หากเราสามารถมองเห็นความหมายของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็ย่อมสามารถใช้ชีวิตอย่างตระหนักในคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น กล่าวคือทำให้เรารู้สึกมีความหมายมากขึ้น มันจะทำให้เราเข้มแข็งและอดทนได้มากกว่ารู้สึกว่าสิ่งต่าง ๆ ไร้คุณค่าและไม่มีความหมายใด ๆ ทั้งสิ้น

            3) เรียนรู้และทบทวนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราสามารถปรับตัว ค้นหาข้อผิดพลาด ค้นหาสาเหตุสิ่งต่าง ๆ และเผชิญหน้ากับชีวิตอันยากลำบากต่อไปได้ และเราจะต้องไม่ลืมว่าความผิดพลาดหรือล้มเหลวสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ แต่สิ่งสำคัญก็คือการนำบทเรียนที่เกิดขึ้นไปเรียนรู้ เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ผิดพลาดหรือล้มเหลวซ้ำสอง หรืออย่างน้อยก็ไม่ให้ผิดพลาดหรือล้มเหลวในรูปแบบเดิม ๆ

            4) หาแหล่งสนับสนุนจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการที่เรารู้สึกยินดีกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัว และเกิดจากการที่เราวิเคราะห์ว่าตนเองจะข้ามผ่านอุปสรรคหรือปัญหาและยอมรับความทุกข์หรือความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นอย่างไร ดังนั้นหากจะพัฒนาความยืดหยุ่นทางด้านจิตใจนอกเหนือจากการเชื่อในความสามารถสามารถของตนเองแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยอมรับต่อปัญหาหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้น และอาศัยการสนับสนุนจากภายนอกโดยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

            ผมเป็นคนหนึ่งที่ให้คุณค่ากับความสัมพันธ์ภายนอกมาก เพราะหากผู้อ่านลองพิจารณาดูจะพบว่า ความเศร้าของเราสามารถได้รับการเยียวยาจากการมีความสัมพันธ์ที่ดี การระบายความรู้สึกกับผู้อื่น การทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น หรือแม้แต่ครอบครัวก็มีอิทธิพลอย่างมากในการเยียวยาจิตใจ หากเรารู้อยู่เสมอว่ามีคนคอยพาเราลุกขึ้นในวันที่เราล้มลง นั้นหมายความว่าเริ่มมีความยืดหยุ่นทางจิตใจแล้ว

            ในทางกลับกันหากเราตระหนักว่าตนเองไม่มีใคร โดดเดี่ยว ก็ย่อมเป็นเรื่องยากที่เราจะสามารถลุกขึ้นมาได้ เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่พึ่งพาการร่วมมือร่วมใจกันภายในกลุ่ม สังคมจึงเป็นสิ่งมนุษย์ขาดไปไม่ได้ อย่างไรก็ตามผมไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องพึ่งพาคนอื่นเสมอไป แม้สังคมจะเป็นสิ่งที่เราขาดไปไม่ได้ แต่สุดท้ายแล้วเราก็จะต้องเป็นตัวของตัวเองและพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด

            กล่าวคือก่อนที่เราจะขอมือคนอื่นให้ฉุดเราลุกขึ้น เราก็จะต้องพยายามอย่างเต็มที่ก่อนเพื่อลุกขึ้นมาด้วยตัวเอง ซึ่งจะเป็นการง่ายสำหรับคนอื่นอย่างมากที่จะประคองเราขึ้นมา เพราะถ้าหากเราล้มลงไม่ยอมลุกขึ้นมันก็ยากอย่างมากที่คนอื่นจะฉุดเราลึกขึ้นมาได้ นอกจากนั้นเราสามารถอาศัยกลุ่มก้อนทางสังคม คนรอบตัวเองเพื่อช่วยเหลือเราในสิ่งที่เราขาดไป เช่น การทำงานกลุ่ม การทำงานเป็นทีม หรือการระบายและการรับฟังจากหัวใจ 

            ในฐานะครูและนักจิตวิทยาผมเห็นพลังและอิทธิพลของความสัมพันธ์อย่างมาก ผมสังเกตเห็นรูปแบบการโหยหาความสัมพันธ์ของนักเรียนจำนวนมากซึ่งแต่ละคนจะแสดงออกต่างกัน บางคนอาจจะพูดคุยอย่างดี บางคนอาจจะเรียกร้องความสนใจในรูปแบบใดแบบหนึ่งและในหลายครั้งมันก็เป็นวิธีการที่ผลักคนอื่นออกไปอย่างน่าเศร้า

            รูปแบบการเรียกร้องทางสังคมที่ผมพบเจอ คือความพยายามของพวกเขาที่จะลุกขึ้นมาจากสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความกดดัน หากเราสามารถเข้าไปสอนให้เขาเรียนรู้ถึงวิธีที่จะเรียกหาเพื่อนอย่างถูกต้อง หรือสอนทักษะทางสังคมให้กับเขาก็จะมีประโยชน์อย่างมาก ซึ่งผมคิดว่าความยืดหนุ่นทางจิตใจคือตัวแปรหรือความสามารถหนึ่งที่สามารถเข้ามาช่วยในเรื่องดังกล่าวได้

            การสร้างความยืดหยุ่นทางจิตใจที่ผมนำเสนอ จะพบว่านอกจากความสัมพันธ์แล้วเราจำเป็นที่จะต้อง เผชิญหน้ากับความจริงและยอมรับความจริง ค้นหาความหมายของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หรือค้นหาคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ  และเรียนรู้และทบทวนอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อเราตระหนักรู้ในตนเอง ตระหนักรู้ว่าตนเองกำลังรู้สึกอะไร ต้องการอะไร และมีความหมายหรือคุณค่าบนโลกนี้อย่างไรบ้าง

            กล่าวคือมันเป็นปัจจัยภายในที่เข้มแข็งมากทีเดียว อย่างที่ผมได้กล่าวเอาไว้ การที่เราลุกขึ้นได้จำเป็นต้องอาศัยทั้งตัวเองและ ปัจจัยภายนอกอย่างความสัมพันธ์ หากเรามีทั้งสองปัจจัยนี้พร้อมเราก็สามารถลุกขึ้นได้ ไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงในทิศทางไหนก็ตาม เทคโนโลยีเข้าแทรกแซง สงคราม หรือโรคระบาด ก็จะไม่สามารถทำให้เราล้มหายตายจากได้ 

ความยืดหยุ่นทางจิตใจนี้แหละที่จะพาเราลุกขึ้นไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายแค่ไหนก็ตาม

อ้างอิง

คาลอส บุญสุภา. (2564). ทุนทางจิตใจ หรือ ทุนทางจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychological Capital). https://sircr.blogspot.com/2021/06/positive-psychological-capital.html

American Psychological Association. (2014). The road to resilience. http://www.apa.org/helpcenter/road-resilience.aspx

Sandberg, S & Grant, A. (2019). Option B: Facing Adversity, Building Resilience, and Finding Joy. NY: knopf.

ความคิดเห็น