การทดลองของสแตนลีย์ มิลแกรม (Stanley Milgram) อิทธิพลอันเลวร้ายจากผู้มีอำนาจ

"นโยบายผิดมนุษย์มนาเหล่านี้อาจเกิดขึ้นจากความคิดของคนคนเดียว แต่มันจะถูกนำไปปฏิบัติในวงกว้างได้ก็ต่อเมื่อคนจำนวนมากเชื่อฟังคำสั่ง"

            สมัยที่ผมเรียนวิชาจิตวิทยาก็มักจะได้ยินชื่อจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงหลายคนไม่ว่าจะเป็น ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) วิลเลียม เจมส์ (William James) บี เอฟ สกินเนอร์ (B.F. Skinner) อับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow) ฯลฯ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในอดีตมายาวนาน แต่ยังมีนักจิตวิทยาหลายคนที่โด่งดังแต่มีการพูดถึงค่อนข้างน้อย หนึ่งในนั้นคือคนที่ออกแบบหนึ่งในการทดลองที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในโลก

            เขาคนนั้นคือ สแตนลีย์ มิลแกรม (Stanley Milgram) นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกันชื่อดัง เขาได้ศึกษาเกี่ยวกับอิทธิพลของผู้มีอำนาจ ในช่วงทศวรรษที่ 1960 โดยออกแบบการทดลองที่แบ่งคนออกเป็นสองบทบาท ประกอบไปด้วย ผู้สอน และ ผู้เรียน วิธีการดำเนินการค่อนข้างตรงไปตรงมา ผู้สอนจะทำหน้าที่อ่านรายการคู่คำศัพท์และทดสอบกับผู้เรียน

            หากผู้เรียนตอบผิดจะต้องลงโทษโดยการช๊อตไฟฟ้าโดยเพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้นไปเรื่อย ๆ แผงควบคุมการช็อตไฟฟ้ามีสวิตช์เรียงเป็นแถวยาว 30 ตัว แต่ละตัวจะให้แรงช็อตเพิ่มขึ้น 15 โวลต์จากสวิตช์ตัวก่อนหน้า และมีระดับสูงสุดอยู่ที่ 450 โวลต์ ซึ่งมีการแบ่งระดับความรุนแรงออกเป็น เล็กน้อย ปานกลาง ระดับรุนแรงไปจนถึงและอันตราย การช็อตระดับสาหัส ไปจนถึง XXX ที่รุนแรงมากที่สุด (450 โวลต์)

            อย่างไรก็ตามผู้ที่รับบทบาทเป็นผู้เรียนไม่ได้ถูกช็อตจริง ๆ เพียงแต่ผู้ที่รับบทบาทเป็นผู้สอนเชื่อว่าเขา (ผู้เรียน) กำลังถูกช๊อตไฟฟ้าตามระดับความรุนแรงที่สร้างความเจ็บปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละครั้งที่คู่ของพวกเขาตอบผิด หน้าม้าที่อยู่อีกห้องหนึ่งไม่ได้ถูกติดด้วยขั้วไฟฟ้าจะส่งเสียงร้องครวญคราง โอดครวญ และกรีดร้องซึ่งเป็นเสียงที่อัดไว้ล่วงหน้าผ่านระบบอินเตอร์คอม

            ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเพิ่มแรงช็อตจนถึงระดับ 150 โวลต์ ผู้เข้าร่วมการทดลองจะได้ยินเสียงคู่ของเขาโอดครวญว่า "ให้ผมออกไปเถอะ บอกแล้วไงว่าผมมีปัญหาโรคหัวใจ ตอนนี้ก็เริ่มจะออกอาการแล้วด้วย ให้ผมออกไปเถอะนะ ได้โปรด" และข้อความโอดครวญก็จะรุนแรงและดราม่ามากขึ้นเมื่อช็อตในระดับสูงขึ้นไป จนถึง 345 โวลต์ ผู้เรียนก็จะเลิกตอบสนองอย่างสิ้นเชิง

เมื่อช็อตในระดับสูงขึ้นไป จนถึง 345 โวลต์ ผู้เรียนก็จะเลิกตอบสนองอย่างสิ้นเชิง

            ผมเชื่อว่าคนปกติทั่วไปก็คงคิดว่า มีคนน้อยมากที่จะกล้าเพิ่มความรุนแรงของไฟฟ้าในระดับสูง เช่นเดียวกับเหล่าจิตแพทย์ที่คาดการณ์ว่าจะมีคนเพียง 1 ใน 1,000 หรือเศษหนึ่งส่วนสิบของร้อยละ 1 ที่อาจจะชอบทรมานคนอื่นโดยการช็อตไฟฟ้าระดับรุนแรงเกินขีดจำกัดกับคู่ของตัวเองที่ไม่ตอบสนองแล้ว

            แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่แบบนั้น เพราะผู้เข้าร่วมการทลดองเกือบร้อยละ 3 เพิ่มการช็อตรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง 450 โวลต์ เมื่อถูกปล่อยให้อยู่ตามลำพัง แต่ผลการทดลองที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือกลุ่มทดลองที่มีผู้คุมใส่สุดกาวน์อยู่ด้วย ผู้เข้าร่วมการทดลองมากถึงร้อยละ 65 เพิ่มความรุนแรงไปจนถึงสวิตช์ตัวสุดท้ายของแผงควบคุมการช็อตไฟฟ้า

            อันที่จริงไม่มีผู้เข้าร่วมการทดลองคนไหนจากการศึกษาครั้งนี้ที่ล้มเลิกก่อนถึงระดับ 300 โวลต์เลย และสิ่งที่ผู้ดำเนินการทดลองทำมีแค่การพูดออกคำสั่งแบบไม่มีพิษมีภัยว่า "กรุณาทำต่อไป" และ "การทดลองกำหนดให้คุณทำต่อไป" เนื้อหาคำพูดดังกล่าวเป็นคำพูดที่ธรรมดามาก เพียงแต่ผู้คุมกลายเป็นผู้มีอำนาจที่ทรงอิทธิพลโดยธรรมชาติไปเสียแล้ว

            กล่าวคือ มิลแกรมได้แสดงให้เราเห็นว่าปัจจัยที่กระตุ้นให้คนธรรมดาช็อตไฟฟ้าคนแปลกหน้าได้มีเพียงเสื้อกาวน์ที่ถูกรัดมาเรียบกริบและคำพูดส่งเสริมแบบลอย ๆ เพียงไม่กี่คำ ลองนึกภาพดูสิครับว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าผู้มีอำนาจเพิ่มแรงกดดัน ออกคำสั่งอย่างเข้มข้น หรือทุ่มเทให้กับการใช้ประโยชน์จากการคล้อยตามและการกระทำแบบไม่ยั้งคิดที่อาจเกิดขึ้นจากอิทธิพลทางสังคม

            มิลแกรมได้ระบุไว้ในย่อหน้าแรกสุดของบทความฉบับแรกที่เขาตีพิมพ์เกี่ยวกับการศึกษานี้ โดยเชื่อมโยงการศึกษาของเขากับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว "นโยบายผิดมนุษย์มนาเหล่านี้อาจเกิดขึ้นจากความคิดของคนคนเดียว แต่มันจะถูกนำไปปฏิบัติในวงกว้างได้ก็ต่อเมื่อคนจำนวนมากเชื่อฟังคำสั่ง" นี่เป็นอีกครั้งที่โศกนาฏกรรมอันน่าสะเทือนใจของมนุษย์เกิดขึ้นเพราะแนวโน้มของเราที่จะคล้อยตาม ยอมทำตาม และเชื่อฟังคนอื่น

            ทุกวันนี้เราทุกคนได้รับอิทธิพลจากผู้มีอำนาจโดยธรรมชาติ ในโรงพยาบาลก็คือคุณหมอ ในโรงเรียนก็คือคุณครู ในมหาวิทยาลัยก็คืออาจารย์ และในบริษัทก็คือหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชา ซึ่งเรามักจะคล้อยตามโดยขาดการยั้งคิด ไปจนถึงสามารถทำสิ่งที่เลวร้ายกับคนอื่นได้เลย สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงพลังของสถานการณ์ หรืออิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม (บุคคลผู้มีอำนาจ) 

            คำถามก็คือ พวกเราไม่สามารถควบคุมตัวเองได้เลยอย่างนั้นหรือ คำตอบก็คือ "ไม่ใช่ครับ" เราสามารถควบคุมตัวเองไม่ให้หลงเข้าไปในอิทธิพลของผู้มีอำนาจได้ วิคเตอร์ แฟรงเคิล (Viktor Frankl) หัวหน้าแผนกประสาทวิทยา ซึ่งต่อมาเป็นจิตแพทย์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก เคยถูกจับเป็นเชลยในค่ายกักกันที่โหดร้ายที่สุดชื่อเอาชวิทซ์ 

            หลังจากออกมาจากค่ายกักกันหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลง เขาได้เขียนหนังสือชื่อ Man's Search for Meaning โดยเล่าเกี่ยวกับค่ายกักกันดังกล่าวว่า "ผู้คุมเกือบทุกคนปฏิบัติต่อเชลยเหมือนกับว่าเขาไม่ใช่มนุษย์ทั้ง เฆียนตี ทารุณ และอีกมากมาย ผู้คุมบางคนซึ่งเป็นเชลยเหมือนกัน กลับมีจิตใจหยาบกระด้างยิ่งกว่าผู้คุมนาซีเสียอีก"

            ในขณะเดียวกันเขาก็เล่าว่า "ผู้คุมบางคนมีจิตใจและจริยธรรมที่เข้มแข็ง อย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็จะไม่ยอมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเจ็บปวด ผู้บัญชาการของค่ายบางคนไม่เคยอออกคำสั่งลงโทษเสียด้วยซ้ำ" 

            "ผมยังจำได้ดีว่าหัวหน้าคนงานคนหนึ่งแอบหยิบขนมปังให้ ซึ่งเป็นขนมปังที่หัวหน้าคนงานแอบแบ่งจากอาหารเช้าของตนเอง" สิ่งนี้ทำให้แฟรงเคิลน้ำตาซึม แต่เขาไม่ได้ตื้นตันจากการที่เขาได้รับขนมปัง แต่ตื้นตันเพราะบางสิ่งบางอย่างในตัวมนุษย์ที่ชายผู้นี้ได้มอบให้แก่เขา เป็นขนมปังที่หยิบยื่นให้พร้อมกับคำพูดและแววตาอันส่อถึงจิตใจ 

            เรื่องราวของแฟรงเคิลและมิลแกรมสอนให้เรารู้ว่า มนุษย์อ่อนไหวต่ออิทธิพลจากผู้มีอำนาจจนสามารถทำสิ่งที่เลวร้ายเกินกว่าจะจินตนาการได้ ในขณะเดียวกันก็มีมนุษย์หลายคนที่สามารถปลดแอกตัวเองจากความอ่อนไหวดังกล่าว จนสามารถควบคุมตัวเองให้เดินในทิศทางที่ถูกต้องได้ ในประวัติศาสตร์มีบุคคลเหล่านี้จำนวนมากที่ทำสำเร็จ ขอให้เราเข้มแข็ง หมั่นคิดทบทวนสิ่งที่ตัวเองคิด เชื่อ และกระทำอยู่เสมอว่าเรากำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องอยู่หรือไม่ 

และสิ่งที่เราคิด เชื่อ และกระทำกำลังสร้างความเลวร้ายให้กับใครอยู่หรือไม่

อ้างอิง

คาลอส บุญสุภา. (2565). เชลยค่ายกักกันนาซี วิคเตอร์ แฟรงเคิล (Viktor Frankl) ความหมายของชีวิตจากช่วงเวลาอันโหดร้าย. https://sircr.blogspot.com/2022/12/viktor-frankl.html

Frankl, V. (2006). Man's Search for Meaning. MS: Beacon Press

Sommers, S. (2012). Situations Matter: Understanding How Context Transforms Your World. NY: Riverhead Books.

ความคิดเห็น