เมื่อเรามีอารมณ์เบิกบานใจ เราอาจจะรู้สึกว่าชีวิตนี้มีความหมายมากขึ้น รู้สึกว่าโลกนี้ช่างสวยงาม โลกนี้อาจจะน่าอยู่มากขึ้น ส่งผลให้เรามีภาวะอารมณ์ในเชิงบวก
ในฐานะที่ผมเขียนบทความทางด้านอารมณ์ ทั้งลงใน Blog และบทความวิชาการมาบ้าง แต่ผมก็ยังไม่สามารถแยกระหว่าง อารมณ์ (Emotion) ความรู้สึก (Feeling) และภาวะอารมณ์ (Mood) ได้อย่างชัดเจน แม้ผมเข้าใจว่าทั้งสามตัวแปรนี้มีความแตกต่างกันอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ด้วยความเคยชินทำให้ผมไม่สามารถอธิบายความแตกต่างได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งในบางกรณีก็ทำผมใช้คำเหล่านี้สลับไปมา
จนกระทั่งเมื่อผมศึกษาลงลึกไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอ่านหนังสือชื่อ Permission to Feel ที่เขียนโดย มาร์ค แบร็คเก็ตต์ (Marc Brackett) ศาสตราจารย์ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการศูนย์ความฉลาดทางอารมณ์ มหาวิทยาลัยเยล ก็พบความแตกต่างของทั้งสามตัวแปรอย่างชัดเจนมากขึ้น
แต่ก่อนที่ผมจะอธิบายความแตกต่างของทั้งสามตัวแปรผมอยากจะอธิบายเกี่ยวกับการตอบสนองของมนุษย์เสียก่อน เมื่อมนุษย์เผชิญกับสิ่งเร้าไม่ว่าจะอะไรก็ตาม เช่น อากาศ คำพูด ได้กลิ่น รสชาติ มองเห็น เราย่อมตอบสนองต่อสิ้งเร้านั้น ๆ โดยมีอารมณ์ ความรู้สึก และภาวะอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ เช่น เจออากาศร้อนเลยมีอารมณ์หงุดหงิดเกิดขึ้นมา
เหตุผลหนึ่งที่เราไม่สามารถอธิบายความแตกต่างกันระหว่างอารมณ์ ความรู้สึก และภาวะอารมณ์ได้อย่างชัดเจนก็เพราะว่า การขาดแคลนศัพท์เฉพาะที่ชัดเจน กล่าวคือเราเข้าใจรวม ๆ ว่าพวกมันเหล่านี้หมายความว่าอะไร แต่ทั้งสามคำนี้มีความแตกต่างสำคัญที่ละเอียดอ่อนอยู่ อย่างที่ผมยกตัวอย่างเจออากาศร้อนเลยเกิดอารมณ์หงุดหงิด บางคนก็อาจจะใช้ความรู้สึกหงุดหงิดได้เช่นกัน
อารมณ์ (Emotion) ยกตัวอย่างเช่น ความสุข เศร้า หรือโกรธ คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการประเมินสิ่งเร้าภายนอกหรือภายใน คำว่า "ประเมิน" ผมหมายถึงการตีความสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกหรือภายในจิตใจผ่านกรอบของเป้าหมายหรือความห่วงกังวลในปัจจุบัน เราได้ยิน มองเห็น รู้สัมผัส รู้รส หรือได้กลิ่นบางอย่างที่เตือนเราให้เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากสภาพแวดล้อม
เราถูกกระตุ้นด้วยความทรงจำหรือความรู้สึกทางประสาทสัมผัส หรือเหตุการณ์บางอย่างที่บางคนพูดหรือทำ บางอย่างที่เราได้เห็นหรือประสบ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราคิดถึงคนบางคนที่เคยปฏิบัติต่อเราอย่างไม่ยุติธรรม หรือมีบางคนปฏิบัติต่อเราอย่างไม่ยุติธรรมจริง ๆ เราจึงมีอารมณ์โกรธเกิดขึ้น
อารมณ์คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการประเมินสิ่งเร้าภายนอกหรือภายใน |
โดยส่วนใหญ่อารมณ์จะมีอายุสั้นยกตัวอย่างเช่น อารมณ์ประหลาดใจ หรือแม้แต่ร่าเริงก็ตาม พวกมันมาพร้อมกับปฏิกิริยาทางสรีรวิทยา เช่น ดีใจยิ้ม มีอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และมีการหลั่งสารเคมีในสมองที่สอดคล้องกัน อารมณ์มักถูกแสดงออกทางสีหน้าและภาษากายต่าง ๆ เช่น มีรอยยิ้มและยกมือขึ้นเมื่อมีความสุข
นอกจากนี้มันยังมาพร้อมกับประสบการณ์ส่วนตัวซึ่งเกิดขึ้นในจิตรู้สำนึกของเรา เมื่อเรารู้สึกเศร้า เราจะคิดในแง่ร้าย เมื่อเรามีความสุข เราจะคิดในด้านบวก และสุดทา้ยอารมณ์ก็จะขับเคลื่อนให้เราลงมือกระทำอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการหลีกหนี การเข้าหา หรือยืนนิ่ง
ความรู้สึก (Feeling) คือการตอบสนองภายในของเราที่มีต่ออารมณ์ เมื่อเราเศร้าผิดหวัง มันทำให้เราเลิกหวังในบางสิ่งบางอย่างต่อไป นั่นคือความรู้สึก มันละเอียดอ่อน บอบบางและมีหลากหลายมิติ เมื่อเราถามใครบางคนว่าเขารู้สึกอย่างไร บางครั้งคำตอบที่เราได้รับคืออารมณ์ เช่น สุข เศร้า กลัว หรือโกรธ แต่พวกเขาก็อาจบอกด้วยว่ารู้สึกได้รับการสนับสนุน ผูกพัน มีคุณค่า ถูกดูหมิ่น หรือเป็นที่ชื่นชม
ถ้อยคำเหล่านี้โดยตัวมันเองไม่ได้หมายถึงอารมณ์แต่คือสภาวะความสัมพันธ์และสภาวะที่มีแรงจูงใจ ซึ่งจมลึกอยู่ในอารมณ์ ยกตัวอย่าง นักกีฬาไม่ได้รู้สึกมีแรงจูงใจที่จะเอาชนะ แต่ความรู้สึกเบิกบานและความภาคภูมิใจทั้งในปัจจุบันและที่อนาคตที่คาดหวังอยู่ต่างหากที่สร้างแรงจูงใจให้เขาพัฒนาตัวเองในแต่ละวันเพื่อที่จะได้รับชัยชนะในวันข้างหน้า
อย่างที่ผมกล่าวไปเราสามารถมีมากกว่าหนึ่งอารมณ์ในเวลาเดียวกัน เช่น พนักงานใหม่กำลังตื่นเต้นกับงานใหม่ แต่ก็กังวลว่าจะรับมือกับมันได้ไหม หรือคนที่รู้สึกโกรธต่อวิธีที่ใครบางคนปฏิบัติต่อเขา แต่ก็รู้สึกเหนือกว่าเพราะเขาคนนั้นไม่เคยปฏิบัติต่อคนอื่นเลวร้ายเลย
อารมณ์จึงสามารถประสานรวมกันซ้อน ๆ ซ้ำ ๆ ไปมาได้ มาร์ค แบร็คเก็ตต์ (Marc Brackett) เรียกว่า "อารมณ์ซ้อนอารมณ์" (Meta-emotions) เราอาจกลัวการพูดในที่สาธารณะ และรู้สึกอับอายที่กลัว หรือเราอาจกำลังถูกรังแก รู้สึกตกเป็นเหยื่อ และรู้สึกละอายใจที่ตัวเองยอมให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น
ดังนั้นความรู้สึกคือการตอบสนองเมื่อเกิดอารมณ์ขึ้นมา เมื่อเรามีอารมณ์เศร้า จะส่งผลให้เราแสดงปฏิกิริยาทางชีววิทยาออกมา เช่น ร้องไห้ กำมือแน่น สารสื่อประสาทเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เรารู้สึก เช่น หมดหวังในชีวิต รู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรือรู้สึกอยากหลีกหนีออกมาจากตรงนี้
ภาวะอารมณ์ (Mood) มีลักษณะที่แผ่ซ่านมากกว่า และมีความเข้มข้นน้อยกว่าอารมณ์หรือความรู้สึก แต่คงอยู่นานกว่า ซึ่งโดยส่วนใหญ่เวลาที่ตกอยู่ในภาวะอารมณ์อย่างหนึ่ง เรามักไม่แน่ใจว่าเพราะอะไรเราจึงรู้สึกเช่นนั้น แต่เราก็แน่ใจมากเมื่อรู้สึกถึงอารมณ์ กล่าวคือภาวะอารมณ์เป็นเหมือนควันหลงหลังอารมณ์ เช่น เราอาจรำคาญใครบางคนจนหยุดคิดเรื่องนี้ไม่ได้ จึงลงเองด้วยการมีภาวะอารมณ์ในด้านลบ
บ่อยครั้งมากที่เราไม่สามารถหาสาเหตุของภาวะอารมณ์ได้ "มันก็แค่ภาวะที่เราเป็นอยู่" แต่มันสามารถผูกติดโดยสิ้นเชิงกับการตอบสนองทางอารมณ์ของเราที่มีต่อชีวิต โรคทางจิตเวชมากมายส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางภาวะอารมณ์ (Mood disorder) เช่น โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั่ว หรือโรควิตกกังวล โรคเหล่านี้ทำให้การทำหน้าที่ในชีวิตประจำวันของเราบกพร่อง มันคือตัวอย่างขั้นสุดของผลกระทบที่ภาวะอารมณ์มีอิทธิพลต่อชีวิตของเรา
อารมณ์จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนโดยอัตโนมัติ จากนั้นความรู้สึกจากตามมา และสุดท้ายก็จะตามมาด้วยภาวะอารมณ์ (Emotion -----> Feeling -----> Mood) ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรามีอารมณ์เบิกบานใจ เราอาจจะรู้สึกว่าชีวิตนี้มีความหมายมากขึ้น รู้สึกว่าโลกนี้ช่างสวยงาม โลกนี้อาจจะน่าอยู่มากขึ้น ส่งผลให้เรามีภาวะอารมณ์ในเชิงบวก ทำให้เราคิดบวกมากขึ้น ตัดสินใจง่ายขึ้น และเป็นมิตรกับคนอื่นมากขึ้น
ความแตกต่างเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการอารมณ์ของเรา เพราะทุกวันนี้เราใช้คำว่าอารมณ์และความรู้สึกในความหมายเดียวกัน แต่เราทุกคนจะเข้าใจชีวิตทางอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้นถ้าเรามีคำศัพท์ที่ใช้อธิบายทุกความรู้สึกที่แตกต่างกันเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดอารมณ์เศร้า จึงรู้สึกหม่นหมอง ผิดหวัง หดหู่ หมดอาลัยตายอยาก และหมดสภาพ หรือเมื่อมีอารมณ์สุข ก็อาจจะรู้สึก มองโลกในแง่ดี พึงพอใจ ตื่นเต้น โชคดี สงบเย็น หรือรื่นเริง
หากเราสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างอารมณ์ ความรู้สึก และภาวะอารมณ์ได้ก็จะสามารถทำให้เรา เข้าใจอารมณ์และสามารถจัดการอารมณ์ได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น เพราะเราจะระบุอารมณ์ของตัวเองได้อย่างชัดเจนว่า "เศร้า" และระบุความรู้สึกของตัวเองได้ชัดเจนว่า "หดหู่" จากนั้นจึงระบุภาวะอารมณ์ของตัวเองได้ว่า "ไม่อยากเจอหน้าใครในช่วงนี้เลย" ซึ่งจะทำให้เราสามารถจัดการปัญหาดังกล่าวได้โดยการแก้ไขไปที่สาเหตุของอารมณ์เศร้า
มันก็จะทำให้เราเยียวยาความรู้สึกตัวเอง และจัดการกับภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างดี
อ้างอิง
Brackett, M. (2019). Permission to Feel: Unlocking the Power of Emotions to Help Our Kids, Ourselves, and Our Society Thrive. NY: Celadon Books.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น