การเปลี่ยนกรอบความคิด (Reframing) เป็นเชิงบวก เพื่อค้นหาทางเลือกใหม่ท่ามกลางอุปสรรค

เราสามารถควบคุมการตอบสนองทางอารมณ์ของเราได้ ซึ่งจะประโยชน์ต่อคนรอบตัวในที่ทำงาน ด้วยการเปลี่ยนกรอบความคิดให้เป็นเชิงบวก

            ก่อนเริ่มบทความผมอยากตั้งคำถามกับผู้อ่านทุกท่านว่า "ท่านเป็นคนคิดเชิงลบ หรือคิดเชิงบวก" ยกตัวอย่าง หากท่านกำลังขับรถและติดอยู่กลางถนนจนขยับไปไหนไม่ได้ ท่านอาจคิดว่า "ชั่งเป็นวันที่โชคร้ายยิ่งนัก" หรือ "เพราะการบริหารงานของรัฐบาลแย่" คำถามก็คือสิ่งนี้ใช่การมองโลกในแง่ลบหรือไม่ คำตอบก็คือไม่ใช่ครับ มันเป็นการมองโลกตามความเป็นจริง แม้ส่วนใหญ่มักจะเป็นเชิงลบก็ต่าง

            แต่เพื่อนของเราที่มองโลกในแง่บวกอาจจะคิดว่า "ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ได้พูดคุยกัน" หรือ "เป็นช่วงเวลาที่จะได้ฟังเพลง" สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร และยังเป็นความจริงด้วย แถมยังเป็นกรอบความคิดที่ดีกับตัวเองด้วยซ้ำ กระบวนการนี้เป็นสิ่งที่เราพบเห็นได้ทั่วไปกับเพื่อนบางคน แต่จริง ๆ เราเรียกอย่างเป็นทางการว่า การเปลี่ยนกรอบความคิด (Reframing) หรือเรียกกันในเชิงวิชาการว่า การประเมินใหม่ (Reappraisal)

            ในบทความนี้ผมจะขอใช้คำว่า "การเปลี่ยนกรอบความคิด" นะครับ ซึ่งเทคนิคการเปลี่ยนกรอบความคิดเป็นหนึ่งในวิธีที่แตกหน่อมาจากการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) ที่สนับสนุนให้เราค้นหาทางเลือกใหม่เชิงบวกในการมองอุปสรรคเพื่อปรับสมดุลต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น 

            กล่าวคือกระบวนการเปลี่ยนกรอบความคิดคือการตีความประสบการณ์ที่เข้ามาในชีวิตอีกครั้งนั้นเอง ยกตัวอย่างเช่น เราทักทายเพื่อนร่วมงานปกติ แต่แทนที่จะได้รับการตอบรับแบบทั่ว ๆ ไป เรากลับได้รับใบหน้าอันบูดบึ้งแทน สิ่งนี้ทำให้เราคิดว่า "ฉันไม่สมควรได้รับสิ่งนี้" สุดท้ายเราก็จะตอบสนองในลักษณะเดียวกันและทำลายบรรยากาศในที่ทำงาน ซึ่งส่งผลต่อเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ 

            ดังนั้นแทนที่เราจะทำลายบรรยากาศในที่ทำงาน เราสามารถหยุดและพิจารณาเหตุผลอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดเรื่องดังกล่าวขึ้นมา บางทีเพื่อนร่วมงานที่ทำหน้าบูดบึ้งอาจจะรู้สึกแย่กับบางสิ่งบางอย่างในชีวิตของเขา หรืออาจจะทะเลาะกับคนที่บ้าน มีปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเราเลย ความเป็นไปได้เหล่านั้นอาจทำให้เราฉุกคิดว่าเขาหรือเธอไม่หยาบคายเช่นนี้มาก่อนเมื่ออยู่ในสถานการณ์ปกติ

            ทันใดนั้น เราก็รู้สึกเห็นอกเห็นใจและสงสัยว่าเราจะช่วยอะไรได้บ้าง เมื่อมองในมุมนั้น เราก็จะควบคุมการตอบสนองทางอารมณ์ของเราได้ นอกจากนั้นยังเป็นประโยชน์ต่อคนรอบตัวในที่ทำงานด้วย สิ่งนี้สามารถใช้ได้ทุกบริบท ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ส่วนตัว ครอบครัว หรือแม้แต่เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับคนที่เราไม่ได้รู้จัก เช่น ผู้คนที่เดินผ่านไปมา หรือพนักงานร้านค้าทั่วไป

การเปลี่ยนกรอบความคิด สามารถช่วยให้เรารักษาความสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้ได้

            หลักการพื้นฐานในการเปลี่ยนกรอบความคิดก็คือ เราจะต้องตั้งใจเลือกมองสถานการณ์ในมุมที่จะก่อให้เกิดอารมณ์ลบในตัวเราน้อยที่สุด หรือพยายามมองจากมุมของคนที่ยั่วยุอารมณ์ของเรา ถือเสียว่าเขาไม่ได้ตั้งใจ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าพนักงานร้านค้าหยาบคายและไม่สนใจใยดี เราอาจคิดว่าหมอนี่มันงี่เง่า หรือเห็นได้ชัดว่าเขามีปัญหากับเพศสภาพของเรา หรือเขาคงคิดว่าเรามีเงินไม่พอซื้อของชิ้นนี้ 

            ความคิดเหล่านี้ทำให้เราต้องรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของเขาทางอ้อม แต่เมื่อมีการเปลี่ยนกรอบความคิดใหม่ เราอาจคิดแบบนี้แทน "เขาต้องเกลียดงานของเขาแน่นอน" หรือ "สภาพการทำงานที่นี้คงกดดันเขาจนต้องมาระบายอารมณ์ที่เรา" กระบวนการนี้จึงเป็นการเปลี่ยนอัตตาอันสูงส่งของเราไปเป็นความรู้สึกกรุณา ความสนใจใคร่รู้ หรือแม้แต่ความรู้สึกเหนื่อกว่าอีกฝ่าย

            จะเห็นว่าเป้าหมายของการเปลี่ยนกรอบความคิดไม่ใช่แค่การปรับเปลี่ยนความรู้สึกที่บอบช้ำของตัวเอง แต่ยังเป็นวิธีเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเราให้เป็นไปในเชิงบวกด้วย เราอาจเป็นครูที่เพิ่งเข้ามาทำงานวันแรกทั้ง ๆ ที่ยังขาดประสบการณ์ แต่แทนที่จะสิ้นหวัง เราอาจมองสถานการณ์นี้เป็นโอกาสที่เราจะได้สอนงานรุ่นน้อง สร้างผลสะเทือนต่อทั้งโรงเรียนและออกจากที่ประชุมมาอย่างตื่นเต้นแทนที่จะสลดหดหู่

            มีการศึกษาชิ้นหนึ่งที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นักศึกษาที่ถูกบอกให้คิดว่าความวิตกกังวลก่อนการสอบเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ มีคะแนนสอบดีกว่านักศึกษาในกลุ่มควบคุม และในการทดลองอีกชิ้นหนึ่งมีการเปลี่ยนกรอบความคิดใหม่ให้มองความวิตกกังวลเป็นความตื่นเต้น พบว่าช่วยเพิ่มทักษะในการต่อรองและการพูดในที่สาธารณะได้

            อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนกรอบความคิดก็สามารถสร้างความเสียหายได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เราโดนผู้บังคับบัญชาคุกคามทางเพศเสียจนเป็นนิสัย แต่เรากลับเปลี่ยนกรอบความคิดให้มองว่าอีกฝ่ายแค่หยอกเล่นไม่ได้มีเจตนาจะคุกคามทางเพศใด ๆ หรือมีคนพูดจาว่าร้ายอย่างรุนแรง แต่เรากลับมองว่าเขาเพียงแค่วิจารณ์ตามปกติทั่ว ๆ ไป ไม่ได้มีเจตนาร้ายอะไรกับเรา

            ผู้อ่านจะเห็นว่าจากตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมา การที่เราเปลี่ยนกรอบความคิดให้เป็นเชิงบวก ไม่ได้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเลย ทั้งการคุกคามทางเพศ หรือ การพูดจาว่าร้ายอย่างรุนแรง กล่าวคือ การเปลี่ยนกรอบความคิดทำให้เราไม่ยอมรับความจริง หรือไม่ยอมรับรู้ว่ามีบางอย่างที่ควรจะแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด หรือมีบางอย่างที่เราจะต้องเผชิญหน้าโดยตรง

            ดังนั้นการเปลี่ยนกรอบความคิดจะต้องมาพร้อมการตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เสมอ "นี่ฉันกำลังหนีปัญหาอยู่ใช่ไหม" "ฉันกำลังทำให้ปัญหานี้บานปลายหรือไม่" "การที่ฉันเปลี่ยนกรอบความคิดมันทำให้ชีวิตของฉันดีขึ้นหรือไม่" หากคำถามเป็นไปในทางบวก เราก็จะสามารถใช้การเปลี่ยนกรอบความคิดได้อย่างมีประสิทธิผล หรือจะให้พูดอีกอย่างก็คือดึงข้อดีของเทคนิคนี้มาใช้ได้อย่างมีคุณภาพ

            การตั้งคำถามกับตัวเองหรือพูดคุยกับตัวเองเป็นกระบวนการปกติที่เราควรใช้เป็นประจำ เพื่อประเมินความรู้สึกของเราอย่างซื่อสัตย์ ทุกครั้งที่เราสามารถเปลี่ยนกรอบความคิดจากเชิงลบเป็นเชิงบวกได้ เราจะต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า 

มันอาจจะได้ผลเพียงแค่ในตอนนี้ แต่มันจะบรรลุเป้าหมายใด ๆ ก็ตามในอนาคตได้หรือไม่ 

อ้างอิง

Brackett, M. (2019). Permission to Feel: Unlocking the Power of Emotions to Help Our Kids, Ourselves, and Our Society Thrive. NY: Celadon Books.

ความคิดเห็น