ความแตกต่างระหว่าง ความสนุกสนานร่าเริง (Joy) และความอิ่มเอมใจ (Contentment)

ความสนุกสนานร่าเริงจะให้ความรู้สึก "กระฉับกระเฉงมีพลัง" แตกต่างกับความอิ่มเอมใจที่ให้ความรู้สึก "สงบเยือกเย็น"

            บทความที่แล้วผมเขียนเกี่ยวกับ ความแตกต่างระหว่าง อารมณ์ (Emotion) ความรู้สึก (Feeling) และภาวะอารมณ์ (Mood) ในบทความนี้ผมจึงอยากจะเขียนเกี่ยวกับชนิดของอารมณ์ที่น่าสนใจและพึงปรารถนาสำหรับทุกท่าน ผมเชื่อว่าทุกคนอยากที่จะมีความสุข แต่การจะไปถึงมันได้เราจำเป็นจะต้องตระหนักถึงอารมณ์เชิงบวกที่จะแสดงให้เห็นว่าเรากำลังมีความสุขเสียก่อน

            จากการศึกษาเกี่ยวกับอารมณ์และเขียนบทความวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้ผมรู้ว่าอารมณ์มีหลากหลายประเภทเยอะจนนับไม่ถ้วน ซึ่งอารมณ์แต่ละชนิดจะมี Zone หรือสีของมันอยู่ ซึ่งหลายท่านอาจจะคุ้นเคยกับการแบ่งสีอารมณ์จากแอนิเมชั่น เรื่อง Inside Out เพียงแต่อารมณ์ที่เรื่องนี้ยกตัวอย่างขึ้นมามีเพียงไม่กี่อารมณ์เท่านั้น

            หนึ่งในนั้นคือ อารมณ์สนุกสนานร่าเริง (Joy) ตัวละครที่สำคัญในแอนิเมชั่นเรื่องนี้ หลายท่านอาจจะคุ้นเคยกับอารมณ์ดังกล่าวนี้ดี เพราะมันคือสภาวะที่มีความสุขและพึงพอใจ แทบไม่แตกต่างกับ ความอิ่มเอมใจ (Contentment) เลย เวลาที่เรามีความสุขเราจะเพลิดเพลินและพึงพอใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า รู้สึกสนุกสนานและอิ่มเอมหรืออิ่มอกอิ่มใจ

            ผู้ที่สามารถอธิบายถึงความแตกต่างนี้ได้ดีคือ มาร์ค แบร็คเก็ตต์ (Marc Brackett) นักจิตวิทยาชื่อดังผู้เขียนหนังสือ Permission to Feel: Unlocking the Power of Emotions to Help Our Kids, Ourselves, and Our Society Thrive เขาได้อธิบายว่า อารมณ์สนุกสนานร่าเริง อยู่ในช่องสีเหลือง คือมีพลังงานและความพึงพอใจสูง ขณะที่ความอิ่มเอมใจจะอยู่ในช่องสีเขียว ซึ่งมีความพอใจสูงแต่พลังงานต่ำ ทั้งสองอารมณ์จึงมีความแตกต่างกัน

            หลายท่านคงเคยรู้สึกสนุกสนานร่าเริงกันบ้างไม่มากก็น้อย เวลาที่เรารู้สึกเช่นนั้นเราจะมีพลังงานสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่เราทำกิจกรรมอะไรก็ตามกับเพื่อนฝูง เช่น ปาร์ตี้ พูดคุยกันสนุกสนาน ร้องเพลง เต้น (ในกรณีที่เราชอบร้องและเต้น) กล่าวคือ ความสนุกสนานร่าเริงจะให้ความรู้สึก "กระฉับกระเฉงมีพลัง" 

            แตกต่างกับความอิ่มเอมใจที่ให้ความรู้สึก "สงบเยือกเย็น" เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราอยู่ในภาวะนิ่งเฉย นอนหลับในห้องเย็น ๆ ไม่มีเรื่องทุกข์ร้อนอะไร ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ต้องทำกิจกรรมอะไรเลย  กล่าวคือ เป็นความรู้สึกเต็มบริบูรณ์ ไม่อยากได้สิ่งใด หรือไม่ขาดในสิ่งที่จำเป็น

ความอิ่มเอมใจ คือ ความรู้สึกเต็มบริบูรณ์ ไม่อยากได้สิ่งใด หรือไม่ขาดในสิ่งที่จำเป็น

            การรับรู้อารมณ์อิ่มเอมใจค่อย ๆ ยากขึ้นในยุคสมัยปัจจุบันที่บีบให้เราเคลื่อนตัวด้วยความรวดเร็ว สิ่งที่เราพยายามจะไขว่คว้าได้ง่ายที่สุดจึงเป็นความสนุกสนานร่าเริง อย่างไรก็ตามความอิ่มเอมใจเป็นสภาวะที่มีดุลยภาพทางจิตมากกว่า ไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องออกไปไขว่คว้ามา เราสามารถรู้สึกอิ่มเอมใจเมื่อเราชื่นชมปัจจุบันขณะ

            มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าความสุขเอื้อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และความผูกพันทางสังคมอย่างไร แน่นอนทุกคนคงเห็นด้วย แต่สิ่งที่ผมอยากจะถามก็คือความสุขแบบไหนกันที่เรากำลังตามหา การวิ่งไล่หาความสนุกสนานร่าเริง หรือการอยู่ในสภาวะสุขโดยการชื่นชมกับสิ่งที่เรามีและยอมรับในสิ่งที่เราเป็น

            มาร์ค แบร็คเก็ตต์ อธิบายว่าการวิ่งไล่ล่าหาความสุขอย่างไม่หยุดหย่อนอาจบั่นทอนความสุขของเราเอง ซึ่งย้อนแย้งกับสิ่งที่เราถูกสอนมา มีการวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เราเห็นว่า ยิ่งเราให้คุณค่ากับความสุขมากแค่ไหน เราก็ยิ่งมีโอกาสที่จะผิดหวังมากเท่านั้น ดังนั้นแม้ความสุขจะถูกมองเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง แต่เราจำเป็นต้องแยกแยะความสุขในแบบต่าง ๆ เพราะใช่ว่าความสุขทุกรูปแบบจะเป็นประโยชน์ต่อทุกเป้าหมายชีวิตและในทุกสถานการณ์ 

            จุดประสงค์ของบทความนี้คือการแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่าง ความสนุกสนานร่าเริง และความอิ่มเอมใจ และอีกจุดประสงค์นึงก็คือการพยายามให้ผู้อ่านตระหนักว่าความรู้สึกแบบไหนกันแน่ที่เราพึงปรารถนา ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบความสนุกสนานร่าเริง แต่ทุกครั้งที่ความรู้สึกดังกล่าวผ่านไป ผมก็มักจะรู้สึกว่างเปล่าอยู่เสมอ (นี้ไม่นับเงินที่เสียไปจากการพยายามเก็บเกี่ยวความสุขจากความสนุกสนานด้วยนะครับ)

            ในทางกลับกันความอิ่มเอมใจเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นโดยที่ผมไม่รู้ตัว เป็นสภาวะที่ผมนั่งอยู่เฉย ๆ และตระหนักกับสิ่งที่เป็นอยู่ สิ่งหนึ่งที่ผมสามารถช่วยผู้อ่านทุกท่านให้ตระหนักถึงความรู้สึกนี้ได้ก็คือการนึกย้อนกลับไปหาอดีตที่ผ่านมา ครั้งหนึ่งที่เราเคยโง่เง่า จมดิ่งกับความผิดหวัง หรือความอ่อนต่อโลก โดยให้เราเปรียบเทียบกับปัจจุบันที่แม้ว่าจะยังไม่พอใจเท่าที่ควร แต่ก็มีความก้าวหน้าที่เกิดขึ้น

            การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดและล้มเหลว ประสบการณ์ที่เพิ่มมากขึ้น ความสามารถที่เพิ่มขึ้น ความสัมพันธ์คุณภาพที่เราสามารถรักษาให้คงอยู่ไว้ได้ (แม้ว่าจะมีจำนวนน้อยก็ไม่เป็นไร) และสุดท้ายการตระหนักว่าทุกสิ่งที่เราเป็นอยู่นี้ก็น่าพึงพอใจอยู่แล้ว บนโลกที่สับสนวุ่นวายเราสามารถมีชีวิตรอด สุขได้ในบางครั้ง ทุกข์บ้างในบางกรณี 

แต่นี้แหละคือชีวิต เพราะเราเป็นมนุษย์ สิ่งมีชีวิตที่เผชิญหน้าความท้าทายของความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่จบสิ้น

อ้างอิง

Brackett, M. (2019). Permission to Feel: Unlocking the Power of Emotions to Help Our Kids, Ourselves, and Our Society Thrive. NY: Celadon Books.

คาลอส บุญสุภา. (2566). ความแตกต่างระหว่าง อารมณ์ (Emotion) ความรู้สึก (Feeling) และภาวะอารมณ์ (Mood). https://sircr.blogspot.com/2023/08/emotion-feeling-mood.html

ความคิดเห็น