การคิดเชิงบวก (Positive Thinking) ที่เกินพอดีอาจนำผลร้ายมาสู่ตัวเอง

แม้ว่าความรู้สึกซึมเศร้า หรือวิตกกังวลนั้นหนักหนา แต่การเสแสร้งแสดงในสิ่งที่เราไม่ได้รู้สึกนั้น กลับหนักหนาสาหัสยิ่งกว่า

            ไม่ว่าจะอดีตหรือในปัจจุบันก็ตามการคิดบวก เป็นคุณสมบัติอันพึงประสงค์ของมนุษย์ทุกคน เป็นรูปแบบวิธีคิดที่ไม่เคยตกยุค และมีการศึกษามากมายมหาศาลที่พบว่าการคิดบวกนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพชีวิต สุขภาพกาย สุขภาพใจ และการประสบความสำเร็จในการทำงาน เรื่องนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธได้ยาก โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพจิต

            ผมไม่ได้มาโจมตีอะไรการคิดบวกในบทความนี้ แต่สิ่งที่ผมอยากนำเสนอก็คือการคิดบวกที่มากจนเกินพอดีมีโทษเช่นเดียวกัน ครั้งหนึ่งผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับ มุมมองเชิงบวกที่เป็นพิษ (Toxic Positivity) โดยผมนิยามมุมมองดังกล่าว่า "เป็นภาวะที่บุคคลมองในแง่บวกมากจนเกินไปโดยมองข้ามข้อเท็จจริง" นอกจากนั้นผมยังยกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เป็นตัวอย่างโดยให้ความสำคัญกับการอธิบายผลกระทบเชิงลบน้อยเกินไป

            บทความนี้ผมจึงอยากนำเสนอเกี่ยวกับมุมมองเชิงบวกที่เป็นพิษเพิ่มเติม โดยนำเสนอผลกระทบเชิงลบพร้อมกับแนวคิดทางด้านอารมณ์ เพราะเราคิดแต่ข้อดีของการคิดเชิงบวกมากจนเกินไป เราคิดแบบนี้เพราะเราถูกบังคับจากมือที่มองไม่เห็น หนึ่งในนั้นคือ "วัฒนธรรม" ที่ให้ค่ากับมุมมองเชิงบวกมากเกินพอดี การคิดลบจึงเป็นเหมือนจำเลย เป็นสิ่งที่เราควรจะกำจัดออกไป เห็นหายนะของความเป็นมนุษย์โดยอัตโนมัติ

            แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เลย การคิดเชิงลบเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ทุกคน เรามีความคิดเชิงลบ มีความกลัว ความละอาย เป็นเศร้า เพราะมันคือสัญญาณให้เราหาทางแก้ไขปัญหาที่อยู่ข้างหน้า "วิ่งหนีเจ้าเสือตัวนั้นสะ" "ฉันเสียใจ (ร้องไห้) ได้โปรดใครก็ได้มาช่วยเหลือฉันหน่อย" "ฉันรู้สึกผิดอย่างมาก ฉันควรจะไปขอโทษเขานะ" อารมณ์เชิงลบที่ผมกล่าวมาทำให้เราแสดงพฤติกรรมเรียกร้องหาทางเอาชีวิตรอด ขอความช่วยเหลือ หรือพยายามที่จะปรับตัว

            หากไม่มีอารมณ์เชิงลบเราคงจะสูญพันธ์ไปแล้ว ดังนั้นการคิดเชิงลบจึงเป็นธรรมชาติ เราจึงไม่ควรจะปฎิเสธอารมณ์ดังกล่าว แต่ควรจะแสดงออกอย่างเหมาะสมแทน หรือจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ ปัญหาก็คือข้อนี้เป็นสิ่งที่คนส่วนมากมองข้ามจนเกิดอคติ และยัดเยียดความรู้สึกเชิงบวกแบบเพียว ๆ ให้กับตนเองและคนรอบข้าง

เราทุกคนให้ค่ากับมุมมองเชิงบวกมากเกินพอดี การคิดลบจึงกลายเป็นเหมือนจำเลย

            เรากำลังพยายามปฏิเสธการมีอยู่ของอารมณ์หนึ่ง (อารมณ์เชิงลบ) เพราะมันไม่ได้อยู่ในทิศทางเดียวกับอารมณ์ที่เราคิดว่าควรมีอยู่ (อารมณ์เชิงบวก) แต่ประเด็นก็คืออารมณ์ไม่ใช่เรื่องของสติปัญญา เราไม่สามารถคิดอย่างชาญฉลาดจนกระทั่งมันหายไปหรือปฏิเสธจนมันไม่มีอยู่ได้ อารมณ์ไม่ได้บอกความจริงเสมอไป ยิ่งไปกว่านั้นบางครั้งเราก็ตีความมันผิด ๆ แม้จะเป็นคนที่มีสติปัญญามากแค่ไหนก็ตาม

            ทั้งหมดนี้นำมาสู่วัฒนธรรมที่หลีกเลี่ยงความรู้สึกเชิงลบ และปรารถนาความรู้สึกเชิงบวกแบบเพียว ๆ สิ่งนี้อาจนำผลร้ายมาสู่ตัวเอง พวกเขาเชื่อว่าการเสแสร้งคือหนทางเดียวในการใช้ชีวิต "ฉันไม่ควรจะบ่นสังคม เพราะชีวิตฉันก็ดีอยู่แล้ว มีเงินมีทองใช้ มีคนมากมายที่แย่กว่าฉัน ฉันจะบ่นทำไม" "ฉันควรจะซาบซึ้งยินดีกับตัวเองสิ คนอื่นเขายังแย่ยิ่งกว่านี้ และฉันควรมีความสุขสิ"

            นี่คือสิ่งที่มุมมองเชิงบวกที่เป็นพิษกระทำกับเรา มันวางกับดักเราให้สู่ชีวิตแห่งการเสแสร้ง จนกระทั้งเราแสดงไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว มันบอกเราว่า ถ้ามีคนที่แย่กว่าเรา เราก็จะเศร้าไม่ได้ ถ้ามีบางสิ่งให้เราขอบคุณความรู้สึกขอบคุณก็ต้องเป็นเพียงอารมณ์เดียวที่พึงมี มันบอกเราว่าเราควรจะมีความสุข และเราควรจะทำใจกับความรู้สึกดังกล่าวสะ 

            แม้ว่าความรู้สึกซึมเศร้า หรือวิตกกังวลนั้นหนักหนา แต่การเสแสร้งแสดงในสิ่งที่เราไม่ได้รู้สึกนั้น กลับหนักหนาสาหัสยิ่งกว่า มันอาจมาจากเจตนาดี แต่ไม่ได้ช่วยอะไรเราเลย ยิ่งไปกว่านั้นมันยังทำให้เราไกลห่างจากความรู้สึกที่แท้จริงที่เกิดขึ้น ทำให้ละอายที่คิดเชิงลบ ทำให้ไม่อยากขอความช่วยเหลือจากใครเพราะมันจะดูไม่แข็งแกร่ง อีกทั้งมันยังกดข่มอารมณ์ของเราเอาไว้ ทำให้มันยิ่งทวีคูณความรุนแรงและยิ่งจัดการได้ยากเข้าไปใหญ่

            เราสามารถสังเกตกระบวนการคิดของเราว่ามีภาวะคิดบวกเป็นพิษหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น "ฉันไม่ควรจะมีความทุกข์ ฉันควรจะมีความสุข" "ฉันไม่ควรรู้สึกแย่ ชีวิตของฉันมีพร้อมทุกอย่างแล้ว" คนอื่นยังแย่กว่าฉันอีก" "ฉันยังมีสิ่งมากมายให้รู้สึกขอบคุณ" ผู้อ่านจะเห็นว่ามันมีเส้นบาง ๆ ระหว่างคิดบวกกับการคิดบวกเป็นพิษ สิ่งที่ช่วยให้เราสังเกตได้อย่างชัดเจนเลยก็คือ "ความเวอร์"

            ภาวะคิดบวกเป็นพิษ มักจะมีลักษณะที่เวอร์หรือสุดโต่งมากจนเกินไป ไม่ควรจะมีความทุกข์เลย ควรขอบคุณทุกสิ่งทุกอย่าง ชีวิตของเราตอนนี้ดีกว่าคนอื่น ๆ มากแล้ว เราควรจะพอเพียงกับมัน องค์ความคิดเหล่านี้จะกลายเป็นเครื่องมือในการกดข่มสัญญาณจากร่างกายและจิตใจของเรา ทำให้เราไม่เห็นถึงปัญหาแท้จริงที่เกิดขึ้นกับชีวิตเรา ทำให้เรามองข้ามสิ่งสำคัญจนกระทั่งมันสายเกินไป

            ความเป็นจริงของชีวิตคือสมดุลระหว่างทุกข์และสุข เรารู้จักทุกข์เพราะเรารู้จักกับความสุข เรารู้จักกับน่าเกลียดเพราะเรารู้จักความสวย เรารู้ว่าที่ตรงนี้มืดเพราะรู้จักแสงสว่าง ไม่มีทางที่เราจะพบเจอแต่เส้นทางแห่งสันติสุข เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกเช่นนั้น มันย่อมมีปัญหาใหม่ ๆ เกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอน ดังนั้นตระหนักถึงสมดุลแห่งความจริงจะช่วยให้เราเข้าใจอารมณ์และความคิดของตัวเอง 

ทำให้เราถ่อมตัว เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และกลายเป็นคนที่ดีมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

อ้างอิง

Goodman, W. (2022). Toxic Positivity: Keeping It Real in a World Obsessed with Being Happy. NY:  TarcherPerigee.

คาลอส บุญสุภา. (2565). หายนะ ของการมองในแง่บวก มากจนเกินไป (Toxic Positivity). https://sircr.blogspot.com/2022/03/toxic-positivity.html

ความคิดเห็น