ความเสี่ยงของการพยายามหลีกเลี่ยงและกดข่มอารมณ์ (Emotion) เอาไว้

โดยส่วนใหญ่แล้วพวกเรากดข่มอารมณ์บ่อยเกินไป จนสร้างความเสียหายต่อสุขภาพกายและใจของเรา

            อารมณ์เป็นหนึ่งในปัจจัยของมนุษย์ที่มีความซับซ้อน ทั้งที่จริง ๆ แล้วเป็นสิ่งที่เรียบง่าย และมีหลายสิ่งมากมายที่ทำให้อารมณ์มีความซับซ้อน หนึ่งในนั้นคือวัฒนธรรม ซึ่งผมมองว่าเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลค่อนข้างสูง ยกตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมที่สอนผู้ชายว่าไม่ควรร้องไห้ การร้องไห้คือความอ่อนแอ เราควรที่จะกดข่มอารมณ์ของตนเองเอาไว้ ซึ่งความคิดดังกล่าวเป็นเหตุให้อัตราการฆ่าตัวตายของผู้ชายมีมากกว่าผู้หญิง

            หรือแม้แต่กระทั่งผู้หญิงหลายคนก็เลือกที่จะกดข่มอารมณ์ของตัวเองเอาไว้ ไม่แสดงออกมา แม้ว่าบางคนไม่เขินอายที่จะร้องไห้ แต่หลายคนก็เลือกที่จะไม่แสดงอารมณ์โกรธออกมาด้วยเช่นกัน ในบางรายอาจจะซับซ้อนกว่านั้นคือไม่แสดงอารมณ์เชิงบวกออกมาด้วย เนื่องจากคิดว่าตนเองไม่มีความสุขหรือกำลังเป็นทุกข์อยู่ 

            การแสดงอารมณ์จึงมีความคิดเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะมาก แม้วัฒธรรมจะกดดันให้บุคคลข่มอารมณ์เอาไว้ แต่ความคิดสามารถทำให้เราปลดปล่อยอารมณ์ออกมาได้อย่างเหมาะสม ในทางกลับกันความคิดของเราก็เป็นอุปสรรคต่อการแสดงอารมณ์ ยกตัวอย่างเช่น แม่เลี้ยงเดี่ยวที่ข่มอารณ์เศร้าเอาไว้ เพราะไม่อยากแสดงความอ่อนแอออกมาให้คนรอบข้างเห็น

            การกดข่มอารมณ์เป็นหนึ่งในกลวิธีควบคุมอารมณ์ที่เราใช้เพื่อพยายามทำให้ความคิดและความรู้สึกที่อึดอัดและท่วมท้นเกินไปจัดการได้ง่ายขึ้น หรือทำให้มันสลายหายไปเลย ซึ่งการกดข่มอารมณ์เป็นเทคนิควิธีการที่หลายคนได้เรียนรู้มาจากวัยเด็กและยังใช้ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน 

            ในความจริงแล้วการกดข่มอารมณ์ไม่ได้เป็นสิ่งที่เลวร้ายหากใช้ในระดับที่เหมาะสม แต่โดยส่วนใหญ่แล้วพวกเรากดข่มอารมณ์บ่อยเกินไป จนสร้างความเสียหายต่อสุขภาพกายและใจของเรา พวกเราเลือกใช้วิธีการกดข่มอารมณ์ที่หลากหลาย ในหนังสือ Toxic Positivity: Keeping It Real in a World Obsessed with Being Happy ผู้เขียน วิตนีย์ กู๊ดแมน (Whitney Goodman) นักจิตบำบัดชื่อดังได้นำเสนอวิธีกดข่มอารมณ์ที่พบเห็นได้บ่อยดังนี้

            1) การกินและการดื่ม 

            2) การใช้ยาเสพติดหรือเหล้า

            3) เบี่ยงเบนความสนใจของตัวเอง ด้วยการดูทีวี ทำงานหนักหรือหนทางอื่น ๆ 

            4) เดินทางท่องเที่ยว 

            5) การเข้าสังคมและห้อมล้อมตัวเองด้วยผู้คนตลอดเวลา 

            6)  การออกกำลังกาย 

            7)  การช่วยเหลือผู้อื่น 

            8) การใช้คำพูดแนวพลังบวก หรือการพัฒนาตัวเองแบบอื่น ๆ

            จะเห็นว่าในบางวิธีก็เป็นการรับมือกับปัญหาที่ดี หรือปานกลางไม่ได้เลวร้ายอะไร ยกตัวอย่างเช่น การออกกำลังกาย การช่วยเหลือผู้อื่น หรือเดินทางท่องเที่ยว เพียงแต่ปัญหาและอารมณ์ที่เป็นปัญหายังคงอยู่ที่เดิม เมื่อเวลาผ่านไปวันหนึ่งมันก็จะกลับมา นอกจากนั้นแล้วปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อเราใช้กลไกนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการกดข่ม และการปฏิเสธการมีอยู่ของอารมณ์เป็นประจำ ส่งผลให้ความทุกข์ทางอารมณ์ยิ่งรุนแรงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

การปฏิเสธการมีอยู่ของอารมณ์เป็นประจำ จะส่งผลให้ความทุกข์ทางอารมณ์ยิ่งรุนแรงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

            ปัจจัยทางวัฒนธรรมก็เข้ามามีอิทธิพลด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคนบางคนบอกว่า "ฉันแค่ยุ่งอยู่กับงาน ฉันเลยไม่ค่อยมีเวลาให้ชีวิตครอบครัวหรือลูก ๆ" หลายคนจะเข้าใจและยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะการทำงานหนักเป็นพฤติกรรมที่สังคมยอมรับ ในทางกลับกันบางคนเลือกกดข่มอารมณ์ของตัวเองไว้ด้วยการกินอาหารตามใจปาก หรือการเสพติด คนเหล่านี้กลับถูกตัดสินมากกว่า เพราะสังคมไม่ยอมรับกับการกินมากจนเกินไปหรือการใช้ยาเสพติด

            แต่สิ่งที่เราควรจะรู้ก็คือ ไม่ว่าเราจะเลือกใช้วิธีไหนในการหลีกเลี่ยง มันก็มักจะนำพาเราไปสู่จุดเดียวกัน นั่นคือความทุกข์ ความไม่สบายใจ และความวิตกกังวล สิ่งเหล่านี้ย่อมต้องเกิดขึ้นกับชีวิตเราแน่ ๆ 

            การหลีกเลี่ยงอารมณ์มักจะเป็นทางแก้ปัญหาแบบชั่วคราว ผิวเผิน และตอกย้ำความคิดที่ว่า การรู้สึกถึงอารมณ์บางอย่าง เช่น ความไม่สบายใจ ความทุกข์ หรือความวิตกกังวลเป็นสิ่งที่ไม่ดีหรือเป็นอันตราย มันจะลดทอนความสามารถที่เราจำเป็นต้องมีในการเผชิญปัญหาและอดทนต่อความเจ็บปวด แถมยังสูบพลังชีวิตเยอะมาก และมักจะทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้า เพราะเราต้องใช้พลังมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อจะกดข่มอารมณ์ยาก ๆ เหล่านั้นไม่ให้ผุดขึ้นมา

            การกดข่มอารมณ์แตกต่างกับการเบี่ยงเบนความสนใจตรงที่ การกดข่มอารมณ์เป็นการที่เราสร้างองค์ความคิดขึ้นมาเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมเพื่อกดข่มอารมณ์ ในขณะที่การเบี่ยงเบนเป็นการที่เราแสดงพฤติกรรมบางอย่างเพื่อเบี่ยงเบนความคิดและความรู้สึกเพียงชั่วคราว แต่เมื่อกิจกรรมหรือพฤติกรรมจบลงเราก็กลับมารับรู้อารมณ์ของตนเองอีกครั้งอยู่ดี

            ยิ่งเรากดข่มอารมณ์ของตนเอง สุดท้ายอารมณ์เหล่านั้นก็จะโผล่กลับขึ้นมา อีกทั้งยังมีผลทางร่างกายและจิตใจตามมาจากการกดข่มอารมณ์เป็นระยะเวลานาน วิตนีย์ กู๊ดแมน (Whitney Goodman) ยกตัวอย่างผลทางร่างกายและจิตใจดังนี้

            1) เราจะยิ่งนึกถึงเรื่องที่เรายายามจะผลักใสออกไป 

            2) เสี่ยงที่จะมีอาการวิตกกังวลและซึมเศร้ามากขึ้น 

            3) กล้ามเนื้อตึงเครียดและเจ็บปวด 

            4) คลื่นไส้ อาเจียน และมีปัญหาในระบบทางเดินอาหารความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไป 

            5)  เหนื่อยล้าและมีปัญหาการนอน 

            6) ความดันโลหิตสูง

            7) มีปัญหาในการย่อยอาหาร 

            8) เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดอุตตัน

            9) รู้สึกมึนชาหรือว่างเปล่า 

            10) รู้สึกกระวนกระวาย หม่นหมอง หรือตึงเครียดตลอดเวลาโดยไม่เข้าใจว่าเพราะอะไร 

            11) มีแนวโน้มที่จะลืมนั่นลืมนี่ 

            12) อึดอัดหรือไม่สบายใจเมื่อคนอื่นพูดคุยถึงความรู้สึกของพวกเขา

            ข้อ 12 เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะเราไม่ได้รู้สึกไม่สบายใจจากเรื่องของตนเอง แต่กลับไม่สบายใจจากเรื่องราวของผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น เรากดข่มความเศร้าจากประสบการณ์ในอดีตที่โดนกลั่นแกล้งสมัยเรียนเอาไว้ เป็นบาดแผลทางจิตใจ (Trauma) ซึ่งในปัจจุบันเราไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้ และแทบจะไม่ได้รู้สึกถึงมัน แต่เรากลับร้องไห้และทุกข์ใจอย่างมากเมื่อเพื่อนของเราเล่าสิ่งที่ตนเองถูกกลั่นแกล้งในอดีต

            สิ่งที่จะช่วยเราได้คือการแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสมออกมา ไม่ใช่เพียงคิดแต่ละลืม เราสามารถคิดถึงเรื่องเศร้า และระบายออกมาให้คนใกล้ตัวฟังได้ ผมเป็นคนหนึ่งที่เผชิญกับความเจ็บปวดในอดีต ผมเลือกที่จะกดข่มมันเอาไว้ แต่สุดท้ายเมื่อเจอเรื่องที่คล้ายกันหรือบางสถานการณ์ หรือตอนพูดถึงเรื่องดังกล่าว ผมกลับปากสั่น น้ำตาคลอ (บางครั้ง) แต่เมื่อพูดถึงเรื่องนี้บ่อย ๆ ความเศร้าในอดีต ความอับอาย หรือความเจ็บปวด จนในปัจจุบันผมกลับรู้สึกเฉยชาเมื่อคิดหรือพูดถึงราวในอดีต และสามารถนำเอาเรื่องราวนี้มาใช้ประโยชน์ได้อย่างมากอีกด้วย

ดังนั้นแทนที่จะหลีกเลี่ยงกดข่มเอาไว้ เราสามารถพูดถึงความรู้สึกความคิดของเราออกมาได้ มันจะช่วยให้เราสามารถรับมือกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีมากขึ้น

อ้างอิง

Goodman, W. (2022). Toxic Positivity: Keeping It Real in a World Obsessed with Being Happy. NY:  TarcherPerigee.

ความคิดเห็น