อภิปัญญา (Metacognition) กระบวนการอันเรียบง่ายที่สามารถฝึกได้ตั้งแต่เด็ก

การฟัง อ่าน เล่น และทำงานเป็นวิธีฝึกเด็กให้กำกับตัวเอง และหัวใจสำคัญของการพัฒนาอภิปัญญาก็คือภาษา

            ในอดีตผมมีความเชื่อตามคนส่วนใหญ่ที่คิดว่า ความฉลาด คือระดับของสติปัญญา หรือ IQ (Intelligence Quotient) เพราะเป็นศักยภาพในการที่จะรู้ คิด รอบคอบ สำหรับวางแผนแก้ไขให้บรรลุตามความต้องการอย่างถูกต้องเหมาะสม แต่เมื่อผ่านประสบการณ์ชีวิตและการทำงานทางการศึกษามาระดับหนึ่งผมจึงเกิดความคิดใหม่ขึ้นมา ผมมองว่าความฉลาดคือความสามารถที่จะคิดใคร่ครวญความคิดของตัวเองอีกชั้นหนึ่ง

            เราเรียกความสามารถดังกล่าวว่า "อภิปัญญา" (Metacognition) เป็นความสามารถในการทบทวนกระบวนการทางปัญญาและสำรวจความคิดตัวเอง รู้ว่าอะไรที่เหมาะสมในการเรียนรู้เฉพาะตนเอง ตลอดจนสามารถเลือกวิธีการในการวางแผน กำกับควบคุมตนเอง และ ประเมินการเรียนรู้ของตนเองได้ กล่าวคือเป็นการตระหนักรู้ถึงปัญญาความรู้ของตนเอง

            การสำรวจความคิดอาจฟังดูค่อนข้างนามธรรม แต่จริง ๆ แล้วมันก็คือการที่เราสื่อสารกับตนเอง เพราะอย่าลืมว่ามนุษย์ไม่ได้เพียงแค่สื่อสารกับผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังสื่อสารกับตนเองด้วย ภาษาจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เราสำรวจตนเองไปจนถึงควบคุมตนเอง กล่าวคือเราสามารถใช้ภาษามาเป็นเครื่องมือสำหรับสำรวจจอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรม อีกทั้งเรายังสามารถใช้ภาษาเพื่อช่วยในการกำกับตนเองได้ (self-regulation) ซึ่งเป็นรากฐานของจิตวิทยาเชิงบวก

            อภิปัญญาจึงไม่ใช่กระบวนการที่ซับซ้อนหรือขั้นสูงเหมือนกับที่คนอื่นคิด จริง ๆ แล้วอภิปัญญาเป็นกระบวนการที่เรียบง่ายซึ่งเราใช้กันมาตั้งแต่ยังเด็ก เพียงแต่เราไม่ได้รับการฝึกฝนให้ใคร่ครวญเรื่องราวต่าง ๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวมากพอ เราใช้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าโดยอาศัยสัญชาตญาณเป็นส่วนใหญ่ และเราก็เคยชินกับกระบวนการนี้มานานจนหลงลืมไปการพูดคุยกับตัวเองอย่างเรียบง่ายไป

อภิปัญญาเป็นความสามารถในการทบทวนกระบวนการทางปัญญาสำรวจความคิดตัวเอง

            สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ทำบทความเกี่ยวกับระบวนการพัฒนาข้อสอบวัด อภิปัญญา (Metacognition) โดยอธิบายว่า องค์ประกอบของอภิปัญญา มี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ความรู้ การควบคุมตนเอง และความตระหนักต่อกระบวนการคิด ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

            1) ความรู้ เป็นความสามารถของผู้เรียนเกี่ยวกับการรู้กระบวนการคิดของตนเอง ในการเรียนรู้หรือการปฏิบัติงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับความรู้ใน 3 ด้านได้แก่ ความรู้ด้านเนื้อหาสาระ ความรู้ในวิธีการ และ ความรู้ที่ใช้เพื่อตัดสินใจเลือกวิธีการ

            2) การควบคุมตนเอง เป็นความสามารถของผู้เรียนในการควบคุมตนเองเพื่อให้ปฏิบัติงานได้สำเร็จตามเป้าหมาย แบ่งออกเป็น การวางแผน การกำกับควบคุมตนเอง และการประเมิน ที่เป็นการตรวจสอบผลที่ได้จากการเรียนรู้หรือการ ปฏิบัติงาน 

            3) ความตระหนักต่อกระบวนการคิด เป็นความสามารถของผู้เรียนเกี่ยวกับการรู้ ปัจจัยที่จำเป็นที่ทำให้การเรียนรู้หรือการปฏิบัติงานสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ แบ่งออกเป็น การสนับสนุนความคิดหรือวิธีการที่ถูกต้องของตนเอง การยอมรับความคิดหรือวิธีการอื่นที่ถูกต้อง และ 3) การยอมรับว่าความคิดหรือวิธีการของตนเองผิดพลาด

            องค์ประกอบทั้ง 3 ล้วนเป็นการย้ำคิด การกลับมามองตัวเอง หรือการทบทวนใหม่อีกครั้งหนึ่งต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน หรือการดำเนินชีวิตทั้วไปในแต่ละวัน หรือที่อดัม แกรนต์ (Adam Grant) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและนักเขียนชื่อดังเรียกว่า Think Again หรือการทบทวนความคิดของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ตนเองแสดงออกอย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์นั้น ๆ ที่เกิดมากขึ้น

            ผู้อ่านจะเห็นว่ากระบวนการคิดแบบอภิปัญญาเรียบง่ายอย่างมาก เป็นสิ่งที่เราทำกันทุกวัน แต่ทำกันน้อยลงเรื่อย ๆ ด้วยสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้เราตอบสนองอย่างรวดเร็วผ่านสัญชาตญาณ อย่างไรก็ตามเราสามารถฝึกฝนได้ตั้งแต่เด็ก เพราะการย้ำคิดหรือคิดทบทวน เป็นกระบวนการที่เราทำกันมาตั้งแต่เด็กและเคยปฏิบัติในปริมาณมากด้วยซ้ำในวันที่เรายังเป็นเด็ก

            ในวันที่เราเป็นเด็กเราเล่นบทบาทสมมุติหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ต้องใช้ จินตนาการ พูดคุยกับเพื่อนในจินตนาการ หรือแม้กระทั้งพูดคุยกับตัวเองเป็นเรื่องปกติ น่าเสียที่ยิ่งเราโตขึ้นเรากลับทำแบบนี้น้อยลง ดังนั้นเราสามารถฝึกฝนลูกของเราตั้งแต่เด็กโดยให้อิสระในการเล่นแก่เขา ให้เขาได้ใช้เวลาเล่นกับตัวเอง และการทำงานต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมาย รวมไปถึงการอ่านด้วย

            นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ มักจะเน้นอยู่เสมอในหนังสือทุก ๆ เล่มของท่านให้เด็ก ฟัง อ่าน เล่น และทำงาน ให้มากขึ้นเนื่องจากเป็นวิธีฝึกเด็กให้กำกับตัวเอง และคุณหมอยังอธิบายอีกว่าหัวใจสำคัญของการพัฒนาอภิปัญญาก็คือ "ภาษา"

            ภาษาเป็นตัวช่วยให้เด็กสามารถควบคุมตนเองได้ดีขึ้น เด็กเรียนรู้ภาษาศาสตร์และไวยากรณ์ได้เองจากผู้ใหญ่รอบตัว และเมื่อเขาพูดผิดก็จะมีผู้ใหญ่คอยแก้ให้เองโดยธรรมชาติเช่น คำว่า On และ In แม้ว่าจะแปลว่า บน และ ใน แต่เมื่อถึงเวลาใช้บ่งบอกตำแหน่งกลับใช้แตกต่างกัน กล่าวคือ คำบางคำใช้แตกต่างกันในแต่ละบริบท เด็กจะได้เรียนรู้สิ่งนี้ไปเรื่อย ๆ เมื่อเขาเติบโตขึ้น

            จากกติกาและกฎเกณฑ์นำไปสู่บรรทัดฐานของสังคม เช่น ห้ามทำร้ายคนอื่น และควรช่วยเหลือผู้อื่น เนื่องจากพัฒนาการทุกเรื่องขยายตัวจากตนเองซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาลสู่ภายนอกอยู่แล้ว จากการเล่นกับเด็กคนอื่นหรือพี่น้อง ขยายตัวสู่บทบาทสมมติในจินตนาการ ซึ่งส่วนขยายต่อไปย่อมต้องเป็นบรรทัดฐานทางสังคมโดยธรรมชาติ

            เด็กที่ทบทวนตนเองได้ดีกว่าจะมีอภิปัญญาสูงกว่า เขาจะสามารถใคร่ครวญทักษะประมวลผลของตนเอง สามารถตรวจสอบประสิทธิภาพในการทำงานของสติปัญญาตนเอง และสามารถ ตระหนักรู้ถึงสมรรถนะของสติปัญญาตนเอง เด็กที่อภิปัญญาไม่สูงนักย่อมไม่สามารถใคร่ครวญสมรรถนะของสติปัญญา และความยากง่ายในการเรียนรู้ของตนเองได้มากนัก 

            ยกตัวอย่างเช่น หากถามเด็กที่มีอภิปัญญาสูงว่า "อ่านหนังสือเล่มนี้ได้อะไรบ้าง" เขาจะสามารถใคร่ครวญและตอบคำถามนี้ได้ดีและลึกซึ้งมากกว่าเด็กที่มีอภิปัญญาไม่สูงนัก ซึ่งจะตอบเกี่ยวกับเฉพาะข้อมูลที่ได้จากหนังสือเท่านั้น 

            ดังนั้นการเลี้ยงดูเด็กไม่ใช่เพียงแค่ให้ความสำคัญกับการวางเงื่อนไขเท่านั้นหรือการให้รางวัล เพิกเฉย หรือทำโทษอย่างที่เราคุ้นเคยเท่านั้น เพราะเด็กมีจิตใจมากกว่าสัตว์ และเราสามารถทำความเข้าใจในตนเองได้อย่างลึกซึ้ง

ไปจนถึงเตรียมให้เขาพร้อมทำความเข้าใจโลกรอบตัวด้วย

อ้างอิง

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. (2562). เปิดโลกจิตวิทยาเด็ก. กรุงเทพฯ: Bookscape. 

สาขาประเมินมาตรฐาน สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2557). กระบวนการพัฒนาข้อสอบวัด METACOGNITION. http://sa.ipst.ac.th/wp-content/uploads/sites/7/2014/08/03.กระบวนการพัฒนาข้อสอบวัด-Metacognition.pdf.

ความคิดเห็น