การมีครูที่เข้าใจบทบาทของตนในการสนับสนุนเด็กจากทุกพื้นฐานจะสร้างผลกระทบที่ยั่งยืนและช่วยเพิ่มโอกาสให้เด็กมีความพร้อมและเติบโตได้อย่างมั่นใจ
การรับรู้ของมนุษย์คือสิ่งที่น่าสนใจ เพราะแต่ละคนมีการรับรู้แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ทัศนคติ นิสัยใจคอ ซึ่งความยากจนเป็นหนึ่งในสิ่งที่ผู้คนรับรู้แตกต่างกันอย่างมาก หลายคนมองว่าคนยากจนเกิดจากความพยายามไม่มากพอ หลายคนมองว่าโชคร้าย แต่สิ่งที่เราไม่รู้ก็คือ ความยากจนคือรากฐานที่พร้อมจะทำให้โครงสร้างส่วนอื่น ๆ พังทลายอยู่เสมอ
ตัวอย่างงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของความยากจน
ผมจะยกตัว การศึกษาของ Nicole Hair และคณะ (2015) ที่ทำการศึกษาเพื่อสำรวจว่าความยากจนในวัยเด็กส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสมองและความสามารถทางการเรียนอย่างไร พวกเขาพบว่าเด็กที่เติบโตในครอบครัวยากจนมักมีการพัฒนาสมองที่ช้ากว่านักเรียนทั่วไป โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำและการแก้ปัญหา ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กเหล่านี้ต่ำกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะดี
นอกจากนั้นยังมี งานของ Pilyoung Kim และคณะ (2013) ที่ทำการศึกษาผลกระทบของความยากจนในวัยเด็กและความเครียดเรื้อรังที่เด็กเผชิญต่อการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
ผลวิจัยชิ้นนี้พบว่าความยากจนและความเครียดเรื้อรังในวัยเด็กส่งผลเสียต่อการพัฒนาสมองส่วน Prefrontal Cortex (เป็นส่วนสำคัญของสมองที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการ คิดขั้นสูง วางแผน การตัดสินใจ การเรียนรู้) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ทำให้เด็กมีปัญหาในการจัดการอารมณ์เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ อีกทั้งพวกเขายังพบว่า การสะสมของความเครียดเรื้อรังยังสามารถส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า
เด็กที่เติบโตในครอบครัวยากจนมักมีการพัฒนาสมองที่ช้ากว่านักเรียนทั่วไป |
การเชื่อมโยงผลการศึกษาเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าความไม่พร้อมทางเศรษฐฐานะของครอบครัวส่งผลกระทบต่อความพร้อมในการเรียนรู้ของนักเรียน นักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจนจึงมีแนวโน้มที่จะประสบกับอุปสรรคในการเรียนรู้และการควบคุมอารมณ์มากกว่านักเรียนที่เติบโตในครอบครัวที่มีฐานะดีกว่า นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่จำเป็นต้องมีการสนับสนุนเพื่อช่วยเสริมสร้างความเท่าเทียมในการเรียนรู้
จากความยากจนสู่ความไม่พร้อม
ในพื้นที่ชนบทของไทย นักเรียนหลายคนต้องเดินทางไกลไปโรงเรียนหรือขาดอุปกรณ์การเรียนที่จำเป็น เนื่องจากครอบครัวมีรายได้น้อย และการเดินทางเป็นปัญหา บางครอบครัวไม่สามารถสนับสนุนค่าเดินทาง อาหารกลางวัน หรือหนังสือเรียนได้ การขาดปัจจัยเหล่านี้ทำให้นักเรียนรู้สึกไม่พร้อมและลดทอนโอกาสในการเรียนรู้หรือพัฒนาทักษะที่สำคัญ
แม้ว่ากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จะมีนโยบายช่วยเหลือครอบครัวที่มีความยากจนพิเศษ แต่ยังคงพบปัญหาที่ขัดขวางการบรรลุเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้เต็มที่ ปัญหา เช่น ในบางกรณียังไม่เพียงพอต่อความต้องการพื้นฐานในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง หรืออุปกรณ์การเรียน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับความต่อเนื่องของการสนับสนุน เนื่องจากการช่วยเหลือในบางพื้นที่อาจไม่ครอบคลุมหรือไม่สม่ำเสมอ
ไม่เพียงแค่นั้นครอบครัวที่มีความยากจนพิเศษมักมีปัญหาครอบครัวหลายด้าน เช่น ปัญหาหนี้สินหรือการขาดงานที่มั่นคง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดูของเด็ก การขาดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ทำให้เด็กขาดแรงสนับสนุนด้านจิตใจและแรงจูงใจในการศึกษา
รัฐบาลสามารถช่วยเหลือและแก้ไขความยากจนได้ผ่านนโยบายและโครงการที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเสมอภาคทางสังคม ตัวอย่างเช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาและสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล ช่วยให้เด็กและเยาวชนในครอบครัวที่ยากจนมีโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้และบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ
นอกจากนี้ การจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการบรรเทาค่าครองชีพ เช่น การมอบทุนการศึกษา อาหารกลางวันฟรี และการสนับสนุนค่าเดินทาง จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวที่มีรายได้น้อย นโยบายส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น การจ้างงาน รวมถึงการสร้างโอกาสในการพัฒนาทักษะอาชีพและฝึกอบรมต่าง ๆ ยังเป็นแนวทางที่รัฐบาลสามารถใช้เพื่อเพิ่มรายได้และเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนในระยะยาวอีกด้วย
ทั้งหมดนี้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับความพร้อมในการเรียนรู้และการพัฒนาของเด็กและเยาวชนในชุมชนได้อย่างมีคุณภาพ อย่างไรก็ตามในภาคการศึกษามีปัจจัยแทรกซ้อนที่ทำให้รัฐบาลเข้าไปสนับสนุนได้ไม่เต็มที่ เพราะระบบการจัดสรรงบประมาณที่ซับซ้อน การขาดความเข้าใจในความต้องการเฉพาะของนักเรียนแต่ละกลุ่ม และข้อจำกัดด้านบุคลากรและทรัพยากรในพื้นที่ที่ขาดแคลน
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านการบริหารจัดการในระดับท้องถิ่นที่อาจไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ทำให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้นหากจะแก้ไขความเหลื่อมล้ำในสถาบันการศึกษาจึงมัความซับซ้อน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรไม่ได้เลย โดยครูสามารถมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว นี่คือแนวทางที่ครูสามารถนำไปใช้ได้ดังนี้
1) การสอนแบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning) การเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้เด็กมีส่วนร่วมช่วยให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและบทบาทในห้องเรียน ครูสามารถใช้กิจกรรมกลุ่มหรือโครงการที่กระตุ้นให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนความคิด ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ การทำงานเป็นทีม และความมั่นใจในการแสดงความคิดเห็นของตนเอง
ซึ่งจะมีประสิทธิภาพหากครูสามารถแบ่งกลุ่มแบบคละความสามารถนักเรียนเก่ง ปานกลาง มีความพร้อมน้อย และมีความต้องการจำเป็นพิเศษ ไว้ในกลุ่มเดียวกันเพื่อให้นักเรียนที่เก่งสามารถสนับสนุนนักเรียนคนอื่น ๆ โดยมีบรรยากาศที่ปลอดภัย สนุกสนาน และทุกคนต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
2) สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) ครูสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่นักเรียนรู้สึกได้รับการยอมรับ เคารพ และมีโอกาสแสดงออก เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ส่งเสริมการฟังและการเคารพความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ทำให้นักเรียนรู้สึกมั่นใจและกล้าเรียนรู้ร่วมกัน โดยเฉพาะเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ การทำให้พวกเขารู้สึกว่าความคิดเห็นของตนมีความสำคัญจะช่วยลดความกังวลและเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้การจะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทางจิตใจ
สิ่งสำคัญคือวัฒนธรรมการดูแลและความเป็นหนึ่งเดียวในห้องเรียน (Classroom Culture of Care and Inclusivity) ครูสามารถส่งเสริมวัฒนธรรมการดูแลซึ่งกันและกันในห้องเรียน โดยการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักเรียน เช่น กิจกรรมช่วยเหลือกันในงานที่ท้าทาย หรือกิจกรรมที่ส่งเสริมการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ซึ่งจะช่วยให้เด็กทุกคนรู้สึกว่ามีเครือข่ายที่สนับสนุนพวกเขาอยู่เสมอ
3) การเสริมสร้างทักษะชีวิต (Life Skills Development) การสอนทักษะชีวิตที่สำคัญ เช่น การจัดการอารมณ์ การแก้ปัญหา และการตั้งเป้าหมาย ช่วยให้เด็กพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่พวกเขาอาจเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนหรือชีวิตประจำวัน ทักษะเหล่านี้จะช่วยให้เด็กมีความยืดหยุ่นทางอารมณ์และสามารถพัฒนาตนเองได้ โดยครูสามารถใช้ Applications ติดตามอารมณ์ สนับสนุนดูแลด้านอารมณ์และทำให้นักเรียนที่มีความพร้อมน้อยและนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษตระหนักถึงอารมณ์ของตนเองมากขึ้น
4) การเชื่อมต่อกับชุมชนและโครงการสนับสนุน สิ่งที่เราพบเจอในหลายโรงเรียนก็ทรัพยากรที่จำกัด บุคลากรมีจำนวนน้อย ทำให้ตกเป็นภาระของครูไม่กี่คน ดังนั้นหากโรงเรียนสามารถใช้ทรัพยากรของชุมชนโดยอาศัยความร่วมมือจากชุมชน เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้โดยมีการจัดการอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการ การติดตามผล และการเสริมแรงทางบวก
ครูสามารถทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นหรือองค์กรต่าง ๆ เพื่อหาโอกาสสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น ทุนการศึกษา โครงการติวเสริม หรือโครงการอาหารกลางวันที่ครอบคลุม การศึกษานอกสถานที่ หรือแม้แต่การบูรณาการในแต่ละวิชาเข้ากับทรัพยากรในชุมชน ซึ่งจะช่วยลดภาระครอบครัวของนักเรียนและเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ได้อย่างดี
การมีครูที่เข้าใจบทบาทของตนในการสนับสนุนเด็กจากทุกพื้นฐานจะสร้างผลกระทบที่ยั่งยืนและช่วยเพิ่มโอกาสให้เด็กมีความพร้อมและเติบโตได้อย่างมั่นใจ ดังนั้นครูจึงเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างคุณภาพให้กับห้องเรียน แม้ว่าห้องเรียนจะเต็มไปด้วยนักเรียนที่มีความพร้อมน้อย และมีบางคนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษก็ตาม
ผู้อ่านจะเห็นว่าข้อเสนอแนะของผมไม่ได้ยากและต้องใช้ทุนทรัพย์มากมาย แน่นอนเราควรจะแก้ปัญหาที่โครงสร้างและภาครัฐจะต้องมีส่วนสำคัญในการช่วยแก้ไขความเหลื่อมล้ำ แต่สถาบันการศึกษาหรือโรงเรียนสามารถลงมือได้เลยทันทีโดยอาศัยความร่วมมือกันกับบุคลากรภายในและผู้คนในชุมชน
เมื่อห้องเรียนที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำได้รับการแก้ไขแล้ว ก็จะขยายไปสู่ห้องเรียนอื่น ๆ ในโรงเรียนอีกทั้งหากมีการสนับสนุน เผยแพร่ และการช่วยเหลือระหว่างโรงเรียนต่อโรงเรียน ก็จะส่งผลให้เกิดการขยายผลในภาพกว้างได้มากขึ้น ซึ่งเราจะต้องไม่ลืมว่าหัวใจหลักของการแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามเริ่มจากความเรียบง่ายที่ไม่ซับซ้อน เพียงแค่จะต้องอาศัยบุคลากรทางการศึกษาที่มีจิตใจของการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์และความอดทน
ร่วมมือกันแก้ไขเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเยาวชนของชาติให้เติบโตก้าวหน้าเจริญงอกงามต่อไป
อ้างอิง
คาลอส บุญสุภา. (2567). แนวทางการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทย. https://sircr.blogspot.com/2024/10/blog-post.html
Hair, N. L., Hanson, J. L., Wolfe, B. L., & Pollak, S. D. (2015). Association of child poverty, brain development, and academic achievement. JAMA Pediatrics, 169(9), 822–829. https://doi.org/10.1001/jamapediatrics.2015.1475
Kim, P., Evans, G. W., Angstadt, M., Ho, S. S., Sripada, C. S., Swain, J. E., ... & Phan, K. L. (2013). Effects of childhood poverty and chronic stress on emotion regulatory brain function in adulthood. Proceedings of the National Academy of Sciences, 110(46), 18442–18447. https://doi.org/10.1073/pnas.1308240110
Komodo Psychology Team. (2022). Psychological safety in schools. https://www.komodowellbeing.com/wellbeing-resources/the-importance-of-psychological-safety-in-schools
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น