ระวัง Gaslighting แบบไม่เจตนา: สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันในครอบครัวและองค์กร

แม้ภาพจำจากหนังเรื่องนี้จะชัดเจนว่าผู้กระทำตั้งใจควบคุมเหยื่อ แต่ในโลกจริง Gaslighting จำนวนไม่น้อยเกิดโดยไม่รู้ตัว

            “ฉันไม่เคยพูดแบบนั้น เธอคงจำผิด” เป็นคำพูดทั่วไปที่พวกเรามักจะได้ยินกัน หลายคนอาจจะคิดว่าก็แค่คำพูดธรรมดา แต่ในทางจิตวิทยามันเป็นคำพูดที่ลดทอนจิตใจของอีกฝ่ายหากเกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนทำให้คนฟังเริ่มไม่แน่ใจว่าความรู้สึกและความจำของตนถูกต้องหรือไม่ นั่นคืออาการต้น ๆ ของ Gaslighting กระบวนการบิดเบือนความจริงที่ค่อย ๆ ทำให้บุคคลสงสัยตัวเอง (Sweet, 2019) 

            ทุกท่านอาจจะเคยได้ยินคำดังกล่าวที่นำมาจากหนังเรื่อง Gaslight (1944) ที่เกรกอรี (สามี) เริ่มหรี่แสงตะเกียงแก๊สทุกคืน แล้วยืนยันกับโพลา (ภรรยา) ว่าแสงไม่ได้ลดลง เพื่อซ่อนของแล้วกล่าวหาว่าโพลาทำหาย และบอกคนรอบข้างว่าเธอหลงลืมสติ ด้วยความที่ถูกบิดเบือนการรับรู้โพลาจึงเริ่มสงสัยในสภาพจิตใจตนเอง ทว่าแท้จริงเกรกอรีกำลังปั่นหัวภรรยาเพื่อค้นหาอัญมณีล้ำค่าที่ป้าซ่อนไว้

            ผู้ตรวจการสก็อตแลนด์ยาร์ดซึ่งติดตามคดีฆาตกรรมเก่า เริ่มเอะใจพฤติกรรมสามี ภรรยาคู่นี้ สุดท้ายเขาเผยหลักฐานว่าเกรกอรีคือฆาตกรตัวจริงที่ฆ่าป้าเพื่อแย่งเพชร ตั้งใจทำให้โพลาบ้าจะได้ค้นหาของได้สะดวก สุดเกรกอรีถูกจับกุม โพลาได้สติกลับคืน พร้อมตระหนักว่าตนไม่เคยเสียสติแต่ถูกบิดเบือนความจริงมาโดยตลอด

            แม้ภาพจำจากหนังเรื่องนี้จะชัดเจนว่าผู้กระทำตั้งใจควบคุมเหยื่อ แต่ในโลกจริง Gaslighting จำนวนไม่น้อยเกิดโดยไม่รู้ตัว เราอาจเป็นทั้งฝ่ายกระทำและฝ่ายรับโดยไม่ทันรู้สึกตัว ในทางจิตวิทยาผมสันนิฐานว่ามาจากอคติ (Bias) และกลไกป้องกันตนเอง (Defense mechanisms) ดังนี้

Gaslighting จำนวนไม่น้อยเกิดโดยไม่รู้ตัว จากอคติและกลไกปกป้องกันตนเอง

            1) ป้องกันภาพลักษณ์ตน (Self-serving bias) สมองเลือกตีความเหตุการณ์ให้ตัวเองถูกเพื่อลดความไม่สอดคล้องภายใน (Cognitive dissonance) และคงความรู้สึกว่าตนมีความสามารถควบคุมสถานการณ์ เช่น เพื่อนร่วมทีมทำสไลด์ผิดไฟล์ แต่บอกว่า "ฉันเคยส่งที่ถูกนะ คุณคงลบไปเอง” แทนที่จะยอมรับว่าตนบันทึกไฟล์ผิด หรือการโยนความผิดต่าง ๆ ให้กับผู้อื่น เพื่อปกป้องตนเอง

            2) อคติเอาตัวเองเป็นศูนย์ (Egocentric bias) เราประเมินสถานการณ์ผ่านประสบการณ์และเกณฑ์ความเจ็บปวดของตน ทำให้ลดทอนอารมณ์หรือปัญหาของคนอื่นโดยไม่รู้ตัว เช่น ผู้ใหญ่ที่ไม่เคยถูกไซเบอร์บูลลีบอกวัยรุ่นว่า “แค่คอมเมนต์ในเน็ต เธอคิดมากไปทำไม” ทั้งที่อีกฝ่ายเครียดจนกินไม่ได้ 

            สิ่งนี้มักเกิดขึ้นกับ Generation ที่แตกต่างกัน เด็กในปัจจุบันไม่มีประสบการณ์ที่มากพอ หรือเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายน้อยกว่าหากเทียบเท่ากับผู้ใหญ่ พวกเขาจึงตอบสนองต่อปัญหาด้วยความอ่อนไหวมากกว่า ผู้ใหญ่หลายคนไม่เข้าใจการตอบสนองดังกล่าว จึงอาจจะมองว่า "เด็กรุ่นนี้ไม่มีความอดทน" จนไม่รู้ว่ากลายเป็นการ Gaslighting แบบไม่เจตนา

            3) ลำดับชั้น (Power distance) สิ่งนี้มักเกิดในวัตนธรรมแบบเอเชียที่สังคมให้ค่ากับความอวุโส “ห้ามแพ้หัวหน้า” การถูกลูกน้องท้าทายต่อหน้าทีม จึงกระตุ้นวงจรสู้หรือหนี หัวหน้าจึงโต้กลับทันทีเพื่อกู้สถานะทางสังคม ยกตัวอย่างเช่น สมาชิกใหม่ชี้จุดผิดในแผนงานต่อหน้าห้องประชุม ผู้จัดการกลับสวนว่า “คุณฟังไม่ครบ” แม้ตนจะเป็นฝ่ายผิดก็ตาม

            4) โทษคนอื่น (Projection) คล้ายกับการป้องกันภาพลักษณ์ตนเอง แต่การโทษคนอื่นไม่ใช่เพียงการปกป้องตนเองเสมอไป ในหลายกรณีเป็นการผลักจุดอ่อนของตนเอง ออกสู่คนอื่นเพื่อลดความอับอาย สมองจะโยนคุณสมบัติด้านลบของตนไปยังคู่สนทนาโดยไม่รู้ตัว เช่น คนที่มักมาสายกล่าวหาลูกทีมว่า “จัดตารางเวลาแย่” เมื่ออีกฝ่ายมาสายครั้งเดียว

            5) ท่วมท้นทางอารมณ์เชิงลบ (Negative-emotional flooding) ภาวะที่บุคคลรู้สึกว่าอารมณ์เชิงลบต่าง ๆ เช่น เศร้า กังวล โกรธ หลั่งไหลเข้ามาอย่างท่วมท้นจนอาจควบคุมได้ยาก หรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อถูกกระตุ้นแรง ระบบประสาทจะสั่งปัดปัญหาให้เร็วเพื่อลดความเครียดเฉียบพลัน จึงคล้าย Gaslighting ชั่วครู่ เช่น คู่รักที่ถูกถามเรื่องใบเสร็จใช้เงินเกินงบ รีบตอบทันทีว่า “คุณจำผิด ฉันไม่ได้ใช้” ก่อนรู้ตัวว่าสลับบัตรจริง ๆ

            มีการศึกษาที่ติดตามระยะยาวโดย Hengen & Petersen (2023) พบว่าแค่การถูกปฏิเสธความรู้สึกสัปดาห์ละ 2–3 ครั้ง ลดระดับการเห็นคุณค่าในตนเองและเพิ่มภาวะซึมเศร้าในเวลาเพียง 3 เดือน เพราะสมองเรียนรู้ว่า “ฉันรับรู้ผิดประจำ” จนเริ่มมองตัวเองด้อยค่า และพึ่งการรับรองจากภายนอกมากขึ้น ส่งผลให้เปิดช่องให้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมง่ายขึ้น

            อคติ และกลไกป้องกันตนเองส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่สมองเลือกเส้นทางป้องกันอัตโนมัติเพื่อรักษาอัตตา (ตนเอง) โดยกระจายความผิด หรือกู้สถานะภายในไม่กี่วินาที แต่แน่นอนว่ามีเหมือนกันที่คนเจตนาจะ Gaslighting คล้ายกับตัวอย่างในหนังที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น 

            Gaslighting แบบเจตนามีลักษณะต้องการควบคุมอำนาจ ตัดกำลังใจ ปรุงภาพลวงตาว่าผู้กระทำเหนือกว่า มีการวางแผน เช่น ซ่อนของแล้วกล่าวหาว่าเหยื่อทำหาย สร้างหลักฐานเท็จ แยกเหยื่อออกจากเครือข่ายสนับสนุน โดยมีความถี่ค่อนข้างสูงซ้ำอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง เป้าหมายคือทำให้เหยื่อสงสัยทุกการรับรู้ของตน แม้มีหลักฐานก็ปฏิเสธหรือบิดเบือนเพิ่ม หรือในบางกรณีอาจมีการใช้การขู่หรือหว่านเสน่ห์สลับกัน

            ดังนั้นเราจะต้องระวังให้ดี โดยเราสามารถป้องกันได้โดยการตั้งกติการ่วม ห้ามประโยคลดทอนต่าง ๆ  ในห้องประชุม ห้องเรียนหรือครอบครัว ลิสต์คำต้องห้าม เช่น “คิดมาก” “อารมณ์ขึ้น” เพื่อเตือนสติทุกคน หรือ ฝึกสติรู้เท่าทันตนเองถามตัวเองเร็ว ๆ ว่า “ฉันกำลังปัดความผิดเพื่อปกป้องภาพลักษณ์ไหม” การหยุด 3 วินาทีก่อนตอบช่วยหักวงจรอัตโนมัติได้บ่อยครั้ง

            สุดท้ายจากผู้มีประสบการณ์ทั้งเห็นและโดนกระทำมา ทำให้ผมพบว่าการบิดเบือนเล็ก ๆ ในประโยคว่า “เธอคิดมากไปเอง” หรือ “ฉันไม่เคยพูดแบบนั้น” อาจดูไร้พิษสง แต่เมื่อสะสมในวงสนทนาที่บ้านหรือที่ทำงาน มันค่อย ๆ กัดเซาะความมั่นใจของคนฟังไม่ต่างจาก gaslighting เชิงจงใจ 

            ความจริงคือเราทุกคนมีโอกาสหลุดคำลดทอนเพราะอคติหรือสัญชาตญาณปกป้องตัวเอง การยอมรับว่า “ฉันก็เผลอทำได้เหมือนกัน” จึงเป็นวิธีง่าย ๆ ที่จะหยุดวงจรนี้ หากเราตั้งใจ ฟัง ยืนยัน และพยายามค้นหาความจริงร่วมกัน แทน ปฏิเสธ หรือลดคุณค่า บรรยากาศการพูดคุยจะปลอดภัยขึ้นทันที 

ใครผิดก็ซ่อมได้ ไม่จำเป็นต้องซ่อน เพื่อหยุดยั้งบาปที่เรียกว่า Gaslighting แม้เราจะไม่ได้เจตนาก็ตาม

อ้างอิง

Hengen, K., & Petersen, J. L. (2023). Everyday invalidation and psychological wellbeing in romantic relationships. Journal of Social and Personal Relationships, 40(4), 1258–1281. https://doi.org/10.1177/02654075221149543

Sweet, P. L. (2019). The sociology of gaslighting. American Sociological Review, 84(5), 851–875. https://doi.org/10.1177/0003122419874843

ความคิดเห็น