สังคมช่วงชิงอะไรจากเราไปบ้าง

            บทความนี้เกี่ยวกับธรรมชาติของชีวิตมนุษย์ของเรา ที่ถูกช่วงชิงบางสิ่งบางอย่างไปตลอดการดำเนินชีวิต ตั้งแต่เจริญเติบโตในวัยเด็ก ไปจนถึงก่อนวาระสุดท้ายของชีวิต ทุกท่านเคยรู้สึกไหมว่าเหตุการณ์หนึ่งเราควรจะมีความสุข แต่เรากลับไม่มีความสุข หรือเรากลับรู้สึกมีความทุกข์อย่างไม่รู้สาเหตุ ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และอื่น ๆ มากมายที่เกิดขึ้นกลับเราแต่ดูเหมือนจะไม่เกิดขึ้นกับคนอื่น จริง ๆ มันคือการที่เราสูญเสียบางส่วนของชีวิตไปในแต่ละเหตุการณ์ ซึ่งแต่ละคนจะมีแตกต่างกันออกไป

            เราอาจจะสงสัยเราเสียบางส่วนในชีวิตไปให้กับอะไร คำตอบก็คือเราเสียให้กับ "สังคม" 

            สังคมคือสิ่งที่บั่นทอนจิตวิญญาณของเรา ซึ่งสังคมก็ประกอบไปด้วยผู้คนที่มาพร้อมกับวัฒนธรรม ประเพณี ความดีงาม ข้อปฏิบัติต่าง ๆ และอื่น ๆ อีกมากมาย เรารู้กันดีว่าสังคมหล่อหลอมเราให้เป็นหนึ่งเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้วมนุษย์ทุกคนมีความแตกต่างกันออกไป การหล่อหลอมนั้นอาจฟังดูสวยงามแต่จริง ๆ แล้วเป็นข้อเสีย เพราะมันเป็นการทำลายธรรมชาติของแต่ละบุคคล ซึ่งแต่ละคนแบกรับความพยายามที่จะเหมือนกันเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการทักทาย การแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่ การปฏิบัติที่ผู้ใหญ่มีต่อเด็ก การไร้ซึ่งอำนาจต่อรองของเด็กนักเรียนในโรงเรียน หรือของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล รวมไปถึงการพยายามที่จะเป็นคนดี สิ่งต่าง ๆ ที่ยกตัวอย่างมาทำให้เราต้องพึ่งพิงสังคมมากเกินไปและจะต้องอยู่ในกรอบของสังคม ซึ่งการพยายามที่จะออกจากกรอบของสังคมนี้ ทำให้พลังงานที่หล่อเลี้ยงชีวิตของเราไม่พอ ทำให้เกิดอาการไม่มั่นใจในตนเอง ไม่เห็นคุณค่าในตนเอง รู้สึกว่าตนเองไม่มีความสามารถ ซึมเศร้า เป็นทุกข์ และอื่น ๆ อีกมากมาย 
            เหตุผลที่เกิดอาการดังกล่าว ก็เพราะว่า มนุษย์เราตั้งแต่เกิดมาจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาทางสังคม ในทฤษฎีพัฒนาการทางสังคมของ Erik Erikson ในขั้นแรก ลูกจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาคนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ หรือคนอื่น ๆ ที่ดูแล เมื่อเติบโตขึ้นมาลูกก็จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาผู้ใหญ่เพื่อการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเลียนแบบ การเรียนรู้การสื่อสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญเนื่องจากมีการศึกษาว่าในครอบครัวที่มีพ่อ แม่เพียงคนเดียว จะกระตุ้นการใช้ภาษาของเด็กน้อยกว่า ครอบครัวที่มีพ่อ และแม่ครบถ้วน (Anda Fleisher and Felitti,2004) นอกจากนั้นยังมีการศึกษาอีกว่าเด็กที่ถูกทอดทิ้ง ถูกทำร้ายหรือกระทำความรุนแรง จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีแนวโน้ม ซึมเศร้า เครียด อัตราฆ่าตัวตายสูง ติดเหล้า ใช้ยาเสพติด มีผลปฏิบัติงานที่ไม่ดี รวมไปถึงมีปัญหาการเข้าสังคมสูง (Perry,2004 cited in Heckmen,2008) อีกทั้งเด็กที่มีตำแหน่งทางสังคมเศรษฐกิจระดับต่ำสอดคล้องกับการมีโรคภัยใข้เจ็บมากขึ้นในวัยผู้ใหญ่อีกด้วย (Sullivan, 2019)

            จากตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นว่าวัยเด็กจำเป็นต้องพึ่งพาสังคมสูงมาก เพื่อให้เด็กเติบโตมามีชีวิตในสังคมที่ดีได้ นอกจากนี้แล้วมนุษย์ยังมีตัวกรองการรู้คิด (Cognitive filters) ที่คอยกรองความคิดให้เป็นไปตามบรรทัดฐานทางสังคม ทำให้เราสามารถยั่งคิด (Cognitive inhibition) นำไปสู่ความคิดและการแสดงออกที่เป็นไปตามแบบแผนทางสังคม ซึ่งแบบแผนทางสังคมนี้ก็มักจะควบคุมพฤติกรรมทางธรรมชาติของเรา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อนักเรียนโดนคุณครูต่อว่า ตักเตือนอย่างรุนแรง หรือพนักงานบริษัทโดนผู้บังคับบัญชาต่อว่าอย่างรุนแรง จนทำให้นักเรียนหรือพนักงานบริษัทเกิดอารมณ์เชิงลบออกมา แต่ก็ไม่สามารถแสดงความโกรธออกมาได้ และเมื่อไม่ได้แสดงอารมณ์ดังกล่าวออกมา ก็จะทำให้เกิดความหงุดหงิดใจ ความขัดแย้งภายในจิตใจซึ่งเกิดในจิตใต้สำนึก จนไปถึงความรู้สึกไร้อำนาจในตนเอง จนหล่อหลอมกลายเป็นบุคลิกภาพ การขาดความมั่นใจ การไม่เป็นตัวของตัว หาอัตลักษณ์ยากมากยิ่งขึ้น เกิดภาวะซึมเศร้า หรือจนไปถึงโรคซึมเศร้า และโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ต่อไป ในทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ก็ยังมองว่าอิทธิพลทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมมีผลต่อ ความปรารถนาและความต้องการ จิตใจ ไปจนถึงอาการทางจิตเวช ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการจะเข้าใจจิตใจของมนุษย์จำเป็นที่จะต้องเข้าใจบริบทของสิ่งแวดล้อม 

            นอกจากสิ่งแวดล้อมจะมีผลต่อลักษณะนิสัย บุคลิกภาพ หรืออาการทางประสาทแล้ว สิ่งแวดล้อมยังมีผลไปถึงในระดับพันธุกรรม ในหนังสือ Pleased to meet me ของ Bill Sullivan ได้อธิบายถึงสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงไปถึงระดับยีนของมนุษย์ เช่น การทารุณกรรมเด็ก การกลั่นแกล้ง การเสพติด และความเครียดก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นได้เหมือนกัน เหตุการณ์เชิงลบสามารถก่อให้เกิดแผลเป็นใน DNA และในบางกรณีแผลเป็นดังกล่าวยังจะสามารถถูกส่งต่อให้ลูกหลานได้อีกด้วย

            จะเห็นว่าสังคมมีอิทธิพลอย่างมากในการกำหนดตัวตนของคน ๆ นั้นไปจนถึง DNA ได้เลย เมื่อทุกท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ก็คงจะได้นึกถึงอดีตของตนเอง นิสัยของตนเอง หรือเกิดความกังวล ไปจนถึงปฏิเสธมันไปเลยว่า "ไม่จริง" สิ่งที่ผมอยากบอกก็คือการเข้าใจและยอมรับ เป็นกุญแจในการเปลี่ยนแปลงตนเอง หากเราเข้าใจว่าสังคมมีอิทธิพลมากแค่ไหน เราได้สูญเสียอะไรไปแล้วบ้าง แล้วก็ยอมรับสิ่งนั้น เราจะสามารถให้อภัยกับความผิดพลาดของตนเองโดยเฉพาะความผิดพลาดในอดีต นอกจากนั้นการที่เราสามารถฝึกคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับตนเองได้ หัดพูดคุยกับตนเอง ถามตัวเองบ้างว่าเมื่อเราเผชิญเหตุการณ์นี้ เรารู้สึกอย่างไร เรากำลังรับประทานอะไรอยู่ สิ่งที่เรารับประทานเรารู้สึกอย่างไร รสชาติเป็นอย่างไร หรือการทำสมาธิกำหนดลมหายใจเข้าออกก็สามารถฝึกสติให้เราสามารถทำอะไรโดยผ่านการคิดวิเคราะห์มากขึ้น ไม่ได้ใช้เพียงความคิดที่เป็นแบบแผน หรือความคิดอัตโนมัติที่ถูกหล่อหลอมมาจากอิทธิพลของสังคมเพียงอย่างเดียว

            ทุกวันนี้เราต่างสูญเสียความเป็นตัวเอง ความคิดสร้างสรรค์(ความคิดยืดหยุ่น) ไปจากในเมื่อตอนเราเป็นเด็ก คำแนะนำสำหรับผมในการดำรงชีวิตในสังคมก็คือยอมรับในความแตกต่างของตัวเอง เข้าใจความแปลกแยกที่ตนเองมีต่อสังคม คนเรามีความแตกต่างกัน การเหมือนกันจึงเป็นความผิดปกติ อย่ายอมให้ความคิดที่เป็นแบบแผนทางสังคม (ความคิดอัตโนมัติ) เข้ามามีบทบาทกับชีวิตมากเกินไป มีบ้างเล็กน้อยไม่เป็นไร เหมือนที่ Graham Moore ได้กล่าวไว้บทเวทีที่เขาได้รับรางวัลออสการ์จากบทภาพยนตร์ The Imitation Game "เมื่อตอนที่ผมอายุ 16 ผมพยายามฆ่าตัวตายเพราะผมรู้สึกแปลกแยก ต่างจากคนอื่นและรู้สึกว่าไม่เข้ากันกับผู้อื่น ผมถึงอยากจะใช้วินาทีนี้บอกกับเด็ก ๆ ที่กำลังรู้สึกแปลก รู้สึกแตกต่าง และคิดว่าพวกเขาไม่ได้เหมาะกับที่ไหน ๆ ผมจึงอยากจะบอกกับเขาเหล่านั้นว่า มันไม่ได้เป็นอย่างที่เขาคิด ผมสาบานได้ พวกเขาไม่ได้แปลกแยกอะไรทั้งนั้น ฉะนั้น จงเป็นในสิ่งที่แปลกและแตกต่างต่อไป และเมื่อถึงโอกาสของพวกคุณ ผมอยากให้พวกคุณส่งข้อความนี้ต่อไปเรื่อย ๆ"

"และนี้คือสิ่งที่ผมส่งต่อกับผู้อ่านทุกท่าน"

แหล่งอ้างอิง

Anda, R. F., Fleisher, V. and Felitti, V.  2004.  Childhood abuse, household dysfunction, and indicaors of impaired worker performance in adulthood." Permanente Journal, 8, 30-38.

Heckman, J.  2008.  School, Skill, and Synapses. Economic Inquiry, Western Ecomic Association International, 46(3), 283-324.

Sullivan, Bill.  2019.  Pleased to Meet me : Germs, and the Curious Forces That Make Us Who We Are.  DC: National Geographic Society.

คาลอส บุญสุภา. (2563). ความสำคัญของโรงเรียน. https://sircr.blogspot.com/2020/06/blog-post.html

ความคิดเห็น