แนวทางแก้ไขโรคซึมเศร้า (Depression) ตอนที่ 1

            จาก 2 บทความที่แล้ว ผมเขียนเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า โดยแบ่งเป็น โรคซึมเศร้าเงามืดที่คืบคลาน เพื่อทำความเข้าใจโรคซึมเศร้า อาการ และความคิดฆ่าตัวตาย และสาเหตุของโรคซึมเศร้า เพื่อเข้าใจสมดุลทั้ง 3 ประการ ประกอบไปด้วย ปัจจัยทางพันธุกรรม (ยีน) ปัจจัยทางจิตวิทยา และปัจจัยทางสังคม หากปัจจัยทั้ง 3 เสียความสมดุล ก็จะทำให้เข้าสู่ภาวะซึมเศร้าได้ ไปจนถึงโรคซึมเศร้า

            ในบทความนี้ผมจึงอยากเขียนเกี่ยวกับการดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ป้วยโรคซึมเศร้า ตอนที 1 ซึ่งจะนำเสนอสมดุลของปัญหาต่าง ๆ เบื้องต้นเพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาจะขึ้นอยู่กับการตีความสมดุลของปัญหาเฉพาะบุคคล และสุดท้ายผมจะนำเสนอสมดุลวิธีการแก้ไขปัญหาผู้ป้วยโรคซึมเศร้า  โดยจะเจาะสมดุลดังกล่าวทีละปัจจัยในตอนที่ 2 เพื่อไม่ให้เนื้อหาเยอะจนเกินไป 

แนวทางแก้ไขปัญหา

            อย่างที่ผมเคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องสาเหตุของโรคซึมเศร้า ว่า บุคคลจะเป็นโรคซึมเศร้ามีปัจจัย 3 ประการที่เสียความสมดุล ประกอบไปด้วย ปัจจัยทางพันธุกรรม (ยีน) ปัจจัยทางจิตวิทยา และปัจจัยทางสังคม แนวทางให้ความช่วยเหลือก็คือสร้างความสมดุลให้กลับมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง  

            ทุก ๆ ปัญหาเกิดจากการสูญเสียสมดุล หากเราเข้าใจสมดุลของปัญหานั้น ๆ แล้วสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้หมดทั้งสิ้น  การจะสร้างสมดุลใหม่อีกครั้งจะต้องแก้ไขทีละปัจจัย เหมือนการซ่อมฟันเฟืองทีละชิ้น ก็จะสามารถทำให้เครื่องจักรทำงานได้อีกครั้งหนึ่ง 

            แต่ในความเป็นจริงมีปัจจัยบางชนิดที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ยกตัวอย่างปัญหาทางด้านการเงิน มีปัจจัยอะไรบ้าง (ตามความคิดเห็นของผม) เช่น บุคคล การเมือง และผลผลิต  หากเราต้องการแก้ปัญหาทางด้านการเงิน ก็จำเป็นต้องแก้ที่ตนเองโดยพัฒนาความสามารถ ความรู้ที่จำเป็น พัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพ มีความน่าสนใจ ดึงดูดผู้คน แต่เรื่องของการเมืองที่รัฐบาลบริหารไม่ดี เราไม่สามารถแก้ไขได้ จึงจำเป็นต้องหาปัจจัยที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจและการเมืองเข้ามาแทน เช่น ธนาคาร สามารถแก้ไขโดยการเจรจาลดดอกเบี่้ย การขอยื่นกู้สินเชื่อกับธนาคารแห่งใหม่เพื่อลดภาระเงินกู้เก่าที่มีอยู่ 

            ผมอาจจะยกตัวอย่างได้ไม่ดีเท่าไหร่ แต่หวังว่าผู้อ่านคงจะเข้าใจสิ่งที่ผมอยากจะสื่อว่า ทุกปัญหามีสมดุลของมันอยู่ หากเราสามารถกำหนดสมดุลของแต่ละปัญหาออกมาได้ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกปัญหา  ความท้าทายจึงอยู่การหาความสมดุลให้เจอ  

            อย่างไรก็ตามปัญหาบางอย่างไม่จำเป็นต้องแก้ไขทุกปัจจัยตามสมดุลที่กำหนดไว้เสมอไป  บางครั้งเราเลือกแก้ไขเฉพาะปัจจัยเดียวก็มีอิทธิพลไปสู่ปัจจัยอื่น ๆ ยกตัวอย่างปัญหาด้านสัมพันธ์ ที่ประกอบไปด้วยปัจจัยตนเอง ผู้อื่น และสภาพแวดล้อม (ปัญหาส่วนใหญ่ ก็จะมีปัจจัยแบบนี้เช่นเดียวกัน เช่น ความเครียด ความเศร้า ความเหงา หรือพฤติกรรมที่ไม่เป็นประสงค์อื่น ๆ)
            เราอาจจะแก้ไขที่ตนเองเพียงอย่างเดียว เช่น เอาแต่ใจน้อยลง เลิกโกหก กลับบ้านไวขึ้น ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น พูดคุยกันบ่อยมากขึ้น ลดการใช้จ่ายส่วนตัว ชมเชยคนในครอบครัวมากขึ้น ก็สามารถทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้นได้แล้ว 


            การที่เราแก้ไขปัญหาตนเองในด้านความสัมพันธ์ตามที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะเป็นการแก้ไขปัจจัยต่าง ๆ ไปด้วยในตัว เช่น การที่กลับบ้านเร็วขึ้น พูดคุยกันบ่อยมากขึ้น ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น ลดการใช้จ่ายส่วนตัว ชมเชยคนในครอบครัวมากขึ้น ก็เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีภายในบ้าน (แก้ไขปัจจัยสภาพแวดล้อม) ทำให้คนในครอบครัวมีอารมณ์ดีมากขึ้น โกรธกันน้อยลง จึงเป็นการแก้ปัญหาปัจจัยผู้อื่นไปด้วยในตัวเอง ดังนั้นการแก้ไขพฤติกรรมบางอย่างของเราก็ส่งผลให้ปัจจัยอื่นดีไปด้วยในตัว กล่าวคือ การแก้ไขปัจจัยตนเองกลับกลายเป็นการแก้ไขปัจจัย ผู้อื่น และสาพแวดล้อมไปด้วยนั้นเอง

ดังนั้นวิธีการแก้ไขปัญหาจึงไม่มีวิธีการที่ตายตัว แม้แต่ความสมดุลก็ไม่มีอะไรที่ตายตัว บางคนอาจจะมีปัจจัยหลายปัจจัย บางคนอาจจะมีเพียง 1 หรือ 2 ขึ้นอยู่กับบริบท สถานการณ์ ตัวบุคคล ที่จะกำหนดความสมดุลของแต่ละปัญหาออกมาอย่างไร 

            แนวทางการแก้ไขโรคซึมเศร้าก็เช่นเดียวกัน เราสามารถกำหนดสมดุลออกมาโดยวิเคราะห์จากสมดุลสาเหตุโรคซึมเศร้า ก็จะได้ออกมาเป็นรูปแบบดังกล่าว


            เราไม่สามารถแก้ไขพันธุกรรมได้ ไม่สามารถตัดต่อยีนที่เป็นโรคซึมเศร้าออกได้ จึงแก้ไขได้เพียงแค่ปัจจัยทางชีววิทยา เช่น สารสื่อประสาท หรือส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย  ปัจจัยทางสังคม ก็สามารถแก้ไขสภาพแวดล้อม เช่น การแสดงออกของผู้อื่น การรับฟัง รูปแบบการทำงาน ที่อยู่อาศัย และปัจจัทางด้านความคิด เช่น การคิดตีความใหม่ การคิดแง่บวกมากขึ้น

        โรคซึมเศร้ามีความยากลำบากอย่างมากหากจะแก้ไขด้วยตนเอง หากจะดีต้องได้รับความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่าย กล่าวคือ ถึงจะรับประทานยา ปรับความคิดได้ แต่สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน มีแต่คนพูดจาทำร้ายจิตใจกัน กดขี่ เอาเปรียบซึ่งกันและกัน ก็จะเป็นเรื่องยากที่จะหลุดออกจากโรคหรือภาวะซึมเศร้าได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ และต้องใช้ความพยายาม ความกล้าหาญอย่างมากเพื่อเอาชนะโรคซึมเศร้าได้ 

            ในบทความหน้าผมจะอธิบายเจาะลึกวิธีการแก้ไขทีละปัจจัย เพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านที่กำลังอยู่ในห้วงของความเศร้าสามารถนำไปปรับใช้กับตนเองได้ หรือสามารถนำไปใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ป้วยโรคซึมเศร้า หรือผู้ที่กำลังเผชิญหน้าอยู่กับภาวะซึมเศร้าได้เช่นเดียวกัน


อ้างอิง

คาลอส บุญสุภา. (2564). สาเหตุของโรคซึมเศร้า.(Depression). https://sircr.blogspot.com/2021/05/depression.html

ความคิดเห็น