ความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) ตอนที่ 1

            ทุกวันนี้มีความเสี่ยงอยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นการขับรถบนถนน การนั่งเครื่องบิน การเดินบนถนน ทุกอย่างมีความเสี่ยงเสมอ รวมไปถึงโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ โดยเฉพาะไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดในปัจจุบันด้วย ยิ่งเป็นความเสี่ยงที่มองเห็นชัดเราจะยิ่งกลัวมากขึ้น เช่น เมื่อเราเห็นข่าวคนเสียใจชีวิตจากโควิด-19 ในข่าว หรือสิ่งเลวร้ายที่ผู้ป่วยต้องพบเจอ

            เวลาที่เรารับรู้ถึงความเสี่ยงสิ่งที่ทำให้เราสบายใจมากขึ้น คือความแน่ใจว่าเราจะต้องปลอดภัย หากเรากลัวที่จะต้องจ่ายเงินจากอุบัติเหตุจากรถยนต์ เราอาจทำประกันเอาไว้เพื่อความสบายใจ เช่นเดียวกับการป่วยที่มีค่ารักษาพยาบาลในราคาสูง การที่เราทำประกันสุขภาพเอาไว้ก็จะช่วยให้เราสบายใจมากขึ้น  มันจึงเป็นที่มาของหลักการสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) นอกจากจะทำให้คนสบายใจมากขึ้นแล้ว ยังทำให้คนนำเงินมาใช้จ่ายมากขึ้น กล้าเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้น (เพราะไม่ต้องเก็บเงินสำรองไว้เยอะเวลาป่วย)

            เช่นเดียวกับหลักการ Universal Basic Income คือการที่รัฐบาลให้รายได้พื้นฐานสำหรับทุกคน เนื่องจากอนาคตจะมีการใช้เครื่องจักรเข้ามาทดแทนการทำงานของมนุษย์ ซึ่งในขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นทดลองบางประเทศ และพบว่าเมื่อบุคคลได้รับรายได้พื้นฐานแล้ว เขาจะมีความกล้า มีความคิดสร้างสรรค์จะทำสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น เพราะหากเขาล้มเหลวก็ยังมีรายได้พื้นฐานมารองรับเพื่อไม่ให้เขาอดตายอยู่

            กล่าวคือเวลาที่เราสบายใจ เราจะรู้สึกปลอดภัยในการใช้ชีวิตและการทำงานมากขึ้น ไม่ต้องกลัวผิดพลาด ไม่ต้องกลัวล้มเหลว มันยิ่งทำให้เรากล้าที่จะสร้างสรรค์มากขึ้น ออกแบบชีวิตของตนเองตามความต้องการได้มากขึ้น จนถึงมีความสุขกับการใช้ชีวิตมากขึ้น มันทำให้เรามีความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) 

            ในบทความนี้ผมอยากจะนำเสนอประโยชน์ของการมีความปลอดภัยทางจิตใจ และโทษของการที่องค์กรไม่มีความปลอดภัยทางจิตใจ โดยคาดหวังว่าสังคมของเราจะช่วยเหลือกันและกันให้มีความปลอดภัยทางจิตใจมากขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข สร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่าต่อไปในชีวิต
 

ความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) 

            แนวคิดนี้โดยส่วนใหญ่ถูกใช้ในองค์กร เพื่อให้พนักงานสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งถูกใช้แทบจะทุกองค์กรชั้นนำของโลกที่เน้นการขับเคลื่อนโดยใช้นวัตกรรม ซึ่งแตกต่างจากองค์กรหลายแห่งในประเทศไทย ที่มักจะหักหน้า ลงโทษ ตำหนิ กับบุคคลที่ทำงานผิดพลาด หรือแม้แต่บุคคลที่มีความแตกต่างด้านความคิด 

            ยิ่งไปกว่านั้นการสร้างความปลอดภัยทางจิตใจยังจะช่วยให้พนักงานช่วยเหลือกัน แบ่งปันข้อมูลร่วมกันทำให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาแบบใหม่ ๆ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ร่วมกัน การให้ Feedback อย่างเป็นมิตรเพื่อให้เกิดการพัฒนากระบวนการและผลลัพธ์ในการทำงาน  เหมือนกับสิ่งที่ Satya Nadella CEO ของ Microsoft ในปัจจุบัน และองค์กรอื่น ๆ อย่าง Google กำลังขับเคลื่อน สิ่งสำคัญคือจะต้องมีความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน (Empathy) 

            ในหนังสือ Hit Refresh ที่เขียนโดย Satya Nadella CEO ของ Microsoft แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการมี Empathy เนื่องจาก Satya ให้ความสำคัญกับการรับฟังผู้คน เขาเชื่อในเรื่องของการได้นำเสนอความคิด ความรู้สึก โดยเขาจะรับฟังไอเดียใหม่ ๆ เข้ามาก่อนโดยไม่รีบด่วนตัดสินใจ 

            นอกจากนั้น Satya ยังให้ความสำคัญกับการเป็น "ผู้ให้" ก่อน โดยเขามองว่าการให้เปรียบดั่งการฝากเงินในธนาคาร หากคุณไม่เคยฝากเงิน เป็นไปไม่ได้ที่คุณจะถอนเงินออกมาได้ ดังนั้นเวลาคุณไปร่วมมือกับใคร (พาร์ทเนอร์) คุณควรเข้าไปด้วยความคิดที่ว่า "เราจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง" มากกว่าที่จะคิดว่า "เราจะได้อะไรจากเขา"

            สิ่งที่ Satya ทำกับ Microsoft คือการสร้างวัฒนธรรมองค์การที่ทุกคนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน "ขนาด CEO ยังเป็นผู้รับฟังที่ดี ผู้บริหารระดับสูงคนอื่น ๆ ก็ควรทำเช่นเดียวกัน" โดยเฉพาะการฝังทัศนคติของการเป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีเข้าไป ทำให้นวัตกรรมต่าง ๆ ของ Microsoft มีการพัฒนาก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็น Surface, Azure และ OneDrive โดยเฉพาะไอเดียเกี่ยวกับระบบคลาวด์อย่าง Azure ที่หลายองค์การใช้กันอยู่ทุกวัน ก็มาจากวัฒนธรรมองค์กรที่เน้น Empathy 

            กล่าวคือ คุณจะเป็นผู้ให้บริการที่ดี หากคุณมีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น รับฟังผู้อื่น และเป็นผู้ให้ที่ดี  วัฒนธรรมองค์กรของ Microsoft จึงเป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรที่มีความปลอดภัยทางจิตใจ เพราะหากพนักงานรู้สึกว่าไม่มีความปลอดภัยทางจิตใจ ก็เป็นเรื่องยากที่พนักงานจะพัฒนานวัตกรรมที่ก้าวหน้าขึ้นมาได้

            ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าความปลอดภัยทางจิตใจ มีประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาองค์กร การพัฒนานวัตกรรม แต่บริษัทต่าง ๆ กลับไม่พยายามสร้างความปลอกภัยให้เกิดขึ้น ซ้ำร้ายไปกว่านั้น องค์กรโดยส่วนมากกลับสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นพิษขึ้นมา (Toxic Relationship) โดยมีสาเหตุจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่ย่ำแย่ ผู้บริหารที่แย่จนทำให้สร้างความกดดันขึ้นมา กล่าวคือ พฤติกรรมของคนในองค์กรโดยส่วนมากจะเป็นอย่างไร มีอิทธิพลมาจากสภาพแวดล้อมและผู้บังคับบัญชา หากองค์กรสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยเหลือกันซึ่งกัน หรือ ผู้บังคับบัญชาที่เข้าอกเข้าใจผู้ใต้บังคับบัญชา ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษก็จะไม่เกิดขึ้น

            อีกทั้งถ้าในองค์กรมีบุคคลที่สร้างความสัมพันธ์ที่เป็นพิษขึ้นมาย่อมเป็นเรื่องอันตรายต่อความปลอดภัยทางจิตใจ เพราะ Robert Sutton ผู้เขียนหนังสือ The Asshole Survival Guide ได้อธิบายถึงการที่พบเจอคนที่หยาบคาย ช่างเย้ยหยัน และดูถูกคนอื่น ทำให้รู้สึกคับแค้น ต่ำต้อย ไร้เกียรติ หรือหมดพลัง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ยังทำให้สิทธิภาพในการทำงานลดลง ไม่ว่าจะเป็นทักษะการตัดสินใจ การสร้างงาน ความคิดสร้างสรรค์ และความกระตือรือร้น

            ยิ่งไปกว่านั้นพิษในองค์กรสามารถแพร่ไปติดคนอื่น เหมือนกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ไปสู่คนต่อคนอย่างง่ายดาย และไม่รู้ตัว หากในองค์กรมีคนงี่เง่าแค่คนเดียว เพื่อนร่วมงานทั้งหมดรวมถึงเราก็มีแนวโน้มกลายเป็นคนงี่เง่าเช่นนั้นได้เหมือนกัน ซึ่งจะเป็นการขัดขวางประสิทธิภาพในการทำงาน และความคิดสร้างสรรค์ของสมาชิกภายในทีม และลดความเชื่อมั่น แรงจูงใง รวมไปถึงการแสดงความคิดเห็นที่ลดน้อยลงไปด้วย อีกทั้งสภาพการทำงานยังมีความหงุดหงิด และจะนำมาซึ่งการพังทลายของจิตใจในท้ายที่สุด

            ทุกท่านจะเห็นว่าองค์กรระดับโลกที่ผมยกตัวอย่างมาให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางจิตใจ การเข้าอกเข้าใจ ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อความริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่องค์กรอย่าง Google และ Microsoft จะเป็นองค์กรที่ผู้คนอยากทำงานมากที่สุดในโลก ในทางกลับกันองค์กรหลายองค์กรในประเทศไทยที่ดำเนินชีวิตการทำงานแบบเป็นพิษ ทำให้รู้สึกไร้ความปลอดภัยซึ่งส่งผลในทางตรงกันข้ามกับองค์กรที่มีความปลอดภัยทางจิตใจ

ทฤษฎีลำดับความต้องการของ Maslow มีความต้องการความปลอดภัยเป็นอันดับ 2 ก่อนที่คนจะต้องการด้านอื่น ๆ ที่สูงขึ้นไป แสดงให้เห็นว่าความปลอดภัยเป็นความต้องการระดับขั้นพื้นฐาน ซึ่งความปลอดภัยทางจิตใจก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากร่างกายและจิตใจเป็นสิ่งที่แยกขาดออกจากกันไม่ได้ เวลาที่เราป่วยก็ย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจของเราด้วย และเมื่อเรารู้สึกเครียด ไม่สบายใจ ก็ย่อมส่งผลถึงสุขภาพกายเช่นเดียวกัน 

            ดังนั้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยทั้งทางกาย และทางใจจึงมีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ คนที่รู้สึกไม่มีความปลอดภัยทางจิตใจ มีหนี้สินติดตัว ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร ก็จะทำให้ขาดแรงจูงใจ ต้องการวิ่งหนีจากความจริง จึงพึ่งสารเสพติด เหล้า และอื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่ทางออก

            ทุกท่านจะเห็นแล้วว่าความปลอดภัยทางจิตใจเป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้ และควรสร้างให้เกิดขึ้นในทุกสภาพแวดล้อมบนโลกใบนี้ เช่นเดียวกับประเทศในทวีปยุโรปแถบสแกนดิเนเวีย (ฟินแลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์) พยายามที่จะสร้างให้เกิดขึ้นในสังคมของเขา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา สุขภาพ การคมนาคม และการทำงาน ซึ่งส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่อย่างมหาศาล  ในบทความหน้าผมจะนำเสนอกรณีศึกษาบางกรณีเพิ่มเติมที่สามารถสร้างความปลอดภัยทางจิตใจให้เกิดขึ้นได้จริง 

สามารถอ่าน ความปลอดภัยทางจิตใจตอนที่ 2 ในลิ้งนี้

อ้างอิง

Nadella, S. (2017). Hit Refresh: The Quest to Rediscover Microsoft's Soul and Imagine a Better Future for Everyone. NY: HarperCollins.

Sutton, R. (2017). The Asshole Survical Guide: How to Deal with People Who Treat Yout Like Dirt. MS: Houghton Mifflin Harcourt.

คาลอส บุญสุภา. (2559). ลำดับขั้นความต้องการ 8 ขั้นของมาสโลว์ (Maslow's Hierarchy of Needs). https://sircr.blogspot.com/2016/12/8-maslows-hierarchy-of-needs.html

ความคิดเห็น