การเปลี่ยนศัตรูมาเป็นพันธมิตร

"จงซ่อนวิสัยทัศน์ที่แท้จริงไว้ในม้าโทรจัน"

            อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาผู้ปลดปล่อยทาสนับล้านเป็นอิสระได้สำเร็จ ในวันที่เขาเริ่มดำรงตำแหน่งจากการชนะเลือกตั้งในปี 1860 เป้าหมายของเขาคือการปลดปล่อยทาส และยุติความขัดแย้งระหว่างอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ที่กำลังรุนแรงพร้อมที่จะเกิดสงครามกลางเมืองได้เสมอ มันเป็นภารกิจที่ยากอย่างมาก เพราะเป้าหมายที่เขาจำเป็นต้องทำเป็นชนวนก่อให้กิดความขัดแย้งที่สำคัญ มันเป็นเป้าหมายที่เกินกว่าความสามารถของเขา (สุดท้ายสงครามก็เกิดขึ้นแต่ฝ่ายเหนือ ซึ่งเป็นฝ่ายของลินคอล์นชนะ) 

            เขาจึงเชิญผู้สมัครสามคนที่พ่ายแพ้เขาในการเป็นตัวแทนลงสมัครประธานาธิบดีของพรรคลีพับลิกันมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ทำไมเขาถึงเชิญทั้ง 3 ท่านนี้มาดำรงตำแหน่ง ทั้ง ๆ ที่พวกเขาแทบจะทำสงครามเพื่อแย่งชิงตำแหน่งนี้ อีกทั้งพวกเขายังชิงชังลินคอล์นอย่างมาก เนื่องจากลินคอล์นมีบุคลิกที่ไม่เหมาะสมจะเป็นผู้นำเอาเสียเลย หลังค่อม สูงโย่ง การศึกษาไม่สูง ไม่ค่อยมีประสบการณ์การเมือง ต่างกับพวกเขาที่เป็นที่รู้จัก มีการศึกษาสูง และมีประสบการณ์ทางด้านการเมืองที่สูง ถึงขนาดที่นักประวัติศาสตร์ ดอริส กู้ดวิน (Doris Goodwin) กล่าวว่า "การที่ลินคอล์นถูกรัฐมนตรีพวกนี้ห้อมล้อม อาจบดบังรัศมีประธานาธิบดีของทนายบ้านนอกคนนี้ได้เลย"

            ทำไมลินคอล์นถึงเลือกเอา"ศัตรู" มาเป็น "พันธมิตร" ของตนเอง หากเป็นเราที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน เราคงรู้สึกมี "Ego" ล้นฟ้า พยายามปกป้องอำนาจของตนเองด้วยการเชิญ สว..... ล่อเล่นครับ ด้วยการเชิญคนที่คิดเหมือนกับเราเข้ามาร่วมคณะรัฐมนตรี หรือคนที่สนับสนุนเขา แต่ลินคอล์นกลับเชิญศัตรูคู่แข่งตัวฉกาจที่รังเกียจตัวเองเสียด้วยซ้ำ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งที่สูงขนาดนี้ 

            คู่แข่งของเขาเกลียดขี้หน้าเขามาก บางคนมองว่าเขาไร้ความสามารถ บางคนเรียกเขาว่า "เจ้าลิงแขนยาวเก้งก้าง" แต่ลินคอล์นกลับกล่าวว่า "เราจำเป็นต้องมีคนที่เก่งที่สุดอยู่ในคณะรัฐมนตรี ผมไม่มีสิทธิกีดกันไม่ให้พวกเขารับใช้ประเทศชาติ" สุดท้ายรัฐมนตรีเหล่านั้นประจักษ์แก่สายตาของตัวเองว่าเขา "เป็นผู้นำที่ดีที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม เอ็ดวิน สแตนตัน (Edwin Stanton) ผู้ที่ด่าเขาว่าเป็นลิงนั้นแหละ ซึ่งในหนังสือ Give and take อดัม แกรนต์ (Adam Grant) ผู้เขียน ได้กล่าวถึงคำพูดของกู้ดวินว่า 

"การที่ลินคอล์นสามารถรับมือกับพวกเสือสิงห์กระทิงแรดในคณะรัฐมนตรีได้ บ่งบอกให้เรารู้ว่า เมื่อคุณสมบัติที่เรามักเชื่อมโยงกับความนอบน้อมอย่างความเมตตา ความอ่อนไหว ความห่วงใย ความซื่อสัตย์ และความเข้าอกเข้าใจมารวมอยู่ในตัวของนักเมืองผู้ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง มันอาจจะกลายเป็นขุมพลังที่ยิ่งใหญ่ได้"

            สุดท้ายลินคอล์นก็สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดปล่อยทาสได้สำเร็จ ชนะสงครามกลางเมือง ปูพื้นความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จด้วยการร่วมมือร่วมใจกันทำงานจาก "ศัตรู" ที่เขาได้เปลี่ยนมาเป็น "พันธมิตร" ที่รู้ใจ เขาทำอย่างนั้นได้อย่างไร และมันจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องทำแบบนั้น เราจะไปหาคำตอบร่วมกัน


            ไม่ว่าเราจะเรียนหรือทำงาน การมีพันธมิตรที่ดีย่อมสามารถทำให้เราเรียนและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างน้อยก็ไม่มีศัตรูที่มาคอยกวนใจเรา แม้เราจะไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือก็ตาม ในหนังสือ Originals อดัม แกรนต์ (Adam Grant) ผู้เขียนได้ยกคำพูดของไมเคิล คอร์ลีโอเน ในภาพยนตร์เรื่อง The Godfather ภาค 2 ว่า "จงเก็บมิตรไว้ใกล้ตัว แต่จงเก็บศัตรูไว้ใกล้ตัวยิ่งกว่า" ในหนังสือยังอธิบายว่า โดยปกติแล้วเราจะพิจารณาความสัมพันธ์ในชีวิตโดยไล่ระดับจากความสัมพันธ์เชิงบวกไปจนถึงเชิงลบ เพื่อสนิทที่คอยสนับสนุนเราอยู่ ส่วนศัตรูตัวร้ายที่สุดก็คือคนที่มุ่งมั่นที่จะต่อต้านเรา 

            แต่งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าเราจำเป็นต้องประเมินความสัมพันธ์ทั้งสองแบบแยกออกจากกัน โดยดูว่าความสัมพันธ์เชิงบวกนั้นเป็นบวกมากแค่ไหน และความสัมพันธ์เชิงลบนั้นเป็นลบมากแค่ไหน นอกจากจะมีความสัมพันธ์เชิงบวก และเชิงลบแบบเดี่ยว ๆ แล้ว ก็ยังมีความสัมพันธ์ที่เป็นทั้งเชิงบวกและเชิงลบด้วย นักจิตวิทยาเรียกสิ่งนี้ว่า "ความสัมพันธ์แบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ (Ambivalent Relationship) พวกเขาคือเพื่อนที่ชิงดีชิงเด่นกับเรา ซึ่งจะสนับสนุนเราในบางครั้งและตั้งใจทำร้ายเราในบางหน ดังภาพด้านล่าง
            ถ้าใครเป็นศัตรูที่บ่อนทำลายเราอยู่ตลอดเวลา เราควรจะเพิกเฉยต่อเขา เพราะเขาจะต่อต้านเราทุกอย่าง เราจึงไม่ควรไปเสียเวลากับคนแบบนี้ แต่ควรหันไปเสริมสร้างความสัมพันธ์กับคนที่สนับสนุนเราอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามพันธมิตรที่ดีที่สุดของเราไม่ใช่คนที่สนับสนุนเรามาโดยตลอด แต่เป็นคนที่เคยต่อต้านเราแล้วเปลี่ยนใจมาสนับสนุนเรา

            เอลเลียต แอรอนสัน (Elliot Aronson) นักจิตวิทยาผู้มีชื่อเสียง ได้ทำการทดลองชุดหนึ่งที่บอกให้รู้ว่า เรามักจะอ่อนไหวต่อการสูญเสียความเคารพนับถือมากเป็นพิเศษ เมื่อใครสักคนสนับสนุนเรามาโดยตลอด เราจะเห็นคนคนนั้นเป็นของตายและไม่ให้ความสำคัญ แต่เรากลับมองว่าคนที่เป็นคู่ปรับในตอนแรกแล้วค่อยหันมาสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นเป็นผู้สนับสนุนตัวจริง "คนที่ชื่นชอบเรามากขึ้นไปตามกาลเวลาจะเป็นที่โปรดปรานของเรามากกว่าคนที่ชื่นชอบเรามาโดยตลอด"

            แอรอนสันยังอธิบายอีกว่า "การที่ใครสักคนเคยรู้สึกกับเราในเชิงลบแล้วค่อย ๆ มีความรู้สึกเชิงบวกทีละน้อยนั้นทำให้เราอิ่มเอมใจมากกว่าการที่เขารู้สึกในเชิงบวกเสมอมา" อ่านแล้วคุ้น ๆ ไหมครับ มันเหมือนกับความสัมพันธ์ที่เป็นความรักเลย เวลาที่เรารักใครสักคนแทบตาย เขามักจะไม่ค่อยสนใจเราเท่ากับ อีกคนหนึ่งที่ผีเข้าผีออก ดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่ก่อนเคยนิสัยแย่แต่ช่วงหลังมาทำดีด้วยอะไรทำนองนี้ คิดแล้วเศร้าใช่ไหมครับ

            เวลาที่เราชื่นชอบคู่ปรับที่เคยต่อต้านเราแต่กลับใจมา พวกเขาจะรู้สึกแบบเดียวกันด้วย เพราะก่อนจะชื่นชอบเราพวกเขาต้องทุ่มเทอย่างหนักเพื่อเอาชนะความประทับใจเชิงลบในตอนแรกโดยบอกตัวเองว่า "ฉันคงเข้าใจผิดเกี่ยวกับคนคนนั้น" และหลังจากชื่นชอบเราแล้ว พวกเขาก็จะมีแรงจูงใจที่จะคงความสัมพันธ์เชิงบวกเอาไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ความคิดในหัวขัดแย้งกันเองหากเปลี่ยนใจอีกครั้ง

            อีกข้อดีหนึ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ คนที่เคยต่อต้านเราย่อมจะโน้มน้าวให้คนอื่นมาเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวของเราได้ดีที่สุด พวกเขาสามารถรวบรวมข้อโต้แย้งแทนเราได้ดีกว่า เพราะเข้าใจข้อสงสัยและความแคลงใจของคนที่คัดค้านและคนที่ยังลังเล (เพราะเขาเคยเป็นมาก่อน) นอกจากนี้ พวกเขายังเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากกว่าเพราะไม่ได้เป็นสาวกผู้มองโลกในแง่ดีหรือ "ของตาย" มาตั้งแต่แรก ในการศึกษาครั้งหนึ่งของแอรอนสัน พบว่า คนเราจะยอมเปลี่ยนความคิดเห็นมากที่สุดเมื่อถูกโน้มน้าวโดยคนที่เคยมีความคิดเห็นเชิงลบกับเรามาก่อน

            แต่มันก็ไม่ง่ายที่จะพลิกความสัมพันธ์เชิงลบของทุกคนให้เป็นบวกได้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนไหนที่เราควรจะเปลี่ยนให้มาเป็นพันธมิตร ก็ให้เราลองนึกดู ว่าใครบ้างที่เรายังพอจะชื่นชอบเขาบ้างถึงจะเล็กน้อยก็ตาม หรือใครบ้างที่เรานึกถึงข้อดีเขาได้บ้าง ใครบ้างที่เราทำงานด้วยพอไหว (แม้จะไม่อยากมากก็ตาม) มันจะเป็นความรู้สึก "ก็พอได้" หรือ "ข้อดีเขาเยอะมาก แต่...." ทำนองนี้ ในขณะเดียวกันใครที่เรารู้สึกแบบอยากไปไกล ๆ ไม่อยากอยู่ด้วย ไม่อยากร่วมงานด้วย รู้สึกแย่ เราก็ควรจะหลีกเลี่ยงไปให้ไกล และควรถอยห่างออกจากคนแบบนี้ ดังนั้นคนที่เราควรจะเปลี่ยนให้เขามาเป็นพันธมิตร ก็คือเพื่อนที่ชิงดีชิงเด่นกับเรา มีความสัมพันธ์แบบไม่เห็นด้วยกับเราบ้าง ต่อต้านเราบ้าง แต่ก็สนับสนุนเราเป็นบางครั้ง แต่เราควรจะเปลี่ยนด้วยวิธีไหนดีนะ

วิธีเปลี่ยนศัตรูมาเป็นพันธมิตร

            หลักการง่ายมากครับ เพียงแค่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ง่าย ๆ เพียงแค่ 1 ข้อพอ นั้นคือ "มนุษย์ทุกคนอยากเป็นคนสำคัญ" นั้นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมชาวต่างชาติถึงชอบคนไทยเวลายกมือไหว้ เพราะเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนสำคัญ หรือคนบางคนชอบโอ้อวด อวดรวย ชอบโชว์ ไปจนถึงการก่ออาชญากรรม (แม้จะมีปัจจัยอื่น ๆ แทรกไปด้วย) นั้นเป็นเพราะเขารู้สึกอยากเป็นคนสำคัญ ดังนั้นเราสามารถจูงใจหรือผูกมิตรได้ทั้งนั้น ด้วยการชม หลีกเลี่ยงการดูถูก การตำหนิ ถ่อมตัว ไม่โอ้อวดตัวเอง การทำตัวซุ่มซ่ามบ้าง หรือแย้งความคิดเห็นคนอื่นโดยตรง ฯลฯ (สามารถอ่านบทความ ทำไมเราถึงต้องถ่อมตน ได้ในลิ้งนี้)

            ในสมัย เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) หนึ่งในบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นหนึ่งในนักการฑูตที่เก่งที่สุดในยุคศตวรรษที่ 18 เมื่อเขายังเป็นหนุ่มเขาเคยถูกเพื่อนตำหนิอย่างเจ็บปวด ว่าเขาเป็นคนที่มีความคิดเห็นก้าวร้าว ทำให้คนอื่นอึดอัด อวดดีทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่ได้รู้ดีไปเสียหมดทุกอย่าง โชคดีที่เขา จดจำ และยอมรับคำตำหนินั้น อีกทั้งยังพยายามเปลี่ยนแปลงนิสัยอวดดีและยึดมั่นในความคิดของตนเอง

            แฟรงคลินตั้งกฎว่าเขาจะไม่ให้ตัวเองเห็นแย้งความคิดเห็นคนอื่นโดยตรง หรือยืนยันว่าตัวเองถูกกว่าแน่นอน เขาเลือกที่จะใช้คำว่า "ผมคิดว่า..." "ผมเข้าใจว่า..." หรือ "ผมนึกภาพว่า..." "เท่าที่ผมเห็นในตอนนี้ ดูเหมือนว่า..." ในกรณีที่มีคนยืนยันความคิดที่เขาเห็นว่าผิด เขาจะเริ่มโดยการชี้ให้เห็นว่า "ในบางกรณีหรือบางสถานการณ์ ความคิดของคุณจะถูกต้อง แต่ในสถานการณ์นี้ ดูเหมือนว่าจะมีความแตกต่างอยู่บ้าง" เมื่อเขาเริ่มฝึกตัวเองในระยะหนึ่ง เขาก็พบว่ามันเป็นผลดีมาก การสนทนาต่าง ๆ เป็นไปได้อย่างราบรื่นขึ้น เขากล่าวว่า "วิธีถ่อมตัวในการเสนอความคิดเห็นของผมทำให้พวกเขาเต็มใจยอมรับมากขึ้นและมีความขัดแย้งน้อยลง ผมเสียหน้าน้อยลงเมื่อพบว่าตัวเองเป็นฝ่ายผิด และเมื่อผมบังเอิญเป็นฝ่ายถูก ผมก็จูงใจคนอื่นให้เลิกความคิดของตนแล้วมาร่วมมือกับผมได้ง่ายขึ้น" 

            แฟรงคลินยังกล่าวอีกว่า "ผมคิดว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผมได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมชาติ เมื่อผมเสนอกฎหมายใหม่หรือแก้ไขกฎหมายเก่า และทำให้ผมมีอิทธิพลมากในสภาประชาชนเมื่ิอผมได้เข้าไปเป็นสมาชิกคนหนึ่งในนั้น เพราะถึงแม้ผมจะเป็นนักพูดที่ไม่ค่อยเก่ง ใช้ภาษาโน้มน้าวก็ไม่ค่อยดี ใช้ภาษาก็ไม่ค่อยถูก แต่ผมก็สามารถสื่อสารประเด็นของผมให้ผู้ฟังเห็นด้วยเป็นส่วนมาก"

            ด้วยธรรมชาติของมนุษย์ที่อยากจะเป็นคนสำคัญด้วยแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งก็คือโดยส่วนมากมนุษย์จะคิดเป็นระบบ 1 ที่ใช้สัญชาตญาณ โดยจะใช้ระบบ 2 ซึ่งเป็นการคิดวิเคราะห์ และมีเหตุผลน้อยมาก ดังนั้นการแสดงออกของมนุษย์ส่วนใหญ่จึงมักมีอคติและความลำเอียง มีความคิดเห็นที่ตั้งไว้ก่อนอยู่แล้ว (อคติแบบแขวนสมอ (Anchoring Bias) คือการปักใจเชื่อข้อมูลแรก) หึงหวง สงสัย กลัว อิจฉา และหยิ่งยะโส คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นในเรื่องที่เขาเชื่อ ส่วนใหญ่ก็เป็นการหาข้อโต้แย้งเพื่อคงไว้ซึ่งความเชื่อที่มีอยู่แล้ว อย่างที่ผมกล่าวไว้ตั้งแต่เริ่มบทความนี้ก็คือ เราจะต้องซ่อนวิสัยทัศน์ที่แท้จริงไว้ในม้าโทรจัน เหมือนกับที่ทหารกรีกซ้อนตัวในม้าโทรจัน เพื่อให้ทหารกรุงทรอยนำม้าที่คิดว่าฝ่ายกรีกยอมแพ้เข้าไปในกำแพงเมือง หลังจากนั้นพวกทหารก็ออกมาจากม้าตอนกลางคืนเพื่อเปิดกำแพงให้ทหารที่เหลือบุกเข้ายึดกรุงทรอยได้สำเร็จ

            ดังนั้นถ้าเราอยากเปลี่ยนศัตรูมาเป็นพันธมิตร เราจำเป็นต้องคำนึงถึงธรรมชาติของมนุษย์ ว่ามนุษย์ทุกคนอยากเป็นคนสำคัญ และพยายามตอบสนองความสำคัญนั้นไม่ว่าจะเป็นก่อนถ่อมตัว ชื่นชม ไม่โอ้อวด หรือใช้ศิลปะในการสื่อสารแบบ เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) ที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น ก็จะสามารถเปลี่ยนศัตรูที่ชิงเด่น ครึ่ง ๆ กลาง ๆ มาเป็นพันธมิตรได้สำเร็จ โดยซ่อนวิสัยทัศน์ที่แท้จริงไว้ในม้าโทรจัน สุดท้ายอย่าลืมฝึกนิสัยตัวเองในการสื่อสารเพื่อสร้างพันธมิตรอันจะเป็นโยชน์ต่อตนเองอย่างสูงในภายภาคหน้า

อ้างอิง

Carnegie, D. (1998).  How to Win Friends & Influence People. NY: Pocket Books.

Grant, A. (2017). Originals: How Non-Conformists Move the World. NY: Penguin.

Grant, A. (2014). Give and Take: Why Helping Others Drives Our Success. NY: Penguin. Books

Kahneman, D. (2013). Thinking Fast and Slow. NY: Farrar, Straus and Giroux.

ความคิดเห็น