มุ่งมั่น ฝึกฝน และทดลองทำให้หลากหลายเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จ

    "การฝึกฝนนำมาซึ่งความสมบูรณ์แบบ" สตีเวน สปีลเบิร์ก

            สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ได้รับฉายาว่าพ่อมดแห่งวงการแห่งวงการฮอลลีวูด จากผลงานตระการตาและน่าตื่นเต้น ไม่ว่าจะเป็นตัวประหลาดจากนอกโลกอย่าง E.T. ไดโนเสาร์อย่าง จูราสิก พาร์ก หรือ อินเดียนา โจนส์ รวมไปถึงผลงานสุดยอดอย่าง ชิลเดอร์ ลิสต์ ที่บันทึกความทุกข์ของชาวยิวในค่ายกักกันอย่างสมจริงและโหดร้าย นอกจากนั้นภาพยนตร์จำนวนมากของเขายังได้รับรางวัลมากมาย 

            สมัยเด็กสตีเวนเคยเป็นเด็กน้อยผอมกะหร่อง ขี้กลัวและอ่อนไหว มีตาผู้เป็นยอดเล่านิทาน คุณตามีเพื่อนสนิทที่เคยอยู่ค่ายกักกันของนาซี ทำให้สตีเวนได้เห็นรายสักตัวเลขครั้งแรกที่พวกนาซีใช้เหล็กเผาแล้วเอามานาบไว้ที่แขนเพื่อนตาคนนี้ และไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะยุโรปหลายประเทศที่รังเกียจชาวยิว แต่ชาวอเมริกาที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ก็มีความรู้สึกรังเกียจชาวยิวลึก ๆ เช่นกัน ทำให้เขารู้สึกแปลกแยกจากคนอื่น

            ความแปลกแยกนี้ทำให้เขาไม่ค่อยมีเพื่อน และไม่ชอบไปโรงเรียนเพราะนอกจากเพื่อน ๆ จะดูเขาเป็นคนแปลกแล้ว เขายังเบื่อวิชาที่เรียนด้วย เขาชอบอ่านหนังสือและเรียนรู้ด้วยตนเองมากกว่าฟังครู อีกทั้งเขายังไม่ชอบเล่นกีฬาอีกด้วย แต่สิ่งที่เขาชอบมากเป็นพิเศษก็คือการถ่ายหนังด้วยกล้องราคาถูกขนาด 8 ม.ม. ที่แม่ให้พ่อเป็นของขวัญ ซึ่งในตอนแรกพ่อเป็นคนถ่ายให้ แต่เด็กน้อยในวัย 8 ขวบคอยบงการพ่อให้ถ่ายอย่างนั้นอย่างนี้ จนเขายกกล้องให้ลูกเสียเลย และนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกหัดกล้องของชายผู้ที่จะเติบโตมาเป็นพ่อมดแห่งวงการฮอลลีวูด

            พ่อของเขาสนับสนุนเต็มที่ด้วยการช่วยทำฉาก และทำไฟในการทำหนังสั้น นอกจากนั้นน้องสาวทั้งสามคนยังเป็นนักแสดงให้ หนังสั้น 2 - 3 นาที ที่มีหมอฟันใช้คีมดึงฟันที่ทำจากข้าวโพดคั่วจุ่มซอสมะเขือเทศ ไปจนถึงหนังยาวที่ถ่ายรถไฟตกราง ที่ถ่ายทำโดยใช้รถไฟของเล่นที่สตีเวนได้รับเป็นของขวัญวันเกิด นอกจากนั้นสตีเวนยังตะลุยอ่านหนังสือแทบทุกชนิดเกี่ยวกับกับการสร้างภาพยนตร์ ซึ่งเขาได้นำมาทดลองถ่ายทำ โดยใช้พ่อแม่และน้อง ๆ มาเป็นผู้ช่วยและนักแสดง

            เขามุ่งมั่น ฝึกฝนและพยายามอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งเขาอายุ 13 ขวบ ภาพยนตร์ของเขาก็เข้าฉายที่โรงหนังเล็ก ๆ ข้างบ้านโดยขายตั๋วให้เข้าชมซึ่งมีคนมาดูไม่น้อย แม้ได้กำไรเพียงแค่เล็กน้อยไม่กี่เหรียญก็ตาม แต่ชื่อเสียงของเขาเริ่มดังขึ้นจนเพื่อน ๆ อยากมาเป็นดาราแสดงด้วยกันทั้งนั้น จนกระทั่งวันหนึ่งที่เขาได้ซื้อทัวร์เยี่ยมชมโรงถ่ายยูนิเวอร์แซล นั้นทำให้เขาตื่นตาตื่นใจมากจนแอบเข้ามาบริเวณโรงถ่ายหลังจากทัวร์จบแล้ว กระทั่งเจ้าหน้าที่สงสัยว่าเจ้านี้เป็นใครกันแน่ สตีเวนจึงสารภาพตรง ๆ ว่า โตขึ้นมาเขาอยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ด้วยความมุ่งมั่นของเขา ทำให้โดนใจเจ้าหน้าที่คนนั้นอย่างมาก สตีเวนจึงได้บัตรผ่านเข้าโรงถ่ายไปดูอะไรต่าง ๆ ได้ตามสบาย เขาจึงมาที่นี้ทุกวันจนกระทั่งโรงเรียนเปิด

            ด้วยแรงบัลดาลใจและประสบการณ์ที่เขาได้รับมาทำให้เขาฝึกฝนพยายามจนได้เซ็นสัญญากับโรงถ่ายทั้ง ๆ ที่ยังเรียนวิทยาลัยไม่จบ และนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นเส้นสายอาชีพที่เขาจะดำเนินไปจนประสบความสำเร็จ และกลายมาเป็นผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในรอบร้อยปีของวงการภาพยนตร์

มุ่งมั่น ฝึกฝน

            เกือบชั่วอายุคนที่ผ่านมา สิ่งที่นักจิตวิทยาทั่วโลกได้โต้เถียงกันก็คือ "พรสวรรค์ที่ติดตัวมาแต่กำเนิดนั้นมีอยู่จริงหรือไม่" ในปัจจุบันเราได้คำตอบไปแล้วก็คือ "ใช่" พันธุกรรมสามารถสร้างความได้เปรียบในหลายสถานการณ์ เช่น หากครอบครัวของเรามีนักวิ่งมาราธอน นั้นทำให้เรามีแนวโน้มได้เปรียบในเรื่องการวิ่งหรือการหายใจ 

            ในหนังสือ Please to meet me ที่เขียนโดย บิล ซัลลิแวน (Bill Sullivan) เขาได้นำคำกล่าวของ ลูเทอร์ เบอร์แบงก์ (Luther Burbank) นักพฤกษศาสตร์ชื่อดังมาเขียนเอาไว้ว่า "พันธุกรรมไม่ใช่สิ่งอื่นนอกจากสิ่งแวดล้อมที่เก็บสั่งสมมา" สิ่งที่เราพบเจอสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับเหนือพันธุกรรม (Epigenetic) ขึ้นใน DNA นั้นทำให้เกิดผู้ที่มีพรสวรรค์ที่ได้เปรียบในเรื่องบางเรื่องอันมีผลจากพันธุกรรมนั้นเอง 

            อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีข้อได้เปรียบทาง DNA มากแค่ไหนก็ตาม ความสำเร็จก็ล้วนเกิดจากการฝึกฝน และจากการศึกษามากมายของนักจิตวิทยาก็พบว่า พรสวรรค์ที่ติดตัวมาแต่กำเนิดจะยิ่งมีบทบาทน้อยลงเท่านั้น ขณะที่การฝึกฝนกลับมีบทบาทที่มากขึ้น ยกตัวอย่างการศึกษาชิ้นหนึ่งของนักจิตวิยา เค แอนเดอร์ส อีริกสัน (K. Anders Ericsson) และคณะ พวกเขาศึกษาโดยการแบ่งนักไวโอลินของสถาบันดนตรีเบอร์ลิน ออกเป็น 3 กลุ่ม 

            กลุ่มที่ 1 เป็นพวกดาวรุ่ง ซึ่งเป็นนักเรียนที่มีโอกาสจะก้าวขึ้นไปเป็นผู้บรรเลงเดี่ยวระดับโลก กลุ่มที่ 2 ถูกมองว่าเป็นเพียงแค่นักไวโอลินที่ "ฝีมือดี" เท่านั้น ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นนักเรียนที่ไม่น่าจะได้เล่นในระดับอาชีพ โดยเขาถามทุกกลุ่มว่าคุณเล่นไวโอลินมาตลอดทั้งชีวิตคุณซ้อมไปกี่ชั่วโมง

            ผลการศึกษาพบว่า นักไวโอลินทั้ง 3 กลุ่มเริ่มเล่นในวัยเดียวกันคือ 5 ขวบแต่พออายุ 8 ขวบพวกเขาก็มีชั่วโมงการซ้อมที่ต่างกัน นักไวโอลินระดับหัวกะทิแต่ละคนจะซ้อมเป็นเวลา 10,000 ชั่วโมงขึ้นไป ในทางกลับกัน นักเรียนที่เพียงแค่เล่นได้ดีจะฝึกซ้อมคนละ 8,000 ชั่วโมงเท่านั้น ส่วนนักเรียนที่ไม่ได้เป็นมืออาชีพจะฝึกซ้อมเกินกว่าคนละ 4,000 ชั่วโมงมาเพียงเล็กน้อย

            อริกสันและคณะยังได้ศึกษากับนักเปียโนเพิ่มเติม ผลที่ได้ก็คล้ายคลึงกันคือ เริ่มต้นช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อโตขึ้นจำนวนการฝึกซ้อมก็ต่างกัน แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือพวกเขาไม่พบคนที่เก่งมาตั้งแต่เกิด หรือนักดนตรีที่มีพรสวรรค์ชนิดที่ว่าซ้อมเพียงเล็กน้อยก็เก่งกว่าคนอื่นเลย 

            ในทางกลับกันสิ่งที่พวกเขาพบก็คือ คนที่เก่งอย่างมาก คือพวกที่บ้าซ้อม หรือทุ่มเทซ้อมมากกว่าคนอื่น ๆ และคนพวกนี้เกือบทั้งหมดก้าวขึ้นไปสู่จุดสูงสุดแทบทั้งนั้น แม้แต่โมสาร์ทก็ฝึกซ้อมเปียโนตั้งแต่เด็ก กว่าผลงานของเขาจะโด่งดังก็เป็นช่วงทึ่เขาอายุ 21 ปี ซึ่งเป็นเวลาฝึกซ้อมมายาวนานถึง 10 ปี เหมือนกับสตีเวน สปีลเบิร์ก ที่ใช้เวลาในการฝึกฝนตั้งแต่เขายังเป็นเด็ก จนเริ่มเชี่ยวชาญมากขึ้นเมื่อเขาเติบโตขึ้น

            อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าถ้าเราซ้อมอย่างบ้าคลั่งจนครบ 10,000 ชั่วโมงจะทำให้เราประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่างบุคคลที่เป็นโรคออทิสติก ซาวองต์ (Autistic Savant) คือบุคคลออทิสติกที่มีความสามารถพิเศษ ซึ่งมักพบว่ามีความสามารถพิเศษเฉพาะเจาะจงในบางด้าน หรืออาจมีความจำแบบพิเศษ ที่สามารถจำได้ทุกอย่างที่เรียนรู้ 

            เวลาที่เด็กเหล่านี้ชอบทำอะไร จะฝึกฝนทำสิ่งนั้นอย่างหมกมุ่น และพวกเขาหลายคนก็เติบโตขึ้นมาเป็นอิจริยะในด้านนั้น ๆ แต่เอลเลน วินเนอร์ (Ellen Winner) นักจิตวิทยาชั้นนำผู้ศึกษาเด็กที่มีพรสวรรค์ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า "ไม่มีซาวองต์คนไหนเลย ที่กลายเป็นนักสร้างสรรค์ผู้ยิ่งใหญ่ที่พลิกโฉมวงการ"

            แสดงว่าการมุ่งมั่นฝึกฝนไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียวที่จะประสบความสำเร็จได้ หลายอาชีพต้องอาศัยการฝึกฝนซ้ำ ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักหมากรุก แพทย์ผ่าตัด หรือนักกีฬา บุคคลเหล่านี้เมื่อฝึกฝนไปถึงระดับเชี่ยวชาญแล้วจะมีการปรับตัวตามกฎใหม่ได้ยากกว่าคนธรรมดา อาชีพบัญชีก็เป็นอีกหนึ่งในหลายอาชีพที่ยิ่งทำซ้ำ ยิ่งเชี่ยวชาญมากขึ้น แต่เมื่อนักบัญชีผู้ที่มีประสบการณ์สูงถูกขอให้ใช้กฎหมายลดหย่อนภาษีแบบใหม่ในงานวิจัยครั้งหนึ่ง พวกเขากลับทำผลงานได้แย่กว่ามือใหม่เสียอีก

ทดลองทำให้หลากหลาย

            เอริก เดน (Eric Dane) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยไรซ์ผู้ศึกษาพฤติกรรมองค์กรเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า "การยึดติดทางการรู้คิด" (Cognitive Entrenchment) เขาแนะนำว่าหากต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว เราจะต้องทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับกฎ 10,000 ชั่วโมงโดยสิ้นเชิง นั้นคือการฝึกฝนผ่านการแก้โจทย์ที่หลากหลายขึ้น และก็อย่างที่มีนักวิจัยคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า "หัดวางเท้าข้างหนึ่งไว้นอกโลกของตัวเองบ้าง"

            เดวิด เอปชไตน์ (David Epstein) ผู้เขียนหนังสือ Range ได้อธิบายว่า ผู้ชนะรางวัลโนเบลมักจะมีงานอดิเรกที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การเต้น เล่นมายากล การแสดง ศิลปะ และอื่น ๆ มากกว่านักวิทยาศาสตร์ทั่วไปถึง 22 เท่า นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังระดับชาติมีโอกาสจะเป็นนักดนตรี ประติมากร จิตรกร ศิลปินภาพพิมพ์ ช่างไม้ ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า นักเป้าแก้ว กวี และนักเขียนทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่งมากกว่า 

            ซานเตียโก รามอน อี กาฆัล เจ้าของรางวัลโนเบล เคยกล่าวไว้ว่า "หากมองจากไกล ๆ อาจดูเหมือนคนเหล่านี้ใช้พลังงานอย่างสะเปะสะปะและฟุ่มเฟือย แต่แท้จริงแล้ว พวกเขากำลังเพ่งสมาธิส่งพลังงานและทำให้พลังนั้นแข็งแกร่งขึ้น" 

            ดังนั้นการทดลองทำสิ่งต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากการเชี่ยวชาญในมุมแคบ ๆ ของตนเองมีประโยชน์อย่างมาก อีกทั้ง ดีน คีท ไซมอนตัน (Dean Keith Simonton) นักจิตวิทยาและนักวิจัยด้านความคิดสร้างสรรค์คนสำคัญตั้งข้อสังเกตว่า "แทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับหัวข้อแคบ ๆ" ผู้ประสบความสำเร็จด้านความคิดสร้างสรรค์ต่างสนใจในเรื่องกว้างขวาง "บ่อยครั้งความกว้างนี้ช่วยให้เกิดความรู้ที่ไม่อาจรู้ได้ในความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพียงอย่างเดียว" 

            เหมือนกับที่ สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ลงเรียนวิชาประดิษฐ์ตัวอักษร (Calligraphy) ในวิทยาลัยรีด โดยที่เขาไม่รู้ว่าวันหนึ่งวิชานี้จะเป็นส่วนสำคัญในการออกแบบตัวอักษรที่สวยงามกับเครื่องแมคอินทอชในอนาคต

            ในปี 1979 คริสโตเฟอร์ คอนนอลลี (Christopher Connolly) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาทางจิตวิทยาในประเทศอังกฤษ เพื่อช่วยให้บุคคลที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ สร้างผลงานได้ดีที่สุด จากการศึกษาและประสบการณ์ของเขา เขาค้นพบว่าคนที่ประสบความสำเร็จเมื่อย้ายสาขาอาชีพนั้นมักฝึกฝนกว้างขวางกว่าในช่วงเริ่มแรก และมักเปิด "เส้นทางอาชีพ" ไว้หลากหลายเสมอ แม้แต่ตอนทำอาชีพหลัก คอนนอลลี กล่าวว่า "วิ่งบนทางด่วน 8 เลน แทนที่จะเดินตามทางเลนเดียว คนเหล่านี้จะมีขอบเขตทักษะกว้างไกล"

            นักปรับตัวที่ประสบความสำเร็จจะเก่งกาจในการนำความรู้จากศาสตร์หนึ่งไปประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์ในอีกศาสตร์หนึ่ง และหลีกเลี่ยงการยึดติดทางการรับรู้ได้อย่างเชี่ยวชาญ ทักษะที่คนเหล่านี้เชี่ยวชาญก็คือการหลีกเลี่ยงรูปแบบเดิม ๆ ในโลกอันโหดร้ายที่เต็มไปด้วยปัญหาไร้นิยามและมีกฎเกณฑ์ตายตัวเพียงเล็กน้อย การมีขอบเขตกว้างไกลอาจช่วยเปลี่ยนชีวิตได้เลยทีเดียว

            กลับมาที่ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) นอกจากเขาจะมุ่งมั่น ฝึกฝน การถ่ายหนังตั้งแต่เขายังเป็นเด็ก เขายังทดลองวิธีแปลกใหม่ในการถ่าย การใช้เทคนิคต่าง ๆ สาเหตุที่เขาได้รับฉายาพ่อหมดแห่งวงการฮอลลีวูด เพราะเขาทดลองสร้างสรรค์ภาพยนตร์ต่าง ๆ มากมาย 

            เราจึงได้เห็นลักษณะของภาพยนต์ที่ไม่ค่อยซ้ำแบบเดิม เช่น ฉลาม มนุษย์ต่างดาว ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ ผจญภัย ไปจนถึงไดโนเสาร์ เหมือนกับลีโอนาโด ดาวินชี (Leonardo Da Vinci) ที่ชอบการทดลองไปเรื่อย ๆ จนไม่ค่อยมีผลงานไหนที่เสร็จสมบูรณ์เลย แต่เขาก็ได้ชื่อว่าอัจฉริยะตลอดกาล

            อย่างไรก็ตามผมไม่ได้บอกว่าเราไม่ควรฝึกฝนให้มีความเชี่ยวชาญ เพราะไม่ว่าจะอย่างไร กฎ 10,000 ชั่วโมง ก็ยังสามารถนำมาใช้ได้ แต่นอกเหนือจากการฝึกฝนอย่างมุ่งมั่น เราจะต้องไม่ลืมนำการลองทำสิ่งต่าง ๆ อย่างหลากหลายมาฝึกฝนร่วมด้วย กล่าวคือ ใน 10,000 ชั่วโมง เราสามารถฝึกฝนทักษะที่หลากหลายเพื่อสร้างสรรค์แนวทางหรือวิธีการเฉพาะของตนเอง เหมือนกับสปีลเบิร์ก และ ดาวินชี ที่ทดลองวิธีการใหม่ ๆ จนทั่งคู่ได้ชื่อว่าเป็นอัจฉริยะและพ่อมดในทางของตนเอง 

ความสำเร็จไม่มีสูตรเฉพาะแต่เป็นจุดหมายที่ต้องอาศัย การลองผิดลองถูก การทดลอง และการฝึกฝน

อ้างอิง

Epstein, D. (2019). Range: Why Generalists Triumph in a Specialized World. NY: Riverhead Books.

Gladwell, M. (2008). Outliers: The Story of Success. NY: Penguin.

Grant, A. (2017). Originals: How Non-Conformists Move the World. NY: Penguin.

Sullivan, Bill. (2019). Pleased to Meet me : Germs, and the Curious Forces That Make Us Who We Are.  DC: National Geographic Society.

คาลอส บุญสุภา. (2564). ข้อเสียของการเลี้ยงลูกแบบเข้มงวด (Strict). https://sircr.blogspot.com/2021/06/strict.html

สุภาศิริ สุพรรณเภสัช. (2552). วันเยาว์ของคนใหญ่. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน.

ความคิดเห็น