"การวัดคุณค่าตัวเองด้วยการเปรียบเทียบราวกับเทียบสินค้า
คือหนทางที่รังแต่จะทำให้เรารู้สึกทุกข์อยู่ร่ำไป"
สมมติว่าคุณเล่นเปียโนเพื่อความบันทึงอยู่ในวงดนตรีของเพื่อนมหาวิทยาลัย แล้ววันหนึ่งคุณก็ไปเจอคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เล่นเปียโนซึ่งอาจจะเก่งกว่าคุณเล็กน้อย คุณก็อาจจะมีเป้าหมาย แล้วพยายามฝึกฝนมากขึ้น เพื่อให้เก่งแบบนั้นให้ได้ แต่โชคร้ายที่ในโลกความจริงโดยส่วนมากคุณมักจะไปเปรียบตัวเองกับคนที่เก่งกว่าคุณไปหลายขุม อย่างเช่น เอลตัน จอห์น (Elton John) การเปรียบเทียบแบบนั้นจะทำให้คุณกลายเป็นบ้า เพราะคุณจะลืมตัวว่าตัวเองพึ่งจะฝึกเล่นเปียโนได้ไม่นาน และเล่นเพื่อความสนุก กับคนที่เป็นอัจฉริยะอย่างนั้น หรือหากคุณเล่นกอล์ฟ คุณก็อาจจะเปรียบเทียบตัวเองกับ ไทเกอร์ วูดส์ (Tiger Woods) โดยไม่ได้ตระหนักว่าวูดส์ฝึกเล่นกอล์ฟตั้งแต่ยังพูดไม่ชัดเลยด้วยซ้ำ
หรือลองนึกภาพตัวเองกำลังขับรถที่คุณพยายามเก็บเงินแทบตายเพื่อจะได้มันมา เพื่อขับไปเที่ยวหัวหิน คุณแวะร้านอาหารที่คุณชอบ คุณรู้สึกภูมิใจกับรถคุณมาก แต่คุณดันสังเกตเห็นผู้ชายคนหนึ่งเดินออกมาจากรถเบนซ์ป้ายแดงทะเบียน หต 5555 หลังจากนั้นคุณก็เริ่มรู้สึกหงุดหงิด และเริ่มเปิดอินเทอร์เน็ตดูรถยี่ห้อต่าง ๆ โดยที่คุณไม่รู้ตัว คุณรู้สึกรักรถของคุณน้อยลง
แน่นอนว่าคุณอาจจะบอกว่า "โอ้ยฉันไม่เคยเปรียบเทียบกับใครหรอก" ผมเชื่อนะว่าคุณอาจจะไม่พยายามคิดจะไปเปรียบเทียบกับใคร แต่ในความจริงแล้วเราเปรียบเทียบกับคนอื่นโดยไม่รู้ตัว เราเรียกว่าอคติจากการเปรียบเทียบทางสังคม (Social Comparison Bias) ซึ่งคือความรู้สึกไม่ชอบ และพยายามที่จะแข่งขันกับผู้อื่น ซึ่งมักจะออกมาในรูปแบบของการเปรียบเทียบ อีกทั้งยังมีผลการวิจัยที่พบว่าการที่เราพบเจอแต่คนที่ดูดีกว่า รวยกว่า หรือมีอำนาจมากกว่าจะทำให้ความมั่นใจของเราลดลงเหมือนถูกจับยัดลงชักโครก พร้อมกับกดน้ำตามไปด้วย สิ่งนี้แหละที่เรียกว่าอคติจากการเปรียบเทียบทางสังคม
อันที่จริงเรื่องนี้มีการพูดถึงมานานมาแล้ว แต่มันกลับปะทุขึ้นมาย่างรุนแรงในสมัยนี้ ลองนึกภาพในอดีตดูสิครับว่านาน ๆ เราจะได้ไปเจอคนที่ขับรถแพง ๆ เล่นดนตรีเก่ง ๆ กินอาหารแพง ๆ เล่นกีฬาเก่ง ๆ แต่ทุกวันนี้เพียงแค่กระดิกนิ้วเราก็สามารถเจอกับคนเป็นพันคนที่เราคิดว่ามีชีวิตดีกว่าตนเองได้ ทั้ง ๆ สิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นโพสต์เป็นเพียงแค่วันหนึ่งในไม่กี่ปีที่เขาได้ทำสิ่งนั้นด้วยซ้ำ ดังนั้นสิ่งที่เราพบเจอทุกวันจึงคือคำเชิญใหเราเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ๆ อย่างไม่รู้จบและเลี่ยงไม่ได้เลยที่เราจะถูกทำให้รู้สึกขาดตกบกพร่องอะไรสักอย่าง
ในหนังสือ Emotional Agility ซูซาน เดวิด (Susan David) ได้อธิบายเกี่ยวกับการเปรียบเทียบแบบเห็นภาพได้ชัดเจนมาก เธออธิบายว่า "คุณอาจจะพึงพอใจกับการอยู่ในบ้านกว้างใหญ่และภูมิใจในตัวสามีที่มีอาชีพสอนเด็กพิเศษมาตลอด แต่ความรู้สึกดีของคุณอาจลดลงเมื่อคุณบังเอิญไปเจอแฟนเก่าที่ตอนนี้เป็นศัลยแพทย์ทรวงอกที่ยื่นขอไปเป็นอาสาสมัครกับโครงการแพทย์ไร้พรมแดน และเพิ่งตีพิมพ์นิยายเล่มแรกไปสด ๆ ร้อน ๆ"
ซูซานยังอธิบายอีกว่า การเปรียบเทียบทางสังคมไม่เพียงทำให้เรารู้สึกหดหู่เมื่ออยู่ในสถานะที่ต่ำกว่าเท่านั้น จากผลการศึกษาที่นักวิจัยขอให้กลุ่มตำรวจเปรียบเทียบตัวเองกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พวกเขาพบว่าตำรวจที่เชื่อสุดหัวใจว่าอาชีพตำรวจมีสถานภาพสูงกว่า กลับได้คะแนนต่ำสุดเมื่อวัดสุขภาพจิต เช่น ในประเด็นเรื่องของตัวตนและความพึงพอใจในชีวิต ดูเหมือนว่าทันทีที่คุณเริ่มต้นการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ต่อให้เราเชื่อว่าเราอยู่เหนือกว่า เราก็ยังติดกับดักการเป็นคนเด่นคนดัง และต้องอาศัยการรับรองจากปัจจัยภายนอกเพื่อเชิดชูความรู้สึกว่าตัวเองมีค่าไปโดยปริยาย มันคือเกมที่มีแต่แพ้ เพราะจะมีคนอื่นที่รถเร็วกว่าเรา หรือมีหน้าท้องแบนราบกว่า หรือกระทั่งมีบ้านหลังใหญ่กว่าเราเสมอ
ในหนังสือ Luxury Fever ผู้เขียน โรเบิร์ต แฟรงค์ (Robert Frank) ได้ตั้งคำถามว่า ทำไมเมื่อประเทศหนึ่งที่มั่งคั่งขึ้นประชากรของประเทศนั้นถึงไม่ได้มีความสุขมากขึ้น เขาพิจารณาความเป็นไปได้ว่า เมื่อความต้องการขั้นพื้นฐานบรรลุแล้ว เงินก็ไม่อาจซื้อความสุขเพิ่มเติมได้อีก แต่หลังจากที่เขาได้ทำการศึกษาลงไปลึกขึ้นเรื่อย ๆ แฟรงก์ก็พบเจอว่าการบรรลุความต้องการพื้นฐานแล้วไม่ได้เป็นสาเหตุของการที่มีความสุขน้อยลงเพียงอย่างเดียว แต่มันมีพฤติกรรมบางอย่างที่น่าสนใจ เช่น ทำไมคนเราถึงทุ่มเทเงินทองซื้อของฟุ่มเฟือยกับสินค้าอื่น ๆ และปรับตัวเข้ากับของพวกนั้นจนสมบูรณ์ แทนที่จะซื้อของที่ทำให้ตัวเองมีความสุข และสุขภาพดีกว่าถ้าทำงานให้น้อยลง "ใช้จ่าย" เวลาไปกับครอบครัวและเพื่อน
แฟรงก์อธิบายว่า มันคือการบริโภคเพื่อโอ่อวด ซึ่งหมายถึงการซื้อสิ่งของที่คนอื่นเห็นได้ง่ายและถือเป็นสัญลักษณ์ความสำเร็จของคนคนนั้น สินค้าเหล่านี้เป็นเหมือนการต่อสู้แข่งขัน คุณค่าของมันไม่ได้มาจากเป้าหมายในการใช้งานมากเท่ากับการประกาศสถานภาพผู้เป็นเจ้าของ ถ้าทุกคนใส่แหวน คนแรกในที่ทำงานที่ใส่แหวนทองวงเล็กก็จะโดดเด่นขึ้นมา ต่อมาถ้าทุกคนขยับมาใส่แหวนทองวงเล็กจนเป็นเรื่องธรรมดาไปหมด ก็ต้องซื้อแหวนทองวงใหญ่ขึ้นไปเพื่อที่จะโดดเด่นขึ้นมาและพึงพอใจมากขึ้น กล่าวคือ แหวนทองวงเล็ก ๆ ก็ไม่สามารถสร้างความพึงพอใจได้ต่อไป
การบริโภคเพื่อโอ่อวดคือเกมที่มีแพ้และชนะ
การขยับขึ้นของแต่ละคนคือการลดคุณค่าคนอื่น
พอที่ทำงานใส่แหวนทองกันหมด จะให้ทุกคนกลับมาเริ่มที่แหวนธรรมดามันก็เป็นไปไม่ได้แล้ว ทั้ง ๆ ที่มันไม่ได้มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องใส่แหวนทองกันหมดทุกคน จะดีด้วยซ้ำถ้าทุกคนใส่แหวนธรรมดา (เพราะมันไม่เปลืองเงิน) มันก็เหมือนกับการทดลองที่ให้คนเลือกระหว่าง การที่คุณมีรายได้ปีละ 90,000 ดอลลาร์ และเพื่อนร่วมงานมีรายได้เงินปีละ 70,000 ดอลลาร์ หรือ งานที่คุณมีรายได้ปีละ 100,000 ดอลลาร์ แต่เพื่อนร่วมงานมีรายได้ปีละ 150,000 ดอลล่าร์ เป็นคุณจะเลือกแบบไหนครับ.....คนส่วนใหญ่เลือกแบบแรกที่มีเงินมากกว่าเพื่อนคนอื่น ไม่ต้องแปลกใจหรอกครับมันเป็นสัญชาตญาณ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนทุกคนจะเลือกแบบแรกนะครับ
อีกสิ่งหนึ่งที่ตรงกันข้ามกับการบริโภคแบบโอ่อวดก็คือ การบริโภคแบบไม่โอ่อวด หมายถึง การซื้อสินค้าหรือกิจกรรมที่มีคุณค่าต่อตัวเอง เช่น การหยุดพักร้อน หรือการที่เราซื้ออะไรมาก็ตามโดยที่ไม่มีใครรู้เลย ถ้าเราทุกคนต่างวิ่งไล่ความสุขจากการแข่งขัน มันก็จะติดอยู่กับเกมที่มีผู้แพ้และผู้ชนะ "วันนี้เราชนะ" "พรุ่งนี้เราแพ้" ไม่ต่างอะไรกับหนูติดจั่นชั่วนิรันดร การแสวงหาความหรูหราเพื่ออวดกันแบบตั้งใจบ้าง ไม่ตั้งใจบ้าง มันคือทางตันที่คนเราแข่งกันวิ่งไปหา ด้วยความเชื่อผิด ๆ ว่ามันจะทำให้เรามีความสุข
วิธีหลุดจากทุกข์แห่งการเปรียบเทียบ
เราต้องไม่ลืมว่าการเปรียบเทียบมันไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้าย มันเป็นสัญชาตญาณ ดังนั้นมันจึงไม่แปลกที่เราจะแข่งขันกับคนอื่น บางทีเราอาจจะอยากใช้เทคโนโลยีราคาแพง ๆ ทั้งที่เราไม่รู้จะเอาไปใช้ทำอะไร บางครั้งเราก็อยากได้ของราคาแพง ๆ ทั้งที่มันไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับเราเลย ขอให้ทุกท่านเข้าใจว่านี้คือธรรมชาติ อย่าไปมองว่าโง่ ขี้อวด หรือชอบโชว์ มันเป็นเรื่องธรรมดา "ไม่ต้องคิดมาก" พยายามยอมรับในความจริง ยอมรับสิ่งที่ตัวเองเป็น ยอมรับข้อบกพร่องของตัวเอง พยายามใจดีกับตัวเองให้มาก เมตตากับตัวเองเข้าไว้ แล้วเราจะเริ่มสามารถสื่อสารกับตัวเองได้มากขึ้น
จากนั้นให้เราพยายามฝึกใช้สติให้มาก พยายามใช้ระบบ 2 หรือการคิดวิเคราะห์ที่คิดผ่านจิตสำนึก ให้มากที่สุด โดยการฝึกสติ ซึ่งไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิเสมอไป เพียงแค่ลองสังเกตคิดใคร่ครวญสิ่งที่ทำ เช่น กับข้าวที่กินคืออะไร น่าอร่อยไหม ชอบตรงไหน สีอะไร ราคาเท่าไหร่ หลังจากที่กินไปแล้ว ก็ให้ลองใคร่ครวญว่ามันอร่อยมากแค่ไหน ชอบเพราะอะไร กล่าวคือ คุยกับตัวเองบ่อย ๆ มันจะทำให้เรามีพื้นที่ให้กับระบบ 2 (การคิดวิเคราะห์) มากขึ้น เพราะสุดท้ายคนที่อยู่กับเราตลอดก็คือตัวเรานั้นเอง
ต่อมาให้เราทบทวนนิยามของความสำเร็จ ความสุขของตัวเอง อะไรคือความสุขของเรา ความสำเร็จของเราคืออะไรกันแน่ ลองเปรียบเทียบตัวเองในปัจจุบันกับอดีตดูว่าเรามีความสุขมากขึ้น หรือประสบความสำเร็จมากขึ้นหรือไม่ การที่เราโฟกัสกับตัวเองมากขึ้นมันยังทำให้การเห็นคุณค่าในตัวเองของเราสูงขึ้นอีกด้วย หากเรานึกภาพไม่ออก หรือรู้สึกว่า "มันก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย" ไม่เป็นไรครับ เริ่มต้นใหม่ได้
เราสามารถจดไดอารี่ประจำวันว่า วันนี้สิ่งดีอะไรเกิดขึ้นบ้าง 3 ข้อ เราฝึกฝนอะไรไปแล้วบ้าง เช่น วันนี้อ่านหนังสือ 30 หน้า วันนี้ฟัง Podcast 30 นาที ฝึกเล่นเปียโน 30 นาที ฯลฯ เราทำสิ่งดีกับคนอื่นอะไรไปบ้าง 3 ข้อ และสุดท้าย ให้ขอบคุณตัวเองและคนอื่น ๆ รวมกัน 3 คน เช่น ของคุณตัวเองที่พยายามเขียนไดอารี่ ขอบคุณเพื่อนที่รับฟัง ขอบคุณแฟนที่คอยอยู่ข้าง ๆ ขอบคุณพ่อแม่ที่เป็นกำลังใจให้ (ถ้าคิดไม่ออกเริ่มจาก 2 คนก็ได้ครับ เมื่อเวลาผ่านไปจนเป็นนิสัยแล้วจะเขียนได้เยอะมากขึ้นเอง) เมื่อเราทำแบบนี้ทุกวันพอเวลาผ่านไปเราจะเริ่มตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังสามารถกลับไปอ่านดูได้อีกด้วย
สุดท้าย เหมือนกับที่ซูซานบอกไว้ในหนังสือของเธอว่า "จงตั้งใจทำข้อสอบของตัวเองไป" มันก็เหมือนเวลาที่เราทำข้อสอบสมัยเป็นเด็กน้อย เวลาที่เราไม่มั่นใจเราก็อยากจะลอกคนอื่น ทั้ง ๆ ที่คำตอบตัวเองมันอาจจะถูกอยู่แล้ว แต่เราดันไปลบมันทิ้งแล้วลอกตามคนอื่นซึ่งบ่อยครั้งมันจะผิด พูดง่าย ๆ ก็คือ "พยายามหยุดสงสัยในตัวเอง" อะไรจะเกิดขึ้นอย่าไปกลัว ตั้งใจทำสิ่งที่เป็นหน้าที่ของเรา สิ่งที่เราอยากทำ ไม่ต้องสนใจคนอื่น ซื้อในสิ่งที่คิดว่ามีประโยชน์กับเรา แม้ว่าลึก ๆ เราจะกำลังแข่งขันกับใครอยู่ก็ช่างมัน แต่ถ้าบางสิ่งบางอย่างที่คนอื่นเค้ามีกันแล้วเราไม่อยากมีหรือไม่มีประโยชน์อะไรกับเรา ก็ไม่จำเป็นต้องไปหามา แม้คนอื่นจะมองว่าเราแปลกก็อย่าไปสนใจ ทำเหมือนกับสิ่งที่ เกรแฮม มัวร์ (Graham Moore) ผู้ได้รางวัลสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมจากเรื่อง The Imitation Game พูด
"จงเป็นในสิ่งที่แปลกและแตกต่างต่อไป"
ตั้งใจทำข้อสอบของตัวเองต่อไปครับ
อ้างอิง
Haidt, J. (2006). The Happiness Hypothesis: Finding Modern Truth in Ancient Wisdom. NY: Basic Books.
Nienau, J. 2019. How Social Comparison Bias is Affecting Us and What We Can Do About It. https://medium.com/the-post-grad-survival-guide/how-social-comparison-bias-is-affecting-us-and-what-we-can-do-about-it-d9984cb5e43a
คาลอส บุญสุภา. (2564). ถึงเวลาที่ต้องเมตตาต่อตนเองแล้ว (Self-Compassion). https://sircr.blogspot.com/2021/07/self-compassion.html
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น