การเติบโต เรียนรู้ เพื่อก้าวผ่านความทุกข์

"ผมเกลียดโรคซึมเศร้า ผมกลัวมันด้วย กลัวจับใจเลยล่ะ 
แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ทำให้ผมเป็นผม มันเป็นราคาที่ต้องจ่ายเพื่อให้รู้สึกถึงชีวิต และนั้นคุ้มค่าเสมอ แค่ได้มีตัวตนอยู่ ผมก็พอใจแล้ว"

            แมตต์ เฮก (Matt Haig) นักเขียนวรรณกรรมชื่อดังชาวอังกฤษ เคยทนทุกข์ทรมานจากโรคซึมเศร้าและโรคแพนิก เขาเคยเกือบจะจบชีวิตตัวเอง เหตุการณ์เกิดในตอนที่เขาอายุ 24 ปี ในขณะที่เขาอาศัยอยู่ที่เมืองสวยสงบบนเกาะอิบิซาที่ประเทศสเปน อาการซึมเศร้าที่ได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของเขามันเริ่มกำเริบอย่างรุนแรงที่แม้แต่ยาต้านเศร้าก็ยังเอาไม่อยู่ เขาเดินออกไปที่ริมหน้าผาและจะต้องตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ ว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อหรือจะตาย

            "ผมไปถึงหน้าผาจนได้" เฮกเล่า "อีกก้าวเดียวก็ไม่ต้องรู้สึกแบบนี้อีกแล้ว ก้าวเดียวกับความเจ็บปวดจากการมีชีวิตอยู่ ช่างเป็นทางเลือกที่ง่ายดาย" เขายืนอยู่สักพักรวบรวมความกล้า แต่สุดท้ายก็เกิดกลัวขึ้นมา เขากลัวว่าถ้าไม่ตายขึ้นมาและเป็นอัมพาต เขาจะต้องติดอยู่ในสภาพนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่แย่มาก เขาจึงเดินออกจากหน้าผาเพื่อกลับกลับวิลลา และอาเจียนออกมาด้วยความเครียดจากเรื่องราวทั้งหมด "ผมคิดว่าชีวิตเสนอเหตุผลของการดำรงอยู่เสมอถ้าเราตั้งใจฟัง" เขากล่าว

            เฮกกลับมาอยู่ที่อังกฤษกับครอบครัวและแฟนสาวของเขา แอนเดรีย (Andrea) เขาไม่กล้าออกจากบ้านโดยไม่มีเธอ โดยอาการซึมเศร้าและแพนิก ทำให้เขาแทบสิ้นสติเพียงแค่จะต้องออกไปซื้อของข้างนอกบ้านไปไม่กี่นาที บางครั้งเขารู้สึกสงสารตัวเองที่เปราะบางเกินไปสำหรับโลกแห่งความฉับไว เขาจินตนาการว่าได้ล้วงกะโหลกของตัวเอง แล้วควักส่วนที่ทำให้รู้สึกแย่ออกมา เขาห่อเหี่ยวและสิ้นหวัง ภาวนาให้ความคิดปลิวออกไปจากหัว 

            อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของประเทศสหรัฐอเมริกา เคยกล่าวในช่วงอายุ 32 ว่า "เวลานี้ผมคือคนที่เป็นทุกข์ที่สุดที่ยังหายใจอยู่"  เขาเผชิญกับวิกฤติสุขภาพจิตจากโรคซึมเศร้า เขาต้องสูญเสียแม่ของตัวเองตั้งแต่ยังเด็ก และสูญเสียคนรักคนแรกจากไข้ไทฟอยด์ ในวัยหนุ่ม "หากแบ่งสิ่งที่ผมรู้สึกให้ทุกคนบนโลก จะไม่มีใครมีใบหน้าเปื้อนยิ้มอยู่เลย" เขากล่าว "ผมบอกไม่ได้ว่าจะดีขึ้นไหม ผมแน่ใจว่าจะไม่ดีขึ้น ผมเป็นตัวเองไม่ได้อีกแล้ว ผมต้องตายหรือไม่ก็ดีขึ้นเท่านั้น" ในช่วงเวลาแห่งความเศร้าขอการเสียคนรักไป เพื่อน ๆ เขาลินคอล์นต้องนำของมีคมออกจากที่พักของเขา เพื่อไม่ให้เขาใช้มันจบชีวิตตัวเอง

            ลินคอล์น และ เฮก ต่างก็ต้องเผชิญหน้ากับความเลวร้ายของโรคซึมเศร้า เผชิญหน้ากับความบัดซบของชีวิต และความรู้สึกที่ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป พวกเขาล้มเหลวในช่วงต้นของอาชีพการงาน เฮกไม่แม้แต่จะสามารถโทรศัพท์ขายของได้ ลินคอล์นก็ประสบกับความล้มเหลวในการทำธุรกิจร้ายขายของชำ จนต้องเป็นหนี้ อีกทั้งยังต้องสูญเสียคนรัก ซึ่งเป็นบุคคลที่เขารักจนหมดหัวใจอีกด้วย

            แต่ในท้ายที่สุด แมตต์ เฮก กลายเป็นนักเขียนวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ และประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล ส่วน อับราฮัม ลินคอล์น กลายเป็นทนายความที่มีความสามารถสูง และชนะการเลือกตั้งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี อีกทั้งยังสามารถรวมชาติที่ขัดแย้งกันได้สำเร็จ และยังประกาศเลิกทาส ซึ่งทำให้เขาเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกคนหนึ่งตลอดกาลอีกด้วย อะไรที่เป็นจุดเปลี่ยน ที่สามารถทำให้พวกเขาเติบโต และเรียนรู้ จนสามารถก้าวผ่านความทุกข์นั้นไปได้

การเติบโต เรียนรู้ 

            โดยปกติแล้วบุคคลที่เผชิญกับความทุกข์รู้ว่าพวกเขาควรจะต้องทำอะไร แต่เขาก็ดำเนินชีวิตไปแบบเดิมเหมือนกับทุกวัน พูดง่าย ๆ หากเรารู้สึกมีความทุกข์แล้วทุกวันนี้เรานอนเฉย ๆ ไม่ไปไหน เราก็จะนอนแบบนั้นไปทุกวัน แม้ว่าเราจะตระหนักได้ว่าควรจะลุกขึ้นมา แล้วทำอะไรบางอย่าง ต่อให้เราเข้าไปอ่านหนังสือแล้วพบแรงบัลดาลใจ แรงจูงใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราก็จะทำเหมือนเดิมอย่างที่มันเป็น นั้นคือนอนอยู่เฉย ๆ 

            เหตุผลที่เป็นแบบนี้เพราะว่ามันกลายเป็นนิสัยไปแล้ว นั้นจึงเป็นเหตุผลให้เทคนิคการเปลี่ยนนิสัยที่ประสบความสำเร็จ จะต้องเริ่มจากความสำเร็จเล็ก ๆ ไปสู่ความสำเร็จที่ใหญ่ได้ในท้ายที่สุด (อย่าไปเชื่อพวกที่บอกว่าแค่เปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยน) ยกตัวอย่างเช่น หากเราอยากเป็นนักเขียน เราจะต้องเริ่มจากหัดเขียน ฝึกเขียนจากเล็ก ๆ น้อย ๆ  เช่น หัดเขียนไดอารี่ บรรยายความรู้สึก ความคิด สิ่งเกิดขึ้นทุกวัน จากนั้นจึงเริ่มหัดเขียนให้ยาวขึ้นจากการเขียน Blog, Facebook Page หรือ Facebook ของตัวเองก็ได้เช่นกัน

            สิ่งสำคัญก็คือเราจะต้องทำไปทุกวัน เช่นเดียวกับ แมตต์ เฮก ที่เป็นนักอ่านตัวยง เขาอ่านหนังสือเยอะมากโดยเฉพาะวรรณกรรมต่าง ๆ นั้นทำให้เขาซึมซับการใช้ภาษา การเขียน เริ่องราวต่าง ๆ มากมาย นอกจากนั้นเขายังหัดเขียนหนังสือด้วย จนวันหนึ่งหนังสือของเขาได้รับการตีพิมพ์ นั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นอาชีพนักเขียนของเขา อับราฮัม ลินคอล์น ก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าเขาจะเจ็บปวดกับความทุกข์จากการสูญเสีย และโรคซึมเศร้าที่เกาะกินจิตใจเขา แต่เขาก็ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นทนายความที่ช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอ และร่ำเรียนฝึกฝนจนสามารถเป็นทนายและทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ

            แน่นอนว่าอยู่ดี ๆ เราจะตั้งเป้าหมายแล้วฝึกฝนเลยไม่ได้เรื่องง่าย และจากประสบการณ์ของผมที่แวดล้อมไปด้วยผู้คนที่มีความทุกข์ และซึมเศร้ามันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาเหล่านั้นจะเปลี่ยนแปลงตัวเองจากการนอนนิ่ง โทษตัวเอง คิดมาก เพื่อลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างหนึ่งได้ ไม่ใช่แค่เราต้องมีความพยายามเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีจุดเปลี่ยนด้วย หรือเรียกว่าจุดพลิกผัน 

            จุดเปลี่ยนหรือจุดพลิกผันสามารถเป็นแรงผลักดันให้เรามีความพยายาม หรือมีความพยายามมากขึ้น กล่าวคือ มีความพยายามอย่างเดียว เราไม่มีทางเติบโตเพื่อก้าวผ่านความทุกข์ได้ แต่จะต้องมีแรงจูงใจที่จะเติบโตให้ได้ด้วยเช่นกัน แมตต์ เฮก มีจุดพลิกผันคือ แฟนของเขาแอนเดรียที่คอยช่วยเหลือและให้กำลังใจ ทำให้เขาผลักดันตนเองให้พยายามเขียนหนังสือ

            อับราฮัม ลินคอล์น แม้จะไม่มีใครคอยอยู่เคียงข้างและให้กำลังใจแบบ เฮก แต่ด้วยความที่เขาเติบโตมากับพ่อที่ชอบใช้ความรุนแรงทำโทษ และเกลียดระบบทาสมาตั้งแต่เด็ก นั้นทำให้เขาอยากช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอ พูดง่าย ๆ ประสบการณ์ของเขามันทำให้เขาอ่อนโยนและปรารถนาที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ซึ่งความปรารถนานั้นเป็นแรงผลักดันให้เขา เติบโต เรียนรู้ จนเป็นทนายความที่มีความสามารถ และเป็นที่ยอมรับได้ในที่สุด ซึ่งต่อมาความปรารถนาดังกล่าวได้พัฒนาไปไกลเกิน จนมันแปรเปลี่ยนกลายเป็นความปรารถนาที่จะยกเลิกระบบทาสที่เลวร้าย ซึ่งความปรารถนาที่แปรเปลี่ยนนั้นได้กระตุ้นให้เขาลงสมัครเป็นนักการเมือง และสมัครเป็นประธานาธิบดีในท้ายที่สุด

            ในหนังสือ Reason To Stay Alive แมตต์ เฮก (Matt Haig) ได้ยกบทความจากนิตยสาร The Atlantic เขียนโดย โจชัว วูล์ฟ เชงก์ (Joshua Woff Shenk) ซึ่งอธิบายว่าโรคซึมเศร้ากระตุ้นให้ลินคอร์นเข้าใจชีวิตมากขึ้นได้อย่างไร โดยเขาอธิบายว่า "เขา (ลินคอล์น) ดึงดันจะยอมรับความกลัวที่มี ช่วงอายุ 20 ปลาย ๆ ถึง 30 ต้น ๆ เขาดำดิ่งลึกลงไปในความกลัว ร่อนอยู่เหนือคำถามที่ อัลแบร์ กามู กล่าวว่า เป็นคำถามข้อเดียวที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ เขาถามว่าฉันจะอยู่ได้หรือไม่ จะรับมือกับความลำบากในชีวิตได้หรือเปล่า สุดท้ายเขาปลงใจว่าต้องเผชิญหน้ากับมัน... เขามีความทะยานอยากอันยากจะหักห้าม" ที่จะบรรลุเป้าหมายบางประการขณะที่มีอยู่ชีวิต

            นักจิตวิทยาวิวัฒนาการอาจกล่าวได้ถูกต้อง เราวิวัฒนาการมาไกลเกินไป สิ่งที่เราต้องชดใช้ในการเป็นเผ่าพันธุ์แรกที่ถือครองสติปัญญามากเพียงพอจะเข้าใจจักรวาล ก็คือความสามารถในการสัมผัสถึงความมืดทั้งมวลในจักรวาลนั้นเอง มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่เราจะเกิดความทุกข์ ความไม่สบายใจ เพราะทุกวันจิตใจของเราดำรงอยู่ด้วยสัญชาตญาณ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการเป็นคนสำคัญ การอยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ความต้องการขั้นพื้นฐาน มันบีบให้เราต้องแข่งขัน เปรียบเทียบ เอาชนะ แสดงความพิเศษออกมา และถ้าเราไม่สามารถบรรลุตามความต้องการเหล่านั้นได้ เราก็จะเกิดความทุกข์หรือความเศร้าขึ้นมา

            และเมื่อเรามีความทุกข์จิตใจของเราก็จะใช้กลไกการป้องกันตนเอง (Defense Mechanisms) ไม่ว่าจะเป็นการโทษคนอื่นเมื่อเราไม่ได้สิ่งที่ต้องการ เช่น "เพราะหัวหน้างานไม่ดีฉันถึงไม่ผ่านโปร" หรือ หาเหตุผลเข้าข้างต้นเอง เช่น "ถึงแม้ฉันจะได้สิ่งนั้นมา มันก็ไม่ได้ทำให้ฉันมีความสุขหรอก ฉันก็เลยไม่อยากได้มัน" หรือ ปฏิเสธความจริง เช่น "ฉันไม่ได้ทุกข์หรอก ฉันไม่เคยทุกข์มาก่อน" กลไกดังกล่าวจะช่วยให้เราสบายใจมากขึ้น และผลักเราให้ออกจากปัญหา ต่างกับคนที่มีความทุกข์ ความเศร้า เขาจะอยู่กับปัญหานั้นซึ่งจะมีทางเลือกอยู่คือ อยู่เฉย ๆ หรือเผชิญหน้าและยอมรับความจริง

เผชิญหน้าและยอมรับความทุกข์

            เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือเหตุการณ์ใด ๆ ได้ จนกว่าเราจะสามารถยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นให้ได้เสียก่อน เราต้องยอมรับในสิ่งที่โลกมันเป็น เราจะสามารถอยู่บนโลกนี้อย่างมีความสุขไม่ได้จนกว่าเราเลิกพยายามควบคุม หรือคาดหวังว่าทุกสิ่งต้องเป็นไปอย่างที่เราต้องการ เราจะไม่สามารถฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ หากเราหยุดทำให้ตัวเองรู้สึกทุกข์ไปเรื่อย ๆ โดยการพยายามอยู่เฉย ๆ ไม่เผชิญหน้าและยอมรับมัน

          เราจะต้องยอมรับว่าทุกอย่างก็เป็นอย่างที่มันเป็น เราจะสามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้ ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับว่า "เรามันก็คือมนุษย์ตัวเล็กคนหนึ่ง เป็นเพียงแค่เศษเล็ก ๆ ในจักรวาลอันกว้างใหญ่นี้ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ดำรงอยู่ด้วยสัญชาตญาณที่ควบคุมไม่ได้ ใช้เหตุผลน้อยและมักจะทำในสิ่งที่ผิดพลาดเสมอ" คนที่กำลังเผชิญวิกฤตสำคัญในชีวิตไม่ว่าจะเป็นการเลิกรา ตกงาน หรือพลาดโอกาสต่าง ๆ มักจะมีแนวโน้มที่จะเหยียดหยามตัวเอง ประณาม และลงโทษตัวเอง ในหนังสือ Emotional Agility ซูซาน เดวิด (Susan David) ผู้เขียนใช้คำว่า "พวกเขาเอาแต่พล่ามในหัวและย้ำแต่คำว่า "ควรจะ" "น่าจะ" และ "ฉันก็แค่คนที่ไม่ดีพอ" มันเป็นเสียงตัวป่วนดี ๆ นี้เอง"

            อย่างไรก็ตามไม่เพียงแต่เราต้องเผชิญหน้าและยอมรับกับปัญหาและความทุกข์ที่เกิดขึ้น เราจะต้องไม่ลืมว่าสิ่งเหล่านั้นมันเล็กกว่าเราเสมอ แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันจะดูใหญ่โตสักแค่ไหน แต่มันคือสิ่งที่ใช้ชีวิตในตัวเรา แต่เราไม่ได้ใช้ชีวิตในตัวมัน มันอาจจะเป็นเมฆครึ้มพาดผ่านฟ้า ทว่าหากจะเปรียบเทียบเช่นนั้นแล้วล่ะก็ เรานั้นเองคือท้องฟ้า เราอยู่มาก่อนมัน 

เมฆไม่อาจอยู่ได้โดยไร้ท้องฟ้า แต่ท้องฟ้าอยู่ได้โดยไร้เมฆ

            "ผมเลือกจะไม่สู้กับมัน" แมตต์ เฮก กล่าวถึงการอยู่ร่วมกับโรคซึมเศร้า "ผมยอมรับอะไรหลายอย่าง รวมถึงยอมรับตัวเองที่เป็นอย่างนี้ ยิ่งกว่านั้น การต่อสู้กับมันรังแต่จะทำให้อาการแย่ลง เคล็ดลับคือจงผูกมิตรกับโรคซึมเศร้าและความวิตกกังวล ขอบคุณพวกมันเสีย แล้วคุณจะรับมือกับโรคทั้งสองได้ดียิ่งขึ้น ผมผูกมิตรกับพวกมันด้วยการขอบคุณ สำหรับความอ่อนไหวที่ให้มา"

            "ถ้าถามว่าผมจะไปสปาสมองสุดวิเศษเพื่อเปลี่ยนตัวเองให้ชาด้านกว่านี้หรือไม่ ผมก็คงไม่ทำหรอก เราต้องเศร้าจึงจะรู้จักความสุข" เขากล่าวต่อ "ผมต้องการสัมผัสทุกความรู้สึกเท่าที่มนุษย์จะรู้สึกได้ในชั่วพริบตาที่ดำรงอยู่ ผมเกลียดโรคซึมเศร้า ผมกลัวมันด้วย กลัวจับใจเลยล่ะ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ทำให้ผมเป็นผม มันเป็นราคาที่ต้องจ่ายเพื่อให้รู้สึกถึงชีวิต และนั้นคุ้มค่าเสมอ แค่ได้มีตัวตนอยู่ ผมก็พอใจแล้ว"

            มีหญิงผิวดำคนหนึ่งในเมืองสปริงฟีลด์ รัฐอิลลินอยส์ มาหาลินคอล์น และเล่าเรื่องที่น่าเศร้าให้ฟัง เธอเล่าว่า ลูกชายของเธอไปที่เมืองเซ็นต์หลุยส์เพื่อทำงาน แต่เขาถูกจับขังคุก ทั้ง ๆ ที่เขากำเนิดมาโดยมีเสรีภาพ ไม่ได้เป็นทาสแต่กำเนิด เพียงแค่เขาไม่มีเอกสารพิสูจน์ความจริง เขากำลังจะถูกขายไปเป็นทาสเพื่อเอาเงินมาชำระค่าใช้จ่ายที่เขาถูกขังคุก ลินคอล์นจึงเสนอเรื่องนี้ต่อข้าหลวงแห่งรัฐอิลลินอยส์ แต่เขาปฏิเสธ และบอกว่าเขาไม่มีสิทธิ์หรืออำนาจที่จะแทรกแซงเรื่องนี้ เขาจึงส่งจดหมายไปหาข้าหลวงแห่งรัฐลุยเซียน่า ซึ่งเขาตอบจดหมายลินคอล์นว่าเขาไม่สามาถจะจัดการได้เช่นเดียวกัน ลินคอล์นจึงกลับไปหาข้าหลวงแห่งรัฐอิลลินอยส์อีกเป็นครั้งที่สอง และกระตุ้นเตือนให้ข้าหลวงทำอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ข้าหลวงก็สั่นหัว

            ลินคอล์นจึงลุกขึ้นจากเก้าอี้ ร้องขึ้นด้วยเสียงที่ผิดธรรมชาติ "เพื่อพระเจ้า ท่านข้าหลวง ท่านอาจจะไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่จะปลดปล่อยชายหนุ่มผู้น่าสงสารคนนี้ แต่ผมนี้แหละจะทำให้แผ่นดินของประเทศนี้ร้อนเป็นไฟ จนพวกเจ้าของทาสไม่สามารถจะวางเท้าเหยียบลงไปได้เลย" หลังจากนั้นลินคอล์นจึงได้เรี่ยไรเงินกับเพื่อนทนายจนพอที่จะช่วยซื้ออิสรภาพของชายหนุ่มคนนี้ แล้วจัดการไถ่เขาออกไปจากคุก และส่งมาให้กลับให้กับแม่ผู้ปลื้มปิติอย่างไม่มีสิ่งใดเปรียบเทียบ เหตุการณ์นั้นเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่จุดไฟให้กับลินคอล์น ในการจะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ตลอดไป

            ความอ่อนโยน เมตตา และเห็นแก่ผู้อื่นของลินคอล์นทำให้เขาเป็นที่ยอมรับ แม้ว่าเขาจะต้องอยู่กับความทุกข์ ความเศร้าก็ตาม แต่เขาก็เผชิญหน้ากับมัน ยอมรับมัน รู้สึกถึงมัน และอยู่ร่วมกับมันได้ตลอดมา จนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญครั้งหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกได้ เราจะต้องทำความเข้าใจความทุกข์ แม้ว่าเราจะคิดถึงมันตลอด แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นคนที่ทุกข์ 

คุณอาจเดินผ่านพายุ สัมผัสถึงสายลม แต่คุณไม่ใช่สายลม

            ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องมีความสุข และนึกถึงแต่สิ่งที่ดี ๆ เพราะโลกในปัจจุบัน มันก็ไม่ได้ดีสักเท่าไหร่เลย มันจึงไม่มีใครที่จะคิดถึงแต่เรื่องที่เป็นสุขได้ตลอดชีวิต หัวใจสำคัญคือการยอมรับความคิดทั้งหมด รวมทั้งความคิดเชิงลบ ยอมรับแต่อย่ายอมกลายเป็นความคิดนั้น เหมือนกับที่ผมกล่าวไปข้างต้น แม้เราจะสัมผัสถึงสายลม แต่เราไม่ใช่สายลม จิตใจของเราก็เช่นเดียวกัน เราต้องปล่อยใจให้รู้สึกถึงพายุ ฝนห่าใหญ่ แต่ระลึกไว้เสมอว่าพายุและฝนเป็นหนึ่งในสภาพอากาศที่จำเป็นต่อเรา

            จากการยอมรับความทุกข์หรือความเศร้าทำให้ แมตต์ เฮก (Matt Haig) กลายเป็นนักเขียนวรรณกรรมชื่อดังชาวอังกฤษ และ อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) กลายเป็นหนึ่งในประธานธิบดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา ทั้ง 2 คนต่างเคยผ่านพายุมาทั้งสิ้น ต่างก็เติบโต และเรียนรู้ จนสุดท้าย พวกเขาก็สามารถก้าวผ่านความทุกข์ไปได้ แม้ว่าความทุกข์นั้นจะไม่ได้สลายหายไปก็ตาม แต่สำคัญที่พวกเขาก็ไม่ได้แบกมันเอาไว้

            ในวรรณกรรมชื่อ Kafka on the Shore ฮารูกิ มูราคามิ กล่าวว่า "และเมื่อพายุจบสิ้นลง คุณจะจำไม่ได้ว่าผ่านมันมาได้ยังไง รอดชีวิตมาได้ยังไง จริง ๆ แล้ว คุณไม่แน่ใจกระทั่งว่าพายุจบสิ้นลงแล้วหรือยัง แต่มีสิ่งหนึ่งที่คุณมั่นใจ 

เมื่อคุณออกจากพายุนั้นมาแล้ว คุณจะไม่ใช่คนเดิม คนที่เดินเข้าไปในนั้น และนั้นคือคุณค่าของพายุ"

อ้างอิง

David, S. (2016). Emotional Agility: Get Unstuck, Embrace Change, and Thrive in Work and Life. NY: Avery.

Haig, M. (2016). Reasons to Stay Alive. NY: Penguin Life.

คาลอส บุญสุภา. (2564). ถึงเวลาที่ต้องเมตตาต่อตนเองแล้ว (Self-Compassion). https://sircr.blogspot.com/2021/07/self-compassion.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). การค้นหาความหมายของชีวิต (Meaning of Life). https://sircr.blogspot.com/2021/06/meaning-of-life.html

ความคิดเห็น