แนวทางการจัดการอารมณ์ของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ

อารมณ์เชิงลบจะดึงความสนใจของเรา 
ไปยังอะไรก็ตามในสิ่งแวดล้อมที่กำลังส่งสัญญาณ 
เพื่อให้เราแก้ไขความผิดปกติบางอย่างที่เกิดขึ้น
            เกาะตาฮีตี เป็นเกาะที่อยู่โพ้นทะเล ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้บนภูมิภาคโพลินีเซีย เป็นเกาะที่มีความเจริญด้านเศรษฐกิจสูงสุดในแถบนั้น มีประชากร 130,000 คนเท่านั้น เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ ล้อมรอบด้วยหาดทรายและแนวปะการังสวยงามมาก แต่ก็มีเรื่องน่าเศร้าซ้อนอยู่ เพราะชาวตาฮีตีมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงพอสมควรเลย

            โรเบิร์ต เลวี (Robert Levy) นักมนุษยวิทยา สงสัยว่าทำไมอัตราการฆ่าตัวตายของชาวตาฮีตี บนเกาะตาฮีตีถึงสูงนัก สาเหตุที่เขาพบนั้นน่าประหลาดมาก เขาพบว่าเป็นเพราะชาวตาฮีตีไม่มีมโนทัศน์เรื่องความโศกเศร้า แน่นอนพวกเขารู้สึกเศร้า ผ่านพบความเศร้า แต่ไม่มีมโนทัศน์หรือคำที่ใช้เรียกความรู้สึกนี้ พวกเขาไม่ได้มองว่านี้เป็นอารมณ์ปกติ ไม่มีพิธีรีตองอะไรเกี่ยวกับความเศร้า ไม่มีคนรับคำปรึกษาความเศร้า พวกเขาจึงลงเอยด้วยการฆ่าตัวตายบ่อยเกินควร

            วิทยาศาสตร์การรู้คิดเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า ภาวะขาดคำ (Hypocognition) หมายถึงการขาดแนวคิดที่ต้องใช้เรียกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อย่างที่ผมกล่าวไว้ข้างต้นกรณีของชาวตะฮีตีไม่มีคำว่า "เศร้า" พวกเขาเลยไม่ได้พูดคำว่าเศร้าออกไปเลย แต่พวกเขามีความรู้สึกเศร้า เพียงแต่ไม่รู้จะเรียกมันว่าอะไร ต้องใช้ความพยายามเพื่อที่จะบรรยายความรู้สึกนี้ออกไป เพราะมันเป็นคำที่ไม่มีกรอบคิดรองรับ

            แล้วทำไมการมีกรอบคิดคำว่า "เศร้า" ถึงทำให้ชาวเกาะตาฮีตีมีอัตราฆ่าตัวตายที่สูง ก็เพราะว่าเวลาที่เราเศร้า การแสดงความเศร้าหรือบอกกับคนอื่นว่าเราเศร้าจะทำให้เราลดความเศร้านั้นลงไปโดยอัตโนมัติ เช่นเดียวกันการที่เราร้องไห้ออกมาเมื่อเศร้า ก็เป็นการแสดงอารมณ์หรือความรู้สึกเศร้าออกมา สิ่งนี้ก็ช่วยลดความเศร้าได้เช่นกัน การไม่แสดงความรู้สึกเศร้า อ่อนแอออกมาจึงเป็นกับดักให้กับผู้ชายหลายคนที่เป็นโรคซึมเศร้า เพราะด้วยวัฒนธรรมที่มองว่าผู้ชายเป็นเพศที่เข้มแข็ง ทำให้เมื่อเราแสดงความเศร้าหรือร้องไห้ออกมาจึงเป็นการขัดแย้งกับวัฒนธรรม

            นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ผู้ชายฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิงที่เป็นโรคซึมเศร้า ทั้ง ๆ ทางสถิติแล้วผู้หญิงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย อีกทั้งคนส่วนมากมักมองว่าอารมณ์ส่วนใหญ่ของเราจะสะท้อนด้านมืดของประสบการณ์มนุษย์ออกมาเช่น ความโกรธ ความรู้สึกผิด ทั้งที่อารมณ์ส่วนใหญ่ของเรามีหน้าที่เพื่อทำให้เราอยู่รอด 

            นักจิตวิทยาวิวัฒนาการจะมองว่า "อารมณ์ทำให้เราผ่านการคัดสรรตามธรรมชาติ" หรืออารมณ์จำพวก ความโกรธ ความเศร้า อาจจะมีประโยชน์บ้างเหมือนกัน แล้วเราควรจะหลีกเลี่ยงมันหรือไม่ หรือเราควรจะยอมรับพวกมันว่าเป็นส่วนที่มีประโยชน์ในชีวิตของเรา แม้ว่าหลายครั้งมันจะสร้างปัญหาและทำให้เราเผชิญกับความอึดอัด

            แม้ว่าอารมณ์จำพวกความเศร้า หรือความโกรธจะทำให้เราอึดอัด ก่อปัญหามากมายกับเรา แต่ความจริงแล้วมันเป็นสัญญาณบางอย่าง แต่น่าเศร้าที่คนจำนวนมากเชื่อว่าคนเราควรจะควบคุมอารมณ์ของตนเองเอาไว้ "นั้นเป็นสิ่งที่ผิด" เพราะหน้าที่อารมณ์คือการส่งสัญญาณถึงความผิดปกติ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรามีอารมณ์เศร้านั้นหมายความว่าจิตใจของเรากำลังส่งสัญญาณออกมา ใ้ห้เราแก้ปัญหาบางอย่าง

            สาเหตุที่คนเป็นโรคซึมเศร้าก็คือเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่จิตใจเราเรียกร้องได้ ในทางกลับกันเรากลับให้ความสนใจที่ความเศร้าและมองมันในแง่ลบ นั้นจึงเป็นกับดักแห่งมนุษยชาติ แน่นอนปัญหาบางปัญหาเราไม่สามารถแก้ไขมันได้ หนทางที่เราจะไม่เศร้าหรือทุกข์ไปกว่านี้ก็คือ การเข้าใจสัญญาณที่จิตใจของเราส่งออกมา และอยู่ร่วมกับน้ำตาที่ไหลออกมาอย่างเป็นมิตร 

            คนส่วนมากมกหมุ่นกับการพยายามจะควบคุมตนเอง โดยมองข้ามอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น อารมณ์โกรธ อับอาย หรือความละอายใจ แม้ประสบการณ์เหล่านั้นจะไม่น่ายินดีเอาเสียเลยเมื่อมันเกิดขึ้น แต่มันก็ล้วนมีเหตุผล อารมณ์เชิงลบดึงความสนใจของเราไปยังอะไรก็ตามในสิ่งแวดล้อมที่กำลังส่งสัญญาณเพื่อให้เราทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขความผิดปกติบางอย่างที่เกิดขึ้น 

            นอกจากนั้นคนส่วนใหญ่มักจะพยายามการเก็บกดอารมณ์ของตนเองเอาไว้ ซึ่งเป็นการละเลยอารมณ์ที่เป็นปัญหา มันจะทำให้เราไม่สามารถไปถึงรากของอะไรก็ตามที่ก่อให้เกิดปัญหานั้นขึ้น ดังนั้นเราจึงไม่ควรจะมุ่งที่จะควบคุมหรือเก็บกดอารมณ์ของตนเอง แต่ต้องเรียนรู้ที่จะจัดการอารมณ์ของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ เราควรที่จะแสดงอารมณ์ออกมาโดยที่ไม่ทำให้คนอื่นและตนเองเดือนร้อน นั้นเป็นกุญแจสำคัญของการดูแลสุขภาพจิตของตนเองให้เข้มแข็ง

แนวทางการจัดการอารมณ์อย่างมีประสิทธิภาพ

            ขั้นแรก คือการระบุอารมณ์ที่รบกวนเรา เวลาจัดการกับอารมณ์คนทั่วไปมักสับสนกับหลายความรู้สึกที่ท่วมท้นปนเป เขาอาจยอมรับว่ากลุ้มใจเรื่องอกหักแต่พยายามจะไม่คิดถึง ยิ่งไปกว่านั้นคือตัวเองรู้สึกขุ่นเคืองที่คนอื่นไม่เห็นสนใจหรือช่วยแก้ปัญหานี้เอง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดามนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมเป็นสังคม เราต่างพึ่งพากันแต่ละกันมาตั้งแต่ในอดีต จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อเราเผชิญกับปัญหา เราจะต้องการคนมาช่วยเหลือเป็นธรรมชาติ

            ซึ่งเราจะระบุอารมณ์ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หากเราสามารถตระหนักรู้ถึงอารมณ์ หรือมีความคล่องแคล่วทางอารมณ์ ซึ่งแต่ละคนจะมีไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตของ และการที่เราพูดคุยกับตัวเองบ่อยแค่ไหน ขั้นตอนนี้จึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะหากเราพยายามใช้กลไกป้องกันตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงอารมณ์ ยกตัวอย่างเช่น ความรู้สึกผิด ซึ่งเป็นอารมณ์ที่มักจะถูกกลไกป้องกันตนเอง (Defense Mechasnisms) ปฏิเสธความจริงบ่อยครั้ง เพราะมันอารมณ์ที่ค่อนข้างส่งผลกระทบรุนแรงพอสมควร 

            ยกตัวอย่างเช่น ผู้ชายตนหนึ่งอาจจะไปนอกใจภรรยา เขามีอารมณ์รู้สึกผิดอยู่ แต่กลไกป้องกันตนเองของเขามันหาเหตุผลให้เขาหลีกเลี่ยงอารมณ์ดังกล่าว ซึ่งเขาอาจจะอ้างเหตุผลว่า "นอกกาย ไม่ได้นอกใจ" หรือ "มันเป็นธรรมชาติของผู้ชาย" ซึ่งเป็นการใช้เหตุผลที่ผิด หรือเราอาจจะหลบเลี่ยงอารมณ์ที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ เช่นอารมณ์เศร้า โดยเราอาจจะทำตัวเหมือนว่ามีความสุข เป็นคนมองโลกในแง่บวก แล้วเก็บอารมณ์นี้เข้าไปในจิตใต้สำนึก สุดท้ายอารมณ์ทั้งหมดมันก็จะไปรวมกันอยู่ข้างใต้แล้วปะทุขึ้นมาเมื่อมีโอกาส ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตได้ในภายหลัง

            ขั้นที่สอง เมื่อตระหนักถึงอารมณ์นั้น เราจะต้องแสดงมันออกมา เช่น เมื่อมีความเศร้า ร้องไห้ออกมาเลย เพราะเวลาที่เราร้องไห้ระบบประสาทพาราซิมพาเทติกจะทำงาน และทำให้เราเข้าโหมดรีแลกซ์ หรือผ่อนคลาย นอกจากนั้นในน้ำตายังมี ACTH (ฮอร์โมน Adrenocorticotropic) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นการหลั่ง "คอร์ติซอล" หรือฮอร์โมนความเครียด ดังนั้นการร้องไห้จึงช่วยให้คลายเครียดได้ 

            อารมณ์บางอย่างต้องพิจารณาก่อนที่จะแสดงออกมา เช่นอารมณ์โกรธ เพราะหากเราไปแสดงอารมณ์รุนแรงออกมาอาจทำให้ตัวเองและคนอื่นเดือดร้อน หรือแม้แต่การที่เราระบายอารมณ์ออกมาเช่นต่อยกระสอบทรายก็สามารถทำให้เราก้าวร้าวมากขึ้นได้ ทางที่ดีคือตระหนักถึงความโกรธ แล้วพยายามระงับมันเอาไว้ เช่น หายใจลึก ๆ (เข้า 5 ออก 5) สักประมาณ 5 - 10 นาที หรือการออกกำลังกายก็ช่วยได้เช่นกัน แต่เหนือสิ่งอื่นใดเราจะต้องตระหนักถึงอารมณ์นั้นแล้วแสดงออกมาอย่างตรงไม่ตรงมา เช่น "ฉันโกรธเขามาก" หรือ "สิ่งที่คุณทำนั้น มันทำให้ผมโมโหมาก ๆ" 

            การที่เราได้พูดออกมาตรง ๆ มันทำให้อีกฝ่ายรับรู้ ซึ่งเขาอาจจะคิดไม่ถึงว่าสิ่งนี้จะทำให้เราโกรธ ซึ่งจะเป็นการปรับความเข้าใจกัน โดยเฉพาะคนรักกันหากโกรธกันแล้วเก็บมันเอาไว้ สักวันหนึ่งมันก็จะปะทุขึ้นมา ทางที่ดีก็คือ เมื่อเรารู้สึกโกรธกับพฤติกรรมบางอย่างของคนรัก เช่น ชอบออกไปเที่ยวตอนดึกบ่อย ควรบอกออกไปตรง ๆ ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้ความสัมพันธ์ยืนยาวมากขึ้น

สรุปก็คือ วิธีการจัดการอารมณ์ที่ได้ผลดีที่สุดคือการแสดงมันออกมา เพราะตามหลักแล้วอารมณ์ก็มีไว้เพื่อแสดงออกนั้นแหละ มันถูกสร้างขึ้นเพื่ออย่างนั้น ไม่ใช่เพื่อให้เมินเฉย ไม่ใช่เพื่อเก็บกดเอาไว้ และไม่ใช่เพื่อซุกซ่อน เราจึงจำเป็นต้องหารูปแบบการแสดงอารมณ์ให้เหมาะสม 

            ขั้นที่สุดท้าย เมื่อเราแสดงอารมณ์ออกมาแล้ว เราจำเป็นที่ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์นี้เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวเองต่อไปในอนาคต ซึ่งเราสามารถทำได้ 2 วิธีใหญ่ ๆ ประกอบไปด้วย

            1) เล่าให้คนอื่นฟัง เวลาที่เรามีอารมณ์ต่าง ๆ ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น ความรู้สึก โกรธ เศร้า เหงา และได้แสดงออกมาแล้ว หรือบางทีอาจจะไม่สะดวกที่จะแสดงมันออกมา เราสามารถเล่าให้คนอื่นฟังได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่มีความรู้ทางด้านจิตวิทยาเท่านั้น สามารถเป็นเพื่อน หรือคนในครอบครัวก็ได้ เพราะมันไม่ได้สำคัญว่าเราจะต้องรับวิธีแก้ไขมาหรือไม่ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ เราได้ระบาย หรือแสดงอารมณ์ออกไป บางคนอาจร้องไห้กับเพื่อนหรือครอบครัวก็ได้ เช่นกัน 

            2) เขียนระบายความรู้สึก เจมส์ เพนน์เบเกอร์ (James Pennebaker) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ครั้งหนึ่งเขาเคยเกิดปัญหาวิกฤติในชีวิต เขารู้สึกจมดิ่งสู่ความซึมเศร้า กินน้อยลง ดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่มากขึ้น และสุดท้ายเขาก็เริ่มแยกตัวออกจากสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งเดือนแห่งความทุกข์ทรมาน เจมส์ก็ไม่รู้จะจัดการอย่างไรกับสิ่งที่ขึ้น เขาลองตะกายลงจากเตียงแล้วไปนั่งหน้าเครื่องพิมพ์ดีดที่เขาคุ้นเคย โดยจ้องมองมันอยู่สักพัก จากนั้นก็เริ่มเขียนเกี่ยวกับชีวิตแต่งงานของตนเอง พ่อแม่ของเขา เพศสภาวะของเขา อาชีพการงาน และเรื่องอื่น ๆ รวมไปถึงความตาย เขาใช้เวลาเขียนไปเรื่อย ๆ เป็นเวลาหลายวัน

            จนกระทั่งบางสิ่งที่น่าทึ่งก็เกิดขึ้น อาการซึมเศร้าจางหายไป เขาเริ่มระลึกถึงความรักอันลึกซึ้งที่มีต่อภรรยาอีกครั้งหนึ่ง การเขียนส่งผลกระทบต่อตัวของเขาเองเกินกว่าที่ใครจะคาดคิดได้ มันเป็นครั้งแรกที่เขาเริ่มมองเห็นจุดมุ่งหมายและความเป็นไปได้ในชีวิตของตัวเอง จากประสบการณ์ส่วนตัวนี้เองที่ทำให้เจมส์สามารถข้ามผ่านช่วงเวลาหนักหนาสาหัส และจุดประกายให้เขาทำการวิจัยที่ใช้เวลายาวนานกว่า 40 ปี เพื่อหาความเชื่อมโยงระหว่างการเขียนกับกระบวนการจัดการทางอารมณ์ 

            เจมส์ เพนน์เบเกอร์ พบว่าคนที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตที่ส่งผลสะเทือนต่ออารมณ์ของตัวเองจะได้คะแนนเพิ่มขึ้นทั้งทางสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น หดหู่น้อยลง ภูมิคุ้มกันมากขึ้น และมีความดันโลหินน้อยลงอย่างที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น อีกทั้งมันยังทำให้พวกเขามีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ความจำดีขึ้น และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมากขึ้นอีกด้วย เนื่องจากการทดลองนี้เจมส์ได้รับอนุญาตจากผู้เข้าร่วมทดลองให้ขอประวัติทางการแพทย์ในอนาคตได้ 

            ในหนังสือ Emotional Agility ซูซาน เดวิด (Susan David) เขาเล่าเกี่ยวกับการวิจัยของเพนน์เบเกอร์ ที่เข้าแทรกแซงบริษัทคอมพิวเตอร์แห่งหนึ่ง ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้ปลดวิศวกรระดับอวุโสกว่าร้อยคนออกจากงาน พนักงานส่วนใหญ่เป็นชายอายุเกิน 50 ปีที่ทำงานกับบริษัทมาตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัย ลองคิดดูสิครับถ้าเราทำงานมาที่เดียวตลอด จนกระทั่งวันหนึ่งเราโดนไล่ออกไป มันคงจะเป็นความรู้สึกที่สับสนอย่างมาก ซึ่งสิ่งนี้มันทำให้เขาไม่สามารถหางานได้เลยสักคนเดียวเป็นเวลา 4 เดือน

            เพนน์เบเกอร์กับทีมงานของเขาสงสัยว่าการเขียนเพื่อเล่าประสบการณ์จะสามารถช่วยกลุ่มวิศวกรที่ถูกไล่ออก (ลดขนาด) กลุ่มนี้ได้หรือไม่ ด้วยความกระตือรือร้นที่จะลองทำอะไรก็ได้ที่จะช่วยเพื่มโอกาสใหม่  วิศวกรกลุ่มนี้จึงตกลงร่วมการทดลอง เพนน์เบเกอร์ให้วิศวกนกลุ่มหนึ่งเขียนเกี่ยวกับความรู้สึกที่ตัวเองถูกปลดออกจากงาน พวกเขาจึงขุดลึกลงไปถึงความรู้สึกอับอายขายหน้า การถูกปฏิเสธ และความโกรธแค้น รวมทั้งความตึงเครียดที่มีผลกับสุขภาพ ชีวิตแต่งงาน สถานภาพการเงิน และความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับอนาคตของตน ส่วนอีก 2 กลุ่มถูกจัดให้เขียนเกี่ยวกับการจัดการเวลา หรือไม่ต้องเขียนอะไรเลยก็ได้

            ก่อนที่จะเขียน พวกเขาทั้งหมดไม่มีแรงจูงใจที่จะพยายามเริ่มต้นใหม่เลย แต่หลังจากนั้นระดับการเปลี่ยนแปลงระหว่างพวกเขา ก็เป็นเรื่องที่น่าตะลึกอย่างมาก เพียงไม่กี่เดือนหลังจากเข้าร่วมการเขียนเพื่อปลดปล่อยอารมณ์ ชายกลุ่มที่ได้ขุดลึกลงไปจนเจอความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองมีโอกาสได้งานใหม่มากกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับคนที่อยู่ในกลุ่มควบคุม (กลุ่มที่เขียนเกี่ยวกับการจัดการเวลา หรือไม่เขียน) 

            การเขียนไม่เพียงช่วยให้พวกเขาเข้าใจความรู้สึกของตัวเองเท่านั้น แต่ยังช่วยให้พวกเขาก้าวออกมาจากพื้นที่แห่งความสิ้นหวังไปสู่การลงมือทำที่เปี่ยมด้วยความหมายแทน เพนน์เนเบเกอร์จึงขยายผลการทดลองไปสู่คนกลุ่มอื่นไม่ว่าจะเป็นเด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ นักศึกษาไปจนถึงคนทำงาน คนสุขภาพดีไปจนถึงคนป่วย รวมกันหลายพันคน เราจึงสามารถกล่าวได้อย่างมั่นใจเลยว่า 

การเผชิญหน้าและการเขียนบรรยายความรู้สึก เป็นวิธีรับมือกับความเครียด ความวิตกกังวล และความสูญที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก

วิธีการเขียนระบายความรู้สึก       

            เจมส์ เพนน์เบเกอร์ (James Pennebaker) ได้อธิบายกฎการเขียนของเขาเอาไว้ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถได้ประโยชน์จาการรบายความรู้สึก โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

            ตั้งเครื่องจับเวลาไว้ 15-20 นาที เปิดสมุดโน๊ตหรือเปิดหน้าเอกสารใหม่ในคอมพิวเตอร์ (สามารถอัดเสียงพูดได้) จากนั้นเริ่มเขียนประสบการณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ เดือน หรือปีที่ผ่านมา ไม่ต้องกังวลว่ามันอ่านยากไปหรือไม่ ไม่ต้องกลัวว่ามันจะเยิ่ยเย้อ หรือจะปะติดปะต่อกันไม่ได้ ให้เขียนอย่างอิสระตามใจพาไป เพราะเราเขียนเพื่อตัวเอง ไม่ได้เขียนให้ใครอ่าน 

            ลองทำแบบนี้ไปสัก 3-4 วัน จากนั้นให้โยนกระดาษเหล่านั้นทิ้งไปหรือลบไฟล์ทิ้งไปเลย ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้อ่านใหม่อีกรอบ เพราะประเด็นมันอยู่ที่ว่าตอนนี้ความคิดก้อนนั้นได้ออกจากหัวของเราไปสู่หน้ากระดาษแล้ว มันเป็นการเปิดกระบวนการที่เราจะสามารถก้าวออกมาจากประสบการณ์ที่เลวร้าย เพื่อเปิดรับมุมมองใหม่แล้ว

            อย่างไรก็ตามสิ่งที่ยากที่สุดก็คือการระบุอารมณ์ของตัวเอง เหตุผลที่การเขียนระบายอารมณ์มีประสิทธิภาพดีที่สุดก็เพราะ วัฒนธรรมในปัจจุบันบีบบังคับให้เราไม่แสดงอารมณ์ออกมา อย่างที่ผมยกตัวอย่างเอาไว้ข้างต้นว่าผู้ชายจะต้องห้ามร้องไห้หรือแสดงความเศร้าออกมา หรือเหตุที่คนญี่ปุ่นมีอัตราโรคซึมเศร้าสูงก็เพราะว่าวัฒนธรรมญี่ปุ่นมักจะชอบอดทนมากกว่าการแสดงความรู้สึก เช่นเดียวกับชาวตาฮีตีที่ไม่มีกรอบคิดคำว่า "เศร้า" ดังนั้น

การจัดการอารมณ์ที่ได้ผลดีที่สุดคือการแสดงมันออกมา เพราะตามหลักแล้วอารมณ์ก็มีไว้เพื่อแสดงออกนั้นแหละ

สรุปแนวทางการจัดการอารมณ์อย่างมีประสิทธิภาพ

            ขั้นที่ 1 ระบุอารมณ์ออกมาให้ได้ ว่าเรากำลังรู้สึกอะไรอยู่

            ขั้นที่2  แสดงอารมณ์ออกมาเท่าที่จะแสดงได้ เศร้าก็ร้องไห้ออกมา โกรธก็บอกออกมาตรง ๆ ถ้าอยากจะลดความรุนแรงก็ใช้วิธีการนั่งสมาธิ หรือออกกำลังกาย แต่สุดท้ายก็ควรจะบอกกล่าว แสดงออกมาอยู่ดี

            ขั้นที่ 3 เป็นขั้นสุดท้าย คือระบายความรู้สึก ให้กับเพื่อน ครอบครัว หรือนักจิตวิทยาก็ได้ ขอแค่เป็นผู้ฟังที่ดี หรือเขียนระบายความรู้สึก โดยใช้เวลาเขียน 15 - 20 นาที 


อ้างอิง

David, S. (2016). Emotional Agility: Get Unstuck, Embrace Change, and Thrive in Work and Life. NY: Avery.

Kabasawa, S. (2018). The Power of Output: How to Change Learning to Outcome. Tokyo: Sanctuary.

Lakoff, G. (2004). The All New Don't Think of an Elephant!: Know Your Values and Frame the Debate. NE: Chelsea Green. 

คาลอส บุญสุภา. (2564). การระบายความรู้สึกเพื่อปลดปล่อยตนเอง. https://sircr.blogspot.com/2021/07/blog-post_18.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). การจัดการอารมณ์ (Emotional Management). https://sircr.blogspot.com/2021/08/emotional-management.html

ความคิดเห็น