เบื้องหลังพฤติกรรม ซุบซิบ นินทา ของมนุษย์

การซุบซิบนินทาเป็นเครื่องมือเพื่อให้เราระบาย 

ในสิ่งที่เราไม่สามารถพูดอย่างเปิดเผย 

ต่อหน้าคนทั่วไปได้ 

            ผมเชื่อว่าใครหลายคนคงชอบ ซุบซิบ นินทา แต่โดยส่วนใหญ่มักจะไม่ยอมรับกัน เพราะคนทั่วไปมองว่าเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ แต่จริง ๆ แล้ว ซึ่งก็ถูกเพราะโดยปกติแล้วการซุบซิบนินทาเกือบทั้งหมดเป็นเรื่องของการตำหนิ ใส่ความ และโดยพื้นฐานแล้วมักเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางศีลธรรมและทางสังคมของคนอื่น ๆ เหมือนกับสมัยที่เราเรียนหนังสือ เราก็มักจะนินทาเพื่อนเรื่องเพศ นิสัยการดื่ม หรือเหตุการณ์น่าอายบางอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับผู้อื่น

            แต่บางครั้งเราก็เล่าเรื่องดี ๆ ของคนอื่น ๆ แต่มันก็เป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่แล้วมันมักจะเป็นเรื่องลบ ๆ เมื่อเราส่งผ่านเรื่องซุบซิบนินทา ที่เป็นเรื่องแซ่บ ๆ เรื่องที่เล่าแล้วดูสนุก ๆ เราจะรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจมากขึ้น มีความรู้สึกร่วมที่ดีขึ้นว่าอะไรถูกอะไรผิด และรู้สึกเชื่อมโยงกับคู่หูซุบซิบนินทามากขึ้นด้วย

            ในหนังสือ The Happiness Hypothesis: Finding Modern Truth in Ancient Wisdom โจนาธาน เฮดต์ (Jonathan Haidt) ได้อธิบายเกี่ยวกับการศึกษาการซุบซิบนินทาว่า คนส่วนใหญ่จะมีมุมมองในแง่ลบต่อการซุบซิบนินทาและผู้ที่ซุบซิบนินทา แม้ว่าตัวเองจะนินทาด้วยเช่นกัน (คนทุกคนล้วนนินทาด้วยกันทั้งนั้น) เมื่อเราเปรียบเทียบทัศนคติเกี่ยวกับการนินทาของผู้คนกับหน้าที่ทางสังคมของการซุบซิบนินทา เฮดต์และเพื่อนร่วมงานจึงเห็นว่าพวกเขาประเมินค่าการซุบซิบนินทาต่ำไป 

            ในโลกที่ไร้การนินทา ผู้คนอาจไม่ถึงขั้นก่อฆาตกรรมแล้วหนีพ้นไปได้ แต่จะพ้นจากการพิจารณาคดีในข้อหาหยาบคาย เห็นแก่ตัว และมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปโดยไม่รู้ตัว การซุบซิบนินทาเป็นเหมือนกับกล่องเครื่องมือของอารมณ์ทางศีลธรรมของเรา ในโลกแห่งการนินทา เราไม่ได้แค่รู้สึกคั่งแค้นหรือสำนึกคุณคนที่ทำร้ายหรือช่วยเหลือเรา  

            แต่เราจะรู้สึกเหยียดหยามหรือโกรธคนที่เราไม่รู้จักเสียด้วยซ้ำ แม้จะเป็นแค่วูบหนึ่งเท่านั้น เรารู้สึกอับอายและขายหน้าแทนเวลาได้ยินเรื่องคนที่ถูกเปิดโปงแผนการ ตัณหา หรือความล้มเหลวในเรื่องส่วนตัวบางอย่าง การซุบซิบนินทาจีงเป็นเหมือนตำรวจและครู ถ้าไม่มีสิ่งนี้ก็จะเกิดความวุ่นวายและโง่เขลามากขึ้น

            จะเห็นว่าการซุบซิบนินทาเป็นเครื่องมือทางศีลธรรมอย่างหนึ่ง อย่าลืมว่ามนุษย์เราแม้จะดำเนินชีวิตด้วยสัญชาตญาณ แต่เราก็มีระบบความคิดวิเคราะห์ที่ทำให้เราไตร่ตรอง พิจารณาว่าสิ่งไหนควรพูดหรือไม่ควรพูดแม้จะควบคุมไม่ได้ทั้งหมดก็ตาม แต่การนินทาก็สามารถเป็นเครื่องมือเพื่อให้เราระบายในสิ่งที่เราไม่สามารถพูดอย่างเปิดเผยต่อหน้าคนทั่วไปได้ เราจึงเลี่ยงมันโดยการซุบซิบนินทากับคนอื่นหรือคนที่เราไว้ใจแทน

ข้อดีของการซุบซิบนินทา

            ในปี 2012 ได้มีการตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับการซุบซิบนินทา โดยในบทความนี้ได้เผยว่าคนจะฉ้อโกงน้อยลงหากคิดว่าการกระทำของตนจะถูกนำไปซุบซิบนินทา ดูเหมือนการซุบซิบนินทาจะทำให้คนมีพฤติกรรมทางสังคมที่ดีขึ้น เมื่อใดที่กังวลว่าคนอื่นจะรู้ว่าเราทำอะไร เราจะมีแนวโน้มที่จะเห็นแก่ตัวน้อยลงและให้ความร่วมมือในการทำงานกับคนอื่นมากขึ้น เพราะเรามักจะพยายามรักษาภาพลักษณ์ให้เป็นไปตามบรรทัดฐานทางสังคมเป็นปกติอยู่แล้ว

            นักวิเคราะห์วาทกรรมระบุว่าเกือบสองในสามของการสนทนามีลักษณะของการซุบซิบนินทาปะปนอยู่ด้วย เรื่องซุบซิบนินทามีสารพัดหลากหลายจนบ่อยครั้งเราไม่รู้ว่าสิ่งที่ได้ยินคือเรื่องซุบซิบนินทา ซึ่งโดยทั่วไปผู้ชายมักจะซุบซิบนินทาเรื่องคนมีอำนาจ เช่น นักการเมือง นักกีฬา และคนดัง ส่วนผู้หญิงจะซุบซิบนินทาเรื่องคนในครอบครัวและเพื่อนใกล้ชิด

            นอกจากนั้นยังมีมุมองของนักมานุษยวิทยา โรบิน ดันบาร์ (Robin Dunbar) ที่อธิบายว่า คนเราจะซุบซิบนินทาก็เพราะในอดีตเราต้องพึ่งพามันเพื่อความอยู่รอดในยุคที่บรรพบุรุษของเราอยู่กันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ พวกเขาสามารถจับตาดูกันและกันได้ แต่เมื่อกลุ่มขยายใหญ่ขึ้น พวกเขาก็พึ่งสายตาตนเองได้ยาก ดังนั้นการอยู่เป็นกลุ่มใหญ่จึงค่อนข้างเสี่ยงอยู่ช่วงหนึ่งในวิวัฒนาการมนุษย์ เพราะเราไม่รู้ว่าใครไว้ใจได้หรือไม่ จนกระทั่งภาษาพูดเริ่มพัฒนาขึ้น มนุษย์จึงมีเครื่องมือสื่อสารว่าชื่อเสียงของใครเป็นอย่างไร หากใครทำตัวไม่ดีทุกคนในกลุ่มจะรู้ แล้วไม่นานก็จะไม่มีใครคบค้าด้วย

ข้อเสียของการซุบซิบนินทา

            กล่าวคือเมื่อกลุ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น การซุบซิบนินทาจึงเป็นเครื่องมือในการสอดส่องดูแล และสามารถควบคุมพฤติกรรมของกลุ่มได้ ระบบทั้งหมดก็ควรจะทำงานไปได้อย่างงดงาม แต่มันไม่ได้งดงามแบบนั้นเสมอไป เพราะมนุษย์ทุกคนมีอคติส่วนตัวร่วมกับอาการปากว่าตาขยิบ ลองนึกภาพในที่ทำงานดูซิครับ ทุกคนต่างทักทาย ยิ้มให้กัน แต่กลับนินทาคนอื่นในแง่ร้ายกันสะสนุกสนาน หรือบางคนเข้าวัดทำบุญและเที่ยวบอกคนอื่นว่าเป็นคนดี แต่พอถึงเวลานินทาคนอื่นเสีย ๆ หาย ๆ ลับหลัง

            เพราะการนินทาสามาถเป็นอาวุธของคนที่โดดเดี่ยวและไม่มีสิทธิ์มีเสียง ยกตัวอย่างการทำงานในบริษัทอีกครั้ง พนักงานที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนนอก พวกเขาจะหาทางออกด้วยการจับกลุ่มกัน ดึงบางคนเข้าร่วมด้วยเพื่อเล่นงานคนบางคน และหลายครั้งมันยังเป็นผลเสียต่อบริษัท และทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจกันของทีมงานในที่สุด เนื่องจากบางครั้งการนินทาก็ไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป อาจจะเป็นเรื่องแต่งขึ้นด้วยเหตุผลบางอย่าง 

การซุบซิบนินทาในเชิงจิตวิเคราะห์

            จะเห็นว่าการซุบซิบนินทา มีทั้งแง่ดี และแง่ร้าย แม้มันจะสามารถช่วยสอดส่องความเป็นอยู่ในกลุ่มขนาดใหญ่ได้ แต่หลายครั้งการนินทาก็มักจะเป็นการให้ร้ายคนอื่น ซึ่งบ่อยครั้งการให้ร้ายนั้นก็ไม่เป็นความจริงด้วยซ้ำ 

            เหตุผลเพราะเราไม่สามารถพูดออกมาตรง ๆ ได้จึงใช้วิธีนินทาแทนเพื่อระบายความรู้สึกในแง่ลบเกี่ยวกับคนอื่นออกมา เพราะหากเราพูดทุกอย่างที่อยู่ในความคิดออกมาทั้งหมด ก็จะเกิดความวุ่นวายตามมา เราสามารถยกทฤษฎีโครงสร้างบุคลิกภาพของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ซึ่งเป็นทฤษฎีทางจิตวิเคราะห์ที่ประกอบไปก้วย Id = สัญชาตญาณดิบ Ego = ตัวเรา(ที่ตัดสินใจ) Superego = บรรทัดฐานทางสังคมที่มีศีลธรรม มาวิเคราะห์ได้ดังต่อไปนี้

            โดยปกติแล้วเวลาที่เรารู้สึกไม่พอใจ หรือคิดอะไร เราก็จะอยากพูดออกมาเลย ซึ่งเป็นสัญชาตญาณดิบ (Id) ของเรา ไม่ว่าจะเป็นการพูดตรงไปตรงมา หรือกล่าวหาคนอื่น พูดเรื่องเพศ หรือเรื่องที่ไม่สมควรออกมา ในขณะที่บรรทัดฐานทางสังคมที่มีศีลธรรม (Superego) จะคอยให้ห้ามให้ตัวเรา (Ego) ไม่พูดสิ่งนั้นออกมาให้คนอื่นได้ยิน ลองคิดดูสิครับ ถ้าเราคิดว่าเจ้านายเราเป็นคนชั่ว เห็นแก่ตัว โง่ ไม่มีความสามารถ เราจะพูดแบบนั้นออกมาหรือไม่ 

            การนินทาจึงเป็นเครื่องมือให้เราสามารถพูดบางสิ่งออกมาโดยที่เจ้าตัวไม่รู้ โดยเราสามารถนินทาเรื่องนี้กับคนนอก เช่นเพื่อนสนิท คนในครอบครัว หรือเพื่อนที่ทำงานที่เราไว้วางใจ เพื่อให้เราได้ระบายสัญชาตญาณของตัวเองออกมา เพราะหากเราไม่สามารถระบายความขับข้องใจออกมา เราก็จะรู้สึกคับข้องใจ และอึดอัด แม้ว่าการนินทาจะไม่ใช่กลไกป้องกันตัว (Defense Mechanism) โดยตรง แต่มันอาจจะเป็นช่องทางให้เราใช้กลไกป้องกันตัวเองได้เหมือนกัน

            ยกตัวอย่างเช่น เรารู้สึกว่าตัวเองด้อยมาก ไม่มีความสามารถ เราจึงใช้กลไกโทษคนอื่น (Projective) เพื่อฉายความรู้สึกนี้ไปที่คนอื่น กล่าวคือแทนที่จะจัดการกับภาพที่ด้อยของตนเอง เรากลับสร้างภาพที่ด้อยนี้ให้กับคนอื่นแทนโดยใช้การซุบซิบนินทา เพื่อเป็นช่องทางในการโทษคนอื่น เช่น เรานินทากับเพื่อนสนิทว่า "ผู้หญิงคนนั้นห่วยมาก ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความสามารถแท้ ๆ แต่ทำตัวอวดเก่ง" เหตุผลที่เราใช้การนินทาเป็นช่องทางในการโทษคนอื่น เพราะบางครั้งเราไม่สามารถพูดกับคู่กรณีได้โดยตรง เช่น บุคคลนั้นมีอำนาจมากกว่า หรือเราไม่กล้าพูดออกไปเพราะกลัวจะมีปัญหา

            แม้ว่ากลไกป้องกันตนเองจะทำให้เราสบายใจมากขึ้น หรือรู้สึกคับข้องใจน้อยลง เพราะเวลาที่เราฉายภาพร้าย ๆ หรือโทษคนอื่น จะทำให้ตัวเรารู้สึกดีขึ้น มันเหมือนกับการที่ด้อยค่าคนอื่น แล้วทำให้ตัวเองรู้สึกว่าสูงขึ้น แต่การที่เราอยู่กับภาพลวงตาที่เราสร้างขึ้น สุดท้ายเราก็จะหลุดออกจากโลกแห่งความจริงมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิต และสุขภาพกายตามมาอีกทีในภายหลัง

คำถามที่สำคัญก็คือ "แล้วเราควรจะนินทาหรือไม่"

            ซึ่งคำตอบก็คือแม้เราจะไม่อยากนินทา ไม่ชอบนินทา แต่เราก็นินทาอยู่ดี เพราะมันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ มันเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ดังนั้นสิ่งที่ควรจะทำไม่ใช่การไม่นินทาหรือเลิกนินทา แต่คือการไม่ให้ร้ายคนอื่นเมื่อนินทา หากเราให้ร้าย หรือโทษคนอื่นในสิ่งที่เราคิดขึ้นมาเอง (ไม่เป็นความจริง) ก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาก็ได้ เช่นทำให้คนเข้าใจผิด จนทำให้บุคคลที่เรานินทาเสียหาย ซึ่งสุดท้ายอาจจะย้อนกลับมาทำร้ายเราเองก็ได้

            เราจึงไม่สามารถเลิกการนินทาได้ เพราะมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เราจึงควรจะใช้ประโยชน์จากการนินทาให้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น หากเราเป็นผู้บริหารในบริษัท เมื่อเราได้ยินเรื่องนินทาเกี่ยวกับพนักงานที่โดนลูกค้าต่อว่าอย่างรุนแรง เราสามารถหาตัวพนักงานคนนั้นแล้วดูว่าจะช่วยเหลือเขาอย่างไรได้บ้าง 

            เพราะมิตรภาพที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้จากการที่พนักงานในองค์กร หรือเพื่อนร่วมงานจริงใจต่อกันเท่านั้น เมื่อใดที่ทีมงานมั่นใจซึ่งกันและกันมากพอ หรือแม้แต่คนรัก คนในครอบครัวก็ตาม พวกเขาจะกล้ายกเรื่องน่าลำบากใจขึ้นมาพูดกันมากขึ้นอย่างตรงไปตรงมา แม้จะมีการถกเถียงกันบ้างก็ตาม ซึ่งสุดท้ายแล้วการนินทาให้ร้ายก็จะลดน้อยลง

เพราะการแสดงความเอื้ออาทร 

อย่างตรงไปตรงมาต่อกันและกัน

จะทำให้ความสัมพันธ์เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

อ้างอิง

Feinberg, M., Willer, R., Stellar, J., & Keltner, D. (2012). The virtues of gossip: Reputational information sharing as prosocial behavior. Journal of Personality and Social Psychology. 102(5), 1015–1030. https://doi.org/10.1037/a0026650

Friedman, R. (2015). The Best Place to Work: The Art and Science of Creating an Extraordinary. Workplace NY: TarcherPerigee.

Haidt, J. (2006). The Happiness Hypothesis: Finding Modern Truth in Ancient Wisdom. NY: Basic Books.

คาลอส บุญสุภา. (2560). Id Ego และ Superego ทฤษฎีโครงสร้างบุคลิกภาพ. https://sircr.blogspot.com/2017/12/id-ego-superego-sigmund-freud.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). กลไกการโทษคนอื่น (Psychological Projection) https://sircr.blogspot.com/2020/04/psychological-projection.html

ความคิดเห็น