อิทธิพลของ "ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก" ที่ฝังใน DNA

ประสบการณ์เชิงลบในวัยเด็ก ไม่ใช่แค่ฝังลงไปในความรู้สึก 
แต่มันฝังอยู่ใน DNA ของเด็ก และจะทำให้มีแผลเป็นในรหัสของยีน

            หากเราสังเกตชีวิตของตนเองในปัจจุบัน เราจะพบว่าเรามักจะเจอปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ มากมาย หลายครั้งมันเป็นเพราะสภาพแวดล้อม ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่หลายครั้งก็เป็นที่ตัวเราเช่นกัน หลายครั้งที่เราไม่สามารถหาคำตอบกับพฤติกรรมของตนเองได้ ไม่พอใจตัวเองบ้าง หรือโกรธตัวเองบ้าง เรามักจะมองตัวเองว่าไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรเลย หรือไม่ก้าวหน้าอะไรบ้างเลย โครงสร้างความคิดดังกล่าวมีหลายสาเหตุ แต่สิ่งหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างสูงก็คือ ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก

            แม้แต่คนที่ประสบความสำเร็จ เป็นนักกีฬาเทนนิสชายคนแรกที่คว้าแชมป์รายการแกรนด์สแลมครบทั้ง 3 ครั้งทั้ง 4 รายการและเหรียญทองโอลิมปิกในการแข่งขันเทนนิสประเภทเดี่ยว อย่าง อังเดร อากัสซี (Andre Agassi) ก็เคยเผชิญกับประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก เขาไม่ได้โดยทำร้าย ทารุณอะไรเลย แต่มันเกิดจากความคาดหวังโดยพ่อของเขา

            พ่อของเขาเคยฝันอยากเลี้ยงลูกให้กลายเป็นแชมป์เทนนิส และเมื่อลูกทั้งสามคนแรกทำไม่สำเร็จตามที่เขาต้องการ เขาจึงพุ่งเป้าความกดดันไปที่ลูกคนเล็กซึ่งก็คืออากัสซีนั้นเอง พ่อของเขาบังคับอย่างเข้มงวดให้เขาฝึกอย่างหนักหลายชั่วโมงติดต่อกัน คอยจัดตารางเวลาให้ และห้ามเขาเล่นกีฬาชนิดอื่น สิ่งนี่ทำให้อังเดรเติบโตขึ้นมาพร้อมกับการรับรู้ว่าเขาเป็นความหวังสุดท้ายของครอบครัว 

            ผู้อ่านบางคนอาจจะสงสัยว่า หากการเข้มงวดขนาดนี้สามารถทำให้เด็กเติบโตมาแล้วประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ได้ ทำไมมันถึงเป็นประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กได้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คืออังเดรไม่สามารถต่อต้านพ่อของเขาได้ แต่เขาก็ทำตัวเป็นขบถในรูปแบบอื่นโดยฝ่าฝืนกติกาแบบไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของกีฬาเทนนิส เขาไว้ผมทรงโมฮอว์กและทรงรากไทร ใส่ต่างหู สวมกางแกงขาสั้นผ้าเดนิมและกางเกงสีชมพูลงแข่งแทนที่จะเป็นสีขามตามธรรมเนียมดั่งเดิม รวมถึงคบหากับนักร้องชื่อบาร์บรา สไตรแซนด์ ซึ่งมีอายุมากกว่าเขา 28 ปี 

            อากัสซีเล่าถึงความหลังเอาไว้ว่า "การไม่มีทางเลือกและไม่มีสิทธิเลือกสิ่งที่อยากทำหรือเป็น ทำให้ผมเป็นบ้า การทำตัวเป็นขบถเป็นสิ่งหนึ่งที่ผมมีสิทธิเลือกทุกวัน มันเป็นการต่อต้านผู้มีอำนาจ เป็นการส่งสารไปถึงพ่อของผม นี้คือวิธีต่อต้านเรื่องที่ผมไม่มีทางเลือกในชีวิต" นอกจากการแสดงออกถึงความขบถ อากัสซียังมีภาวะซึมเศร้า ซึ่งเขาอธิบายว่าภาวะที่เขาเผชิญอยู่เกิดจากการที่เขาเกลียดชังชีวิตที่ถูกพ่อของเขากดดัน

            เรื่องราวของเขาสะท้อนให้เห็นว่าเด็กที่เติบโตมาด้วยประสบการณ์เชิงลบจากความกดดัน และความเข้มงวด ทำให้ต้องเผชิญกับความทุกข์ ความเครียด และความเศร้าเมื่อเติบโตขึ้นมา นอกจากความเข้มงวดแล้ว ประสบการณ์เลวร้ายนั้นมีมากมายไม่ว่าจะเป็นการทารุณกรรม การโดนกลั่นแกล้ง การโดนดูถูก หรือแม้แต่การไม่ได้รับความสนใจจากพ่อแม่ ก็สามารถเป็นประสบการณ์เลวร้ายได้เช่นกัน

อิทธิพลของประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก

            ทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมของ อีริค อีริคสัน (Erik Erikson) เป็นทฤษฎีที่อธิบายพัฒนาการตั้งแต่ทารกจนถึงวัยชรา ซึ่งในแต่ละช่วงอายุ มนุษย์จะมีค่านิยมและหน้าที่แตกต่างกัน หากเขาหรือคนรอบตัวสามารถตอบสนองได้ตรงความตรงกับค่านิยมของบุคคลในขั้นนั้น เขาก็จะได้รับประสบการณ์เชิงบวก ในทางกลับกันหากคนรอบตัวไม่สามารถตอบสนองความต้องการค่านิยมและหน้าที่ในแต่ละขั้นพัฒนาการได้ เขาก็จะมีประสบการณ์เชิงลบเกิดขึ้น 

            ความพิเศษของทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมก็คือ หากเริ่มต้นด้วยประสบการณ์เชิงลบในวัยเด็ก พัฒนาการอื่น ๆ ก็จะมีประสบการณ์เชิงลบตามไปด้วย กล่าวคือประสบการณ์เชิงลบหรือประสบการณ์เลวร้ายจะถูกเก็บบันทึกลงไปที่จิตใต้สำนึก ซึ่งจะเก็บสะสมความทรงจำทุกช่วงเวลาของชีวิตเอาไว้ รวมไปถึงสัญชาตญาณต่าง ๆ แต่ที่สำคัญก็คือ แม้คน 2 คนเผชิญกับประสบการณ์เลวร้ายที่แตกต่างกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะรู้สึกแบบเดียวกัน มันขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาตีความหรือประเมินประสบการณ์นั้นอย่างไร

            สำหรับเด็กหลายคน ประสบการณ์เชิงลบในวัยเด็กสามารถทำให้บุคคลมีภาวะเปราะบางต่อสื่งกระตุ้นโรคซึมเศร้าไปตลอดชีวิตอีกด้วย ในหนังสือ Please to Meet Me ที่เขียนโดย บิล ซัลลิแวน (Bill Sullivan) มีเนื้อหาที่อธิบายว่า ในทางวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า ประสบการณ์เชิงลบในวัยเด็กจะไปตั้งโปรแกรมใหม่ให้ยีนที่รับผิดชอบการวางโครงสร้างสมอง ทำให้ไวต่อความเครียด พวกเขาจะไม่สามารถลืมมันได้ เพราะประสบการณ์เชิงลบในวัยเด็กไม่ใช่แค่ฝังลงไปในความรู้สึก แต่มันฝังอยู่ใน DNA ของเด็ก และจะทำให้มีแผลเป็นในรหัสของยีน ดังนั้นเด็กที่ได้รับประสบการณ์เชิงลบตั้งแต่วัยเด็ก ก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นมามีความเครียดง่ายกว่าคนทั่วไป อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะซึมเศร้าได้อีกด้วย

            ประสบการณ์เชิงลบนั้นสามารถเป็นได้หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดู ซึ่งมีการศึกษาพบว่าในครอบครัวที่มีพ่อ หรือแม่เพียงคนเดียว จะกระตุ้นการใช้ภาษาของเด็กน้อยกว่า ครอบครัวที่มีพ่อและแม่ครบถ้วน นอกจากนั้นยังมีการศึกษาอีกว่าเด็กที่ถูกทอดทิ้ง ถูกทำร้ายหรือกระทำความรุนแรง จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีแนวโน้ม ซึมเศร้า เครียด อัตราฆ่าตัวตายสูง ติดเหล้า ใช้ยาเสพติด มีผลปฏิบัติงานที่ไม่ดี รวมไปถึงมีปัญหาการเข้าสังคมสูง 

            นอกจากการเลี้ยงดูแล้วการกลั่นแกล้งในวัยเด็กก็สามารถพัฒนาตนเองให้เฉยชาต่อความเครียด และมีแนวโน้มสูงที่จะเติบโตขึ้นโดยขาดความสามารถในการเข้าสังคมและมีพฤติกรรมก้าวร้าวเสียเอง ซัลลิแวนยังได้เล่าถึงงานวิจัยปี 2013 ในหนังสือ Please to Meet Me ที่ค้นพบว่า การตอบสนองอย่างเฉยเมยต่อความเครียดในเด็กที่เคยถูกกลั่นแกล้งส่งผลไปถึงยีนที่ขนส่งสารสื่อประสาทเซโรโทนิน ทำให้ปิดการแสดงออก เพราะเซโรโทนินช่วยควบคุมอารมณ์และเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้า ไม้กับหินอาจทำให้กระดูกคนเราหักได้ แต่การกลั่นแกล้งทำให้ DNA หักได้เช่นกัน

            งานวิจัยต่าง ๆ ยังแสดงให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมด้านสังคมเศรษฐกิจของเด็กยังส่งผลกระทบต่อยีนของพวกเขา ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยในปี 2017 ที่ทำโดยนักประสาทวิทยาศาสตร์ ดักลาส วิลเลียมสัน (Douglas Williamson) จากมหาวิทยาลัยดุ๊ก ค้นพบว่าวัยรุ่นที่เติบโตขึ้นมาในบ้านที่มีสถานะทางสังคมเศรษฐกิจต่ำจะมีผลกระทบต่อยีนในเชิงลบ ส่งผลให้สมองของพวกเขามีการเปลี่ยนแปลงด้านพัฒนาการ ทำให้อะมิกดาลาที่เป็นสมองส่วนควบคุมความกลัว ความโกรธ ตื่นตัวมากเกินไป มันจะตอบสนองต่อความกลัวและภัยคุกคามอย่างรวดเร็ว

            การเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ยากจนกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับเอพีเจเนติกส์ที่ทำให้อะมิกดาลาทำงานหนักเกินไป ซึ่งจะทำให้พวกเขาควบคุม จัดการอารมณ์ของตัวเองได้ยากลำบาก วิลเลียมสันยังสรุปว่ามันเป็นไปได้สูงที่สิ่งนี้จะเป็นสาเหตุให้วัยรุ่นเหล่านี้มีอาการซึมเศร้าในช่วงต่อไปของชีวิต

            นอกจากสิ่งแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจแล้ว การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมก็เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ หากเด็กที่โตมาอาศัยอยู่ในสังคมที่เน้นการเห็นแก่ส่วนรวม มีการให้กำลังใจและความช่วยเหลือจากสังคมมากกว่าทัศนคติแบบ "ตัวใครตัวมัน" อาจได้รับการปกป้องจากการเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าเด็กที่อยู่ในสังคมที่มีทัศนคติแบบตัวใครตัวมัน 

        อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าหากเราเกิดมาในสิ่งแวดล้อมทางสังคมในลักษณะตัวใครตัวมัน และมีเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีนักจะต้องเป็นโรคซึมเศร้าในอนาคต แม้ว่าเราจะมีความเสี่ยงหรือมีแนวโน้มที่จะเป็นแต่หากเรามีคนที่คอยให้คำปรึกษาในชีวิต ก็จะทำให้แนวโน้มการเป็นโรคซึมเศร้าลดลงอย่างมาก ในทางกลับกันเด็กที่เผชิญกับประสบการณ์ที่เลวร้ายอย่างที่กล่าวมาข้างต้น และขาดการสนับสนุนดูแลที่ดี จะทำให้มีอัตราการเกิดโรคซึมเศร้าสูงที่สุด

สรุป

            เรื่องนี้บอกอะไรเราบ้าง อย่างแรกเลยประสบการณ์เลวร้ายก่อให้เกิดรอยแผลเป็นในยีน ซึ่งสามารถเกิดจากการเลี้ยงดู เหมือนกับที่ อังเดร อากัสซี (Andre Agassi) เผชิญจากพ่อที่เข้มงวดและคาดหวังสูงในตัวเขา หรือเกิดจากการถูกกลั่นแกล้ง นอกจากนั้นสิ่งแวดล้อมทั้งการเงิน และสังคมที่เป็นลักษณะตัวใครตัวมัน จะทำให้เด็กเติบโตมามีโอกาสเครียดและเป็นโรคซึมเศร้าง่ายกว่าคนทั่วไป  

            อย่างที่สองก็คือแม้ว่าจะเกิดรอยแผลเป็นในยีนและทำให้มีโอกาสเครียดและเป็นโรคซึมเศร้าง่ายกว่าคนทั่วไป แต่ถ้าหากเราได้รับการสนับสนุนทางสังคมที่เข้มแข็งก็สามารถลดปริมาณการเกิดโรคซึมเศร้าในวัยผู้ใหญ่ได้ ดังนั้นไม่ว่าเราจะเจอประสบการณ์ที่เลวร้ายขนาดไหน หรือแม้ว่าเราจะมีแผลเป็นในยีน แต่มันไม่ได้ลิขิตให้ชีวิตของเราต้องจบลง หรือต้องเป็นโรคซึมเศร้าในอนาคต แต่เราสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ โดยได้รับการสนับสนุนทางสังคมที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการได้รับกำลังใจจากสังคม หรือได้รับคำปรึกษา 

            จากข้อมูลทั้งหมดนี้ มันแสดงให้เห็นว่าสังคมของเราต้องเอาจริงเอาจังกับการสร้างการสนับสนุนทางสังคมที่ดี เพราะเราจะไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างการเลี้ยงลูก เศรษฐกิจของครอบครัว สังคมรอบข้าง เป็นไปได้ยาก เพราะมันเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องบูรณาการกันหลายฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงระบบ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการถ้วนหน้าที่ต้องมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ และการศึกษาที่มีคุณภาพที่ไม่ใช่แค่คุณภาพทางด้านความรู้ แต่เป็นคุณภาพในการดำเนินชีวิตอีกด้วย 

            การสร้างการสนับสนุนทางสังคมที่ดีนั้นสามารถเริ่มได้จากชุมชนเองไม่ว่าจะเป็นการบริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยาในชุมชนขนาดเล็ก การมีระบบแนะแนวที่เข้มแข็งในโรงเรียน หรือการสร้างกิจกรรมที่กระตุ้นให้ชุมชนใส่ใจคนรอบข้าง หรือสังคมเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการให้ข้อมูลต่าง ๆ ทางด้านสุขภาพจิตและการสนับสนุนทางสังคมที่สามารถทำได้โดยง่าย เช่นการชมเชย ให้กำลังใจ หรือมีวงสนทนาเป็นกลุ่มเพื่อรับฟังซึ่งกันและกัน

            สังคมของเรามีข้อดีตรงที่ส่วนมากเพื่อนบ้านมักจะช่วยเหลือสอดส่องดูแลกันและกัน เราสามารถเสริมจุดเด่นทางด้านนี้ มันจะเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ก็ควรจะต้องทำคู่ขนานพร้อมกับการแก้ไขปัญหาโครงสร้างทางสังคม หากประเทศชาติของเราจริงจังกับเรื่องเหล่านี้ เราจะสามารถช่วยเหลือลูกหลานของเราให้เติบโตไปเป็นพลเมืองที่มีประสิทธิภาพ มีสุขภาพจิตที่ดี ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข และ

พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง

อันคาดเดาได้ยากของโลกใบนี้

อ้างอิง

Anda, R. F., Fleisher, V. & Felitti, V. (2004). Childhood abuse, household dysfunction, and indicaors of impaired worker performance in adulthood. Permanente Journal. 8, 30-38.

Heckman, J. (2008). School, Skill, and Synapses. Economic Inquiry, Western Ecomic Association International. 46(3), 283-324.

Sullivan, B. (2019). Pleased to Meet me: Germs, and the Curious Forces That Make Us Who We Are. DC: National Geographic Society.

Swartz, J., Hariri, A. & Williamson, D. (2017). An epigenetic mechanism links socioeconomic status to changes in depression-related brain function in high-risk adolescents. Molecular Psychiatry. 22(2): 209-214.

คาลอส บุญสุภา. (2564). สังคมช่วงชิงอะไรจากเราไปบ้าง. https://sircr.blogspot.com/2021/01/blog-post.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). ข้อเสียของการเลี้ยงลูกแบบเข้มงวด (Strict). https://sircr.blogspot.com/2021/06/strict.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). ทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมของอีริคสัน (Psychosocial Development). https://sircr.blogspot.com/2021/06/psychosocial-development.html

ความคิดเห็น