การ "ปล่อยวาง (Let go)" หลักการคิดที่จำเป็นแห่งอนาคต

ด้วยความเป็นมนุษย์เราก็มักจะเป็นทุกข์เพราะขับข้องใจ ไม่พึงพอใจ เสียดาย ไม่แน่ใจ วิตกกังวล กับทางเลือกที่เราไม่ได้เลือก

            ผู้อ่านหลายท่านที่กดเข้ามาอ่านบทความนี้อาจจะเข้าใจคำว่า "ปล่อยวาง" คือการปลงกับความทุกข์ หรือความไม่สบายใจที่เกิดขึ้น เป็นหลักการคิดที่เมื่อเราเดินมาถึงจุดสิ้นสุด ไม่สามารถไปต่อได้ เราก็จะต้องปล่อยมันไป หรือการที่เราแบกหลายสิ่งเอาไว้ในชีวิต การปล่อยสิ่งเหล่านั้นได้ จะทำให้น้ำหนักเบาลง จริง ๆ ก็ถูกต้องแหละครับ เพียงแต่คำว่าปล่อยวางสามารถใช้ในมุมที่เรียบง่ายกว่านั้นมาก

            ชีวิตของเรามักจะพบเจอกับความขัดแย้งอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งภายนอก เช่น ขัดแย้งกับครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เพื่อน หรือความขัดแย้งภายใน เช่น ขัดแย้งระหว่างบรรทัดฐานทางสังคมกับความต้องการ ซึ่งในความจริงแล้วไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งภายในหรือภายนอก สิ่งที่เราจะต้องทำต่อจากความขัดแย้งก็คือ "การเลือก" มันเป็นคำที่เรียบง่ายมาก ยกตัวอย่างเช่น เราต้องการจะไปเรียนต่างประเทศ แต่พ่อแม่ไม่อยากให้เราไป สิ่งนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมา เราจะต้องเลือกว่าจะตามใจตนเองหรือตามใจพ่อแม่ 

            เช่นเดียวกับความขัดแย้งภายในที่มักจะเกิดขึ้นเวลาที่เราอยากจะทำอะไรที่แตกต่างออกไป เช่น การแต่งตัวที่ไม่เหมือนใคร แต่เราก็ต้องเลือกว่าจะตามใจตัวเอง หรือบรรทัดฐานทางสังคมที่มองว่าการแต่งตัวแบบสุภาพเป็นการแต่งตัวที่ถูกต้อง แน่นอนว่ามีตัวอย่างการเลือกมากมายที่ผมสามารถยกตัวอย่างขึ้นมาได้  แต่สิ่งที่น่านำไปคิดต่อยอดก็คือ "มันมีทางเลือกที่ดีที่สุดอยู่จริงหรือไม่" 

            ผมเชื่อว่าบางความขัดแย้งก็มีทางเลือกที่ดีแน่นอน แต่เราคงไม่มีทางรู้อย่างแน่ชัดหรอกว่าอะไรคือทางเลือกที่ดีที่สุด ไม่ใช่เฉพาะเพียงแค่ความขัดแย้งที่ซับซ้อนอย่างเดียวที่ทำให้เราไม่มั่นใจในตัวเลือก แต่ความขัดแย้งที่เรียบง่ายอย่างเช่น การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า มันก็ยากที่เราจะล่วงรู้ได้ว่าตัวเลือกไหนเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดกันแน่ กล่าวคือ เราไม่สามารถเลือกทางที่ดีที่สุด เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอะไรคือทางเลือกที่ดีที่สุด จนกระทั่งผลลัพธ์ของทุกทางเผยโฉมออกมา

            เราอาจพยายามเลือกทางที่ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยอาศัยข้อมูลที่มี ณ เวลานั้น แต่ถ้าเราตั้งเป้าเอาไว้ว่าต้องเลือกทางที่ดีที่สุด เราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าทำสำเร็จหรือไม่ และเมื่อเราตั้งเป้าแบบนี้ เราก็จะเอาแต่เฝ้าคิดซ้ำไปซ้ำมาว่าทำถูกหรือไม่ และคอยย้อนกลับมาทบทวนทางเลือกที่ไม่ได้เลือกอยู่เสมอ พูดง่าย ๆ คือเราคิดไม่ตกนั้นเอง ซึ่งขณะที่มัวแต่ครุ่นคิดไปมา ความพึงพอใจในทางเลือกที่เลือกไว้ก็มลายหายสิ้นไป ทำให้เราว้าวุ่นจนไม่อาจเดินหน้าเต็มกำลังบนหนทางที่เราเลือกมันก่อนหน้านี้ได้

            หรือจะให้พูดอีกอย่างก็คือ "มันทำให้เราเกิดความทุกข์ขึ้นนั้นเอง" เมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้นจนกระทั่งเราตัดสินใจเลือกแล้ว หากเรามัวแต่ถามซ้ำไปซ้ำมาว่าเลือกถูกหรือไม่ เราก็จะพบกับความทุกข์ หลายคนที่ผมรู้จักมักจะพูดกับผมว่า "รู้งี้ไม่น่าเลย" "ถ้าฉันเลือกเรียนที่นี้นะ" หรือ "ถ้าฉันไม่ลาออกจากงานเก่านะ" ความคิดเหล่านี้มันเกิดขึ้นเพราะเราปล่อยวางมันไม่ได้ เมื่อเราไม่ยอมปล่อยทางเลือกที่เราไม่ได้เลือกทิ้งไป เราจะไม่มีทางพึงพอใจหรือมีความสุขกับทางเลือกที่เราตัดสินใจเลือกได้เลย ซึ่งนั้นแหละคือความทุกข์

การ "ปล่อยวาง" หลักคิดแห่งอนาคต

            เหตุผลที่ผมคิดว่าการปล่อยวาง เป็นหลักคิดที่จำเป็นแห่งอนาคต เพราะว่าโลกเราในปัจจุบันหมุนเร็วมาก จนเราแทบจะปรับตัวไม่ได้ ทางเลือกต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของ เทคโนโลยี อาหาร การลงทุน ความเชื่อ บ้านเรือน ไปจนถึงเส้นทางชีวิต ยิ่งตัวเลือกมากขึ้น ยิ่งทำให้เราจำเป็นต้องตัดสินใจเลือกอย่างยากลำบาก ทั้งหมดนำมาซึ่งความขัดแย้งและความไม่สบายใจ

            เหตุผลที่ความไม่สบายใจเกิดขึ้นเพราะเรามัวแต่หมกมุ่นกับเส้นทางที่เราไม่ได้เลือก แน่นอนเราอาจจะไม่ได้หงุดหงิดมากกับการเลือกซอสมะเขือเทศที่ไม่ถูกปาก เราสามารถกลับไปซื้อรสชาติอื่นที่ได้ เพราะราคามันไม่ได้แพงนัก แต่ชีวิตของเราก็ไม่ได้ให้โอกาสในการเลือกครั้งที่ 2 สำหรับบางกรณี ยกตัวอย่างเช่น เลือกสาขาที่เรียน เลือกบ้าน เลือกรถ ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะสามารถซื้อใหม่ได้ แต่ก็ต้องใช้ทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นเงิน หรือเวลาจำนวนมากเพื่อที่จะได้โอกาสเลือกใหม่อีกครั้งหนึ่ง 

            อีกทั้งสาเหตุที่เราอยากเลือกใหม่เป็นเพราะว่าเราปล่อยวางไม่ได้ แดน กิลเบิร์ต (Dan Gilbert) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้แสดงให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อเรา ปล่อยวางทางเลือก ผ่านการทดลองที่ศึกษาว่าผู้คนตัดสินใจอย่างไรเมื่อต้องเลือกผลงานศิลปะของโมเนต์ ในการทดลองนี้เขาขอให้กลุ่มทดลองจัดอันดับผลงานของโมเนต์ 5 ภาพ โดยเรียงลำดับตามความชอบของตนเองตั้งแต่อันดับที่ 1 - 5 จากนั้นนักวิจัยจะบอกว่า พวกเขาบังเอิญมีภาพสำรองของภาพในอันดับที่ 3 และ 4 พอดี อีกทั้งพวกเขายังอนุญาตให้ผู้เข้ารับการทดลองนำภาพกลับบ้านได้

            แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่จะเลือกภาพที่ตนจัดไว้เป็นอันดับที่ 3 สิ่งที่น่าสนใจคือ นักวิจัยจะบอกกับกลุ่มทดลองว่าพวกเขานำภาพกลับมาเปลี่ยนได้หากต้องการ และบอกอีกกลุ่มว่าภาพที่นำกลับไปนั้นไม่สามารถนำมาเปลี่ยนคืนได้ หลังจากผ่านไป 2 - 3 สัปดาห์ นักวิจัยติดต่อไปยังกลุ่มคนเหล่านั้น พวกที่คิดว่าตัวเองสามารถเปลี่ยนภาพที่เลือกได้ (พวกเขาไม่ได้นำมาเปลี่ยน) มีความสุขกับภาพที่เลือกมากหรือน้อยกว่า ถ้าเปรียบเทียบกับกลุ่มที่เลือกภาพเดียวกัน แต่ห้ามเปลี่ยนภายหลัง

            ผลปรากฎว่าเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้ย้อนกลับไปแก้ไขนั้น หาได้มีผลช่วยสร้างความสุขอันมั่นคงให้กับทางเลือกนั้น ๆ แต่อย่างใด กลายเป็นว่าโอกาสที่จะคิดทบทวนใหม่และ "เปิดทางเลือกไว้เสมอ" ทำให้เราตั้งข้อสงสัยและลดมูลค่าทางเลือกของเราเองลง ยิ่งไปกว่านั้น นักวิจัย แบร์รี ชวาร์ตซ์ (Barry Schwartz) อธิบายเพิ่มเติมว่า เจ้าตัวปัญหาส่วนเล็ก ๆ ในสมองซึ่งทำหน้าที่ตัดสินใจยังมีรายละเอียดมากกว่านั้นอีก เมื่อเราตัดสินใจโดยมีทางเลือกมากมาย หรือรับรู้ว่ายังมีทางเลือกอีกหลายทางที่เราไม่รู้ จะทำให้เรามีความสุขน้อยลงกับสิ่งที่เลือก 

            ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ทางเลือกซึ่งเราไม่ได้เลือก แต่ปัญหาคือทางเลือกที่กองเป็นภูเขาซึ่งเราไม่มีเวลาศึกษาและทำความเข้าใจต่างหาก ความคิดที่ว่าอาจจะมีความเป็นไปได้ที่ยอดเยี่ยมอีกมากมาย แต่เราไม่เคยมีโอกาสเข้าถึง กลายเป็นแรงอันทรงพลังที่ขัดขวางไม่ให้เราสงบใจกับสิ่งที่เลือกไปแล้ว เรามักคิดว่าต้องมีทางเลือกที่ดีกว่านั้นอยู่ที่ไหนสักแห่ง แต่เราพลาดมันไป ที่น่าตลกก็คือแม้จะไม่รู้ว่าทางเลือกอื่น ๆ นั้นคืออะไรก็ตาม โดยเฉพาะโลกที่เชื่อมต่อด้วยอินเทอร์เน็ต ทำเราเกิดทางเลือกมากมายมหาศาล จึงมีโอกาสที่เราจะไม่มีความสุขกับสิ่งที่เราเลือกมากกว่าบรรพบุรุษยุคใด ๆ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

            ลองนึกดูสิครับ เราชั่งใจอยู่นานว่าจะเลือกซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นใดระหว่าง iPhone หรือ Sumsung เมื่อเราตัดสินใจได้แล้ว ดันไปเจอรีวิวสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นอีก ทำให้เรารู้สึกไม่พอใจกับตัวเลือกของเราเลย ยิ่งไปกว่านั้นเราดันไปเปิดเจอประชาสัมพันธ์สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ที่กำลังเปิดตัวที่ต่างประเทศ และไม่รู้แน่ชัดว่าจะขายในไทยเมื่อไหร่ แต่ข่าวนั้นก็ยิ่งลดความพอใจต่อตัวเลือกของเราที่เราเลือกไปแล้ว กล่าวคือจากตัวเองเลือกเพียง 2 ตัวเลือก แม้ว่าเราจะตัดสินใจเลือกมาจากข้อมูลอย่างดีแล้ว แต่ก็มาเจอตัวเลือกอื่น ๆ ที่ทั้งสามารถเอื้อมถึงและเอื้อมไม่ถึง ซึ่งทำให้เรามีความสุขน้อยลงอย่างน่าตกใจ

            ผู้อ่านทุกท่านคงเห็นว่ามันเป็นเรื่องตลกมาก ที่เรารู้สึกเป็นทุกข์ต่อตัวเลือกที่เราไม่สามารถเลือกได้ หรือแม้แต่ตัวเลือกอื่น ๆ เราไม่รู้จักเลยก็ตาม มันเป็นความ "อลหม่านของตัวเลือก" (The Paradox of Choices) นี้แค่ตัวอย่างของวัตถุสิ่งของ แล้วลองนึกดูสิครับ ถ้าเป็นเรื่องของอนาคตไม่ว่าจะเป็นอาชีพ แผนการเรียน หรือมหาวิทยาลัย เราจะรู้สึกทุกข์ขนาดไหน และแค่นั้นยังไม่พออนาคตก็จะยิ่งมีทางเลือกเพิ่มขึ้นมหาศาล อาจจะมากจนเราแทบไม่คิดไม่ฝัน มนุษยชาติของเราอาจจะกำลังเดินทางไปสู่ยุคสมัยที่ทุกข์ที่สุดก็ได้ ถ้าเราไม่รู้จัก "ปล่อยวาง"

            ผมเชื่อว่าหากพูดถึงการปล่อยวาง หลายท่านอาจจะนึกถึงศาสนาพุทธซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะการปล่อยวางเป็นหลักความคิดเรียบง่ายและสามารถนำมาใช้ได้หลายสถานการณ์ที่มีความทุกข์เข้ามาเกี่ยวข้อง และหากพูดถึงความทุกข์แล้ว ในทัศนะของศาสนาพุทธความทุกข์ไม่ได้เกิดมาจากโชคร้าย หรือจากความอยุติธรรมในสังคม หรือจากอำนาจศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ ในทางกลับกัน ความทุกข์มีต้นเหตุมาจากรูปแบบของความนึกคิดของแต่ละคนนั้นเอง ไม่ว่าจิตจะประสบพบกับสิ่งใดก็ตาม มันจะตอบสนองด้วยกิเลสอย่างใดอย่างหนึ่ง และกิเลสนั้นก็นำไปสู่ความทุกข์ยากไม่พอใจอยู่เสมอ 

            หากจิตประสบกับบางอย่างที่ไม่พึงใจ มันก็อยากจะกำจัดสิ่งนั้นทิ้งไป แต่หากจิตประสบกับบางอย่างที่พึงใจ มันก็อยากให้สิ่งนั้นคงอยู่และอยากได้เพิ่มอีก ทั้งหมดนี้เป็นสามัญสำนึกพื้นฐานของมนุษย์ การตัดสินใจเลือกตัวเลือกจำนวนมาก ก็นำมาซึ่งความทุกข์เหมือนกันเพียงแต่ความทุกข์นั้นไม่ได้เกิดจากทางเลือกด้วยตัวของมันเอง แต่เกิดมาจากตัวเราเองที่จัดการกับจิตใจของตัวเองไม่ได้ เราขับข้องใจ ไม่พึงพอใจ เสียดาย ไม่แน่ใจ วิตกกังวล อารมณ์ทั้งหมดนั้นทำให้เกิดความทุกข์

            เช่นเดียวกัน หากเราสามารถปล่อยวางจากทางเลือกที่เราไม่ได้เลือกได้ แม้เราจะมีอารมณ์ความรู้สึกที่ผมกล่าวมาข้างต้นบ้าง แต่ก็ไม่มากพอที่จะทำให้เราทุกข์ใจจนเกินไป เหตุผลที่เราไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้แบบ 100% ก็เพราะเราเป็นมนุษย์ เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ เราขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ หลายครั้งมันก็นำพาเราไปในทางที่ผิด เหมือนกับสิ่งที่กวีโรมัน โอวิด (Ovid) ได้บรรยายไว้ใน มหากาพย์เมตามอร์โฟเซส (Metamorphoses) มีเดียต้องตัดสินใจเลือกระหว่างความรักที่เธอมีจต่อเจสันกับหน้าที่ที่มีต่อบิดา เธอจึงคร่ำครวญว่า "ข้าถูกลากไปด้วยพลังประหลาดแบบใหม่ ความปรารถนาและเหตุผลดึงข้าไปคนละทาง ข้าเห็นเส้นทางที่ถูกต้องและยอมรับว่าถูก ทว่ากลับเดินไปตามเส้นทางที่ผิด" 

            การปล่อยวางจึงไม่ได้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่อะไรขนาดนั้น สำหรับบางคนมันเบาดั่งขนนก แต่ในทางกลับกันสำหรับบางคนมันก็หนักดั่งขุนเขาเช่นกัน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของชีวิต บางคนมีทุนทรัพย์มากสามารถตัดสินใจบางเรื่องได้อย่างง่ายดาย ในขณะเดียวกันอาจจะเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับบางคน ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีทุนทรัพย์ มีเป้าหมายที่จะเรียนแพทย์ ในกรณีเขาพลาด สอบไม่ติด เขาอาจจะรออีกหนึ่งปี อ่านหนังสือแล้วลองใหม่อีกครั้ง ตรงกันข้ามกับนักเรียนที่ยากจน พวกเขาไม่สามารถจะรอแบบนั้นได้ และถึงต่อให้เขารอได้ เขาก็ไม่มีเวลาว่างที่จะอ่านหนังสือเตรียมความพร้อมได้เท่ากับนักเรียนที่มีทุนทรัพย์

            อย่างไรก็ตามทุกอย่างมันก็ขึ้นกับตัวบุคคล นักเรียนที่มีทุนทรัพย์ไม่มาก อาจจะเลือกเรียนอย่างอื่น แล้วปล่อยวางกับการเป็นแพทย์ก็ได้เช่นกัน ดังนั้นไม่ใช่แค่เพียงเงื่อนไขในชีวิตที่มีส่วนสำคัญ แต่เป็นที่ตัวของเราด้วยว่าจะปล่อยวางทางเลือกที่เราไม่ได้เลือกได้หรือไม่ หากเราทำได้ก็จะทำให้เรามีความสุขกับชีวิตมากยิ่งขึ้น เพราะว่าเราจะไม่ยึดติดกับมัน เราต้องไม่ลืมว่าทุกอย่างมันไม่มีอะไรแน่นอน อะไรที่เราเคยคิดว่าใช่มันก็อาจไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป สิ่งนี้คือชีวิต มันเป็นความไม่แน่นอน เราอยู่บนโลกนี้เพียงแค่ชั่วคราวพยายามอย่าไปยึดติดหรืออาลัยอาวรณ์กับอะไรขนาดนั้น การมีความสุขคือการละทิ้งสิ่งที่เราไม่ต้องการ

            ผู้อ่านจะเห็นว่า การปล่อยวาง เป็นอะไรที่เรียบง่ายอย่างมาก ชีวิตคือการตัดสินใจ แม้แต่ตอนที่เราไม่ทำอะไรก็คือการตัดสินใจ ดังนั้นเราจะต้องพยายามหัดปล่อยวางทางเลือกที่เราไม่ต้องการ ซื้อสิ่งนี้ไปแล้ว อย่าไปอยากได้สิ่งอื่น เราต้องปล่อยวางถึงจะมีความสุขได้ เพราะอะไรก็ตามที่เราเลือกไปแม้จะเหนื่อยยากแค่ไหนก็ตาม ความสุขจะเกิดขึ้นเพียงแค่ช่วงแรก สุดท้ายมันจะละลายหายไปเหมือนกับก้อนน้ำแข็งบนฝ่ามือ ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่จุดสมดุล หรือเรียกกันว่าจุดตั้งต้น

            อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเราจะตัดสินใจเลือกผิดทาง เราก็ไม่ควรจะไปนึกเสียใจกับอดีต เราสามารถรู้คุณค่าของความล้มเหลวได้ ซึ่งมันจะทำให้ความเจ็บปวดจางหายไป เพราะชีวิตคือกระบวนการ ไม่ใช่ผลลัพธ์ ต่อให้เราเคยเลือกเดินทางผิดก็สามารถเก็บเอามาเป็นประสบการณ์ได้ เราเติบโตจากปัจจุบันไปสู่อนาคตเสมอ 

ดังนั้นเราจึงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา "เพราะชีวิตไม่เคยสิ้นสุด"

อ้างอิง

Burnett, B & Evans, D. (2016). Designing Your Life: How to Build a Well-Lived, Joyful Life. NY: Knopf.

คาลอส บุญสุภา. (2559). ลำดับขั้นความต้องการ 8 ขั้นของมาสโลว์ (Maslow's Hierarchy of Needs). https://sircr.blogspot.com/2016/12/8-maslows-hierarchy-of-needs.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). ความลับของจิตไร้สำนึก หรือ จิตใต้สำนึก (Unconsciouns). https://sircr.blogspot.com/2021/07/unconsciouns.html

ความคิดเห็น