การสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยทางจิตใจ เพื่อการทำงานเป็นทีม (Psychological Safety for Teams)

การทำงานเป็นทีมจะประสบความสำเร็จได้ มาจากการที่คนในทีม 
มีความเต็มใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ยอมรับกันและกัน 
สามารถล้มเหลวได้ เพราะความผิดพลาดเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้

            เวลาที่ผมฟัง Podcasts รายต่าง ๆ มักจะมีเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี (Digital Transformation) ซึ่งหมายถึงการนำเทคโนโลยีและกลยุทธ์ทางดิจิทัลเข้ามาใช้ในการวางรากฐาน เป้าหมาย การดำเนินธุรกิจ การบริหารบุคคลและหล่อหลอมวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งเหตุผลที่องค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงก็เพราะการแทรกแซงทางเทคโนโลยี (Technology Disruption) ที่สร้างผลกระทบมากมายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอาชีพใหม่ ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น วิธีการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป หรือเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา

            สถานการณ์โควิด-19 (COVID-19) เป็นปัจจัยที่เร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีให้ก้าวกระโดดมากขึ้น จากที่ไม่เคยประชุมออนไลน์ก็ต้องประชุม จากที่ไม่เคยสอนหรือเรียนออนไลน์ก็จำเป็นต้องทำ กล่าวคือกระบวนการดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นในอนาคตอยู่แล้ว เพียงแต่ในปัจจุบันด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทำให้กระบวนการนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

            อย่างไรก็ตามแม้ว่าการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีจะก้าวล้ำมากเพียงใด หรือคนจะพัฒนาทักษะทั้งการทำงาน และทัศนคติต่อการเปลี่ยนแปลงมากแค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลยก็คือคนจำเป็นต้องทำงานเป็นทีม แม้องค์กรใหม่ ๆ จะไม่จำเป็นต้องมีพนักงานเยอะเหมือนแต่ก่อน ก็ปฏิเสธการทำงานเป็นทีมได้อย่างแน่นอน และองค์กรต่าง ๆ ก็ต้องการจะให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างปฏิเสธไม่ได้

            แน่นอนว่าการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ ขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคล เช่น ความสามารถ ทักษะการทำงานเฉพาะทาง และทัศนคติ ที่จะทำให้พนักงานแต่ละคนร่วมมือกันสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพออกมา แต่สิ่งสำคัญที่ขาดไปไม่ได้ก็คือ นโยบายการบริหารของผู้บริหาร และวัฒนธรรมองค์กรที่จะต้องเริ่มต้นจากนโยบายขององค์กร หากองค์กรมีวัฒนธรรมที่แย่ มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ แม้พนักงานจะเก่งมากสักแค่ไหน มีทัศนคติที่ดีมากเพียงใด เขาก็จะต้องยอมแพ้และออกไปที่อื่นจนสุดท้ายก็คือเพียงซากปฏิกูล ที่จะทำให้องค์กรล้มจมหรือวิ่งตามใครไม่ทันในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้

            ดังนั้นวัฒนธรรมที่ดีจะเป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้พนักงานสามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการศึกษาจากองค์กรชั้นนำหลายแห่ง รวมทั้ง Google ก็ค้นพบว่าปัจจัยที่จะทำให้พนักงานทำงานร่วมกันได้อย่างด็ คือองค์กรที่มีสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) ซึ่งในบทความนี้ผมจะนำเสนอเกี่ยวกับความปลอดภัยทางจิตใจ และจะนำไปสู่การศึกษาวิจัยของ Google สุดท้ายผมจะอธิบายว่าองค์กรสร้างวัฒนธรรมแห่งความปลอดภัยนี้ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ความปลอดภัยทางจิตใจ

            การทำงานเป็นทีมยังคงเป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดิม และยิ่งจำเป็นมากขึ้นเพราะเป้าหมายของงานมักจะใหญ่ขึ้นเสมอ ดังนั้นการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งที่องค์จะขาดไปไม่ได้ และอีกปัจจัยหนึ่งที่ควรจะสร้างให้เกิดขึ้นก็คือ ความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) ซึ่งหมายถึงความรู้สึกปลอดภัยในที่ทำงาน เป็นความเชื่อที่มีร่วมกันว่าคนในทีมจะสามารถทำงานได่อย่างปลอดภัย สามารถที่จะแสดงความคิดเห็น กล้าทำสิ่งใหม่ ๆ บนรากฐานของความเชื่อใจ เคารพซึ่งกันและกัน รู้สึกสบายใจที่จะเป็นตัวของตัวเอง รู้สึกปลอดภัยที่จะยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและตอบสนองต่อความผิดพลาดอย่างสร้างสรรค์ได้

            หากองค์กรมีสภาพแวดล้อมที่พนักงานรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจเขาจะกล้าเสี่ยง กล้าที่จะฝัน กล้าแสดงความคิดเห็น กล่าวคือ เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้พนักงานได้แสดงศักยภาพของตนเองออกมาซึ่ง เอมี เอ็ดมอนด์สัน (Amy Edmondson) ศาสตราจารย์จาก Harvard Business School ผู้เขียนหนังสือ Fearless Organization กล่าวว่า การทำงานเป็นทีมจะประสบความสำเร็จได้จะมาจากการที่คนในทีม มีความเต็มใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ยอมรับกันและกัน สามารถที่จะเสี่ยงและความล้มเหลวได้ เพราะความผิดพลาดเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ และสามารถพูดคุยเปิดอกกันได้ 

            คนในทีมจะต้องรู้จักให้โอกาส ช่วยเหลือกันอย่างเข้าอกเข้าใจ พวกเขาจะประสบความสำเร็จในการทำงาน ซึ่งสอดคล้องกับการศีกษาหนึ่งที่พบว่าวิศวกรที่แบ่งปันแนวคิดของตนเองโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนมีแนวโน้มสูงกว่าวิศวกรคนอื่น ๆ (ที่ไม่แบ่งปันแนวคิดของตัวเองเลย) ที่จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ เพราะพวกเขาทำให้ผู้อื่นรู้สึกปลอดภัยที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วย 

            ในหนังสือ Give and Take ที่เขียนโดย อดัม แกรนท์ (Adam Grant) เขาได้เขียนเล่าถึงกรณีศึกษาของ เอมี เอ็ดมอนด์สัน (Amy Edmondson) ว่า เธอขอให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจาก 8 แผนกประเมินว่า พวกเขารู้สึกปลอดภัยมากแค่ไหนเวลาทำงานในแผนก และทำผิดพลาดบ่อยแค่ไหน ผลลัพธ์เป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้ นั้นคือ ยิ่งมีความปลอดภัยทางจิตใจมากเท่าไหร่ จำนวนความผิดพลาดก็พบสูงขึ้นเท่านั้น ในแผนกที่เจ้าหน้าที่รู้สึกว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องที่สามารถให้อภัยได้ ดูเหมือนว่าพวกเขาจะมีแนวโน้มจ่ายยาให้คนไข้ผิดมากขึ้น คนไข้จึงมีโอกาสที่จะได้รับยาที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือ มีอาการแพ้ยาเกิดขึ้น ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับความคิดของคนส่วนใหญ่ว่า การยอมให้เกิดความผิดพลาดได้ ย่อมทำให้ผู้คนนิ่งนอนใจและทำผิดพลาดมากขึ้น 

            อย่างไรก็ตาม เอ็ดมอนด์สันยังไม่ปักใจเชื่อ เธอให้เหตุผลว่าความปลอดภัยทางจิตใจจะทำให้ผู้คนรู้สึกสบายที่จะรายงานความผิดพลาดของตนเองมากขึ้น ไม่ใช่ว่าเขาทำผิดพลาดมากขึ้น หลังจากที่เธอลงรายละเอียดลึกขึ้นเกี่ยวกับการจ่ายยาที่ผิด ปรากฏว่าคนในแผนกที่มีความปลอดภัยทางจิตใจสูง ไม่ได้ทำผิดพลาดมากขึ้น แต่ในทางกลับกันพวกเขาทำผิดพลาดน้อยลงด้วยซ้ำ 

            เธออธิบายว่าเจ้าหน้าที่จะปิดบังความผิดของตนเองเพราะกลัวจะถูกลงโทษ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงปกปิดข้อมูล และด้วยทัศนคตินี้พวกเขาจึงไม่สามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดได้ ในทางตรงกันข้ามกับแผนกที่มีความปลอดภัยทางจิตใจสูง การรายงานความผิดพลาดจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดนั้นขึ้นอีก กล่าวคือ แผนกที่มีความปลอดภัยทางจิตใจต่ำ จะปกปิดความผิดพลาดจนเป็นนิสัย และจะไม่ได้เรียนรู้ความผิดพลาดนั้น ซึ่งแตกต่างกับแผนกที่มีความปลอดภายทางจิตใจสูง ที่รายงานความผิดพลาดตามความเป็นจริง และเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น

การสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยทางจิตใจเพื่อการทำงานเป็นทีม

            มีการตั้งคำถามกันมากมายว่าจะทำงานเป็นทีมอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ เพราะแม้แต่องค์กรอย่าง Google ที่รวมเอาหัวกะทิมากมาย ก็ยังมีทีมที่ทำผลงานไม่ดีเท่าที่ควร นั้นจึงเป็นที่มาของการคิดหาคำตอบว่าอะไรที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญของการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนบริหารและพัฒนาบุคลากรไปในทิศทางไหนจึงจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีต่อทุกฝ่าย Google จึงก่อตั้งโครงการศึกษาวิจัยภายใต้ชื่อ Project Aristotle ในปี 2012 ที่ดูแลโดย Abeer Dubey ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์บุคลากรในองค์กร 

            คำว่า Project Aristotle มีที่มาจากชื่อนักปรัชญากรีกชื่อ อริสโตเติล (Aristotle) เหตุผลที่นำชื่อนี้มาเพราะว่าความประทับใจคำพูดที่โด่งดังของเขาที่กล่าวว่า "The whole is greater than the sum of its parts" แปลว่า "ทั้งหมดมีค่ามากกว่าผลรวมของส่วนย่อยต่าง ๆ ที่มารวมกัน" ซึ่งหมายถึง การให้ความสำคัญกับการทำงานในระบบทีมที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการให้ความสำคัญกับตัวบุคคลที่เก่งกาจ โดยการวิจัยนี้ใช้เวลาทั้งสิ้น 2 ปี ในการเก้บข้อมูลตลอดจนสัมภาษณ์พนักงานของ Google มากกว่า 180 ทีม 

            Google ได้เปิดเผยผลสำเร็จของ Project Aristotle ที่ศึกษาค้นคว้าว่าปัจจัยใดเป็นหัวใจหรือตัวชี้วัดสำคัญของความสำเร็จในการทำงานระบบทีม จนพบความสำเร็จ 5 ข้อ ที่จะทำให้เราสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสร้างความแข็งแกร่งของทีมขึ้นมาได้ แบ่งได้ตามนี้

            1) ความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) สภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยมากพอที่พนักงานกล้านำเสนอความคิดของตนเอง โดยไม่ต้องกลัวความคิดนั้นจะถูกวิจารณ์ หรืออับอายเพราะทุกความเห็นมีความสำคัญ อีกทั้งสภาพแวดล้อมนี้จะหล่อหลอมให้พนักงานทุกคนเคารพ และมีความเชื่อร่วมกัน

            2) ไว้วางใจและเชื่อมั่น (Dependability) มีความไว้วางใจและเชื่อมั่นในความสามารถของทุกคนในทีม เชื่อมั่นว่าจะทำสำเร็จได้ เชื่อมั่นว่าจะทันตามกำหนดเวลา และเชื่อว่าผลลัพธ์จะออกมาดี

            3) มีโครงและแผนการทำงานที่ชัดเจน (Structure & Clarity) มีการจัดการภายในทีมที่ดี มีการแบ่งโครงสร้างและการทำงานอย่างชัดเจน โดยสมาชิกในทีมจะต้องเข้าใจแผนงานร่วมกันไปในทิศทางเดียวกัน รู้บทบาทของตนเองอย่างชัดเจน ตลอดจนให้ความร่วมมือหรือประสานงานระหว่างกันด้วยดี

            4) ความหมายของงาน (Meaning of Work) ภูมิใจในงานของตน รวมถึงรู้จักและเคารพในบทบาทและหน้าที่ของแต่ละบุคคล และจะต้องเข้าใจความหมายของงานที่กำลังทำ เข้าใจผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงเห็นคุณค่าของสิ่งที่ตนกำลังทำอยู่ และจะต้องรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าด้วย

            5) ผลลัพธ์ของงาน (Impact of Work) เชื่อมั่นว่างานที่กำลังทำอยู่มีความสำคัญและมีผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม เชื่อว่าสิ่งที่ตนเองหรือทีมกำลังทำอยู่นั้นจะสร้างผลลัพธ์ที่ดีออกมา ที่สำคัญจะต้องเชื่อในศักยภาพของตนเองที่จะสร้างคุณค่าให้กับองค์กรหรือทีมด้วย

            ผลการวิจัยที่ทาง Google สรุปมาเป็น 5 ปัจจัยสำคัญกลายเป็นบรรทัดฐานวิธีการทำงานที่เป็นเคล็ดลับสำคัญสู่ความสำเร็จ นอกจากนี้ทาง Google ยังชี้ชัดอีกว่าปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุด ตลอดจนเป็นพื้นฐานที่ทำให้ปัจจัยอื่นประสบความสำเร็จได้ดีเยี่ยม ก็คือความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) ซึ่งเป็นพื้นฐานการสร้างการยอมรับระหว่างกันและกัน ตลอดจนไว้วางใจและเชื่อมั่นในกันและกัน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพอย่างปฏิเสธไม่ได้  

            Google เชื่อว่า การที่สมาชิกทีมมีความปลอดภัยทางจิตใจจะทำให้สมาชิกเกิดความเคารพในบรรทัดฐานเดียวกัน มีความเชื่อร่วมกัน และกล้านำเสนอความคิดของตนต่อผู้อื่น โดยไม่ต้องกลัวว่าความคิดนั้นจะถูกวิจารณ์ว่าโง่ ไม่เห็นด้วย รู้สึกว่าตัวเองโง่ หรือความคิดนี้ไม่มีคุณค่าและไม่สำคัญ หรือหากนำเสนอแล้วจะเกิดความอับอายขึ้น กล่าวคือ Google สร้างทัศนคติ Safe Zone (เขตปลอดภัย) ให้กับสมาชิกของเขา เพื่อให้เขากล้านำเสนอความคิดเห็นออกมา และทำให้พวกเขาเชื่อว่าทุกความคิดเห็นล้วนสำคัญและมีคุณค่า

            เหมือนกับที่ เอมี เอ็ดมอนด์สัน (Amy Edmondson) กล่าวว่าการทำงานเป็นทีมจะประสบความสำเร็จได้จะมาจากการที่คนในทีม มีความเต็มใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ยอมรับกันและกัน สามารถที่จะเสี่ยงและความล้มเหลวได้ เพราะความผิดพลาดเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ และสามารถพูดคุยเปิดอกกันได้ นั้นทำให้ลดความผิดพลาดที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังมีการรายงานความผิดพลาดมากขึ้น ตามผลสรุปจากงานวิจัยในโรงพยาบาลของเธอ

            การจะสร้างวัฒนธรรมที่มีสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยทางจิตใจได้ จะต้องเริ่มจากนโยบายของผู้บริหารที่รับรองได้ว่าเมื่อพนักงานทำผิดพลาด หรือล้มเหลวจะไม่มีคำด่าหรือบทลงโทษอะไร แต่จะต้องให้พนักงานได้เรียนรู้ถึงความผิดพลาดนั้น และจะทำให้อย่างไรเพื่อลดความผิดพลาดนั้นให้น้อยลง อีกทั้งยังต้องถ่อมตัว ยอมรับฟังความคิดเห็นใหม่ที่แตกต่างให้มากขึ้น มีการตอบสนองแบบให้เกียรติ นั้นจะทำให้เกิดวัฒนธรรมขึ้น ซึ่งจะทำให้หัวหน้างานปฏิบัติต่อพนักงานใต้บังคับบัญชาในแบบเดียวกันไม่มากก็น้อย

            และเมื่อวัฒนธรรมดังกล่าวถูกใช้เป็นระยะเวลาหนึ่ง ก็จะสร้างหรือเปลี่ยนแปลงทัศนคติของพนักงานให้พวกเขากล้าที่จะแสดงความคิดเห็น กล้าที่จะล้มเหลวพร้อมกับเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้การทำงานเป็นทีมประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น แม้ว่าจะมีพนักงานบางคนหรือหัวหน้างานที่มีนิสัยแย่ สร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษต่อทีมหรือพนักงานคนอื่น แต่เมื่อวัฒนธรรมความปลอดภัยทางจิตใจนี้สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ ก็จะเกิดอิทธิพลทางสังคมที่บีบบังคับให้คนต้องเปลี่ยนแปลงจนได้ หรือบีบให้พนักงานที่มีนิสัยแย่ ๆ ต้องพิจารณาว่าควรจะอยู่ต่อไปหรือไม่

สรุป

            ความรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) เป็นความเชื่อที่มีร่วมกันว่าคนในทีมจะสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย สามารถที่จะแสดงความคิดเห็น กล้าทำสิ่งใหม่ ๆ บนรากฐานของความเชื่อใจ เคารพซึ่งกันและกัน มีความเต็มใจที่จะช่วยเหลือกัน พร้อมกับยอมรับซึ่งกันและกัน สามารถที่จะเสี่ยงและความล้มเหลวได้ เพราะความผิดพลาดเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ และสามารถพูดคุยเปิดอกกันได้ 

            ปัจจัยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของ Project Aristotle โดย Google ที่ทำการศึกษาวิจัยเพื่อหาคำตอบว่าอะไรที่เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการศึกษานี้ประสบความสำเร็จและได้ข้อสรุปแบ่งเป็นองค์ประกอบ 5 ข้อดังต่อไปนี้

            1) ความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) สภาพแวดล้อมที่กล่าจะนำเสนอความคิดของตนเองโดยรู้สึกว่ามีความปลอดภัย

            2) ไว้วางใจและเชื่อมั่น (Dependability) มีความไว้วางใจและเชื่อมั่นในความสามารถของทุกคนในทีม

            3) มีโครงและแผนการทำงานที่ชัดเจน (Structure & Clarity) มีการจัดการภายในทีมที่ดี มีการแบ่งโครงสร้างและการทำงานอย่างชัดเจน

            4) ความหมายของงาน (Meaning of Work) ภูมิใจในงานของตน รวมถึงรู้จักและเคารพในบทบาทและหน้าที่ของแต่ละบุคคล

            5) ผลลัพธ์ของงาน (Impact of Work) เชื่อมั่นว่างานที่กำลังทำอยู่มีความสำคัญและมีผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม

            จากผลการศึกษาพบว่าปัจจัยที่มีความสำคัญมากที่สุดก็คือ ความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) ซึ่งเป็นพื้นฐานการสร้างการยอมรับระหว่างกันและกัน ตลอดจนไว้วางใจและเชื่อมั่นในกันและกัน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ และการจะสร้างองค์กรที่มีความปลอดภัยทางจิตใจได้นั้นจะต้องเริ่มจาก ผู้บริหารที่เข้าใจและยอมรับความผิดพลาดและความล้มเหลวของพนักงานว่าเป็นเรื่องธรรมดา อีกทั้งยังต้องถ่อมตัวและยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างกัน

            เมื่อวัฒนธรรมดังกล่าวได้ดำเนินในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็จะเกิดอิทธิพลทางสังคมที่จะหล่อหลอม สร้าง หรือเปลี่ยนแปลงทัศนคติของพนักงานให้พวกเขากล้าที่จะแสดงความคิดเห็น กล้าที่จะล้มเหลวพร้อมกับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง สุดท้ายเมื่อองค์กรสามารถสร้างความปลอดภัยทางจิตใจให้เกิดขึ้นได้ ก็จะทำให้การทำงานเป็นทีมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

เพราะพวกเขาจะกล้านำเสนอ แบ่งปันแนวคิดของตนเอง 
ให้กับผู้อื่นโดยรู้สึกปลอดภัย ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นพลังที่สำคัญ 
ในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่หนทางที่ประสบความสำเร็จในท้ายที่สุด

อ้างอิง

Edmondson A. (2018). The Fearless Organization: Creating Psychological Safety in the Workplace for Learning, Innovation, and Growth. NJ: Wiley.

Edmondson A. 1999. Psychological safety and learning behavior in work teams. Administrative Science Quarterly. 44(2), 350-383.

Greant A. (2014). Give and Take: Why Helping Others Drives Our Success. NY: Penguin Book.

HR NOTE. (2020). Psychological Safety – หัวใจสำคัญของการสร้างทีมให้แข็งแกร่งในแบบฉบับ Google. https://th.hrnote.asia/orgdevelopment/190703-psychological-safety/

คาลอส บุญสุภา. (2564). ความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) ตอนที่ 2. https://sircr.blogspot.com/2021/05/psychological-safety-2.html

ความคิดเห็น