ทำอย่างไรถึงจะมีชีวิตอย่างมีความสุข (Happiness at Life)

ความสุขมาจากระหว่างสิ่งต่าง ๆ หลายสิ่ง 
มันมาจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างตัวเรากับผู้อื่น 
ตัวเราเองกับงานของเรา และตัวเราเองกับบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเราขึ้นไป

            ลองนึกภาพคนคนหนึ่งซื้อรถยนต์คนใหม่สวยงามที่นั่งสบาย หรือสมาร์ทโฟนคุณภาพสูงมา ในขณะที่คนคนเดียวกันนี้แหละได้ที่มีนัดกับเพื่อนเก่าทุกสัปดาห์ ประสบการณ์ทั้งสองอย่างถือเป็นเรื่องใหม่ที่น่าตื่นเต้นในตอนแรก เพราะเราพยายามแทบตายที่จะเก็บเงินซื้อสิ่งของดังกล่าว และเราจะต้องไปเจอกับเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอมานาน เราไม่รู้จะวางตัวหรือพูดคุยเรื่องอะไรดี ประสบการณ์การทั้งสองมีความแตกต่างกันอย่างมาก

            แน่นอนการไปเจอเพื่อนเก่าทุกสัปดาห์ไม่ใช่สิ่งที่น่าสนใจมากนัก เราจึงสนใจสิ่งของที่เราพึ่งจะซื้อมามากกว่า เราคาดหวังว่าชีวิตของเราจะเปลี่ยนแปลงไป หรือมีชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น แต่เราประเมินประโยชน์ในระยะยาวของสิ่งของดังกล่าวสูงเกินไป เพราะไม่นานเราก็รู้สึกชินชากับมัน ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามที่เราคาดหวังเอาไว้ เมื่อถึงวันที่เราได้มันมา มันก็ชั่งสุขแสนสุข แต่ไม่นานความสุขนั้นก็หายไปอย่างรวดเร็ว

            ในทางกลับกันกิจกรรมนัดพบกับเพื่อนเก่าทุกสัปดาห์ที่เราไม่ได้คาดหวังอะไรกับมันมากนัก กลับทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น หรือมีความสุขมากกว่าสิ่งของที่เราหมกหมุ่นและทุ่มเทพยายามเพื่อจะได้มันมาเสียอีก แดเนียล กิลเบิร์ต (Daniel Gilbert) และทิโมธี วิลสัน (Timothy Wilson) เรียกสิ่งนี้ว่าความปรารถนาที่ผิดพลาด (Miswanting) เป็นการอธิบายถึงการตัดสินใจอันย่ำแย่ซึ่งเป็นผลมาจากความผิดพลาดของการคาดการณ์อารมณ์ความรู้สึก 

            มันคือภาพลวงตาลวงตาที่ว่าด้วยการจดจ่อ หรือจุดรวมแสงในทัศนะของ แดเนียล กิลเบิร์ต และทิโมธี วิลสัน เป็นแหล่งที่มาสำคัญของความปรารถนาที่ผิดพลาด โดยทำให้ผู้คนมีแนวโน้มที่จะประเมินอย่างเกินจริงว่าสิ่งที่ของที่ซื้อมาหรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปสามารถส่งผลกระทบต่อความสุขในอนาคตของเราได้

            เหมือนกับตัวอย่างที่ผมยกมานั้นแหละครับ เราคาดหวังกับสิ่งของที่เราทุ่มเทซื้อมันมาอย่างสูง สุดท้ายความสุขที่เกิดขึ้นมันก็หายวับไปอย่างรวดเร็ว ที่น่าตลกก็คือแม้ว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ แต่เราก็ยังอยากได้แล้วอยากได้อีก ด้วยธรรมชาติของมนุษย์ และแรงจูงใจที่ซ้อนเร้นอยู่ภายในผลักดันเราให้วิ่งหาสิ่งของเพื่อเหตุผลบางอย่าง ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

            อะไรที่เราคาดหวังเอาไว้ มันก็มักจะไม่สมหวัง ที่แย่มากกว่านั้นก็คือ เราก็ยังคาดหวังอยู่วันยังค่ำ เราติดอยู่ในภาพลวงตานี้เหมือนหนูติดจั่น ภาพลวงตานี้สามารถทำให้ผู้คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสุขของผู้อื่นและความสุขของตัวเองในอนาคตด้วย ในหนังสือ Thinking Fast and Slow ผู้เขียน แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) นักจิตวิทยาชื่อดังที่ได้รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ได้ยกตัวอย่างผู้ป่วยอัมพาตครึ่งท่อนจะมีความทุกข์เป็นเวลามากน้อยเพียงใดในแต่ละวัน

            คำถามนี้อาจทำให้เราจินตนาการถึงผู้ป่วยอัมพาตที่กำลังนึกถึงแง่มุมบางอย่างของความเจ็บป่วยที่กำลังเผชิญอยู่ การคาดการณ์อารมณ์ความรู้สึกของคนที่เป็นอัมพาตของเรามีแนวโน้มที่จะถูกต้องในช่วงแรก ๆ ที่บุคคลดังกล่าวได้รับอุบัติเหตุจนพิการ เพราะคนที่ประสบอุบัติเหตุทำนองนี้มักไม่สามารถคิดเรื่องอื่นได้เลยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง 

            แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขาก็หันเหความสนใจออกจากเรื่องนี้ เพราะเริ่มคุ้นเคยกับมันแล้ว ยกเว้นในบางกรณี เช่น การต้องเผชิญกับอาการเจ็บปวดเรื้อรัง เสียงดังที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรง ความเจ็บปวดและเสียงดังเป็นสัญญาณทางชีวภาพที่ถูกกำหนดมาให้ดึงดูดความสนใจจากเรา ในขณะที่อาการซึมเศร้าเกิดจากการครุ่นคิดเกี่ยวกับเรื่องที่ก่อให้เกิดความโศกเศร้าซ้ำไปซ้ำมา เราจึงไม่สมารถปรับตัวให้คุ้นเคยกับเรื่องเหล่านี้ได้

            การสูญเสียการทำงานของร่างกายจะสร้างข้อจำกัดให้เรามากยิ่งกว่าติดคุกเสียอีก เราจะต้องเลิกล้มเป้าหมายและความฝันเกือบทั้งหมด และต้องพึ่งพาคนอื่นให้ช่วยเรากิน ช่วยขับถ่าย หลายคนเมื่ออ่านถึงตรงนี้อาจจะคิดว่า "ถ้าฉันเป็นอย่างนั้น ฉันขอตายดีกว่า" แต่เราคิดผิด เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะสามารถปรับตัวกับมันได้ เราจะไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากตั้งหน้าตั้งตาเดินต่อไป ซึ่งแต่ละก้าวนั้นทำให้รามีความสุข 

            มันคือกระบวนการปรับตัวของมนุษย์ คนเราจะตัดสินสภาวะปัจจุบันโดยเทียบว่ามันดีกว่าหรือแย่กว่าสภาวะที่คนคุ้นชิน ในด้านหนึ่งการปรับตัวเป็นเพียงคุณสมบัติของเซลล์ประสาท มันจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าใหม่ ๆ อย่างรวดเร็วรุนแรง กล่าวคือเราคาดหวังว่าชีวิตจะต้องดิ่งลงเหวในช่วงแรกที่เป็นอัมพาต แต่สุดท้ายมันก็ไม่แย่อย่างที่คิด ในทางกลับกันเราคาดหวังว่าเราจะมีความสุขกับสิ่งของชิ้นใหม่ของเรา แต่ไม่นานความสุขก็สลายไปอย่างรวดเร็ว

            ผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านคงจะเข้าใจได้อย่างง่ายดายที่ผมเกริ่นนำอย่างยาวเกี่ยวกับความสุข เพราะพวกเราหลายคนก็ล้วนมีเป้าหมาย มีความฝัน มีสิ่งของที่อยากได้ แล้วหลายคนก็พยายามจนได้มา แต่ก็พบความจริงตามที่ผมได้กล่าวไป คำถามก็คือ "แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะมีความสุขได้ ถ้าสิ่งของมันทำให้ความสุขเพียงช่วงแรกเท่านั้น"

คุณรู้สึกว่าตัวเองอยู่ที่ขั้นบันไดหมายเลขใด

            ทุกวันนี้การตรวจวัดความสุขกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจความคิดเห็น ไม่ว่าจะประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกา แคนาดา หรือประเทศในทวีปยุโรปหลายประเทศ ต่างมุ่งมั่นกับการสำรวจความสุขกันแทบทั้งนั้น อีกทั้งยังมีการสำรวจระดับโลกของบริษัทแกลลัพที่วัดความสุขของประชาชนนนับล้าน ๆ คน มากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก ซึ่งการวัดของแกลลัพ จะเป็นรูปแบบการสำรวจความคิดเห็นโดยให้ผู้คนรายงานเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นก่อนหน้าวันที่ตอบแบบสำรวจ ซึ่งมีปัจจัยทั้งสถานการณ์ สุขภาพกาย และการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมาเกี่ยวข้อง

            อาการปวดหัวสามารถทำนายอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างแม่นยำเป็นอันดับหนึ่ง กล่าวคือ คนที่มีอาการดังกล่าวย่อมรู้สึกไม่มีความสุขอย่างแน่นอน ส่วนปัจจัยที่ทำนายอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนได้อย่างแม่นยำเป็นอันดับสองก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้คนได้พูดคุยกับเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้องหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเพราะความสุขคือประสบการณ์ของการได้ใช้เวลาร่วมกับคนที่เรารัก และรักเรา

            แดเนียล คาฮ์นะมันได้ ยกตัวอย่างวิธีการวัดความสุขของบริษัทแกลลัพที่ใช้ประเมินชีวิตของผู้คน ซึ่งเรียกว่า มาตรวัดแรงปรารถนาตามเกณฑ์ที่กำหนดเองของแคนทริล (Cantril Self-Anchoring Strving Scale) มีข้อคำถามดังนี้  "จงจินตนาการถึงบันไดที่แต่ละขั้นมีตัวเลขกำกับอยู่ โดยไล่ตั้งแต่ 0 ที่ขั้นล่างสุดไปจนถึงเลข 10 ที่ขั้นบนสุด โดยขั้นบนสุดของบันไดเป็นตัวแทนของชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้สำหรับคุณ ส่วนขั้นล่างสุดคือชีวิตที่แย่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้สำหรับคุณ ในตอนนี้คุณรู้สึกว่าตัวเองอยู่ที่ขั้นบันไดหมายเลขใด"

            จะเห็นว่าคำถามดังกล่าวไม่สามารถวัดความสุขในชีวิตได้ แต่จะวัดความรู้สึกของบุคคลที่เกิดขึ้นในชั่วขณะนั้น ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ อับราฮัม ลินคอร์น (Abraham Lincoln) กล่าวว่า "คนส่วนมากมีความสุข เท่าที่เขาตั้งใจที่จะมีความสุข" กล่าวคือหากเรามีสุขภาพในปัจจุบันที่ดี รู้สึกไม่ได้ลำบากในด้านการเงิน คะแนนที่ออกมาก็จะสูงมากขึ้น สิ่งนี้เป็นจุดที่น่าสนใจ เพราะมันไม่ได้หมายความว่า ถ้าเรามีเงินน้อยเราจะไม่มีความสุข และก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าเรามีเงินมากจะมีความสุขเช่นเดียวกัน

            มันขึ้นอยู่กับทัศนคติ หรือความรู้สึก และความคิดของเรา ลองนึกภาพ ตัวเองกำลังขับรถที่คุณพยายามเก็บเงินแทบตายเพื่อจะได้มันมา เพื่อขับไปเที่ยวหัวหิน คุณแวะร้านอาหารที่คุณชอบ คุณรู้สึกภูมิใจกับรถคุณมาก และมีความสุขมาก (คะแนนความสุขสูง) แต่คุณดันสังเกตเห็นผู้ชายคนหนึ่งเดินออกมาจากรถเบนซ์ป้ายแดง หลังจากนั้นคุณก็เริ่มรู้สึกหงุดหงิด และเริ่มเปิดอินเทอร์เน็ตดูรถยี่ห้อต่าง ๆ (คะแนนความสุขลดต่ำลง) กล่าวคือมันขึ้นอยู่กับทัศนคติของเราล้วน ๆ 

            ถามว่าผิดหรือไม่ ก็ไม่ได้ผิดอะไรนะครับ เพราะว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยสัญชาตญาณ เรามีระบบ 1 ซึ่งเป็นสิ่งที่หล่อหลอมมาจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม สัญชาตญาณ เป็นระบบความคิดที่รวดเร็ว ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ ในขณะที่ความคิดระบบ 2 เป็นการคิดวิเคราะห์ ด้วยจิตสำนึก และมีสติ เป็นระบบที่ช้า และมีอิทธิพลน้อยกว่าระบบ 1 อย่างมหาศาล ยิ่งไปกว่านั้นมันยังขี้เกียจด้วย กล่าวคือเราขี้เกียจคิด พิจารณาโดยใช้สติ เราเลยมักจะปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามสัญชาตญาณ

            จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะควบคุมความรู้สึกของตัวเองไม่ได้ มีการศึกษาทีน่าสนใจของ นอร์เบิร์ต ชวาร์ซ (Norbert Schwarz) และเพื่อนร่วมงาน พวกเขาได้เชิญบรรดาผู้เข้าร่วมการทดลองมาที่ห้องปฏิบัติการ แล้วขอให้พวกเขาถ่ายเอกสารกระดาษแผ่นหนึ่ง ผู้เข้าร่วมการทดลองครึ่งหนึ่งจะเจอเหรียญ 10 เซนต์ที่นักวิจัยจงใจวางเอาไว้บนเครื่องถ่ายเอกสาร หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งหมดจะต้องตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับความพึงพอใจในชีวิต 

            ผลปรากฎว่าผู้เข้าร่วมการทดลองที่โชคดีเจอเหรียญดังกล่าวจะรู้สึกพึงพอใจกับชีวิตมากกว่า กลุ่มควบคุม (ที่ไม่เจอเหรียญ) สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าอารมณ์ความรู้สึกของเราขณะนั้นไม่ใช่เพียงแค่สิ่งเดียวที่เรานึกถึงขณะที่กำลังประเมินชีวิตของตัวเอง เรามีแนวโน้มที่จะนึกถึงเหตุการณ์สำคัญ ๆ ทั้งหลายที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้หรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ รวมถึงความกังวลที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจจะมีทัศนคติที่ดีมาก มีรายได้ที่ดี มีสุขภาพที่ดี แต่เมื่อเช้านี้คนรักของคุณกำลังป่วยหนัก หรือ คุณโดนหัวหน้าต่อว่าอย่างรุนแรง ก็อาจจะทำให้คุณประเมินชีวิตของตัวเองลบลงมากก็ได้

            สิ่งนี้เข้าใจได้ไม่ยาก เพียงแต่การทดลองของ นอร์เบิร์ต ชวาร์ซ และคณะมันแสดงให้เราเห็นว่าเพียงแค่เหตุการณ์เล็ก ๆ อย่างการเจอเหรียญ ความคิดระบบ 1 ของเราก็ประเมินความพึงพอใจในชีวิตอย่างรวดเร็ว โดยไม่ได้ชั่งน้ำหนักเกี่ยวกับแง่มุมต่าง ๆ ของชีวิตอย่างระมัดระวังเลย สิ่งนี้สอนให้เรารู้ว่า ต่อให้เรามีชีวิตที่ร่ำรวย ประสบความสำเร็จในสายตาคนอื่นอย่างไร แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีความสุขมากกว่าคนอื่น เพราะความรู้สึกที่มีความสุข มันแทรกซ้อนไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก และเหตุการณ์ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ที่เกิดขึ้นในชีวิตอยู่เสมอ

เราจดจำสีดำได้ดีกว่าสีขาว

           มีการศึกษาที่น่าสนใจมากโดย แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) และเพื่อนร่วมงาน พวกเขาได้ออกแบบการทดลองขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงอำนาจในการตัดสินใจของตัวตนเชิงความทรงจำ เขาใช้ประโยชน์จากการทรมานเล็ก ๆ น้อย ๆ เรียกว่า "การทดลองมือเย็น" โดยผู้เข้าทดลองจะต้องจุ่มมือข้างหนึ่งลงในน้ำที่เย็นจัดจนกว่านักวิจัยจะบอกให้พวกเขาเอามือออกมา จากนั้นผู้เข้าร่วมทดลองจะได้ผ้าร้อนให้กับพวกเขา

            นขณะจุ่มมือข้างหนึ่งนั้น ผู้เข้าร่วมการทดลองต้องใช้อีกมือที่ว่างอยู่ควบคุมลูกศรโดยใช้แป้นพิมพ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อบันทึกว่าพวกเขารู้สึกเจ็บปวดแค่ไหนในช่วงเวลาดังกล่าว นี่คือการรายงานประสบการณ์ตรงของตัวตนเชิงประสบการณ์ ผู้เข้าร่วมการทดลองแต่ละคนจะต้องเผชิญกับสถานการณ์มือเย็นถึงสองรอบด้วยกันดังนี้

            รอบที่ 1 เป็นรอบสั้น ใช้เวลา 60 วินาที โดยต้องจุ่มมือในน้ำที่มีอุณหภูมิ 14 องศาเซลเซียส ซึ่งผู้เข้าร่วมการทดลองจะรู้สึกถึงความเจ็บปวดจากความเย็น แต่ก็ยังอดทนไหว หลังจากครบ 60 วินาที นักวิจัยจะบอกให้ผู้เข้าร่วมการทดลองเอามือออกจากน้ำแล้วแจกผ้าร้อนให้ 

            รอบที่ 2 เป็นรอบยาว ใช้เวลา 90 วินาที โดย 60 วินาทีแรกจะเหมือนกับรอบสั้นทุกอย่าง หลังจากครบ 60 วินาทีแล้ว นักวิจัยจะไม่พูดอะไร แต่จะเปิดก๊อกเพื่อให้น้ำที่อุ่นกว่าเดิมเล็กน้อยไหลเข้ามาในอ่าง ดังนั้น ในช่วงเวลา 30 วินาทีสุดท้าย อุณหูมิของน้ำจึงเพิ่มราว ๆ 1 องศาเซลเซียส ซึ่งมากพอที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมการทดลองส่วนใหญ่ตระหนักว่าเจ็บปวดของตัวเองลดลงเล็กน้อย

            ทั้ง 2 รอบผู้เข้าร่วมการทดลองจะจุ่มมือคนละข้างลงไปในน้ำ และเมื่อเสร็จสิ้นทั้ง 2 รอบ ผู้เข้าร่วมการทดลองจะต้องตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมรอบที่ 3 หรือไม่ โดยการทดลองรอบที่ 3 จะเหมือนกันทั้ง 2 รอบที่ผ่านมา แต่ในรอบนี้ผู้เข้าร่วมการทดลองจะสามารถกำหนดได้ว่าจะจุ่มมือข้างไหนลงไปในน้ำก็ได้ ซึ่งผลปรากฏว่าผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวนครึ่งหนึ่งได้เข้าร่วมการทดลองรอบสั้นโดยใช้มือซ้าย ส่วนที่เหลือใช้มือขวา นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมการทดลองครึ่งหนึ่งจะได้เข้าร่วมการทดลองรอบสั้นก่อน ส่วนที่เหลือจะได้เข้าร่วมการทดลองรอบยาวก่อน 

            สิ่งที่น่าสังเกตในการทดลองนี้ก็คือ การทดลองรอบยาวย่อมเลวร้ายกว่าอย่างเห็นได้ชัด (เพราะต้องจุ่มมือเป็นเวลา 90 วินาที) แต่ในทางกลับกันการทดลองรอบสั้นจะสร้างความทรงจำที่เลวร้ายกว่าการทดลองในรอบยาว ทั้ง ๆ ที่ถ้าใช้การคิดวิเคราะห์แล้วความเจ็บปวดระยะเวลา 90 วินาที และ 60 วินาทีไม่ค่อยจะแตกต่างกันเท่าไหร่นัก  แต่ผู้ทดลองจำนวนมากกว่า 80% รายงานว่าความเจ็บปวดของพวกเขาลดลงในช่วงท้ายของการทดลอง จะตัดสินใจทำการทดลองรอบยาวอีกครั้ง 

            สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าพวกเขากำลังประกาศว่าตัวเองยินดีที่จะพบเจอกับความเจ็บปวดเพิ่มขึ้น 30 วินาทีโดยไม่จำเป็น กล่าวคือเขาเลือกตัวเลือกที่มีความทรงจำดีกว่า ถึงแม้พวกเขาจะรู้อยู่แล้วว่าการทดลองรอบไหนใช้เวลานานกว่า แต่พวกเขากลับไม่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลตรงนี้เลย การตัดสินใจของพวกเขามาจากจากกฎอันเรียบง่ายเกี่ยวกับการตัดสินใจโดยใช้สัญชาตญาณ นั้นคือ การเลือกทางที่เลือกที่เราชื่นชอบที่สุด หรือไม่ชอบน้อยที่สุด 

            ความทรงจำเป็นตัวกำหนดความชื่นชอบที่ผู้เข้าร่วมทดลองทั้งสองแบบ มันก็จะกำหนดการตัดสินใจของพวกเขาด้วย ระบบที่ 1 ซึ่งเป็นระบบคิดอย่างรวดเร็วโดยใช้สัญชาตญาณจะมองก้อนต่าง ๆ แทนที่จะใช้ระบบที่ 2 ในการคิดวิเคราะห์ภาพรวมอย่างละเอียด ดังนั้นเราจะจดจำความทรงจำที่เลวร้ายมากกว่าแม้จะเผชิญกับมันในเวลาสั้น ๆ มันก็เหมือนกับสมัยที่เรายังเป็นเด็กแล้วจดจำเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นได้ดีนั้นแหละครับ แม้ว่าจะมีหลายเรื่องราวดี ๆ ที่เกิดขึ้นก็ตาม และมันก็เหมือนกับที่เราจดจำสีดำ ได้ดีกว่าสีขาว บนกระดาษแผ่นหนึ่ง ความทรงจำมันเล่นตลกกับเราและมีผลต่อการคิด และการตัดสินใจมากกว่าที่เราคิด

ทำอย่างไรถึงจะมีความสุข

            จากทั้ง 2 หัวข้อใหญ่ สามารถสรุปได้ว่าเราประเมินความสุขจาก อารมณ์ความรู้สึก และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์เล็กหรือใหญ่ก็ตาม รวมไปถึงเหตุการณ์เลวร้ายบางอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับเรา ก็จะทำให้เราจดจำมันกลายเป็นความทรงจำ ซึ่งจะมีผลต่อการประเมินความสุขในชีวิตของเราเช่นกัน จากปัจจัยทั้งหมดมันทำให้เราได้ข้อสรุปว่า 

เราไม่สามารถประเมินความสุขที่จริงแท้แน่นอนได้เลย เพราะมันมีปัจจัยแทรกซ้อนจำนวนมากที่ผมได้นำเสนอมา

            ปัจจัยแทรกซ้อนทั้งหมดนั้นประกอบไปด้วย อารมณ์ความรู้สึก เหตุการณ์บวกหรือลบที่เกิดขึ้น และความทรงจำด้านบวกหรือลบ ดังนั้นหากเราต้องการจะมีความสุขก็ต้องสร้างปัจจัยเหล่านี้ในด้านบวกขึ้นมา เช่น การที่ให้เรามีอารมณ์ที่เป็นบวก เผชิญกับเหตุการณ์ที่เป็นบวก และการสร้างความทรงจำในด้านบวกขึ้นมา ก็จะทำให้เรามีความสุขได้ (แม้ว่าเราจะไม่สามารถลบความทรงจำด้านลบได้ แต่เราสามารถสร้างช่วงเวลาดี ๆ ที่เราจะสามารถนึกถึงมันได้ก็ยังดี)

            มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) หนึ่งในผู้บุกเบิก และผลักดันแนวคิดจิตวิทยาเชิงบวก เคยตั้งคำถามว่าคนที่ทุกข์สุด ๆ เขาแตกต่างจากคนทั่วไปอย่างไร และในระยะหลังนี้เราเริ่มถามกันว่าคนที่มีความสุขสุด ๆ เขาแตกต่างจากพวกเราอย่างไร ผลปรากฏว่า มีความแตกต่างอยู่อย่างเดียว ไม่ใช่ว่าเขาแคร่งศาสนามากกว่า ไม่ใด้มีสุขภาพดีกว่า ไม่ได้มีเงินมากกว่า ไม่ได้รูปร่างหน้าตาดีกว่า ไม่ได้มีเรื่องดี ๆ ในชีวิตมากกว่าเรื่องร้าย ๆ สิ่งที่เขาแตกต่างจากเรา คือเขามีความสัมพันธ์ทางสังคมดีที่ดีมาก ๆ เขาไม่ได้ใช้เวลาอยู่คนเดียว แต่มีคนที่รัก และมีเพื่อนเยอะมาก

            เพื่อศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยภายนอกที่จะทำให้เกิดความสุข เขากับนักจิตวิทยา 3 คน คือ ซอนยา ลูย์โบมีร์สกี (Sonja Lyubomirsy) เคน เชลดอน (Ken Sheldon) และเดวิด ชกาดี (David Schkade) ได้ทบทวนหลักฐานที่มีอยู่ และพบว่ามีปัจจัยภายนอกสองประเภทที่แตกต่างกันโดยพื้นฐาน นั้นคือเงื่อนไข ๆ ในชีวิตเรา กับกิจกรรมโดยสมัครใจ ที่เราทำ เงื่อนไขได้แก่ข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิตที่เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น เชื้อชาติ เพศ อายุ ความพิการ รวมไปถึงสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ เช่น ความร่ำรวย สถานภาพสมรส ที่อยู่อาศัย 

            เงื่อนไขจะค่อนข้างคงที่เป็นเวลานาน อย่างน้อยก็ช่วงหนึ่งในชีวิตเรา ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่เราเลือกทำ เช่น ทำสมาธิ ออกกำลังกาย เรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ หรือผักผ่อน เพราะเราต้องเลือกทำกิจกรรมเหล่านี้ และเพราะส่วนใหญ่แล้วต้องใช้ความพยายามและความใส่ใจ ซึ่งกิจกรรมมีผลต่อการเพิ่มความสุขอย่างมาก นักจิตวิทยาทั้ง 4 คน เรียกสิ่งนี้ว่าสูตรแห่งความสุข H = S + C + V โดยเราสามารถนำเอาแนวคิดก่อนหน้านี้มาประยุกต์ร่วมกันได้ออกมาเป็นตัวแปรดังนี้

            H = ระดับความสุขของเรา เป็นอารมณ์และความรู้สึก

            S = ค่าตั้งต้นทางชีวภาพ สิ่งนี้รวมไปถึงพันธุกรรมของบางคนที่รู้สึกมีความสุขตลอดแทบจะตลอดเวลา ซึ่งเรียกกันว่า "ลอตเตอรี่ทางพันธุกรรม" ทำให้พวกเขามองโลกในแง่บวกมากกว่าคนทั่วไป

            C = เงื่อนไขชีวิต ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ จะเล็กหรือใหญ่ที่เกิดขึ้นในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเสียงรบกวน มีร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน หรือที่มีขยะอยู่เต็มคลองแถวบ้าน หรือมีเพื่อนร่วมที่แย่

            V = กิจกรรมโดยสมัครใจ หรือการได้มาซึ่งสิ่งของ 

            แน่นอนว่าเราเปลี่ยนพันธุกรรมไม่ได้ เงื่อนไขในชีวิตบางอย่างก็เปลี่ยนแปลงยาก แต่สิ่งที่เราสามารถกระตุ้นเพื่อเสริมสร้างความสุขได้ก็คือ กิจกรรมโดยสมัครใจ หรือการได้มาซึ่งสิ่งของ (V) เช่น การนั่งสมาธิ การไปเที่ยว การซื้อของที่ชอบ การได้รับประทานอาหารอร่อย ดังนั้นสิ่งที่น่าสนใจก็คือจะทำกิจกรรมอะไรดีที่จะทำให้มีความสุขมากที่สุด เรามาวิเคราะห์กันทีละอย่างดู

            การซื้อของที่ชอบก็เหมือนกับตัวอย่างการซื้อรถยนต์ที่ผมยกขึ้นมาไว้ช่วงต้นของบทความ แม้เราจะคาดหวังว่าเราจะมีความสุขอย่างมาก แล้วเราก็รู้สึกแบบนั้นจริง ๆ ในช่วงแรก มันก็เหมือนกับเวลาที่เรารู้สึกดดีตอนกดเข้าไปซื้อของออนไลน์นั้นแหละครับ มันทำให้เรามีความสุขจริง ๆ เพียงแต่มันอยู้ได้ไม่นาน ซึ่งในมุมมองของจิตวิทยาเชิงบวกเรียกสิ่งนี้ว่า "การมีชีวิตที่รื่นรมย์ (The Pleasant Life)" คือชีวิตที่มีความสุขแบบรื่นรมย์ มีความสนุกสนานเท่าที่เราจะหาได้ เป็นชีวิตที่มีสิ่งตอบสนองทำให้เพลิดเพลิน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของ การรับประทานของที่ชอบ การทำในสิ่งที่โปรดปราน 

            เราอาจจะมีความสุขมากที่ได้ซื้อของที่ชอบ แต่หลังจากนั้นก็จะรู้สึกเบื่อ เพราะชั่วขณะที่ได้ไปเลือกซื้อของนั้นจะจางหายไปอย่างรวดเร็ว หรือเราอาจจะมีความสุขที่ได้กินอาหารอร่อยในครั้งแรก แต่ในครั้งถัดไปก็ไม่สุขเท่าเดิมอีกแล้ว "เพราะวนิลาในวันนี้ไม่หวานเหมือนวันวาน" 

            การไปเที่ยวก็อาจจะทำให้เรารื่นรมณ์ ไม่นานก็จางหายไป แต่การไปเที่ยวมีผลดีมากกว่าที่เราคิด เพราะมันเป็นการสร้างความทรงจำที่ดี หากสถานที่นั้นแตกต่างจากชีวิตประจำวันของเรา ยกตัวอย่างเช่น การไปทะเล อาจจะไปไม่นาน แต่มันก็ทำให้เกิดความทรงจำที่ดีขึ้นมา อีกทั้งทะเลไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา นั้นทำให้เราสามารถจดจำมันได้ และมีความสุขขึ้นมาไม่ก็มากก็น้อยเมื่อเรานึกถึงการไปเที่ยวครั้งนั้นขึ้นมา สำหรับบางคนการได้รับประทานอาหารบางร้านก็เป็นการสร้างความทรงจำที่แปลกใหม่เช่นเดียวกัน

            แล้วอะไรที่จะเป็นกิจกรรมที่ทำให้เรามีความสุขมากที่สุด ลองย้อนกลับไปที่ช่วงต้น ๆ ผมพูดถึง การนัดกับเพื่อนเก่าทุกสัปดาห์ อาจทำให้เรารู้สึกดี แม้เราจะไม่ได้คาดหวังอะไรกับมันเลย ซึ่งในมุมมองของจิตวิทยาเชิงบวก คนที่มีความสุขคือคนที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมดีที่ดีมาก ๆ คนที่ไม่ได้อยู่คนเดียว และมีเพื่อนคนที่รักเยอะแยะมากมาย

            ในหนังสือ The Righteous Mind โจนาธาน เฮดต์ (Jonathan Haidt) ได้อธิบายเกี่ยวกับที่มาของความสุข หลังจากที่เขาได้ศึกษาเกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์และจริยธรรม เขาพบว่า ความสุขมาจากระหว่างสิ่งต่าง ๆ หลายสิ่ง มันมาจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างตัวเรากับผู้อื่น ตัวเราเองกับงานของเรา และตัวเราเองกับบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเราขึ้นไป

            ซึ่งสอดคล้องกับความสุขในแง่ของจิตวิทยาเชิงบวกที่พูดถึง "การมีชีวิตที่ดี (The Good Life)" ไมค์ ชิคเซนต์มิไฮยี (Csikszentmihalyi) เรียกว่า "สภาวะลื่นไหล" (Flow) มันจะแตกต่างจากความสนุกสนานรื่นรมย์ เราจะเป็นเหมือนหนึ่งเดียวกับเสียงดนตรี โลกทั้งใบจะเหมือนกับหยุดหมุน หลายคนเรียกว่า "สภาวะท็อปฟอร์ม" (Being in the Zone) มันจะเกิดขึ้นเมื่อเราทุ่มเทพลังใจหรือความสนใจไปที่เป้าหมายที่ทำได้จริง และเมื่อทักษะมาบรรจบกับโอกาสที่จะกระทำ เราจะทุ่มเทสมาธิและความสนใจไปที่งานตรงหน้าจนลืมสิ่งอื่น ๆ ทุกอย่างนอกเหนือจากนั้นไว้ชั่วขณะ เวลาจึงเหมือนผ่านไปอย่างรวดเร็ว 

            เซลิกแมนแนะนำว่า การที่เราจะเข้าสู่สภาวะลื่นไหล (Flow) ได้เราจะต้องรู้ว่าจุดแข็งของตนเองคืออะไร แล้วเราจะต้องออกแบบชีวิตเพื่อให้ได้ใช้จุดแข็งเหล่านั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่ว่าจะเป็นงาน การเล่น มิตรภาพ ครอบครัว นอกจากนั้นยังมีการมีชีวิตที่มีความหมาย (The Meaningful Life) เป็นความรู้สึกอิ่มเอิบหรืองอกงามทางจิตใจ มันคือการที่เราใช้จุดแข็งเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา 

            ซึ่งสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเรานั้น ไม่ได้จำเป็นจะต้องเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่อาจจะเป็นคนในครอบครัว ผู้คนในสังคม หรือจุดมุ่งหมายในชีวิต เช่น ความถูกต้อง ความยุติธรรม กล่าวคือ การที่เราได้ทำในสิ่งที่ตนเองรักและสิ่งนั้นส่งผลดีต่อคนรอบข้างและทำให้เรามีความสุขมากยิ่งขึ้น เช่น การทำประโยชน์ให้กับสังคมโดยคาดหวังว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนอื่น ๆ จะดีขึ้น

            สิ่งนี้ยังสอดคล้องกับที่ แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) นำเสนอในหนังสือ Thinking Fast and Slow เขาอธิบายว่า การประเมินความสุข ขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึก และสถานการณ์ดีหรือแย่ที่เกิดขึ้น การมีความสัมพันธ์ที่ดีสามารถทำให้เรามีอารมณ์และความรู้สึกดี เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ต่างกับสิ่งของที่ให้ความรู้สึกดี ๆ ตอนที่เราพึ่งจะได้ครอบครองมัน อีกทั้งการทำงานที่เราพอใจ และรู้สึกว่าชีวิตมีความหมาย ก็สามารถทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง ซึ่งจะส่งผลให้เราประเมินความสุขในระดับที่สูงมากขึ้น

สรุป

            ดังนั้นมันจึงไม่มีความสุขระยะยาว แต่มันเป็นการที่เราสร้างสถานการณ์ และออกแบบชีวิตให้เรามีอารมณ์และความรู้สึกที่ดีในการดำเนินชีวิต เพราะปัจจัยที่ทำให้เรามีความสุขและมีความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นการได้มาซึ่งสิ่งของที่มาค่า เงินจำนวนมาก โรคทางสุขภาพกาย หรือความพิการ สุดท้ายมันก็จะกลับมาที่จุดตั้งต้น ซึ่งจุดตั้งต้นของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน อันเนื่องมาจากพันธุกรรม และประสบการณ์ในอดีต คนบางคนเพียงแค่เห็นต้นไม้ ใบหญ้าก็มีความสุขมาก ในขณะที่คนบางคนแทบจะไม่สามารถมีความสุขกับปัจจุบันได้เลย

            การจะสร้างความสุขจึงเป็นเรื่องการสร้างสภาวะที่ทำให้เรามีความสุขได้เรื่อย ๆ นั้นหมายความว่าเราจะต้องกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกให้เป็นความรู้สึกที่ดี รู้จักสร้างสถานการณ์ที่ดีให้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น วางแผนการไปเที่ยวสองเดือนครั้ง วางแผนการทานอาหารนอกบ้านในร้านที่อร่อยอาทิตย์ละครั้ง หรือการทำกิจกรรมที่เราชื่นชอบเพื่อให้มีอารมณ์ที่ดีมากขึ้น เช่นการออกกำลังกาย เพื่อหลั่งสารสื่อประสาทที่ทำให้เกิดความสุข การนั่งสมาธิสำหรับบางคนก็ทำให้มีความสุขได้เช่นกัน รวมไปถึงการฟังเพลง อ่านหนังสือ รับประทานอาหารที่อร่อย ก็สามารถทำให้มีอารมณ์และความรู้สึกที่มีมากขึ้น

            อีกทั้งสำหรับการความสุข สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือ การมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว ชุมชน หรือที่ทำงาน หากเรามีเพื่อนร่วมงานที่ดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีการแทงข้างหลัง ไม่ต้องกังวลเวลาที่จะสื่อสารอะไรก็ตาม ก็จะสามารถทำให้เรามีอารมณ์และความรู้สึกที่ดี เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราอยู่กันเป็นฝูง การมีความสัมพันธ์ที่ดีจึงสามารถกระตุ้นให้เราพึงพอใจกับชีวิตอย่างมาก และสุดท้ายอย่าลืมสร้างความทรงจำที่ดีมากขึ้น ซึ่งผมมักจะพูดเสมอว่า 

หากเราเคยเผชิญกับเรื่องเลวร้ายอย่างมากในอดีต  
ไม่เป็นไร เราสร้างใหม่ได้ สร้างความทรงจำดี ๆ ขึ้นมาให้มาก 
จนทำให้ความทรงจำเลวร้ายกลายเป็นเพียงแค่จุดเล็ก ๆ ก็พอแล้ว 

อ้างอิง

Haidt, J. (2013). The Righteous Mind: Why Good People Are Divided by Politics and Religion NY: Vintage.

Haidt, J. (2006). The Happiness Hypothesis: Finding Modern Truth in Ancient Wisdom. NY: Basic Books.

Kahneman, D. (2013). Thinking Fast and Slow. NY: Farrar, Straus and Giroux.

คาลอส บุญสุภา. (2564). ไม่มี "ความสุข" และ "ความทุกข์" ใดที่จะคงอยู่ถาวรตลอดไป. https://sircr.blogspot.com/2021/09/blog-post_9.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology). https://sircr.blogspot.com/2021/06/positive-psychology.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). ความทุกข์จากการพยายามเปรียบเทียบกับผู้อื่น (Social Comparison Bias). https://sircr.blogspot.com/2021/07/social-comparison-bias.html

ความคิดเห็น