ความเชื่อมั่น (Trust) เป็นหัวใจของทุกความสัมพันธ์

ไม่ว่าจะเป็นมิติหรือบริบทไหนก็ตาม 
 ครอบครัว เพือนฝูง โรงเรียน ชุมชน สังคม ไปจนถึงประเทศชาติ 
ความเชื่อมั่นเป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้ 

            ในปัจจุบันทุกอย่างบนโลกใบนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี (Disruptive Rechnology) ที่สร้างผลกระทบมากมายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอาชีพใหม่ ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น วิธีการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดสิ่งที่เรียกกันว่านวัตกรรม แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร แต่ก็เพิ่มความรวดเร็วมากขึ้น สิ่งนี้ส่งผลให้อุตสหกรรมเดิมต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด เพราะมีอุตสาหกรรมใหม่ขนาดเล็กที่ใช้เทคโนโลยีมีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นมาแทน

            International Federation of Robotics : IFR (2017) คาดการณ์ว่าทุกประเทศทั่วโลกจะมีแนวโน้มการติดตั้งหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2560 ได้มีการติดตั้งอุตสาหกรรมประมาณร้อยละ 18 หรือ 346,800 ตัว และยังมีความต้องมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยความที่องค์กรต่าง ๆ ลดขนาดลง และความต้องการแรงงานอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้นทำให้ความต้องการแรงงานของมนุษย์ลดลง

            ยิ่งไปกว่านั้นด้วยสถานการณ์โควิด-19 (COVID-19) ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกเกิดการชะลอตัว บริษัทจำนวนมากต้องปิดตัวลง คนไม่สามารถค้าขายได้จากการปิดเมืองทำให้รายได้ของบุคคลลดลง อีกทั้งการล็อกดาวน์ (Lockdown) ทำให้ผู้บริโภคหัสมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งการทำงานหรือการซื้อสินค้าและบริการ ขณะเดียวกันธุรกิจและหน่วยงานต่าง ๆ ก็ต้องปรับมาใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัส

            สิ่งที่ผมกล่าวมาคือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทุกคนอาจจะคิดว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ แต่ในความจริงแล้วประวัติศาสตร์โลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ซึ่งทำให้วิถีชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงเสมอ ไม่ว่าจะเป็น โรคระบาด การปฏิวัติอุตสาหกรรม สงคราม การปฏิวัฒิวิทยาศาสตร์ แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปเลยก็คือพื้นฐานความต้องการของมนุษย์

พื้นฐานความต้องการของมนุษย์

            สิ่งที่เป็นพื้นฐานของมนุษย์อันไม่เคยเปลี่ยนแปลง และเป็นหัวใจหลักสำคัญของความต้องการก็คือ ความต้องการดำรงชีพ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัย 4 ความปลอดภัย ความรัก ซึ่งเป็นความต้องการขั้นที่ 1 - 3 ของทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของ อับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow) นอกจากนั้นยังมีความต้องการพื้นฐานที่สำคัญอย่างมากก็คือ "การอยากเป็นคนสำคัญ" นั้นจึงเป็นเหตุผลที่เราต้องการการยอมรับ อยากจะมีชื่อเสียงและความสนใจ อยากได้รับคำชม เพราะเวลาที่เราถูกชมจะรู้สึกภูมิใจ หรือรู้สึกเป็นคนสำคัญมากยิ่งขึ้น

            พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์หลายอย่างเกิดมาจากการอยากจะเป็นคนสำคัญ เพราะหากเราไม่ได้รับความสนใจทางบวก เราก็จะแสวงหาความสนใจทางลบ นั้นคือเราจะแสดงพฤติกรรมบางอย่างเพื่อเรียกร้องความสนใจ สิ่งนี้เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นในสังคม ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนที่ไม่ได้รับการยอมรับ ความสนใจ จากวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับผลการเรียนทำให้เด็กเหล่านั้นรู้สึกไม่มีคุณค่า ไม่มีความภาคภูมิใจ "รู้สึกว่าไม่สำคัญ" 

            ยิ่งครอบครัวไหนที่ไม่ให้ความสนใจแก่ลูกเท่าที่ควรแล้ว เด็กเหล่านั้นจะแสดงพฤติกรรมเรียกความสนใจ โดยแสดงออกตรงกันข้ามกับความต้องการของคุณครู หรือพ่อแม่ เช่น การพูดคำหยาบ (แบบจงใจ) การแกล้งเพื่อน การใช้เสียงดังในขณะเรียน เพื่อให้ได้รับความสนใจ เพราะว่าเด็กบางคนหากไม่ได้ความสนใจในทางบวก ก็จะต้องการความสนใจทางลบ เช่น การดุด่าว่ากล่าว

            เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ทุกคนล้วนอยากเป็นคนสำคัญ มีคุณค่าในตนเอง คนที่รู้สึกว่าตนเองไม่สำคัญ ก็จะพยายามโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวที่จะแสดงออกเพื่อให้ผู้อื่นชื่นชม เช่น เพื่อนร่วมงานที่บอกว่าตนเองทำงานเยอะมาก มีการพูดถึงความสามารถของตนเอง หรือผลการเรียนในอดีตบ่อยครั้ง ตัวอย่างที่ผมยกมาเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป บางคนทำโดยรู้ตัว บางคนทำโดยไม่รู้ตัว ทั้งหมดนี้เพื่อได้รับการยอมรับจากผู้อื่น ในหนังสือ How to Win Friends and Influence เขียนโดย เดล คาร์เนกี (Dale Carnegie) ได้อธิบายถึงคำกล่าวของนักจิตวิทยา/นักปรัชญา ที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับความต้องการเป็นคนสำคัญ เช่น 

            วิลเลียม เจมส์ (William James) กล่าวว่า "กฎของธรรมชาติมนุษย์ที่ลึกที่สุด คือ ความกระหายอยากได้รับการชื่นชม"  

            ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) กล่าวว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ทำ เกิดจากแรงจูงใจ 2 อย่าง คือ ความต้องการทางเพศ และความต้องการเป็นคนยิ่งใหญ่"  

            จอห์น ดูอี (John Dewey) กล่าวว่า "ความต้องการที่อยู่ในใจลึก ๆ ในธรรมชาติมนุษย์ คือ ความต้องการที่จะเป็นคนสำคัญ" 

            สิ่งที่สอดคล้องกันของคำกล่าวทั้ง 3 ท่านคือ มนุษย์ต้องการเป็นคนสำคัญ ต้องการได้รับการยอมรับ ดังนั้น การที่เราถ่อมตัวให้ผู้อื่น มันแสดงถึงการที่เรายอมรับกับผู้นั้นในเชิงจิตวิทยา กล่าวคือ เราแสดงให้เห็นว่าเขาคนนั้นสำคัญ ซึ่งไปกระตุ้นต่อมความภาคภูมิใจของมนุษย์ให้เกิดปฏิกิริยา ทำให้เขาเกิดความมีคุณค่า สำคัญ และภูมิใจ 

            นอกจากความต้องการขั้นพื้นฐานเพื่อการดำรงชีพ และความต้องการอยากเป็นคนสำคัญแล้ว ยังมีความต้องการอื่น ๆ ที่มนุษย์นั้นขาดไปไม่ได้ แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปกี่ศตวรรษก็ตาม แต่มีหนึ่งอย่างที่ผมอยากจะนำเสนอ และเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของมนุษย์ในทุก ๆ บริบท ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพือนฝูง โรงเรียน ชุมชน สังคม ไปจนถึงประเทศชาติ นั้นก็คือ ความเชื่อมั่น (Trust) 

ความเชื่อมั่นในมิติหรือบริบทต่าง ๆ 

            มาพูดถึงความเชื่อมั่นกันก่อน เพราะว่ามีไม่เพียงแต่เรื่องของความสัมพันธ์ แต่ยังเกี่ยวข้องกับพัฒนาการของมนุษย์อย่างมาก ในทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมของ อีริค อีริคสัน (Erik Erikson) ทฤษฎีนี้จะอธิบายถึงพัฒนาการตั้งแต่ทารกจนถึงวัยชรา ซึ่งในแต่ละช่วงอายุ มนุษย์จะมีค่านิยมและหน้าที่แตกต่างกัน หากเขาหรือคนรอบตัวสามารถตอบสนองได้ตรงความตรงกับค่านิยมของบุคคลในขั้นนั้น เขาก็จะได้รับประสบการณ์เชิงบวก ในทางกลับกันหากคนรอบตัวไม่สามารถตอบสนองความต้องการค่านิยมและหน้าที่ในแต่ละขั้นพัฒนาการได้ เขาก็จะมีประสบการณ์เชิงลบเกิดขึ้น 
            มนุษย์เริ่มมีความเชื่อมั่น หรือความไว้ใจ (Trust) ตั้งแต่เกิดไปจนตลอดชีวิตเลยครับ โดยเกิดขึ้นอย่างมากในช่วง อายุตั้งแต่เกิด - 18 เดือน ตามทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมในขั้นนี้เด็กจะมีหน้าที่ไว้ใจโลก เพราะในช่วงวัยนี้เป็นเป็นวัยที่ทารกไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเอง จึงต้องการความช่วยเหลือจากคนรอบตัว เวลาที่ทารกหิวนม หรือขับถ่ายเขาจะรู้สึกมีความหวังว่าตัวเองจะได้รับการเติมเต็มความต้องการ 

            หากเขาได้รับการตอบสนองตามความต้องการขั้นพื้นฐานเขาก็จะมีความเชื่อมั่นในตัวคนรอบข้างมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ในช่วงชีวิตที่เราทำอะไรไม่ได้เลยเพื่อช่วยเหลือตัวเองก็คือวัยทารก ดังนั้นการที่คนรอบตัวสามารถตอบสนองความต้องการ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความเชื่อมั่น ซึ่งเป็นช่วงพัฒนาการที่สำคัญอย่างมาก แตกต่างจากเมื่อเราเติบโตขึ้น เพราะเราสามารถทำอะไรทุกอย่างได้เอง 

            นขณะที่วัยทารกเราต้องการนม หรือเปลี่ยนผ้าอ้อม หากพ่อแม่สามารถเติมเต็มทารกผู้นี้ได้ เขาจะเติบโตขึ้นมาแล้วไว้ใจคนรอบข้าง ในทางกลับกันหากพ่อแม่ไม่สามารถเติมเต็มความต้องการของทารกน้อยได้ เช่น หิวนมร้องไห้ก็ร้องไป ผ้าอ้อมเปียกก็รอไป ไม่มาจับ ไม่มีอุ้มเมื่อทารกร้องไห้ เขาจะเติบโตมาเป็นคนที่ไว้ใจคนอื่นยาก ทำให้มีความก้าวร้าว ชอบตีตัวออกห่างจากผู้อื่น

            ต่อมาเมื่อเราเติบโตขึ้น มีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างในมิติหรือบริบทต่าง ๆ เราจะเชื่อใจคนอื่นมากขึ้นหากเรามีประสบการณ์ด้านบวกเกี่ยวกับความเชื่อใจ ดังนั้นต่อให้เราได้รับการดูแลอย่างดีจนมีความเชื่อมั่นต่อคนรอบข้างที่สูง แต่ถ้าในความสัมพันธ์ในมิติอื่น ๆ เราโดนหักความเชื่อใจ ทำให้ผิดหวังบ่อยครั้งก็จะเป็นประสบการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อฐานความเชื่อมั่นในตัวผู้อื่นของเราได้เช่นกัน 

            ความเชื่อมั่นยังเป็นพลังที่สำคัญในการขับเคลื่อนพฤติกรรม ไม่นานมานี้ SCB ได้เปลี่ยนแปลงจากบริษัทด้านธนาคารเก่าแก่ เป็นบริษัททางด้านเทคโนโลยีโดยเปลี่ยนเป็น SCBX ผู้บริหารจะต้องแสดงวิสัยทัศน์ ให้นักลงทุนและพนักงานเกิดความเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ซึ่งคุณอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ก็สามารถทำได้อย่างดีจนหุ้น SCB บวกขึ้นถึง 20% ในเช้าถัดมา

            ไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ แต่การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของเครือไทย โฮลดิ้งส์ โดยเจ้าสัวเจริญ ดึงคุณฐากร ปิยะพันธ์ นั่ง CEO ใหญ่ในเครือ เพื่อเผชิญกับยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งแรก ๆ ที่คุณฐากรทำก็คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงานในเครือ แม้ว่าบริษัทต่าง ๆ จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง แต่พวกเขาจะมีโอกาสในการพัฒนาตัวเองและแสดงศักยภาพออกมามากยิ่งขึ้น 

            นอกจากนั้นแล้วการทำงานเป็นทีม ความเชื่อมั่นก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เพราะการทำงานเป็นทีมจำเป็นต้องมีการแบ่งงานซึ่งกันและกัน แม้ในปัจจุบันคนเพียงไม่กี่คนสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ แต่ก็มีความจำเป็นต้องทำงานเป็นระบบทีมและมีการแบ่งงานกันอยู่ดี บางทีมมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันเพื่อส่งเสริมกันและกัน ดังนั้นการจะสามารถทำให้ทีมดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความเชื่อมั่นจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมาก เพราะทำให้แต่ละคนสามารถทำหน้าที่ของตัวเองโดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง

            เราเห็นตัวอย่างความเชื่อมั่นในความสัมพันธ์ครอบครัวและองค์กรแล้ว แต่ความเชื่อมั่นยังสำคัญในอีกหลาย ๆ ความสัมพันธ์ ยกตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน หากนักเรียนมีความเชื่อมั่นในตัวครู ย่อมทำให้เขาตั้งใจเรียน และแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเด่นชัด ตรงกันข้ามกับครูที่นักเรียนไม่ได้เชื่อมั่น ยิ่งในปัจจุบันเป็นยุคที่นักเรียนมีความเป็นตัวของตัวเองสูง และเริ่มที่จะไม่เชื่อในคนรุ่นเก่าแล้ว การสร้างความเชื่อมั่นจึงเป็นพลังสำคัญที่จะสามารถขับเคลื่อนพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของนักเรียนออกมาได้อย่างดี

            มาถึงความสัมพันธ์สุดท้าย ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ใหญ่ที่สุดนั้นคือสังคมและประเทศชาติ ความเชื่อมั่นยิ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้อย่างรุนแรง เพราะในยุคนี้เป็นยุคแห่งข้อมูล มีการไหลของข้อมูลที่หลากหลายซึ่งหลายข้อมูลเป็นเท็จ หรือมีการนำเสนอข้อมูลที่มีวัตถุประสงค์บางสิ่งบางอย่าง หากผู้นำประเทศชาติสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ ก็จะสามารถมีอิทธิพลเหนือข้อมูลที่ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อสังคมได้ 

            ยกตัวอย่างเช่น ในสถานการณ์โควิด-19 ด้วยความที่ประชาชนหลายส่วนไม่มีเชื่อมั่นในตัวผู้นำ ทำให้คนจำนวนมากไม่เชื่อถือข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการผู้เชื้อ วัคซีน และอื่น ๆ หากผู้นำประเทศสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ ข้อมูลที่ทางภาครัฐนำเสนอก็จะมีความน่าเชื่อถือตามไปด้วย ซึ่งการที่ผู้นำจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้นั้น จะต้องได้ใจประชาชน มีความรู้ ความสามารถ และความเข้าใจในความแตกต่าง เพราะความแตกต่างเท่านั้นที่จะพาประเทศชาติให้ก้าวหน้าได้

สรุป

            ไม่ว่าจะเป็นมิติหรือบริบทไหนก็ตาม ครอบครัว เพือนฝูง โรงเรียน ชุมชน สังคม ไปจนถึงประเทศชาติ ความเชื่อมั่นเป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้ เพราะความเชื่อมั่นเป็นหัวใจของทุกความสัมพันธ์ เด็กจะเติบโตไปมีทัศนคติแง่บวกต่อโลกใบนี้มากขึ้นหากเขาเชื่อใจหรือเชื่อมั่นในตัวคนรอบข้างในวันที่เขาเป็นทารก ซึ่งการมีทัศนคติในทางบวกต่อโลกใบนี้เป็นข้อได้เปรียบอย่างมาก มันจะทำให้เขามีความสุข และเป็นที่รักของคนรอบข้างในอนาคต

            โรงเรียนก็เป็นบริบทหนึ่งที่สำคัญต่อการเติบโตของเด็กอย่างมาก ครูที่ได้รับความเชื่อมั่นจากนักเรียน จะทำให้นักเรียนตั้งใจเรียนมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นจะทำให้บรรยากาศในการเรียนดีตามไปด้วย ซึ่งจะส่งเสริมการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นความเชื่อมั่นยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อองค์กรด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุน หรือพนักงานทั้งบริษัท

            หรือการทำงานเป็นทีมที่จะต้องอาศัยความเชื่อมั่นซึ่งกันและกันเพื่อที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สุดท้ายมิติหรือบริบททางด้านประเทศชาติที่จำเป็นต้องอาศัยความเชื่อมั่นเพื่อบริหารประเทศ การที่ประชาชนเชื่อมั่นในตัวผู้นำประเทศ จะทำให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันเป็นยุคที่มีข้อมูลจำนวนมหาศาล ข้อมูลหลายอย่างเป็นทั้งข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือข้อมูลที่มีวัตถุประสงค์บางอย่าง

            หากผู้นำประเทศมีความน่าเชื่อถือหรือได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน เขาก็จะสามารถให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เพื่อต้านทานข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือความเข้าใจผิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้ ในทางกลับกันหากผู้นำประเทศไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน ก็จะทำให้การบริหารประเทศชาติเป็นไปได้ยากลำบาก เพราะประเทศชาติดำรงไปด้วยผู้ที่มีความแตกต่างกัน ผู้นำที่ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนจะเป็นผู้ที่สามารถบริหารและให้คุณค่ากับความคิดที่แตกต่างกันในสังคมได้
โดยส่งเสริมให้ความแตกต่างนี้ผลิดอกออกใบ 
กลายเป็นผลผลิตที่งดงามที่จะนำพาทุกสถาบัน 
ให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้ในอนาคต

อ้างอิง

Carnegie, D. (1998).  How to Win Friends & Influence People. NY: Pocket Books.

International Federation of Robotics. (2017). Executive Summary World Robotics 2017 Industrial Robots. Working Paper of International Federation of Robotics. https://ifr.org/downloads/press/Executive_Summary_WR_2017_Industrial_Robots.pdf

World Economic Forum. (2020). The Future of Jobs Report 2020. https://www.weforum.org/reports/the-future-of-jobs-report-2020

คาลอส บุญสุภา. (2564). ทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมของอีริคสัน (Psychosocial Development). https://sircr.blogspot.com/2021/06/psychosocial-development.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). ทำไมเราถึงต้อง ถ่อมตน (Humility). https://sircr.blogspot.com/2021/04/humility.html

ความคิดเห็น