ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำร้ายสุขภาพจิตของเราอย่างคาดไม่ถึง

สิ่งที่คนจนส่วนใหญ่มักพบเจอคือ "ความปรารถนาที่ไม่สมหวัง" 
เพราะจากค่านิยม จากตัวแบบ จากสัญชาตญาณ 
มันขับเคลื่อนกลายเป็นสิ่งเร้าที่กระตุ้นให้คนจนอยากได้อยากมีกับเขาบ้าง

            ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมีการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีมากมาย แต่การเปลี่ยนผ่านที่ส่งผลให้วิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากก็คือการปฏิวัติอุตสาหกรรม ต่อมาถึงยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการเติบโตทางอินเทอร์เน็ต ไปจนถึงการแทรกแซงทางเทคโนโลยี (Technology Disruption) ที่บริษัทใหม่ ๆ สามารถใช้เทคโนโลยีมาทดแทนคน และทำให้บริษัทเก่า ๆ ต้องสั่นคลอนล้มหายตายจากเป็นจำนวนมาก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ส่งผลถึงชีวิตความเป็นอยู่รวมไปถึงสถานะทางเศรษฐกิจของผู้คนอย่างมาก

            การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังทำให้เกิดการขยายตัวของความไม่เท่าเทียมขึ้นในสังคม กล่าวคือคนบางกลุ่มเพิ่มการผูกขาดผลพวงของการแทรกแซงดังกล่าวในขณะที่คนอีกนับพัน ๆ ล้านคนยังคงถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง ยกตัวอย่างเช่น คนที่ความร่ำรวยหน่อยก็สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและทรัพยากรที่จะทำพวกเขาร่ำรายอย่างมหาศาล ในขณะที่คนยากจนไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีหรือทรัพยากรแบบคนร่ำรวยได้ ทำให้ปัจจุบันคนรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นเป็นเจ้าของความมั่งคั่งครึ่งหนึ่งของทั้งโลก ที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือคนรวยที่สุด 100 คน เป็นเจ้าของสินทรัพย์มากคนจนที่สุด 4 พันล้านคนรวมกัน ซึ่งทำให้สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมาก

            ความเหลื่อมล้ำทางสังคมพบในเกือบทุกที่และมีมานานแล้วตั้งแต่ในอดีต เนื่องจากความเหลื่อมล้ำเกิดมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ หรือสถานภาพพลเมือง ยกตัวอย่างเช่น สังคมบางที่ดันไปตั้งอยู่บนพื้นที่ที่ได้เปรียบ มีอาหาร หรือทรัพยากรอื่น ๆ ทำให้พวกเขาเหล่านั้นมีกำลัง มีแรง หรือมีทรัพยากรไว้แลกเปลี่ยนได้มากกว่าสังคมอื่นที่อาจจะไปตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีทรัพยากรน้อยกว่า

            เช่นเดียวกับสถานภาพพลเมือง คนที่เกิดมาเป็นลูกชาวนา ชาวไร่ ย่อมไม่มีอำนาจและเข้าถึงทรัพยากรได้น้อยเมื่อเทียบกับคนที่เกิดมาในตระกูลขุนนาง สิ่งนี้ไม่ได้แตกต่างจากในปัจจุบัน เด็กที่เกิดมาในครอบครัวของคนที่มีรายได้ต่ำก็จะมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรที่น้อยกว่า คนที่เกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวย ภาพนี้เห็นได้ชัดมากขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ครอบครัวที่มีรายได้สูงหน่อยก็จะสามารถจัดหาอุปกรณ์เอาไว้ให้ลูกของตัวเองเรียนออนไลน์ได้ ในขณะครอบครัวที่ยากจนยากที่จะสามารถหาอุปกรณ์มาให้ลูกเรียนออนไลน์ได้ หรือต่อให้หามาได้ก็อาจจะเรียนได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าไหร่นัก

            ความแตกต่างเหล่านี้ทำให้สังคมเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ยิ่งในประเทศไทยเห็นอย่างชัดเจนอย่างมาก ซึ่งมันสวนทางกับความปรารถนาหรือความต้องการของมนุษย์ที่จะได้รับการยอมรับ คนรอบตัวเรามีสถานะทางสังคมที่ดีกว่า ร่ำรวยมากกว่า มันทำให้เราเกิดการเปรียบเทียบ ยิ่งไปกว่านั้นค่านิยมทางสังคมยังขับเคลื่อนให้ความต้องการของเราไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้สุขภาพจิตของเราย่ำแย่ลงไปเรื่อย ๆ ในบทความนี้ผมจึงอยากจะนำเสนอให้ผู้อ่านเห็นภาพว่าความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำร้ายสุขภาพจิตของเราได้อย่างไรบ้าง

ผลกระทบของความเหลื่อมล้ำ

            อย่างที่เรารู้ ๆ กันว่าสังคมกำลังเผชิญกับความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรง ซึ่งยิ่งปล่อยไว้ก็ยิ่งทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในหลาย ๆ ระดับ อีกทั้งองค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) ยังได้เน้นย้ำว่าสังคมสามารถทำให้คนเจ็บป่วยทางจิตได้ในรายงานฉบับปี 2009 ซึ่ง WHO ได้ระบุว่าความเจ็บป่วยทางจิตเกิดขึ้นจากสาเหตุทางสังคม ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2019 ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิด้านสุขภาพ ได้อธิบายว่าปัจจัยที่จะทำให้เกิดสุขภาวะที่สมบูรณ์ทางจิต คือการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมสุขภาวะที่สมบูรณ์ทางสังคม

            หากพูดถึงการศึกษาเกี่ยวกับความเหลื้อมล้ำและสุขภาพจิต จำเป็นต้องศึกษางานของ ริชาร์ด วิลกินสัน (Richard Wilkinson) และ เคท พิคเก็ตต์ (Kate Pickett) เพราะทั้งสองได้วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประชาชนในประเทศต่าง ๆ มากมาย ในหนังสือของพวกเขาชื่อ The Spirit Level: Why Greater Equality Makes Societies Stronger ซึ่งได้อธิบายข้อมูลที่สอดคล้องกับ WHO และสหประชาชาติ จากการศึกษาวิจัยของพวกเขา ทำให้เกิดการค้นพบว่า "ความเหลื่อมล้ำสามารถฆ่าคนให้ตายได้"

            เหตุผลเพราะว่าความเหลื้อมล้ำสามารถทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอและสุขภาพย่ำแย่ลง มันทำให้คนที่อยู่อาศัยอยู่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ (ย่านคนจน) มีอายุสั้นกว่าและมีอัตราการใช้สารเสพติด การเสียชีวิตของเด็ก โรคอ้วน รวมไปถึงความเจ็บป่วยทางจิต ฯลฯ  อีกทั้ง ริชาร์ด วิลกินสัน และ เคท พิคเก็ตต์ ยังเน้นย้ำด้วยว่าแม้ปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับทุกคนในสังคม แต่ส่วนใหญ่แล้วจะกระจุกตัวอยู่ในสังคมระดับล่างมากกว่า

กล่าวคือยิ่งจนเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสตายก่อนวัยอันควรมากขึ้นเท่านั้น

            นอกจากนั้นยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ นั้นคือสาเหตุของคนที่เป็นโรคซึมเศร้าหรืออาการทางจิตอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่เรามักได้ยินกันว่าสาเหตุของโรคทางจิตมากจากความผิดปกติที่สารสื่อประสาท แต่สิ่งที่เราลืมพิจารณาไปก็คือ "อะไรทำให้สารสื่อประสาทผิดปกติ" ซึ่งสาเหตุทางสังคมก็เป็นหนึ่งในนั้น แม้ว่าสาเหตุหนึ่งทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้าหรืออาการทางจืตอื่น ๆ คือการมีพันธุกรรมที่เปราะบาง แต่มันก็ไม่ได้อธิบายว่าทำไมความเจ็บป่วยดังกล่าวถึงได้เพิ่มสูงขึ้นในเวลาไม่กี่ทศวรรษเท่านั้น เนื่องจากยีนมีการเปลี่ยนแปลงที่ช้า

            อีกหลักฐานหนึ่งที่สามารถอธิบายได้ก็คือการศึกษาของวิลกินสันและพิคเก็ตต์ ที่ใช้กลุ่มตัวอย่างในประเทศต่าง ๆ หลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศอเมริกาและประเทศอังกฤษมีสัดส่วนผู้ป่วยทางจิตต่อประชากรมากกว่าประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศเยอรมันเสียอีก ซึ่งแม้ว่าประเทศทั้งหมดที่กล่าวมาจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วแต่ประเทศอังกฤษและอเมริกามีความเหลื่อมล้ำสูงกว่า ทั้ง 2 ประเทศ

ความเหลื่อมล้ำทำลายสุขภาพจิต

            จากการศึกษาที่กล่าวมาข้างต้นเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าปัจจัยทางสังคมมีอิทธิพลอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพจิต โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำ คาวนี้เรามาเจาะลึกกันดีกว่าว่าทำไมความเหลื่อมล้ำถึงทำลายสุขภาพจิตของเราได้ แน่นอนว่าผมได้อธิบายไปแล้วว่าความเหลื่อมล้ำคือการฉีดขาดของคนจนและคนรวย ทำให้สังคมมีคนรวยกระจุก จนกระจาย สิ่งนี้ก่อให้เกิดพฤติกรรมอย่างไรบ้างลองมาพิจารณากันดูครับ

            อย่างแรกเลยต้องเข้าใจมนุษย์เสียก่อนว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยสัญชาตญาณ เรามีระบบ 1 ซึ่งเป็นสิ่งที่หล่อหลอมมาจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม สัญชาตญาณ เป็นระบบความคิดที่รวดเร็ว ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ ในขณะที่ความคิดระบบ 2 เป็นการคิดวิเคราะห์ ด้วยจิตสำนึก และมีสติ เป็นระบบที่ช้า และมีอิทธิพลน้อยกว่าระบบ 1 อย่างมหาศาล ยิ่งไปกว่านั้นมันยังขี้เกียจด้วย กล่าวคือเราขี้เกียจคิดหรือพิจารณาโดยใช้สติ เราเลยมักจะปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามสัญชาตญาณ

            จึงไม่แปลกที่เราจะใช้สัญชาตญาณในการดำเนินชีวิตเป็นหลัก นั้นทำให้เรามีพฤติกรรมที่เป็นแบบแผน ถูกกระตุ้นไปตามสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว ป้ายอาหารน่ากินเราก็เข้าไปทั้ง ๆ ที่ไม่หิว เห็นเพื่อนซื้อโทรศัพท์ราคาใน Facebook เราเลยซื้อตาม เลือกอาชีพตามคนที่เราชอบ หรือขู่จะฆ่าตัวตายเมื่อโดนหักอก นอกจากนี้แล้วยังมีพฤติกรรมอีกมากมายมหาศาลที่ดูไม่สมเหตุสมผล ผมเชื่อว่าเราก็เคยแสดงพฤติกรรมที่ดูไร้สาระกันทั้งนั้นและหลายครั้งเราจำไม่ได้เสียด้วยซ้ำ

            แล้วความเหลื่อมล้ำไปกระตุ้นให้คนเกิดพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผลได้อย่างไรบ้าง จริง ๆ แล้วความเหลื่อมล้ำไปกระตุ้นพฤติกรรมดังกล่าวอย่างรุนแรงเสียด้วยซ้ำ ลองนึกภาพตามนะครับ มนุษย์เรามีสัญชาตญาณที่อยากจะเป็นคนสำคัญ อยากที่ได้รับการชื่นชม แต่คนในสังคมที่ได้ความเคารพ ความสำคัญและได้รับการยอมคือคนประเภทไหนกัน คำตอบก็คือ "ส่วนใหญ่จะเป็นคนร่ำรวย" เพราะว่าคนที่ร่ำรวยหลากคนอยากได้อะไรก็หามาได้ อยากไปจะไปเที่ยวไหนก็ได้เที่ยว อยากจะซื้ออะไรก็ได้ทั้งนั้น 

            ผมไม่ได้กล่าวหาว่าคนร่ำรวยทั้งหมดจะได้ทุกอย่างที่ต้องการ แต่ส่วนใหญ่แล้วเขาก็ได้หลายอย่างที่เขาต้องการ และนำเสนอมันลงโซเชียลมีเดียในรูปแบบต่าง ๆ โดยเจตนาอวดหรือไม่ได้เจตนาก็ตาม ซึ่งเมี่อสังคมเหลื่อมล้ำมาก ๆ ก็จะมีคนจนจำนวนมากที่เห็น หรือรับเอาค่านิยมตัวแบบมา นั้นทำให้เขาเกิดความรู้สึก "อยากจะได้บ้าง" หรือ "อยากจะเอาชนะ" 

กล่าวคือ เราต้องการจะตอบสนองความพึงพอใจที่อยากจะได้รับการยอมรับหรืออยากเป็นคนสำคัญ

            แต่สุดท้ายสิ่งที่คนจนส่วนใหญ่มักพบเจอคือ "ความปรารถนาที่ไม่สมหวัง" เพราะจากค่านิยม จากตัวแบบ จากสัญชาตญาณ มันขับเคลื่อนกลายเป็นสิ่งเร้าที่กระตุ้นให้คนจนอยากได้อยากมีกับเขาบ้าง และเมื่อเขาไม่ได้อยากที่ต้องการ ก็จะทำให้เขามีแนวโน้มใช้กลไกป้องกันตัวเองทางจิต (Defense Mechanisms) ในการปกป้องตัวเอง ไม่ว่าจะปฏิเสธความจริงบ้าง อ้างเหตุผลเข้าข้างตัวเองบ้าง หรือโทษคนอื่นบ้าง ซึ่งโดยส่วนใหญ่คนที่ต้องการอะไรแล้วไม่สมหวังเขาจะโยกย้ายความไม่พอใจมาใส่ไว้ที่คนอื่น และหากใช้กลไกดังกล่าวไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้สูญเสียความสามารถในการคิดอย่างมีเหตุผลไปเรื่อย ๆ 

            สอดคล้องกับการศึกษาของ  ริชาร์ด วิลกินสัน (Richard Wilkinson) และ เคท พิคเก็ตต์ (Kate Pickett) ที่ศึกษาเจาะลึกลงมาที่ตัวผู้คน (ระดับปัจเจก) พบว่าคนที่มีความเครียดเมื่ออยู่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำจะรู้สึกควบคุมอะไรไม่ได้ รู้สึกว่าตนเองด้อยกว่า อีกทั้งยังเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นเสมอว่าใครเหนือกว่าหรือด้อยกว่า ในกรณที่รู้สึกว่าพ่ายแพ้ก็จะแยกตัวออกจากสังคม นอกจากนั้นพวกเขายังมีภาวะหลงตัวเองและมีการบริโภคนิยมที่สูงอีกด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะคนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยมีคุณค่า (มีคุณค่าในตนเองต่ำ) จะมีความต้องการอยากจะเป็นคนสำคัญมากกว่าคนทั่วไป พวกเขาจะพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ดี (จนเวอร์) 

แต่สุดท้ายพฤติกรรมดังกล่าวก็จะนำไปสู่ความรู้สึกไม่พอใจขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เสี่ยงต่อการใช้เหล้าและสารเสพติดที่สูงขึ้น 

สรุป

            ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจากการพัฒนาเทคโนโลยีทำให้เกิดการฉีดขาดทางฐานะเกิดขึ้น คนจำนวนหนึ่งร่ำรวยมากยิ่งขึ้นในขณะที่คนจนมากขึ้นเป็นทวี คนรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นเป็นเจ้าของความมั่งคั่งครึ่งหนึ่งของทั้งโลก ที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือคนรวยที่สุด 100 คน เป็นเจ้าของสินทรัพย์มากคนจนที่สุด 4 พันล้านคนรวมกัน ซึ่งทำให้สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมาก

            ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอและสุขภาพย่ำแย่ลง มีอายุสั้นกว่าและมีอัตราการใช้สารเสพติด การเสียชีวิตของเด็ก โรคอ้วน รวมไปถึงความเจ็บป่วยทางจิต ฯลฯ โดยเฉพาะความเจ็บป่วยทางจิตจะยิ่งสูงมากขึ้นในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำมากเป็นพิเศษแม้จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศอเมริกาและประเทศอังกฤษก็ตาม

            เมื่อเจาะลึกลงไปเป็นรายบุคคลพบว่า ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงคนจะยิ่งเครียดมากขึ้น มีความพยายามที่จะเป็นคนสำคัญ จึงมักจะยกตนข่มท่านและเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น หลงตัวเอง พยายามสร้างภาพลักษณ์ของตัวเองและบริโภคนิยม กรณีที่แพ้ไปก็จะแยกตัวไปจากสังคม ซึ่งส่วนใหญ่จะแพ้ในท้ายที่สุดเพราะไม่มีใครยอมรับคนที่หลงตัวเองและแสวงหาคุณค่าในตนเองโดยการเปรียบเทียบกับคนอื่นอย่างแน่นอน

            เมื่อความความปรารถนาที่ไม่สมหวังทำให้พวกเขามีแนวโน้มใช้กลไกป้องกันตนเอง ไม่ว่าจะปฏิเสธความจริงบ้าง อ้างเหตุผลเข้าข้างตัวเองบ้าง หรือโทษคนอื่นบ้าง สอดค้ลองกับการศึกษาของ ริชาร์ด วิลกินสัน (Richard Wilkinson) และ เคท พิคเก็ตต์ (Kate Pickett) ที่พบว่า  พบว่าคนที่มีความเครียดเมื่ออยู่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำจะรู้สึกควบคุมอะไรไม่ได้เลย รู้สึกว่าตนเองด้อยกว่า อีกทั้งยังเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นเสมอว่าใครเหนือกว่าหรือด้อยกว่า แถมยังหลงตัวเองและมีการบริโภคนิยมที่สูงอีกด้วย

            เมื่อสังคมมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น รัฐสามารถแทรกแซงโดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สวัสดิการในการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคนยากจนให้สามารถเข้าถึงเงื่อนไขที่จะทำให้เขาพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา สุขภาพ สวัสดิการ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่สามารถทำให้ประชาชนหลุดพ้นจากวงจรแห่งความยากจนและดำเนินชีวิตอย่างมีสุขภาพจิตที่ดีเทียบเท่ากับผู้อื่นในสังคมได้

            นอกจากรัฐจะต้องแทรกแซงแล้ว ตัวบุคคลเองก็สามารถส่งเสริมคุณค่าในตัวเองให้มีมากขึ้นได้ ซึ่งหลายครั้งคนจำนวนมากจะคิดว่า "ก็หยุดอยากได้อยาก หรืออยากแข่งขันซิ จะไปมีตามคนอื่นทำไม ควรรู้จักพอเพียงบ้าง"  แต่พวกเขาลืมคิดไปว่าสัญชาตญาณของมนุษย์เป็นเช่นไร และส่วนมากคนที่พูดว่าพอเพียง มักจะไม่เคยพอเพียง การฝืนสัญชาตญาณมนุษย์ก็เหมือนกับการว่ายทวนกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว เราควรจะใช้ชีวิตอย่างรู้เท่าทันตัวเอง มีสติ แล้วพยายามส่งเสริมคุณค่าในตัวเองให้มีมากขึ้นด้วยวิธีการอื่น ๆ

ซึ่งจะทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตในสังคม

ที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำนี้อย่างมีสุขภาพจิตที่ดีได้

อ้างอิง

Wilkinson, R. & Pickett, K. (2011). The Spirit Level: Why Greater Equality Makes Societies Stronger. London: Bloomsbury Publishing.

Wilkinson, R. & Pickett, K. (2017). The enemy between us: The psychological and social costs of inequality. European Journal of Social Psychology. 47(1): 11-24.  https://doi.org/10.1002/ejsp.2275

สรวิศ ชัยนาม. (2562). เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์. กรุงเทพฯ: อิลลูมิเนชั่นส์.

คาลอส บุญสุภา. (2564). สังคมกำลังบีบให้เราเป็นทุกข์และซึมเศร้าโดยอัตโนมัติ. https://sircr.blogspot.com/2021/11/blog-post_28.html

ความคิดเห็น