สังคมกำลังบีบให้เราเป็นทุกข์และซึมเศร้าโดยอัตโนมัติ

คำถามก็คือแล้วเราควรจะดำรงชีวิตอย่างไร 
อยู่เฉย ๆ ก็ทุกข์ด้วยสภาพสังคมและการแข่งขัน 
พอไขว่คว้าหาความสุขมันก็จางหายไปอย่างรวดเร็ว 

            ในปัจจุบันเป็นยุคสมัยของการตั้งคำถามกับการดำรงชีวิตอยู่ของตนเอง ผมมักจะได้ยินคำตอบจากเพื่อน ๆ หรือคนใกล้ตัวอยู่เสมอว่า "เกิดมาเพื่อแสวงหาความสุข" ซึ่งผมเชื่อว่าหลายคนก็คิดแบบนั้นเหมือนกัน มนุษย์เราแสวงหาความรื่นรมย์ ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน สิ่งของที่ตอบสนองความพึงพอใจ การขับถ่ายและความสุขทางเพศ กล่าวคือ เป็นการตอบสนองความต้องการทางร่างกายและจิตใจ 

            มีการศึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยาเชิงบวกที่กล่าวถึง สภาวะลื่นไหล (Flow) ซึ่งเป็นการที่เราเป็นเหมือนหนึ่งเดียวกับเสียงดนตรี โลกทั้งใบจะเหมือนกับหยุดหมุน หลายคนเรียกว่า "สภาวะท็อปฟอร์ม" (Being in the Zone) มันจะเกิดขึ้นเมื่อเราทุ่มเทพลังใจหรือความสนใจไปที่เป้าหมายที่ทำได้จริง และเมื่อทักษะมาบรรจบกับโอกาสที่จะกระทำ เราจะทุ่มเทสมาธิและความสนใจไปที่งานตรงหน้าจนลืมสิ่งอื่น ๆ ทุกอย่างนอกเหนือจากนั้นไว้ชั่วขณะ เวลาจึงเหมือนผ่านไปอย่างรวดเร็ว 

            สิ่งนี้เรียกว่าการมีชีวิตที่ดี (The Good Life) เป็นแนวคิดมีชื่อเสียงมากขึ้นจากากรศึกษาของ ไมค์ ชิคเซนต์มิไฮยี (Csikszentmihalyi) ซึ่งเขากล่าวว่ามันแตกต่างจากความสนุกสนานรื่นรมย์ แนวคิดจิตวิทยาเชิงบวกซึ่งนำโดย มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) หนึ่งในผู้บุกเบิก และผลักดันแนวคิดจิตวิทยาสายนี้ เขายังแนะนำว่า การที่เราจะเข้าสู่สภาวะลื่นไหล (Flow) ได้เราจะต้องรู้ว่าจุดแข็งของตนเองคืออะไร แล้วเราจะต้องออกแบบชีวิตเพื่อให้ได้ใช้จุดแข็งเหล่านั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

            สรุปก็คือทั้งแนวคิดจิตวิทยาเชิงบวก ทั้งการตีความหมายชีวิตของคนรอบ ๆ ข้างผม รวมถึงความคิดของคนหลาย ๆ คน ล้วนสอดคล้องกันทั้งหมดนั้นคือ "มนุษย์เราปรารถนาที่จะแสวงหาความสุข ไม่ว่าจะเป็นความสุขแบบไหนก็ตาม" จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะรู้สึกอิจฉาคนหลาย ๆ คนที่มีชีวิตที่ดี ตำแหน่งที่ดี ได้ทำงานที่รัก ยิ่งสภาพสังคมที่เป็นรูปแบบทุนนิยม มีคนรวยขึ้นและมีคนที่จนลงไปเรื่อย ๆ การฉีกขาดทางสภาพสังคมและเศรษฐกิจทำให้ ความทุกข์และความเศร้าหมุนวนกันไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าผู้นั้นจะรวยหรือจน

สังคมทำให้เราเป็นทุกข์และซึมเศร้าโดยอัตโนมัติ

            ตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม โลกาภิวัตน์ไปจนถึงการแทรกแซงทางเทคโนโลยี (Technology Disruption) ทำให้เกิดการขยายตัวของความไม่เท่าเทียมทั้งระหว่างสังคมและภายในสังคมต่าง ๆ กล่าวคือคนบางกลุ่มเพิ่มการผูกขาดผลพวงของการแทรกแซงดังกล่าวในขณะที่คนอีกนับพัน ๆ ล้านคนยังคงถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง ยกตัวอย่างเช่น คนที่ความร่ำรวยหน่อยก็สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและทรัพยากรที่จะทำพวกเขาสามารถทำงานได้อย่างมหาศาล ในขณะที่คนยากจนไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีหรือทรัพยากรแบบคนร่ำรวยได้ ทำให้ปัจจุบันคนรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นเป็นเจ้าของความมั่งคั่งครึ่งหนึ่งของทั้งโลก ที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือคนรวยที่สุด 100 คน เป็นเจ้าของสินทรัพย์มากคนจนที่สุด 4 พันล้านคนรวมกัน

            ความแตกต่างเหล่านี้ทำให้สังคมเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ยิ่งในประเทศไทยเห็นอย่างชัดเจนอย่างมาก ซึ่งมันสวนทางกับความปรารถนาหรือความต้องการของมนุษย์ที่จะได้รับการยอมรับ กล่าวคือ เราอยากจะบริโภคสิ่งต่าง ๆ มากขึ้นจากตัวแบบทางสังคมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นดารา เพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือคนอื่น ๆ ที่เราพบเจออยู่รอบตัวเรา ด้วยสัญชาตญาณของมนุษย์ทำให้เรารู้สึกอิจฉา อยากได้อยากมี และรู้สึกแย่กับตัวเองไม่มากก็น้อย

            แน่นอนว่าหลายคนที่กำลังอ่านถึงย่อหน้านี้ก็คงคิดว่า "เป็นความจริง... แต่ฉันไม่รู้สึกอะไรแน่นอน" ผมเชื่อว่าเราก็คงจะไม่อยากรู้สึกอะไร ไม่อยากอิจฉา ไม่อยากรู้สึกแย่กับตัวเอง แต่จริง ๆ แล้วเราควบคุมอะไรไม่ได้ เราเรียกว่าอคติจากการเปรียบเทียบทางสังคม (Social Comparison Bias) ซึ่งคือความรู้สึกไม่ชอบ และพยายามที่จะแข่งขันกับผู้อื่น ซึ่งมักจะออกมาในรูปแบบของการเปรียบเทียบ อีกทั้งยังมีผลการวิจัยที่พบว่าการที่เราพบเจอแต่คนที่ดูดีกว่า รวยกว่า หรือมีอำนาจมากกว่าจะทำให้ความมั่นใจของเราลดลงเหมือนถูกจับยัดลงชักโครก พร้อมกับกดน้ำตามไปด้วย

            พูดง่าย ๆ ก็คือ การปรารถนาที่จะมีความสุข ทำให้เราพบเจอแต่เรื่องราวความสุขของคนอื่น (เพียงแค่ที่เห็น) เราจึงรู้สึกไม่ชอบ และพยายามที่จะแข่งขันกับผู้อื่น ซึ่งมักจะออกมาในรูปแบบของการเปรียบเทียบ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ มาร์ค ฟิชเชอร์ (Mask Fisher) นักทฤษฎีวัฒนธรรม เรียกว่า "ความซึมเศร้าจากการไล่หาความสุข (Depressive Hedinia) เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าสภาวะดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการที่คนคนนั้นไม่สามารถทำอย่างอื่นได้นอกจากแสวงหาความสุข" ด้วยสภาวะดังกล่าวมันจึงทำให้เราไล่ตามความสุขอยู่ตลอดเวลา และด้วยอคติจากการเปรียบเทียบทางสังคม มันก็ทำให้หลายครั้งเรารู้สึกเหมือนตายทั้งเป็น

            เหตุผลที่ผมใช้คำว่าอัตโนมัติ เพราะว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยสัญชาตญาณ เรามีระบบ 1 ซึ่งเป็นสิ่งที่หล่อหลอมมาจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม สัญชาตญาณ เป็นระบบความคิดที่รวดเร็ว ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ ในขณะที่ความคิดระบบ 2 เป็นการคิดวิเคราะห์ ด้วยจิตสำนึก และมีสติ เป็นระบบที่ช้า และมีอิทธิพลน้อยกว่าระบบ 1 อย่างมหาศาล ยิ่งไปกว่านั้นมันยังขี้เกียจด้วย กล่าวคือเราขี้เกียจคิดหรือพิจารณาโดยใช้สติ เราเลยมักจะปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามสัญชาตญาณ

            แนวคิดดังกล่าว แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) ได้นำเสนอในหนังสือ Thinking Fast and Slow ที่มีชื่อเสียงของเขา ซึ่งคาฮ์นะมันอธิบายว่าระบบ 2 จะขี้เกียจอย่างมาก ตรงกันข้ามกับระบบ 1 ที่รวดเร็ว ทำให้โดยส่วนใหญ่ในการดำเนินชีวิตจะเป็นการทำงานด้วยระบบ 1 จึงไม่แปลกที่พฤติกรรมส่วนใหญ่ของเราจะขาดสติ นั้นจึงเป็นสาเหตุให้สภาพแวดล้อมมีอิทธิพลมนุษย์เป็นอย่างมากหากเราเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มด้วยวัฒนธรรมหรือด้วยการเลี้ยงดู เราก็มีแนวโน้มจะเติบโตมาเป็นคนคล้อยตามคนส่วนใหญ่ได้ง่ายโดยที่เราแทบจะไม่คิดไตร่ตรองอะไรเลยด้วยซ้ำ

สังคมที่บีบให้เราเป็นทุกข์ถูกเสริมด้วยโซเชียลมีเดีย

            ทุกวันนี้โซเชียลมีเดียต่าง ๆ ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการสื่อสารแต่เป็นสังคมแบบหนึ่ง หากเราเข้าไปใน Facebook ก็จะเป็นสังคมรูปแบบหนึ่ง หากเราเข้าไปใน Tiktok ก็จะเป็นสังคมในอีกรูปแบบหนึ่ง รวมไปถึง Line กลุ่ม และโชเชียลมีเดียอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งผู้คนต่างคิดว่าการที่เราใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากขึ้นจะทำให้เราห่างจากคนอื่น แต่จริง ๆ แล้วมันบีบโลกของเราให้แคบลงเสียด้วยซ้ำ ลองคิดดูนะครับ เพียงแค่เราไถหน้าฟีดก็เห็นผู้คนที่อยู่ห่างไกลกันอยู่ใกล้แค่นิดเดียว แถมยังรู้เรื่องราว วิถีชีวิต สิ่งของ หรือกิจกรรมของผู้คนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนเราที่กำลังไปเที่ยวรอบโลกอย่างมีความสุข หรือคนที่เราแทบไม่เคยรู้จักพึ่งถอยรถป้ายแดงมา หรือแฟนเก่าของเรากำลังจะแต่งงาน

            ยิ่งเราไถหน้าฟีดไปเรื่อย ๆ ชีวิตของเราก็ยิ่งว่างเปล่า การเห็นภาพคนกำลังมีความสุข สุนัขวิ่งเล่นอย่างมีความสุข ชีวิตที่ธรรมดาดูเหมือนไม่ต้องวิ่งไล่ตามอะไรทั้งนั้น คนรวย สินค้า ฯลฯ เหมือนกับที่อาจารย์สรวิศ ชัยนาม ผู้เขียนหนังสือชื่อ เมื่อโลกซึมเศร้า ได้ยกการอธิบายของ มาร์คัส กิลรอย-แวร์ (Marcus Gilroy-Ware) ที่กล่าวว่า "การเสพโซเชียลมีเดียตามแรงกดดันนั้นเกิดขึ้นจากความปรารถนาที่จะทำให้ตัวเองรู้สึกดีและเบี่ยงเบนความสนใจของตนไปจากความขุ่นหมองทางอารมณ์โดยทั่วไปและความไม่สบายใจกับเรื่องในชีวิตประจำวันภายใต้ทุนนิยมยุคปลาย"

            ด้วยเหตุที่ผมกล่าวมาทั้งหมดจึงไม่แปลกที่ใช้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียส่วนใหญ่จะรู้สึกแย่กว่าเดิมหลังจากที่เล่นมันไปสักพัก มันเหมือนกับการที่เขาพยายามจะถมหลุมแห่งชีวิตให้เต็ม หลายคนเล่าชีวิตที่น่าอิจฉา น่าดึงดูด การโพสต์กราฟหุ้น เงินดิจิตอลต่าง ๆ แล้วเราเองหลายครั้งก็อยากจะโพสต์แบบนั้นลงไปบ้างเช่นกัน แต่มันกลับทำให้เราขุดหลุมนั้นลึกลงไปกว่าเดิม ทุกครั้งที่เราแสดงความคิดเห็นบางอย่าง เราจะต้องการให้คนกดไลก์และคอมเม้นต์เชิงบวกมากขึ้น ซึ่งต่อให้มันมากเท่าไหร่เราก็ไม่พอใจ 

            เหตุผลก็คือยิ่งเราพยายามสะสมความพึงพอใจให้กับตัวเองไปเรื่อย ๆ มันก็ทำให้เรารู้สึกทุกข์ไปเรื่อย ๆ เพราะความสุขที่เราคว้ามันเอามาได้แล้ว มันก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกสุขอะไรขนาดนั้น แดเนียล กิลเบิร์ต (Daniel Gilbert) และทิโมธี วิลสัน (Timothy Wilson) เรียกสิ่งนี้ว่าความปรารถนาที่ผิดพลาด (Miswanting) เป็นการอธิบายถึงการตัดสินใจอันย่ำแย่ซึ่งเป็นผลมาจากความผิดพลาดของการคาดการณ์อารมณ์ความรู้สึก

            มันคือภาพลวงตาลวงตาที่ว่าด้วยการจดจ่อ หรือจุดรวมแสงในทัศนะของ แดเนียล กิลเบิร์ต และทิโมธี วิลสัน เป็นแหล่งที่มาสำคัญของความปรารถนาที่ผิดพลาด โดยทำให้ผู้คนมีแนวโน้มที่จะประเมินอย่างเกินจริงว่าสิ่งที่ของที่ซื้อมาหรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปสามารถส่งผลกระทบต่อความสุขในอนาคตของเราได้ 

เราคาดหวังกับสิ่งของที่เราทุ่มเทซื้อมันมาอย่างสูง สุดท้ายความสุขที่เกิดขึ้นมันก็หายวับไปอย่างรวดเร็ว แล้วเราก็จะกลับมาอยู่ในสภาวะทุกข์เหมือนเดิม ที่น่าตลกก็คือแม้ว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ 

การดำรงชีวิตควรประกอบไปด้วยทุกข์และสุข

            ตั้งแต่เริ่มต้นบทความผมนำเสนอว่าสังคมบีบให้เรารู้สึกเป็นทุกข์และซึมเศร้าได้อย่างไร ตั้งแต่การปฏิวัติทางเทคโนโลยีในยุคต่าง ๆ ทำให้เกิดการฉีดขาดทางเศรษฐกิจ คนรวยเพียงหยิบมือมากขึ้น ขณะที่คนจนมีมากมายมหาศาล ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการโชว์ อวด อยากนำเสนอ และการอยากได้อยากมี อันเนื่องมาจากสัญชาตญาณภายในตัวเรา ซึ่งถูกเสริมแรงด้วยโชเซียลมีเดียต่าง ๆ มากมาย พฤติกรรมเหล่านี้กระตุ้นให้เราเกิดความรู้สึกสิ้นหวังกับชีวิตมากขึ้น 

            ยิ่งไปกว่านั้นเวลาที่ได้เราพยายามเพื่อจะได้สิ่งของเหล่านั้น ความสุขที่เราได้มันมาเพียงชั่วครู่กลับจากหายไปอย่างรวดเร็ว ตอนที่ผมซื้อ Macbook มาใหม่ผมรู้สึกมีความสุขมากตอนแกะกล่องแล้วใช้งานสักไม่กี่วัน หลังจากนั้นความรู้สึกของผมก็เริ่มชิน ผมเริ่มรู้สึกว่ามันเป็นแค่อุปกรณ์หนึ่งที่ช่วยงานเราได้หลายอย่าง และใช้งานได้อย่างดีในหลาย ๆ โอกาส (ยังตระหนึกถึงคุณค่ามันได้) รวมไปถึงสิ่งของหลายอย่างที่เราได้มันมา เราก็ล้วนรู้สึกเฉย ๆ ในภายหลังทั้งสิ้น

            คำถามก็คือแล้วเราควรจะดำรงชีวิตอย่างไร เพราะการที่เราอยู่เฉย ๆ ก็ทุกข์ด้วยสภาพสังคมและการแข่งขัน พอไขว่คว้าหาความสุขมันก็จางหายไปอย่างรวดเร็ว อย่างแรกเลยคือเราจะต้อง "เข้าใจและยอมรับกับความจริงข้อนี้เสียก่อน" เพราะว่าหากเราไม่เข้าใจ หรือไม่ยอมรับมัน เราก็จะดิ้นรนวิ่งวนไปกลับความจริงเหล่านี้จนเมื่อรู้ตัวอีกทีมันก็ทำให้เราเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งจะดึงตัวเองกลับมายากกว่าเดิมหลายเท่าด้วยสารสื่อประสาทที่ทำงานผิดปกติไปแล้ว

การเข้าใจและยอมรับจะช่วยให้เราตระหนักถึงความเป็นจริงนั้น ๆ และทำให้เรามองเห็นมันอยู่ตลอดจนมันกลายเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป ยกตัวอย่างเมื่อเรายังเด็ก เราตื่นตาตื่นใจกับโลกใบนี้อย่างมาก สุดท้ายเราก็เข้าใจว่าสิ่งนั้นคืออะไรและยอมรับว่ามันก็เป็นเรื่องธรรมดา กระบวนการนี้มันจะต้องเกิดขึ้นไปตลอดชีวิต เราจะต้องเข้าใจว่าความทุกข์เป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมหรือสังคมในปัจจุบัน แล้วยอมรับกับความจริงข้อนี้ เมื่อเราสามารถเข้าใจและยอมรับก็จะสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติดังกล่าวได้อย่างดี

            ต่อจากนั้นเราจะต้องหัดไขว่คว้าความสุขให้เป็น แต่ละคนจะมีความชอบที่แตกต่างกันไป บางคนชอบเทคโนโลยี บางคนชอบภาพวาด บางคนชอบเล่นเกม บางคนชอบเล่นดนตรี เพียงแต่ว่าจะต้องทำให้ความสุขเหล่านั้นเกิดขึ้นหลาย ๆ ครั้ง ยกตัวอย่างเช่น เราชอบเทคโนโลยีมาก หากเราเก็บเงินซื้ออุปกรณ์ทางเทคโนโลยีที่มีราคาสูง เราจะได้รับความสุขเพียงชั่วเวลาเดียวเท่านั้น แลกกับการที่เราอยู่ในสภาวะทุกข์ (ปกติ) มาเป็นเวลานาน

            ในทางกลับกันเราสามารถซอยย่อยสิ่งของใหญ่โตนั้น ให้เป็นหนึ่งชิ้นต่อสองเดือนหรือหนึ่งชิ้นต่อหนึ่งเดือนได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของที่มีราคาแพง เพียงแค่นี้เราก็จะสามารถมีความสุขได้หลาย ๆ ครั้ง เช่นเดียวกับการรับประทานอาหาร แม้ความสุขด้านประสบการณ์อย่างการไปเที่ยวหรือการรับประทานอาหารในที่แปลก ๆ ใหม่ ๆ จะคงอยู่นาน แต่มันก็ไม่ถาวรอยู่ดี ดังนั้นเราสามารถซอยย่อยมื้ออาหารแห่งความสุขให้เกิดขึ้นหลายครั้งได้

            การซอยย่อยจำนวนครั้งความสุขมีข้อระวังอยู่ นั้นคือต้องระวังไม่ให้บ่อยเกิน เช่น หนึ่งครั้งต่อหนึ่งสัปดาห์ เพราะมันจะทำให้กลายเป็นเรื่องธรรมดาไป และก็ไม่ควรเกินสองเดือนเพราะมันจะนานเกินไป ยกเว้นเราจะไคว่คว้าความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้างแล้วสะสมเงินไว้ซื้อของราคาแพงก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน หลักใหญ่ใจความก็คือเราจะต้องสร้างความสุขให้เกิดขึ้นบ้างในสภาวะปัจจุบัน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างสุขและทุกข์

            ข้อสุดท้ายคือการปรับกรอบความคิด ให้เรามองสิ่งต่าง ๆ ในเชิงบวก ผมไม่อยากใช้ข้อนี้เป็นข้อแรก ๆ เพราะหลายคนที่ปรับกรอบความคิด มักจะปรับจนเวอร์เกินไป ยกตัวอย่างเช่น ฝนตกขณะรีบกลับบ้าน บางคนมองว่าสวรรค์อยากจะทดสอบอารมณ์ของเรา หรือ ฟ้าส่งฝนลงมาให้เราเย็นฉ่ำ เราไม่ควรจะไปถึงขั้นนี้ เพราะในความเป็นจริงฝนที่ตกลงมามันทำให้เรากลับบ้านช้า ทำให้คนค้าขายลำบาก ทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้น การที่เรา "มองในแง่ดีจนเวอร์" จะค่อย ๆ ปรับโครงสร้างความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลให้เสียหายทีละนิด 

            เราควรจะปรับกรอบความคิดให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ผมยกตัวอย่างในกรณีฝนตกอีกครั้งหนึ่ง เราสามารถปรับกรอบความคิดประมาณว่า "ฝนตกหรอ ชั้งมันอย่างน้อยก็เย็นดี" หรือ "งั้นเปลี่ยนแผนหาร้านกาแฟดื่มแล้วทำงานรอก็ได้" การปรับกรอบดังกล่าวยังคงอยู่ในความเป็นจริง และไม่ทำให้เราทนทุกข์มากเกินไป โดยเราสามารถใช้กระบวนการนี้ได้หลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่เราล้มเหลว เราสามารถปรับความคิดว่า "ความล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมดา" หรือ "มันเป็นการเรียนรู้" ได้ เช่นเดียวกับความผิดพลาดก็ใช้ได้ในรูปแบบเดียวกัน

            ยกตัวอย่างอีกกรณีที่เกิดขึ้นบ่อยกับใครหลายคน เวลสที่เราอกหักเราสามารถมองมันได้ว่า "อย่างน้อยเรามีเพื่อน และมีครอบครัวที่รักเรา" หรือ "สิ่งไหนที่มันเข้ากันไม่ได้ จากกันก็ดีกว่าฝืนต่อไป" อย่าลืมว่าเราไม่ควรจะปรับให้หลุดลอยออกจากความจริง มันอาจจะเป็นเรื่องยากแต่เราต้องเรียนรู้ต่อไป อย่างไรก็ตามการปรับกรอบความคิดไม่ได้ช่วยให้ความทุกข์หายไป แต่มันช่วยให้บรรเทาความทุกข์นั้นลดน้อยลง แต่อย่าลืมเราจะต้องทำทั้ง 3 อย่าง ประกอบไปด้วย 

            1) การเข้าใจและยอมรับ โดยเข้าใจและยอมรับว่าสังคมในปัจจุบันมันขัดแย้งกับธรรมชาติในตัวเรา มันทำให้เราเป็นทุกข์และซึมเศร้า 

            2) การซอยย่อยความสุข เป็นการแบ่งความสุขออกเป็นหลายคำ เพื่อให้กินได้บ่อย ๆ ซึ่งเราไม่ควรจะแบ่งมันเล็กหรือใหญ่เกินไป เราควรจะแบ่งให้พอดี ๆ

            3) การปรับกรอบความคิด เป็นการปรับวิธีการมองต่อเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นให้เป็นไปในเชิงบวก โดยต้องระวังไม่ให้หลุดจากความเป็นจริงหรือหลอกตัวเอง

            สามกระบวนนี้จะช่วยให้เราอยู่ในโลกใบนี้และสร้างสมดุลระหว่างทุกข์และสุขได้ อีกทั้งยังทำให้เรารักษาสภาพจิตใจและตัวตนให้คงอยู่ได้ตลอดไป อย่าลืมว่าความทุกข์ ความไม่สบายใจ และความเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะจากสภาพสังคม จากการกระทำของผู้คนมากมาย หรือจากตัวเราตีความมันออกมาเป็นความทุกข์ด้วยตัวเองก็ตาม 

"มันจึงเป็นไปได้ที่เราจะนอนล้มลงร้องไห้บ้างในบางเวลา 
แต่เราก็ต้องลุกขึ้นมาแล้วยิ้มไปกับขนมที่แสนอร่อยบ้าง"

อ้างอิง

Harari, N. Y. (2015). Sapiens a Brief History of Humankind NY: Harper.

Harari, N. Y. (2018). 21 Lessons for the 21st Century. NY: Random House.

Kahneman, D. (2013). Thinking Fast and Slow. NY: Farrar, Straus and Giroux.

สรวิศ ชัยนาม. (2562). เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์. กรุงเทพฯ: อิลลูมิเนชั่นส์.

คาลอส บุญสุภา. (2564). ทำอย่างไรถึงจะมีชีวิตอย่างมีความสุข (Happiness at Life). https://sircr.blogspot.com/2021/09/happiness-at-life.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology). https://sircr.blogspot.com/2021/06/positive-psychology.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). ความทุกข์จากการพยายามเปรียบเทียบกับผู้อื่น (Social Comparison Bias). https://sircr.blogspot.com/2021/07/social-comparison-bias.html

ความคิดเห็น