การทำงาน สามารถบีบให้เราเป็นทุกข์และซึมเศร้า ได้มากกว่าที่เราคิด

ผลจากการพักผ่อนน้อยลง ทำงานมากขึ้น 
ได้รับความกดดันมากขึ้น 
ทำให้สุขภาพจิตค่อย ๆ แย่ลงไปเรื่อย ๆ 

            โลกของเราในปัจจุบันมีระบบเศรษฐกิจที่เป็นทุนนิยม เป็นระบบที่พึ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ร้อยปีเท่านั้น แม้จะมีบางประเทศที่ปกครองที่ระบอบคอมมิวนิสต์บ้าง เผด็จการบ้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประเทศนั้น ๆ ก็มีกลุ่มทุน มีคนได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์มากมายเช่นเดียวกัน ทุกวันนี้ยังมีข้อถกเถียงมากมายเกี่ยวกับระบบนี้ว่ามันมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ มีข้อเปรียบเทียบกับระบบอื่น ๆ มากมาย ยกตัวอย่างเช่น สังคมนิยม แต่สุดท้ายแนวโน้มของโลกปัจจุบันก็ยังคงดำเนินไปตามระบอบทุนนิยม

            แน่นอนว่าทุนนิยมมีคนได้เปรียบและเสียเปรียบมากมาย คนที่รวยยิ่งรวยมากขึ้น คนจนก็ยิ่งจนลง ทำให้นึกถึงคำพูดของ อดัม สมิธ ที่กล่าว่า "ความละโมบคือสิ่งดี การร่ำรวยขึ้นของคนคนหนึ่งให้ประโยชน์กับคนอื่น ๆ ทุกคนด้วย" แม้ว่ามองในมุมอุดมคติแล้ว คนที่ทำธุรกิจก็จะจ้างงานผู้อื่น มีการเสียภาษีเพื่อพัฒนาประเทศชาติซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคนยากจนด้วย แต่ถ้ากลไกดังกล่าวมันไม่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง อย่างเป็นระบบ มันก็จะยิ่งค่อย ๆ ทำให้เกิดการฉีดขาดทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้นจนเกิดความเลื่อมล้ำ

            ยกตัวอย่างเช่น คนที่ความร่ำรวยหน่อยก็สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและทรัพยากรที่จะทำพวกเขาร่ำรายอย่างมหาศาลมากขึ้น ในขณะที่คนยากจนไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีหรือทรัพยากรแบบคนร่ำรวยได้ ทำให้ปัจจุบันคนรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นเป็นเจ้าของความมั่งคั่งครึ่งหนึ่งของทั้งโลก ที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือคนรวยที่สุด 100 คน เป็นเจ้าของสินทรัพย์มากคนจนที่สุด 4 พันล้านคนรวมกัน ซึ่งทำให้สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงมากขึ้นไปอีก

            หากไม่มีรัฐมาคอยแทรกแซงการผูกขาด หรือการให้สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานแก่ประชาชนทุกคน ประเทศนั้น ๆ จะเข้าสู่ความเหลื่อมล้ำดังที่กล่าวมา ซึ่งจะค่อย ๆ กัดเซาะทำลายสังคมให้ย่อยยับไปเรื่อย ๆ ยิ่งมีการแทรกแซงทางเทคโนโลยี (Technology Disruption) ที่บริษัทใหม่ ๆ สามารถใช้เทคโนโลยีมาทดแทนคน ทำให้คนรวยยิ่งรวยมากขึ้น และคนจนยิ่งจนลงมากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ อีกทั้งยังทำให้เกิดการแข่งขันทางด้านธุรกิจที่ดุเดือดมากขึ้น

            สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทมากมายปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความย่ำแย่ ไม่เป็นธรรม บีบให้พนักงานรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถจะมีปากมีเสียงได้ ตัวพนักงานหลายคนก็รู้สึกย่ำแย่เกินกว่าที่จะต่อต้านได้ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ มากมายทั้งการเงิน เศรษฐกิจ หรือปัญหาส่วนตัว ซึ่งภาพดังกล่าวเห็นได้ชัดมากขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่คนที่ทำงานจำนวนมากโดนบริษัทบีบด้วยข้ออ้างต่าง ๆ ไม่ว่าจะต้องลดเงินเดือน หรือการให้ออกอย่างไม่เป็นธรรม บทความนี้ผมจึงอยากนำเสนอว่า การทำงานสามารถบีบให้เราเป็นทุกข์และซึมเศร้าได้อย่างไรบ้าง

การทำงานบีบให้เราเป็นทุกข์และซึมเศร้า

            ในหนังสือเมื่อโลกซึมเศร้า ผู้เขียน อาจารย์สรวิศ ชัยนาม ได้ยกตัวอย่างปัญหาสุขภาพของประชาชนในสหราชอาณาจักร ช่วงปี 2017-2018 โดยพบว่าสุขภาพมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องงานถึง 1.4 ล้านกรณีด้วยกัน ซึ่ง 600,000 กรณีเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเครียด ความวิตกกังวลและโรคซึมเศร้า จึงไม่แปลกเลยปัญหาสุขภาพจิตจำนวนมากจึงเกี่ยวข้องกับหน้าที่การงาน อาจารย์สรสวิศยังได้กล่าวประโยคที่คมคายที่น่าสนใจเอาไว้อีกว่า

เราไม่ได้เกลียดวันจันทร์เพราะมันเป็นธรรมชาติของทุกคน แต่เราเกลียดวันจันทร์เพราะงานมันห่วยแตก

            คนส่วนใหญ่มีคนหลายคนที่กำลังประสบกับความอับอาย รู้สึกถูกกัดกร่อนทางจิตใจ เครียด และหมดแรงจากการทำงาน จนเข้าสู่ภาวะหมดไฟ (Burn out) ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของคนทำงานในปัจจุบัน (ไม่นับรวมออฟฟิศซินโดรม) อาการหมดไฟไม่เพียงแต่เกิดมาจากการทำงานหนัก แต่เกิดมาจากการรู้สึกไม่มีค่า รู้สึกหมดกำลังใจในการทำงาน นอกจากนั้นยังเกิดมาจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษในที่ทำงาน (Toxic Relationship) ด้วย

            ผู้ที่มักจะก่อให้เกิดบรรยากาศการทำงานที่เป็นพิษ หรือบรรยากาศที่แย่ ๆ จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับสิ่งที่ โรเบิร์ต ซัตตัน (Robert Sutton) ผู้เขียนหนังสือชื่อ The Asshole Survival Guide ซัตตันได้อธิบาย "คนเฮงซวย" เอาไว้ว่า เป็นคนที่หยาบคาย ช่างเย้ยหยัน และดูถูกคนอื่น ทำให้รู้สึกคับแค้น ต่ำต้อย ไร้เกียรติ หรือหมดพลัง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ยังทำให้สิทธิภาพในการทำงานลดลง ไม่ว่าจะเป็นทักษะการตัดสินใจ การสร้างงาน ความคิดสร้างสรรค์ และความกระตือรือร้น 

            นอกจากนั้นแล้วการหมดไฟ ความทุกข์ และซึมเศร้า ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากการพยายามค้นหาความหลงใหล (Passion) คำคำนี้เป็นเพียงแค่ถ้อยคำสวยหรู เป็นค่านิยมของคนทำงานที่มีส่วนในการปลูกฝังวัฒนธรรมที่ส่งเสริมการทำงานหนักจนเกินไป โดยอ้างว่าทุกอย่างที่ทำไปก็เพื่อค้นหาตัวเอง เติมเต็มตัวเอง พัฒนาตัวเอง แข่งขันกับตัวเองและอื่น ๆ อีกมากมายที่สร้างความกดดันมหาศาลและสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ให้กับตัวเอง

            หลายคนโดยเฉพาะในประเทศไทยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยให้สามารถค้นหาความหลงใหล หรือแม้กระทั่งค้นหาตนเองได้เลย ลองนึกสภาพครอบครัวที่ยากจนถึงขนาดที่จะต้องอดมื้อกินมื้อ ต้องอยู่แบบวันต่อไปวัน ถึงแม้ว่าโดยส่วนมากสังคมประเทศเราจะมีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ได้แย่อย่างที่ผมกล่าว แต่สภาพที่ต้องใช้ชีวิตแบบวันต่อวันก็มีจำนวนมากในประเทศไทย แน่นอนว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในตัวเองอยู่แล้ว แต่การที่ต้องเผชิญสภาพแวดล้อมดังกล่าวก็ทำให้เด็ก หรือวัยรุ่นไม่ได้คิดถึงเรื่องอนาคต หรือไม่ได้วางแผนของตัวเอง เพราะต้องดิ้นรนเอาตัวให้รอดก่อน

            ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศที่เจริญแล้วจะมีครอบครัวโดยส่วนมากเป็นชนชั้นกลาง แต่เยาวชนส่วนมากก็หาความหลงใหลไม่เจอ วิลเลี่ยม เดมอน (Willim Damon) ผู้อำนวยการศูนย์ดูแลเยาวชนแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford Center on Adolescence) พบว่า มีวัยรุ่นเพียง 1 ใน 5 ที่มีอายุระหว่าง 12 - 26 ปีที่รู้ว่าตัวเองอยากจะมุ่งไปทางไหน ต้องการอะไรในชีวิต และเหตุใดจึงต้องการสิ่งนั้น และไม่ใช่เพียงแค่วัยรุ่นเท่านั้น บิล เบอร์เนทท์ (Bill Burnett) และ เดฟ อีแวนส์ (Dave Evans) อาจารย์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ยังพบว่า 80% ของคนทุกวัยไม่รู้ว่าตัวเองหลงใหล ใฝ่ฝันถึงสิ่งใด

            ยิ่งในปัจจุบันเข้าสู่ยุคสมัยปัจจุบันเป็นยุคที่ทุกอย่างเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น องค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี (Digital Transformation) ซึ่งหมายถึงการนำเทคโนโลยีและกลยุทธ์ทางดิจิทัลเข้ามาใช้ในการวางรากฐาน เป้าหมาย การดำเนินธุรกิจ การบริหารบุคคลและหล่อหลอมวัฒนธรรมองค์กร ทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องการให้พนักงานพัฒนาทักษะที่มีอยู่เดิม (Up-skill) และเพิ่มทักษะใหม่ (Re-skill) ซึ่งการปรับตัวนั้นทำให้พนักงานแต่ละคนต้องอยู่ในสภาวะที่ไม่มั่นคงแบบสุด ๆ 

            พนักงานทุกคนต่างต้องปรับตัวโดยการค้นหาความหลงใหล (Passion) พัฒนาทักษะที่มีอยู่เดิม (Up-skill) และเพิ่มทักษะใหม่ (Re-skill) ยิ่งไปกว่านั้นด้วยการแข่งขันของแต่ละบริษัทและการต้องปรับตัวให้อยู่รอด ทำให้พนักงานได้รับความกดดันในด้านจิตใจอื่น ๆ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เขาต้องทำงานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในที่ทำงานมากขึ้น หรือทำงานที่บ้านมากขึ้น 

            ซ้ำร้ายไปกว่านั้นพนักงานหลายคนในปัจจุบันคิดเรื่องงานอยู่ในหัวแทบจะตลอดเวลา ทำให้มีเวลาในการพักผ่อนน้อยลง จึงเกิดวิธีการทำงานและการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ขึ้นมา ที่หลาย ๆ คนเรียกกันว่า Work-Life Integration คือแนวคิดการทำงานที่หลอมรวมระหว่างชีวิตส่วนตัว กับชีวิตการทำงานเข้าด้วยกัน เพราะบริษัทส่วนใหญ่จะขาดผลประโยชน์ทันทีหากพนักงานมีสัดส่วนในการพักผ่อนและการทำงานที่สมดุลแบบดั่งเดิมที่เรียกว่า Work-Life Balance 

            เราแทบทุกคนมักจะเช็กข้อความทางโดย Social Media หรือ Email ตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมา เพื่อไม่ให้พลาดอะไรทั้งสิ้น กลายเป็นว่าเรายิ่งมีเวลาพักผ่อนน้อยลงกว่าเดิม ซึ่งผลจากการพักผ่อนน้อยลงและทำงานมากขึ้น ได้รับความกดดันมากขึ้น ยิ่งทำให้สุขภาพจิตค่อย ๆ แย่ลงไปเรื่อย ๆ นอกจากนั้นสิ่งที่ย้อนแย้งก็คือหลายองค์กรมีการอบรมดูแลสุขภาพจิต หรือมีบริการด้านสุขภาพจิตต่าง ๆ มากมาย แต่พวกเขากลับมีหรือพยายามให้มีวัฒนธรรมองค์กรที่เร่งการแข่งขันสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ 

            การทำงานหนักเกินไปเป็นอาการของความวิตกกังวลและความรู้สึกไม่มั่นคง เรากลัวว่าคนอื่นจะมองเราไม่กระตือรือร้นซึ่งอาจจะทำให้เราเสียงานไปเลยก็ได้ เพราะเรามักจะคิดไปว่า "เราอยู่ในการแข่งขันที่ไม่มีวันจบสิ้น" มีแต่คนที่อ่อนแอเท่านั้นที่ไม่รู้จักพัฒนาตัวเอง เราต้องมีความหลงใหล ถ้ารักชอบสิ่งไหนก็จะอยู่ในสภาวะลื่นไหล" (Flow) ทำให้เราจะเป็นเหมือนหนึ่งเดียวกับเสียงดนตรี โลกทั้งใบจะเหมือนกับหยุดหมุน หลายคนเรียกว่า "สภาะท็อปฟอร์ม" (Being in the Zone) 

            ระบบทุกอย่างบีบให้เราคิดว่าถ้าเราไม่ได้พยายามให้มากพอ ไม่รู้จักเรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีต ไม่พัฒนาตัวเอง ไม่ทำตามคนที่ประสบความสำเร็จ ไม่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ เราก็จะต้องตกเป็นผู้แพ้หรือต้องเผชิญกับความล้มเหลว ทั้งหมดนี้มันชั่งไม่ยุติธรรมเสียจริง ๆ เรามักจะยกย่องผู้ชนะ แทนที่จะสนับสนุนผู้แพ้ให้ลุกขึ้นมามีความสุขในสังคมได้ เพราะเมื่อเราอยู่ในระบอบทุนนิยมมันเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะชนะเท่ากันทั้งหมด มันจำเป็นต้องมีผู้ชนะกลุ่มหนึ่งพร้อมกับมีผู้แพ้จำนวนมาก นั้นคือความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

            เราคิดว่ามันมีแต่เส้นทางนี้เท่านั้นที่ควรจะตั้งเป็นเป้าหมายในชีวิตของเรา เรามักคิดว่าหากเราไม่วิ่งตามเส้นทางนี้เราก็จะเป็นผู้แพ้ ซึ่งคนที่ถอดใจกับเส้นทางดังกล่าวก็จะเกิดความรู้สึกทุกข์ใจ ซึมเศร้า ส่วนคนที่เดินในเส้นทางดังกล่าวแล้วแพ้ก็จะเกิดผลในรูปแบบเดียวกันนั้นคือ ทุกข์ใจและซึมเศร้า มีเพียงผู้ชนะเท่านั้นที่เขียนหนังสือขายดีมากมาย และได้รางวัลตอบแทนจากสังคม มีชีวิตที่มีความสุข และยืนเด่นบนหน้าประวัติศาสตร์ ในขณะที่ผู้แพ้ (ซึ่งไม่มีใครสมควรแพ้) ต้องล้มลง นอกจากนั้นบางคนอาจรู้สึกหมดอาลัยตายอยากเสียด้วยซ้ำ

ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน

สรุป

            คนจำนวนมากในปัจจุบันกำลังประสบกับความอับอาย รู้สึกถูกกัดกร่อนทางจิตใจ เครียด เป็นทุกข์ ซึมเศร้า และหมดแรงจากการทำงาน จนเข้าสู่ภาวะหมดไฟ (Burn out) ด้วยการกดดันจากหลายทางไม่ว่าจะเป็นทั้งสังคม และบริษัทต่างทำให้พนักงานต้องเร่งพัฒนาตัวเอง พัฒนาทักษะที่มีอยู่เดิม (Up-skill) และเพิ่มทักษะใหม่ (Re-skill) ค้นหาความหลงใหล (Passion) เพื่อที่จะมีความสุขในการทำงาน ทั้งหมดนั้นทำให้เกิดผู้ชนะซึ่งจะประสบความสำเร็จในการทำงาน และเกิดผู้แพ้ที่ต้องประสบความรู้สึกทุกข์ใจ และซึมเศร้าต่อไป

            นั้นคือความจริงที่เกิดขึ้น คำถามก็คือ เราต้องการสังคมแบบนี้จริงหรือ รัฐควรจะเข้าไปแทรกแซง สนับสนุนเพื่อให้คนแข่งขันหรือดำเนินชีวิตอย่างเป็นธรรม สร้างความเท่าเทียม การเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ ได้ดีขึ้นหรือไม่ และบริษัทต่าง ๆ ต้องใส่ใจพนักงานอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่ลมปาก แต่สุดท้ายขยี้พนักงานจนซึมเศร้า เบื่องาน วิตกกังวล หมดไฟ จนเขาลาออก หรือเลวร้ายกว่านั้นคือโดนไล่ออกเอง ซึ่งบริษัทเหล่านั้นก็จะพูดสวย ๆ หล่อ ๆ ว่า 

"เพราะพวกเขาเข้ากับวัฒนธรรมของเราไม่ได้" หรือ "เคมีไม่เข้ากัน"

            แน่อนอนว่ามีบางประเทศที่รัฐบาลใส่ใจประชาชน แล้วพยายามให้สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานกับประชาชน เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียม อีกทั้งยังมีบางบริษัทที่ใส่ใจกับพนักงานอย่างแท้จริง ไม่ได้สร้างความกดดันมากเกินไป เน้นการดูแลจิตใจพนักงาน ถามความต้องการ ให้ทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเพื่อช่วยเหลือพนักงานให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสุขกับชีวิตได้มากขึ้น 

            หัวใจหลักของบทความนี้ต้องการให้ผู้อ่านตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ตระหนักในคุณค่าของตัวเอง และสิ่งที่สังคมควรจะเป็น แม้เราจะเปลี่ยนแปลงระบอบไม่ได้ก็จริง แต่เราสามารถพัฒนาปรับปรุง "แก้บัคของระบบ" ไปเรื่อย ๆ ได้ กล่าวคือ เราสามารถสนับสนุนคุณภาพชีวิตของคนทุกคนให้ดีมากยิ่งขึ้น โดยการใช้กลไกของรัฐ การใช้กลไกประชาสังคม และกลไกอื่น ๆ มากมายที่เราสามารถร่วมมือพัฒนาให้เกิดขึ้นได้ สายพันธ์ของเราอยู่รอดได้ด้วยกันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน 

คงถึงเวลาแล้วแหละที่เราจะตระหนักว่า 
จิตใจของเราทุกคนมีค่าเกินกว่าจะให้มันถูกทำร้าย 
ไปเรื่อย ๆ อย่างน่าสงสารเช่นนี้

อ้างอิง

Burnett, B & Evans, D. (2016). Designing Your Life: How to Build a Well-Lived, Joyful Life. NY: Knopf.

Harari, Y. (2018). 21 Lessons for the 21st Century. NY: Random House.

สรวิศ ชัยนาม. (2562). เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์. กรุงเทพฯ: อิลลูมิเนชั่นส์.

คาลอส บุญสุภา. (2564). ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำร้ายสุขภาพจิตของเราอย่างคาดไม่ถึง. https://sircr.blogspot.com/2021/12/blog-post.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). สังคมกำลังบีบให้เราเป็นทุกข์และซึมเศร้าโดยอัตโนมัติ. https://sircr.blogspot.com/2021/11/blog-post_28.html

ความคิดเห็น