จิตวิทยาความรัก (Psychology of love) Friend Zone และของตาย

เวลาที่เรารักใครสักคนแทบตาย 
เขามักจะไม่ค่อยสนใจเราเท่ากับอีกคนหนึ่ง 
ที่ผีเข้าผีออก ดีบ้างไม่ดีบ้าง

            ผมเชื่อว่าหลายคนมีความทรงจำที่ดีเกี่ยวกับความรัก ผมเองก็เช่นเดียวกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยที่มีบางช่วงเวลาในอดีต พวกเราทุกคนต่างก็เคยเผชิญกับความผิดหวังด้านความรัก หลายคนเคยอกหัก หลายคนตกหลุมรักคนที่ตัวเองไม่ควรจะรัก จนอาจจะต้องอยู่ในสภาพที่ไม่อยากนึกถึงเป็นเวลานาน ความรักจึงเป็นทั้งความสุขและก็ความเจ็บปวด ซึ่งหากพูดถึงความเจ็บปวดจากความรัก คงหนีไม่พ้น 2 คำที่ได้รับความนิยมอย่างมากจนถึงขนาดนำไปสร้างเป็นภาพยนต์มาแล้ว นั่นคือ Friend Zone และ ของตาย

            ทั้งสองคำมีความหมายที่แตกต่างกัน และก็มีความสอดคล้องกันอยู่บ้างเช่นเดียวกัน Friend Zone คือ เพื่อนที่แอบรักเพื่อน ซึ่งไม่สามารถก้าวข้ามความสัมพันธ์แบบเพื่อนไปสู่คนรักได้ ทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัด ทำตัวไม่ถูก มีทั้งความสุขและก็ทุกข์ในเวลาเดียวกัน (ส่วนใหญ่จะทุกข์) ส่วนของตายหมายถึง คนที่รักใครสักคนมากจนยอมทุกอย่าง ตามใจทุกอย่าง ทำให้อีกฝ่ายไม่รู้สึกถึงความตื่นเต้นเท่าที่ควร เขาจึงประเมินความสำคัญของคนที่เป็นของตายน้อยไปและอาจจะปันใจไปให้คนอื่นมากกว่า

            Friend Zone และของตาย จึงแตกต่างกันที่สถานะ เพื่อนกับคนรัก แต่ในขณะเดียวกันทั้งสองอย่างก็เหมือนกันในรูปแบบของการเป็นคนที่อีกฝ่ายไม่ได้ให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง แน่นอนว่าเพื่อนบางคนอาจจะได้รับความสำคัญมาก ๆ แต่ก็ไม่ใช้คนรักอยู่ดี ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วคนที่เป็นเพื่อนรักเพื่อนมักจะได้รับความสำคัญรองจากคนรักอยู่แล้ว ดังนั้นทั้งสองอย่างนี้จึงเหมือนกันในแง่ของความสำคัญและความน่าสนใจที่เป็นรอง เราจึงเรียกพวกเขาเหล่านี้ว่า "พระรอง"

            ความรู้สึกอึดอัด งงงวย สับสน ไม่เข้าใจทั้งตัวเองและอีกฝ่าย มันจึงทำให้เราเกิดความรู้สึกไม่สบายใจหรือทุกข์ขึ้นมา บางคนอาจจะหมดความสนใจหลายสิ่งหลายอย่าง บางคนแม้ว่าจะผ่านมาค่อนข้างนานแค่ก็เป็นความทรงจำที่ไม่อยากนึกถึง บทความนี้ผมจึงนำหลักจิตวิทยามาอธิบายรูปแบบของความสัมพันธ์ Friend Zone และของตาย ว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจทั้งตัวเองและอีกฝ่ายมากขึ้น อย่างไรก็ตามผมคงไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้จึงอาจจะอธิบายข้อมูลได้ไม่ครบถ้วน หรืออาจไม่สามารถให้ข้อเสนอแนะที่เป็นทางออกชัดเจนให้ได้

เพราะมันขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่าจะหลุดออกมาและจะก้าวต่อไปได้อย่างไร

ความสัมพันธ์แบบ Friend Zone และของตาย (พระรอง)

            อย่างที่เกริ่นนำไปแล้ว ความสัมพันธ์แบบ Friend Zone และของตายมีลักษณะที่คล้ายกันหลายกรณี กล่าวคือ ทั้งสองรูปแบบความสัมพันธ์ต่างมีส่วนสำคัญในชีวิตของคนที่รัก แต่คนคนนั้นกลับไปรักคนอื่นหรือไม่ได้ "รู้สึกปิ๊ง" คล้ายกับพระรองในละครนั้นแหละครับ ด้วยเหตุผลหลายอย่าง หลายคนอาจอ้างว่า "เพราะไม่อยากเสียเพื่อน" หรือ "สำคัญมากเกินกว่าจะเสียไปได้" แต่จริง ๆ แล้วมันก็แค่เป็นความคิดเห็นเท่านั้น มันไม่ใช่ความจริงที่อยู่เบื้องหลัง เพราะข้อเท็จจริงก็คือ "ไม่สนใจเท่าที่ควร" หรือ "ไม่ได้รู้สึกปิ๊ง" นั่นแหละครับ

            มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่ใช้อารมณ์เป็นส่วนใหญ่ และใช้เหตุผลเป็นส่วนน้อย ดังนั้นพฤติกรรมหลายอย่างจึงแสดงออกตามอารมณ์ เราจึงไม่ควรไปคาดหวังเหตุผลมากนักว่าทำไม "เธอถึงรักคนนั้น" หรือ "ปิ๊งคนนี้" ซึ่งความรู้สึกปิ๊ง คือการที่เราสนใจคนคนหนึ่งมากเป็นพิเศษด้วยปัจจัยหลายอย่าง ผมอาจจะนำเสนอเพียงบางปัจจัยเท่านั้น ดังนี้

            1) ความสนใจที่มากเป็นพิเศษ มนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสนใจไม่หยุดนิ่ง เป็นผลมาจากสิ่งเร้าที่อยู่รอบ ๆ ตัวเราที่มีเป็นร้อยเป็นพันอย่าง แต่เราจะสนใจแค่เพียงสิ่งเร้าที่กระตุ้นการตอบสนองของเราได้เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ป้ายสีสวย ไฟสว่าง ๆ หรือเป็นสิ่งที่เราชอบอย่าง ผู้หญิงสวย หรือผู้ชายหล่อ ถ้าสิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราสนใจเราก็จะเลือกปล่อยมันผ่านไป ดังนั้นอะไรก็ตามที่กระตุ้นความสนใจของเราได้ ย่อมทำให้เราเกิดการตอบสนอง (รู้สึกสนใจ) 

            บางคนอาจจะชอบผู้ชายที่มีลักษณะนิสัยคล้ายพ่อของตนเอง หรือบางคนอาจจะชอบผู้หญิงที่มีลักษณะคล้ายรักแรกของเขา ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในอดีตและจิตใต้สำนึกของเขาหรือเธอ แม้เราจะเป็นเพื่อนที่ดี มีความรักที่มั่นคง คอยให้คำปรึกษาในทุกเรื่อง แต่ถ้าเขาหรือเธอไม่มีความสนใจที่มากเป็นพิเศษต่อเรา ก็เป็นเรื่องยากที่เขาหรือเธอจะให้ความสนใจและยกความสำคัญไว้เป็นลำดับต้น ๆ หรือทำให้รู้สึก "ตกหลุมรักได้"

            2) ไม่เห็นค่าจนกว่าจะเสียมันไป แม้เราจะมีความสำคัญในระดับหนึ่ง เป็นที่พึ่งทางใจ เป็นที่พักพิงในเวลาที่คนที่เรารักทุกข์ใจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอีกฝ่ายจะตระหนักถึงคุณค่าของเราอยู่ตลอดเวลา เพราะโดยส่วนใหญ่คนที่เป็น Friend Zone หรือของตาย (พระรอง) จะมีความคงเส้นคงวากับความรักเสมอทำให้กลายเป็น "ความปกติ" ของอีกฝ่ายไปโดยปริยาย แต่หากวันที่เราก้าวออกไปจากชีวิตของอีกฝ่ายได้ เขาก็จะเห็นคุณค่าอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ปัญหาก็คือการที่ Friend Zone หรือของตาย (พระรอง) มักจะรักจนยากเกินกว่าจะก้าวออกไปได้

            3) รู้สึกเสียดายหากสูญเสียไป เกิดจาก ภาวะ Endowment Effect (ภาวะหวงของ) และ ภาวะ Loss Aversion (หลีกเลี่ยงความสูญเสีย) คล้ายกับเวลาที่เราเลิกใช้ของชนิดหนึ่งไปแล้ว แต่ก็ยังเก็บรักษาเอาไว้อยู่เพราะเรารู้สึกเสียดายที่จะทิ้งมันไป จึงไม่แปลกที่หลายคนมีของเต็มบ้านไปหมดเลย ทั้ง ๆ ที่เราไม่หยิบมาใช้เสียที เป็นเพราะว่าเมื่อเรารู้สึกเป็นเจ้าของต่อสิ่งใดแล้ว เราจะเกิดความผูกพันกับสิ่งนั้น มองว่าสิ่งนั้นมีค่ามากกว่าเดิม เพื่อนบางคนที่อาจจะให้คำปรึกษาหรือเป็นที่พึ่งให้อยู่เสมอ จนทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเสียดายจนไปถึงรู้สึกผิดที่จะปฏิเสธความรักไป หลายคนจึงเลือกทำเป็นไม่รู้ไปเสียเฉย ๆ 

            4) ดีเกินไป เราอาจคุ้นกับคำว่า Nice คือคนที่ดีเกินไป จึงกระตุ้นความสนใจอีกฝ่ายได้ไม่มากพอ (คล้ายกับข้อ 1) ข้อนี้เป็นข้อที่น่าพิจารณาเป็นพิเศษเพราะมันดูไม่สมเหตุสมผลถ้าหากบางคนที่เรารักและคอยสนับสนุนเขาหรือเธออยู่เสมอ ทำไมเขาหรือเธอถึงมองข้ามไปขนาดนั้น จริง ๆ แล้วมีการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่สามารถมาประยุกต์อธิบาย ในหนังสือ Originals อดัม แกรนต์ (Adam Grant) ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ได้อธิบายว่า โดยปกติแล้วเราจะพิจารณาความสัมพันธ์ในชีวิตโดยไล่ระดับจากความสัมพันธ์เชิงบวกไปจนถึงเชิงลบ เพื่อสนิทที่คอยสนับสนุนเราอยู่ ไปจนถึงศัตรูตัวร้ายที่สุดก็คือคนที่มุ่งมั่นที่จะต่อต้านเรา 

            แต่จริง ๆ แล้วเราจำเป็นต้องประเมินความสัมพันธ์ทั้งสองแบบแยกออกจากกัน โดยดูว่าความสัมพันธ์เชิงบวกนั้นเป็นบวกมากแค่ไหน และความสัมพันธ์เชิงลบนั้นเป็นลบมากแค่ไหน  นอกจากจะมีความสัมพันธ์เชิงบวก และเชิงลบแบบเดี่ยว ๆ แล้ว ก็ยังมีความสัมพันธ์ที่เป็นทั้งเชิงบวกและเชิงลบด้วย นักจิตวิทยาเรียกสิ่งนี้ว่า "ความสัมพันธ์แบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ (Ambivalent Relationship) พวกเขาคือเพื่อนที่ชิงดีชิงเด่นกับเรา ซึ่งจะสนับสนุนเราในบางครั้งและตั้งใจทำร้ายเราในบางหน ดังภาพด้านล่าง

            ถ้าใครเป็นศัตรูที่บ่อนทำลายเราอยู่ตลอดเวลา เราควรจะเพิกเฉยต่อเขา เพราะเขาจะต่อต้านเราทุกอย่าง เราจึงไม่ควรไปเสียเวลากับคนแบบนี้ แต่ควรหันไปเสริมสร้างความสัมพันธ์กับคนที่สนับสนุนเราอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามพันธมิตรที่ดีที่สุดของเราไม่ใช่คนที่สนับสนุนเรามาโดยตลอด แต่เป็นคนที่เคยต่อต้านเราแล้วเปลี่ยนใจมาสนับสนุนเรา (บางครที่ตอนแรกอริกันแต่ตอนนี้มาสนิทด้วยกับเรา)

            ในหนังสือ Originals อดัม แกรนต์ (Adam Grant) ได้อธิบายถึง เอลเลียต แอรอนสัน (Elliot Aronson) นักจิตวิทยาผู้มีชื่อเสียง ที่ทำการทดลองชุดหนึ่งที่บอกให้รู้ว่า เรามักจะอ่อนไหวต่อการสูญเสียความเคารพนับถือมากเป็นพิเศษ เมื่อใครสักคนสนับสนุนเรามาโดยตลอด เราจะเห็นคนคนนั้นเป็นของตายและไม่ให้ความสำคัญ แต่เรากลับมองว่าคนที่เป็นคู่ปรับในตอนแรกแล้วค่อยหันมาสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นเป็นผู้สนับสนุนตัวจริง "คนที่ชื่นชอบเรามากขึ้นไปตามกาลเวลาจะเป็นที่โปรดปรานของเรามากกว่าคนที่ชื่นชอบเรามาโดยตลอด"

            แอรอนสันยังอธิบายอีกว่า "การที่ใครสักคนเคยรู้สึกกับเราในเชิงลบแล้วค่อย ๆ มีความรู้สึกเชิงบวกทีละน้อยนั้นทำให้เราอิ่มเอมใจมากกว่าการที่เขารู้สึกในเชิงบวกเสมอมา" อ่านแล้วคุ้น ๆ ไหมครับ มันเหมือนกับความสัมพันธ์ที่เป็นความรักเลย เวลาที่เรารักใครสักคนแทบตาย เขามักจะไม่ค่อยสนใจเราเท่ากับ อีกคนหนึ่งที่ผีเข้าผีออก ดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่ก่อนเคยนิสัยแย่แต่ช่วงหลังมาทำดีด้วยอะไรทำนองนี้ ในขณะที่คนดีแทบตาย สนับสนุนอย่างดีเสมอมา คงเส้นคงวา กลับกลายเป็นว่าไม่เป็นคุณค่าสะอย่างนั้น

            เรามักจะเห็นว่าอะไรที่มันง่ายเกินไปเรามักจะไม่น่าสนใจ ไม่รู้ถึงคุณค่าที่แท้จริง แต่อะไรที่ได้มายากเย็นเรากลับรู้สึกท้าทายและภูมิใจที่ได้มา ภูมิใจที่เอาชนะได้ สิ่งนี้เป็นผลจากสารสื่อประสาทโดพามีนที่จะหลั่งออกมาเวลาที่เราสามารถเอาชนะบางสิ่งบางอย่างที่ยากได้ (แต่ต้องไม่ยากจนเกินไป) ในทางกลับกันอะไรที่ง่ายจนเกินไปเราก็จะไม่สนใจเหมือนกัน หากเราสนับสนุนคนที่เรารักอยู่ตลอดเวลา อาจจะไม่ทำให้เขารู้สึกพึงพอใจเท่ากับบางคนที่แรก ๆ เราก็ไม่ชอบเท่าไหร่ หรือเขาอาจจะดูนิสัยไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่เขาดันมาชอบเรา ก็จะกระตุ้นความสนใจและความรู้ปิ๊งได้มากกว่า

ของตายหรือเพื่อนสนิทที่ยังไงก็ชอบเราอยู่แล้ว

สรุป

            ความสัมพันธ์แบบ Friend Zone และของตายมีลักษณะที่คล้ายกันหลายกรณี กล่าวคือ ทั้ง 2 รูปแบบความสัมพันธ์ต่างมีส่วนสำคัญในชีวิตของคนที่รัก แต่คนคนนั้นกลับไปชอบคนอื่นหรือไม่ได้รู้สึกปิ๊ง เหมือนกับพระรองในละครนั้นแหละครับ โดยมีเหตุผลแบ่งออกเป็น 4 ปัจจัย

            1) ความสนใจที่มากเป็นพิเศษ ถ้าสิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราสนใจเราก็จะเลือกปล่อยมันผ่านไป ดังนั้นอะไรก็ตามที่กระตุ้นความสนใจของเราได้ ย่อมทำให้เราชอบหรือรักสิ่งนั้น

            2) ไม่เห็นค่าจนกว่าจะเสียมันไป Friend Zone หรือของตาย (พระรอง) จะมีความคงเส้นคงวากับความรักเสมอทำให้กลายเป็น "ความปกติ" ของอีกฝ่ายไปโดยปริยาย แต่หากวันที่เราก้าวออกไปจากชีวิตของอีกฝ่ายได้ เขาก็จะเห็นคุณค่าอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน 

            3) รู้สึกเสียดายหากสูญเสียไป เมื่อเรารู้สึกถึงความเป็นเจ้าของต่อสิ่งใดแล้ว เราจะเกิดความผูกพันกับสิ่งนั้น มองว่าสิ่งนั้นมีค่ามากกว่าเดิม เพื่อนบางคนที่อาจจะให้คำปรึกษาหรือเป็นที่พึ่งให้อยู่เสมอ จนทำให้คนที่ชอบรู้สึกเสียดายจนไปถึงรู้สึกผิดที่จะปฏิเสธความรักไป หลายคนจึงเลือกทำเป็นไม่รู้

            4) ดีเกินไป การที่ใครสักคนเคยรู้สึกกับเราในเชิงลบแล้วค่อย ๆ มีความรู้สึกเชิงบวกทีละน้อยนั้นทำให้เราอิ่มเอมใจมากกว่าการที่เขารู้สึกในเชิงบวกเสมอมา กล่าวคือ Friend Zone หรือของตายที่ดี สนับสนุนอย่างดีเสมอมา คงเส้นคงวา กลับกลายเป็นว่าเห็นคุณค่าน้อยกว่าอีกคนหนึ่งที่ผีเข้าผีออกตลอด

            Friend Zone หรือของตาย (พระรอง) แม้จะมีความสุขบางเวลาแต่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์แห่งความไม่สมหวังด้วย หลายคนอาจอยากหลุดพ้นออกจากสภาวะนี้แต่ใจของตัวเองมันยังคงมีความหวังอยู่เสมอ จึงทำให้เรารู้สึกเหมือนอัมพาต สำหรับผมแล้วมันเป็นช่วงเวลาที่น่าเศร้าของใครหลายคน หากใครได้อ่านบทความนี้แล้วกำลังอยู่ในสภาวะดังกล่าวก็ขอให้กำลังใจในการออกจากวังวนนี้ได้เสียที หรือให้ใครที่กำลังรู้ตัวว่ามีเพื่อนที่กำลังแอบรักเราหรือคนที่เรามองว่าเขาเป็นของตาย 

ก็ขอให้พิจารณาถึงความสำคัญให้ 
หากไม่มากพอก็ควรจะต่างคนต่างไป 
จะดีต่อทั้งสองฝ่ายที่สุด

อ้างอิง

Grant, A. (2017). Originals: How Non-Conformists Move the World. NY: Penguin.

Kabasawa, S. (2018). The Power of Output: How to Change Learning to Outcome. Tokyo: Sanctuary.

ชัชพล เกียรติขจรธาดา. (2557). 500 ล้านปีของความรัก เล่ม 2. กรุงเทพฯ: ชัชพลบุ๊คส์.

คาลอส บุญสุภา. (2564). การเปลี่ยนศัตรูมาเป็นพันธมิตร. https://sircr.blogspot.com/2021/07/blog-post.html

ความคิดเห็น