กลยุทธ์ลดแรงเสียดทานเพื่อ ลดน้ำหนัก และ ควบคุมการใช้จ่าย

หากแรงผลักมากขึ้น แรงเสียดทานน้อยลง 
เราก็จะเกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์มากขึ้น

            ในยุคสมัยนี้ผมเชื่อว่าทุกคนต่างมีเป้าหมายที่มีลักษณะสอดคล้องกันอยู่หลายอย่าง แน่นอนบางคนอาจตั้งเป้าหมายที่เฉพาะจงเจาะเกี่ยวกับการทำงานหรือการเรียนของตนเอง เช่น สอนพิเศษให้ได้มากขึ้น เขียนบทความให้เยอะขึ้น ตั้งใจเรียนมากขึ้น ได้เกรดดีขึ้น ไปจนถึงประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน หรือบางคนอาจจะอยากอ่านหนังสือให้ได้มากขึ้น ดูซีรีย์น้อยลง หรือเที่ยวน้อยลง แต่ทุกคนล้วนมีเป้าหมายหลัก ๆ ที่เหมือนกันนั้นก็คือ สุขภาพ และการเงิน

            สุขภาพและการเงินเป็นคำที่มีหลายบริบทมากมาย ยกตัวอย่างการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานให้พัฒนามากขึ้นเพื่อได้ผลลัพธ์ในการประเมินที่ดีขึ้น หรือการเก็บเงินให้มากขึ้น รวมไปถึงการลดค่าใช้จ่ายให้น้อยลง เช่นเดียวกับสุขภาพก็มีหลายบริบทเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายมากขึ้น การพัฒนากล้ามเนื้อเพื่อให้แข็งแรงและมีรูปร่างที่สวยงามมากขึ้น รวมไปถึงการลดน้ำหนัก ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นหมายดังกล่าวเป็นเป้าหมายของผู้อ่านหลายคนรวมทั้งตัวผมเองด้วย

            เมื่อก่อนผมเคยน้ำหนักประมาณ 170 กิโลกรัม (สูง 193) แต่ในปัจจุบัน (9 มี.ค. 65) น้ำหนักผมเหลือ 107 กิโลกรัม แน่นอนว่าการลดน้ำหนักมีปัจจัยมากมายไม่ว่าจะเป็นการเดินให้มากขึ้น ลดน้ำตาล ลดไขมัน ไม่กินอาหารในเวลาว่าง กินอาหารมื้อเย็นเพียงเล็กน้อย หรือทำ IF แต่กลยุทธิ์หนึ่งที่ผมทำและได้ผลสำเร็จอย่างดี และเป็นวิธีการทางจิตวิทยาที่เรียบง่ายอย่างมาก นั้นคือ "การลดแรงเสียดทาน" ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเป้าหมายอื่น ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่นเป้าหมายทางด้านการเงินที่ผมเกริ่นไว้ข้างต้น

            บทความนี้ผมจะนำเสนอกลยุทธ์ลดแรงเสียดทานเพื่อ ลดน้ำหนัก และ ควบคุมการใช้จ่ายให้น้อยลง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำไปปรับใช้กับเป้าหมายของตัวเองได้ โดยผมจะเริ่มจากการอธิบายถึงพฤติกรรที่ควบคุมได้ยากของเราทุกคน แถมยังมีการหลอกตัวเองจนน่าตกใจอีกด้วย เป็นพฤติกรรมที่ดูไร้เหตุผลซึ่งสามารถใช้วิทยาศาสตร์ จิตวิทยา และพฤติกรรมศาสตร์ มาอธิบายเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจตัวเองมากขึ้น หากพร้อมแล้วเริ่มกันเลยนะครับ

เหตุผลที่เราทุกคนควบคุมตัวเองได้ยาก

            การที่จะสามารถทำอะไรก็ตามอย่างมีประสิทธิภาพได้ จำเป็นที่จะต้องเข้าใจสิ่งนั้นให้ดีเสียก่อน ยกตัวอย่างเช่น การใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ หากเราเข้าใจมันดีพอแล้ว เราก็จะใช้มันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกัน หากเราเข้าใจตัวเองมากขึ้น ก็จะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลายคนแทบจะไม่ตระหนักถึงความเป็นจริงเกี่ยวกับตัวเอง บางคนพยายามมองข้ามตัวเองและให้ความสนใจสิ่งอื่นรอบ ๆ ตัวมากกว่า ทำให้เราดำเนินชีวิตอย่างผิดพลาดไม่มากก็น้อย

            สิ่งแรกเลยที่เราจะต้องเข้าใจเกี่ยวกับตัวเองก็คือ เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไร้เหตุผล ไม่ได้แตกต่างกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เนื่องจากมนุษย์พึ่งจะวิวัฒนาการเปลือกสมองที่เป็นส่วนของความคิด สำนึก มีสติ วิเคราะห์ มาไม่นานนี้เอง ทำให้อารมณ์หรือสัญชาตญาณซึ่งเป็นสมองส่วนที่สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตใช้เพื่อการอยู่รอด แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) นักจิตวิทยาชาวอิสราเอล-อเมริกัน ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ Thinking Fast and Slow ได้แยกระบบการทำงานของสมองออกเป็น 2 ระบบ คือ ระบบ 1 (เร็ว) ระบบ 2 (ช้า) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

            ระบบที่ 1 จะเป็นระบบที่ทำงานอย่างรวดเร็ว แต่จะเป็นการคิดแบบง่าย ๆ ใช้สัญชาตญาณ อารมณ์ ความรู้สึก (จิตใต้สำนึก) ในขณะที่ ระบบที่ 2 จะเป็นระบบที่ทำงานช้า ขี้เกียจ แต่เป็นระบบคิดแบบซับซ้อน ใช้การคิดวิเคราะห์ ไตร่ตรอง (จิตสำนึก) คาฮ์นะมัน อธิบายว่า ระบบ 1 (จิตใร้สำนึก) จะทำงานโดยอัตโนมัติ ในขณะที่ระบบ 2 (จิตสำนึก) จะอยู่ในสถานะที่ใช้ความพยายามต่ำ 

            ระบบ 1 จะมอบคำแนะนำให่แก่ระบบ 2 อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเเป็นความรู้สึก สัญชาตญาณ ความตั้งใจ หรืออารมณ์ต่าง ๆ หากระบบ 2 เห็นด้วยกับคำแนะนำนั้น ความรู้สึกกับสัญชาตญาณจะแปรเปลี่ยนไปเป็นความเชื่อ ส่วนสิ่งอื่น ๆ จะแปรเปลี่ยนเป็นการกระทำที่ควบคุมได้ หากสถานการณ์ดำเนินไปด้วยดี (ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นแบบนั้น) ระบบ 2 จะทำตามคำแนะนำของระบบ 1  

           เราดำเนินชีวิตด้วยระบบ 1 (สัญชาตญาณ อารมณ์ ความรู้สึก)ในขณะที่ระบบ 2 (การคิดวิเคราะห์ ไตร่ตรอง) เป็นส่วนที่ขี้เกียจมาก มันจะปล่อยให้ระบบ 1 จัดการและดูแลเป็นส่วนใหญ่ นั้นจึงเป็นสาเหตุให้สภาพแวดล้อมทีอิทธิพลมนุษย์เป็นอย่างมาก ต่อให้ไม่หิวแต่ด้วยความน่ากินของอาหาร กลิ่นหอม ๆ หรือความนิยมของอาหารชนิดนั้น ก็ทำให้เราไม่สนใจความหิวของตัวเองแล้วเข้าไปกินมันอย่างเอร็ด อร่อย ซ้ำร้ายไปกว่านั้น

            หากเพื่อนสนิทของเราเริ่มอ้วนเราก็มีความเสี่ยงจะอ้วนขึ้นด้วย เพราะมนุษย์เรามีสัญชาตญาณที่ชอบอาหาร หวาน มัน เค็ม เนื่องจากในอดีต สมัยที่บรรพบุรุษเป็นพรานล่าของป่า เราจะมีโอกาสได้กินค่อนข้างน้อย อาหารจำพวกหวาน มัน เค็มจะให้พลังงานได้เยอะเพื่อให้เรามีพลังงานไว้ล่าสัตว์หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ต้องใช้แรง ดังนั้นเมื่อเราเห็นเพื่อนชอบกินอาหารประเภทนี้ ก็มีแนวโน้มจะกินตามไปด้วย (เพราะเราชอบมันอยู่แล้ว)

            จะเห็นว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ควบคุมตัวเองได้ยากแค่ไหน เพียงแค่อาหารน่ากิน เพื่อนของเราเป็นพวกชอบในการกินหรือมักชวนไปรับประทานอาหารบ่อย ๆ ก็ทำให้เราเผลอตัวจนสุดท้ายน้ำหนักก็เยอะมากขึ้นตามปริมาณพลังงานของอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ยิ่งไปกว่านั้นหากเป็นของหวานที่มีน้ำตาลปริมาณสูงก็จะส่งผลให้เกิดการสะสมจนเป็นไขมัน ทำให้น้ำหนักและรูปร่างของเราขยายเพิ่มมากขึ้นไปอีก รวมไปถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่จะทำให้เราควบคุมตัวเองได้ยากเป็นทวีคูณหากดื่มเข้าไปในปริมาณมาก

            ยกตัวอย่างเช่น ทอมกำลังควบคุมน้ำหนักและตอบตกลงไปงานเลี้ยงอาคารค่ำเพื่อเจรจาธุรกิจโดยคิดว่าจะสามารถบังคับตัวเองให้ดื่มไวน์เพียงหนึ่งแก้วแล้วไม่กินของหวานได้ แต่เมื่อเจ้าภาพสั่งไวน์ขวดที่สองและบริกรเข็นรถของหวานเข้ามาให้เลือก ความแน่วแน่ที่ตั้งใจไว้ก็พังไม่เป็นท่า ก็เหมือนกับเวลาที่เราจะไปดื่มเหล้าทั้ง ๆ ที่พรุ่งนี้มีงานสำคัญนั้นแหละครับ สรุปเราก็เมาค้างไปในวันรุ่งขึ้นตามระเบียบ

            จากกรณีของทอมที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก เขาจึงไม่ควรจะนำตัวเองไปในจุดที่จะต้องดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่นเดียวกันหากเราไปเที่ยวกับเพื่อนที่ชอบตะเวนกินในสถานที่ต่าง ๆ ก็จะทำให้เราควบคุมตัวเองได้ยากที่จะไม่กินตามเพื่อน กล่าวคือในเมื่อเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ควบคุมตัวเองได้ยาก เราจะต้องไม่เอาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่จะทำให้เราอ้วนมากขึ้น เราจะต้องขจัดเงื่อนไขที่จะทำให้เรามีน้ำหนักมากขึ้น โดยการเพิ่มแรงเสียดทาน

ขจัดเงื่อนไขเพื่อเพิ่มแรงเสียดทาน

            เคิร์ต เลวิน (Kurt Lewin) นักจิตวิทยาชื่อดังในยุคแรก ๆ เชื่อว่าพฤติกรรมได้รับอิทธิพลจากพลังงาน เหมือนสิ่งของต่าง ๆ ในโลกที่ได้รับอิทธิพลจากแรงโน้มถ่วง ซึ่งเลวินเชื่อว่า บริบทหรือสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยที่สร้างพลังให้กับพฤติกรรม กล่าวคือ บริบทและสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งบริบทและสภาพแวดล้อมหมายถึง สิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ คนที่อยู่ด้วย เวลา สิ่งของ และการกระทำต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว

            กลับมาที่เรื่องราวของทอม แม้เขาจะวางแผนลดน้ำหนักอย่างตั้งใจเอาไว้ แต่การที่เขาไปงานปาร์ตี้อาหารค่ำก็เท่ากับว่าเขาพาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมหรือบริบทหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ เครื่องดื่ม ผู้คน ที่จะกระตุ้นให้เขาดื่มมากขึ้น และรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น ดังนั้นสภาพแวดล้อมที่ทอมเข้าไปอยู่จึงเป็นสภาพแวดล้อมที่มีแรงผลักสูง และมีแรงต้านหรือแรงเสียดทานต่ำอย่างมาก เป็นสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้ทอมรับประทานมากยิ่งขึ้น

            ในที่นี้ผู้อ่านจะใช้คำว่าแรงต้านหรือแรงเสียดทานก็ได้ แต่ผมจะขอใช้คำว่าแรงเสียดทานเนื่องคำว่าต้าน ฟังดูเหมือนต้านได้แบบสมบูรณ์ เหมือนเหยียบเบรกรถแล้วรถหยุดทันที ในขณะที่เสียดทานฟังดูเหมือน ชะลอหรือต้านได้แบบไม่สมบูรณ์ (รถยังคงไหลไปได้เล็กน้อย) อย่างไรก็ตามทั้งสองอย่างก็มีบทบาทสำคัญในชีวิตทางโลกของเรา อย่างตอนที่เหยียบเบรกขณะขับรถ จุดไม้ขีดไฟ หรือเดินบนถนน เราพึ่งพาแรงเสียดทานนี้ นอกจากนั้นมันยังมีบทบาทในความคิดทางเศรษฐกิจ เป็นแรงที่จะชะลอการใช้จ่ายหนือการทำธุรกรรมของผู้บริโภค

            เลวินเรียกว่ากลไกดังกล่าวนี้ว่า ทฤษฎีสนามพลัง (Force Field) เป็นแนวคิดที่มองว่าสภาพแวดล้อมมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายควบคุมยาสูบหรือการมีสถานที่ที่ห้ามสูบบุหรี่จำนวนมาก เป็นแรงเสียดทานในการสูบบุหรี่  อย่างไรก็ตามสภาพแวดล้อมหรือบริบทก็สามารถผลักดันให้ประชาชนสูบบุหรี่ได้มากขึ้นโดยลดแรงเสียดทาน (แรงผลักจำนวนมาก) ยกตัวอย่างเช่น การอยู่กับกลุ่มเพื่อนที่สูบบุหรี่จัด หรือการทำงานในสถานที่ที่สามารถสูบบุหรี่ที่ไหนก็ได้ 

ดังนั้นทุกอย่างมันจึงขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและพลังงาน (แรงเสียดทานและแรงผลัก)

            ในทฤษฎีสนามพลัง เลวินมองว่าเราทุกคนเป็นแหล่งที่มาของพลังงาน ในขณะที่บริบทหรือสภาพแวดล้อมก็เป็นพลังงานที่จะเป็นแรงผลักให้เกิดพฤติกรรม หรือเป็นแรงเสียดทานที่จะชะลอการเกิดพฤติกรรม หากแรงผลักมากขึ้น แรงเสียดทานน้อยลง เราก็จะเกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์มากขึ้น ในขณะเดียวกันหากสภาพแวดล้อมมีแรงผลักน้อย มีแรงเสียดทานมาก เราก็จะแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์น้อยลงหรืออาจไม่แสดงออกมาเลยก็ได้เช่นกัน ผมจะยกตัวอย่างผู้หญิงคนหนึ่งที่ตั้งใจจะลดความอ้วนอย่างจริงจัง เธอประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงต้น เธอสามารถลดความหวาน และอาหารที่มีไขมันได้เยอะมาก

            จากภาพดังกล่าว ผู้หญิงคนนี้เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมทั่วไปอย่างเช่นที่บ้านหรือหอพัก แรงผลัก และแรงเสียดทานอาจจะเท่ากัน ระหว่างที่เธอจะต้องตัดสินใจว่าจะกินเค๊กชิ้นนี้ดีหรือไม่ เธอก็อาจจะสามารถยับยั้งชั่งได้ และหากเธอสามารถลดหรือเลิกกินเค๊กได้ เธอก็จะประสบความสำเร็จกับการลดความอ้วน แต่ในทางกลับกันหากเธอไปอยู่ที่งานปารตี้แห่งหนึ่ง ที่มีเค๊กแสนอร่อยจำนวนมาก เครื่องดื่มนับไม่ถ้วน รวมไปถึงบรรยากาศที่แสนจะสนุกล่ะจะเป็นอย่างไร

            ด้วยสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยอาหาร เครื่องดื่ม และบรรยาการศที่สนุกสนานย่อมเป็นแรงผลักที่จะกระตุ้นให้เธอตัดสินใจว่าจะกินของหวานจนหนำใจ หรือเลือกที่จะอดทนไม่กินเพื่อเป้าหมายในการลดน้ำหนักของเธอ ผู้อ่านสามารถสังเกตได้จากลูกศรตรงแรงผลักที่มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมไปถึงแรงเสียดทานที่มีขนาดลดลง นั้นจึงเป็นแรงจูงใจให้เธอตัดสินใจเอนเอียงไปทางรับประทานมากขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นกับเราทุกคนอย่างแน่นอน ลองนึกถึงประสบการณ์ของตัวเองหรือเพื่อนคนใดคนหนึ่งที่ตั้งใจจะดื่มถึงแค่ 4 ทุ่ม หรือจะดื่มเพียงไม่กี่ขวด แต่กลับลงเอยด้วยการตื่นมาภาพตัด มึนงง และจำอะไรไม่ได้เลย

            ดังนั้นหากเราต้องการที่จะควบคุมน้ำหนัก เราจะต้องขจัดเงื่อนไขที่จะพาตัวเองเข้าสู่บริบทหรือสภาพแวดล้อมที่มีแรงผลักจำนวนมากและมีแรงเสียดทานน้อย เช่น การไปกินบุฟเฟ่ต์ การไปดื่มกับเพื่อน หรือการไปงานเลี้ยง นอกจากนั้นเรายังสามารถลดแรงผลักในบ้าน โดยการนำสิ่งของที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพออกจากตู้เย็นหรือนำออกจากบ้านไปเลย และเก็บอาหารที่ดึต่อสุขภาพเอาไว้แทนเพื่อเป็นการเพิ่มแรงเสียดทาน เมื่อเราเกิดหิวขึ้นมา 

            ไม่เพียงแค่นั้นเราสามารถประยุกต์ใช้กลยุทธ์ดังกล่าวในทิศทางอื่นนอกเหนือจากการลดน้ำหนักได้ ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการจะนอนหลับสบาย แต่เรามีพฤติกรรมที่ชอบหยิบ Smart Phone หรือ เปิดคอมพิวเตอร์เล่นก่อนนอน ทำให้มีแสงสีฟ้าเข้าไปในตาส่งผลให้นอนไม่หลับ หากเราต้องการเพิ่มแรงเสียดทาน เราจะต้องวางอุปกรณ์ดังกล่าวเอาไว้ห่าง ๆ มือ หรือปิดไปเลย แล้วถ้าใครชอบไลน์เข้ามาสั่งงานตอนกลางคืนจะต้องพิจารณาดูนะครับว่าควรหรือไม่ เพราะมันจะส่งผลต่อสุขภาพมากกว่าที่เราคิดเอาไว้

ลดแรงเสียดทานทางด้านการเงิน 

            สุดท้ายตามชื่อหัวเรื่องเลย เราสามารถควบคุมการใช้จ่ายของตัวเองได้โดยการเพิ่มแรงเสียดทาน หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ทำให้เราใช้เงินยากมากที่สุด ซึ่งย้อนแย้งกับยุคสมัยนี้ที่ Applications ซื้อขายออนไลน์ต่าง ๆ พยายามจะลดแรงเสียดทานให้มากที่สุด ถึงขนาดที่คำว่า ไร้แรงเสียดทาน (Frictionless) เป็นคำที่ซิลิคอนวัลเลย์นิยมใช้กัน พวกเขาอยากจะให้ Softwares หรือ Applications ของพวกเขาเหมือนกับเวทมนตร์ที่ใช้เพียงไม่กี่ขั้นตอนก็สามารถดึงเงินจากผู้บริโภคได้ 

            ยกตัวอย่างเช่น การสั่งซื้อแบบคลิกเดียวของ Amazon เป็นวิธีง่าย ๆ ในการกำหนดวิธีการชำระเงิน หรืออูเบอร์ที่ในช่วงแรก อดีตหัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจของอูเบอร์ คีธ เฉิน (Keith Chen) อยากให้อูเบอร์เป็น Applications ที่กดเพียงแค่ปุ่มเดียว ซึ่งพวกเขาออกแบบให้ลูกค้ากดเพียงครั้งเดียวแค่ "ฉันต้องการรถ" แล้วรถจะมาถึงทันทีจากนั้นเพียงแค่บอกว่าไปไหน ซึ่งเราจะลงรถแบบที่ไม่เห็นราคาด้วยซ้ำ แต่ในตอนหลังอูเบอร์ได้ปรับเปลี่ยนให้เป็นธรรมกับผู้บริโภคมากขึ้นแล้ว

            เราจะเห็นได้จากโลกออนไลน์ต่าง ๆ มันเป็นสภาพแวดล้อมที่มีแรงผลักจำนวนมาก เช่น โฆษณาต่าง ๆ ใน Facebook หรือ Applications ซื้อของออนไลน์ที่มีสินค้าต่าง ๆ มากมายที่คุณอาจต้องการโผล่ขึ้นมาเต็มไปหมด ไม่เพียงแค่นั้น Applications เหล่านี้ยังพยายามจะออกแบบให้ผู้บริโภคสามารถใช้จ่ายได้อย่างง่ายดาย โดยการให้ผู้บริโภคผูกบัญชีธนาคารของตัวเองเอาไว้เพื่อให้จ่ายได้ง่ายมากขึ้น กล่าวคือ พวกเขาพยายามจะลดแรงเสียดทานของผู้บริโภคในการใช้จ่ายให้มากที่สุด สอดคล้องกับ Amazon หรือ อูเบอร์ช่วงแรกที่ผมยกตัวอย่างไปก่อนหน้านี้

            นอกจากนั้นเรายังกำลังเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ที่เติมเงินเข้าไปในระบบออนไลน์หรือระบบดิจิทัล รวมไปถึงบัตรเครดิต ที่มีสิ่งล่อใจจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น การเก็บแต้ม หรือโปรโมชั่นต่าง ๆ ที่จะไม่มีหากใช้เงินสดแทน เพราะระบบต่าง ๆ พยายามจะเพิ่มแรงผลัก (สิ่งจูงใจ) ให้กับผู้บริโภค นอกจากนั้นยังพยายามจะลดแรงเสียดทานให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ผู้บริโภคใช้จ่ายให้มากที่สุด ดังนั้นหากเราจะต้องการจะเพิ่มแรงเสียดทานในการใช้จ่ายให้มากที่สุด เราจะต้องเพิ่มความยากในการใช้จ่าย โดยการไม่ผูกบัญชีเอาไว้ ไม่ใช้บัตรเครดิต เลือกใช้แต่เงินสดในกรณีที่สามารถใช้ได้

            เพราะการใช้เงินสดเราจะต้องไปกด ATM บ้างหรือจะต้องหยิบออกมานับ รวมไปถึงนับเหรียญอีกต่างหาก ทำให้ยากต่อการใช้จ่าย ซึ่งเป็นเรื่องดีสำหรับเป้าหมายการออมเงิน หรือเราสามารถผูกบัญชีเอาไว้ได้ แต่จะต้องฝากเงินเข้าไปในบัญชีเก็บเงินที่ไม่สามารถนำเงินออกมาใช้ได้โดยง่าย อย่างเช่น บัญชีฝากประจำ ประกันสะสมทรัพย์ หุ้นกู้ หรือกองทุนต่าง ๆ เพราะไม่เพียงแค่เราจะนำเงินออกมาใช้ไม่ได้ แต่ยังมีเงินที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย (ต้องพิจารณาความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ก่อนจะเลือกวิธีการเก็บเงิน) 

สรุป

            หากเรามีเป้าหมายอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการลดน้ำหนัก ควบคุมการใช้จ่าย อ่านหนังสือให้มากขึ้น เราสามารถเพิ่มแรงเสียดทานให้กับสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการวางของที่มีแคลอรี่สูงไว้ห่างมือ หรือนำออกไปจากที่พักอาศัย และแทนที่ด้วยของที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ หรืออาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ ไม่เพียงแค่นั้นเรายังสามารถออกแบบสภาพแวดล้อมที่มีแรงผลักหรือสิ่งล่อใจน้อยลงได้อีกด้วย เช่น การปิด Smart Phone ระหว่างอ่านหนังสือ รวมไปถึงการทำให้ Applications ซื้อของออนไลน์เข้าถึงยากที่สุด โดยย้ายไปโฟลเดอร์ไกล ๆ ที่เข้าถึงได้ยากและพยายามไม่ผูกบัญชีเอาไว้ หรือลบทิ้งไปเลยก็ได้เช่นกัน 

            ไม่เพียงแค่ Applications ต่าง ๆ ที่มีแรงผลักและพยายามจะลดแรงเสียดทานของผู้บริโภคมากขึ้น เพราะยิ่งยุคสมัยเปลี่ยนไปบริบทและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เช่น ร้านค้ารอบตัวเราก็ยิ่งพยายามจะสร้างแรงผลักมากขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น การใช้สีในร้านอาหารเพื่อกระตุ้นให้อยากอาหารมากขึ้น กินเร็วขึ้น การใช้ดนตรีเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าได้มากขึ้น หรือการใช้ดนตรีในร้านอาหารกลางคืนเพื่อให้บรรยากาศสนุกสนานมากขึ้น ไม่เพียงแค่นั้นบางร้านอาหารหรือคาเฟ่ยังมีการตกแต่งร้านเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคผ่อนคลายเพื่อให้สั่งอาหาร เครื่องดื่มมากขึ้น หรืออยากจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง 

            นอกจากนั้นในอนาคตยังมีโลก Metaverse ที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกดิจิทัลมากขึ้น ยิ่งจะเป็นการสร้างบริบทและสภาพแวดล้อมที่มีแรงผลักมหาศาล เพราะในอนาคตเราอาจจะแค่เดินผ่านร้านแล้วสามารถซื้อสินค้าได้ทันทีโดยการกระดิกนิ้วเท่านั้น ดังนั้นเราจะต้องรู้เท่าทันตัวตนที่ไร้เหตุผลของเราเอง และรู้ทันสภาพแวดล้อมที่ยิ่งเวลาผ่านไปจะยิ่งสร้างแรงผลักมหาศาล เพื่อที่เราจะได้วางแผนหรือกลยุทธ์ในการลดแรงเสียดทานสำหรับการ

ลดน้ำหนัก ควบคุมการใช้จ่าย รวมไปถึงเป้าหมายอื่น ๆ 
ที่เราปรารถนาอยากจะให้ประสบความสำเร็จ

อ้างอิง

Kahneman, D. (2013). Thinking Fast and Slow. NY: Farrar, Straus and Giroux.

Wood, W. (2019). Good Habits, Bad Habits: The Science of Making Positive Changes. NY: Farrar, Straus and Giroux.

คาลอส บุญสุภา. (2564). อิทธิพลทางสังคม ที่ทำให้เกิด การคล้อยตาม (Conformity). https://sircr.blogspot.com/2021/10/conformity.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). อิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อพฤติกรรม (Environmental Influences). https://sircr.blogspot.com/2021/10/environmental-influences.html

ความคิดเห็น