เราอยู่ในสังคมแห่งการเสแสร้งที่เต็มไปด้วยหน้ากาก (Positive Illusions)

"พวกเราใส่ใจว่าตัวเองจะต้องดูดี 
มากกว่าเป็นคนดีจริง ๆ"

            เมื่อก่อนผมเคยคิดว่าการมีมุมมองว่าผู้คนทุกคนล้วนใส่หน้ากากเป็นความคิดอย่างมีอคติแบบหนึ่ง เป็นการมองโลกใบนี้ในแง่ร้ายเกินไป จากการมีประสบการณ์ในอดีตที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ เพราะมันเป็นธรรมชาติของสังคมทุกที่ที่ประกอบไปด้วยคนดีและคนไม่ดี แต่เมื่อสะสมประสบการณ์และได้พบเจอสภาพแวดล้อมที่แตกต่างไปเรื่อย ๆ  ก็พบว่าจริง ๆ แล้วเราทุกคนล้วนใส่หน้ากาก และเรากำลังอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยการเสแสร้ง

            ผมอยากให้ผู้อ่านนึกถึงยิมนาสติกสากลที่ต่อตัวเป็นพีระมิด คนที่เหนื่อยที่สุดคือคนที่อยู่ข้างล่างสุดของพีระมิดในขณะเดียวกันคนที่สบายที่ดีสุดจะอยู่ด้านบน หากเราอยากจะสบายขึ้นมาบ้างก็จะต้องพยายามขยับตัวเองขึ้นไป แม้จะต้องมีคนต้องลงไปอยู่ล่างสุดแทนก็ตาม สิ่งนี้เป็นภาพแทนของทุนนิยมอย่างดีที่สุด เราทุกคนปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ดี ไม่ลำบาก และมีความพึงพอใจ จึงทำให้เรามุ่งแข่งขัน บางคนถึงขั้นเอาเปรียบ ชิงดีชิงเด่น อีกทั้งระบอบทุนนิยมยังสอดรับกับสัญชาตญาณที่อยากเป็นคนสำคัญ อยากได้รับการยอมรับ อยากมีคุณค่า จึงทำให้การแข่งขัน เอาเปรียบ ชิงดีชิงเด่นดังกล่าวมันรุนแรงมากขึ้นไปอีก

            เราทุกคนซ้อนความปราถนาที่แท้จริงเอาไว้ มันเกิดมาจากการวิวัฒนาการเพื่อการแข่งขันและการเอาชนะ สัญชาตญาณที่อยากเป็นคนสำสัญ กระหายในการมีคุณค่า เพราะในเมื่อโลกไม่เปิดโอกาสให้เราแสดงตัวตนเบื้องลึกออกมาอย่างเปิดเผย เราจึงจำเป็นต้องปกปิดมันเอาไว้ เก็บมันลงไปในจิตใต้สำนึกทำเป็นไม่รู้จัก ไม่คิดถึงมัน แล้วใส่หน้ากากแห่งความดี ความน่านับถือ หน้ากากที่โชว์เสมอว่าฉันไม่เคยแข่งขันกับใครนอกจากตัวเอง หน้ากากแห่งความจำสั้น ที่ลืมทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเคยทำเลวร้ายลงไป เรากำลังสร้างสังคมแห่งการเสแสร้งขึ้นมา

การเสแสร้งโดยใส่หน้ากากแห่งการเป็นคนดี

            การเสแสร้ง คือการแกล้งทำให้เข้าใจเป็นอื่น แกล้งทำไม่ตรงกับใจ ยกตัวอย่างเช่น เราอยากจะเอาชนะใครสักคนเอามาก ๆ รู้สึกไม่ชอบเขาเลยด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง แต่เรากลับใส่หน้ากากเข้าหาทำเป็นจริงใจ เพราะจริง ๆ แล้วเราทุกคนพยายามใส่หน้ากากแห่งการเป็นคนดีเอาไว้ "ฉันไม่เคยแข่งขันกับใคร" หรือ "ฉันปรารถนาดีต่อทุกคน" แน่นอนแม้จะมีคนที่ปรารถนาดีต่อคนอื่นแต่เป็นไปไม่ได้ที่เราจะดีกับทุกคน ด้วยสัญชาตญาณ ด้วยสภาพแวดล้อมที่กำหนดพฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์เอาไว้

            มันไม่ได้แตกต่างกับการปากว่าตาขยิบ ซึ่งหมายถึงการที่เราทำบางสิ่งบางอย่างที่มันดูแย่ แต่เรากลับหาข้อแก้ตัวต่าง ๆ มาให้มันดูดี ยกตัวอย่างเช่น รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี พ่อแม่หรือครูหลายคนที่ทำโทษเด็กอย่างรุนแรงแต่กลับบอกว่ารัก ซึ่งสอดคล้องกับอาการปากว่าตาขยิบทางศีลธรรม ที่หมายถึง พฤติกรรมที่บุคคลเที่ยวบอกกับคนอื่นว่าตัวเองมีศีลธรรมที่สูง (สูงกว่าค่าเฉลี่ย) แต่ในความจริงกลับมีพฤติกรรมที่ไม่ต่างกับคนทั่วไปหรือต่ำกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย) ในหนังสือ The Righteous Mind โจนาธาน เฮดต์ (Jonathan Haidt) ได้ยกคำกล่าวของ กลาวคอน (Glaucon) พี่ชายของเพลโต เขากล่าวว่า "พวกเราใส่ใจว่าตัวเองจะต้องดูดี มากกว่าเป็นคนดีจริง ๆ"

            เราเห็นตัวอยากมากมายในข่าวการเมืองปัจจุบัน ผู้มีอำนาจใส่หน้ากากแห่งความดี มีศีลธรรมเหนือคนอื่น ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง แต่ใช้การยึดอำนาจทางการเมืองจนทำให้เศรษฐกิจต้องถดถอยลง มีคนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน นอกจากนั้นผู้มีอำนาจยังสั่งการกระทำรุนแรงกับผู้ต่อต้านและสั่งจับพวกเขาไปเข้าคุก อย่างไรก็ตาม หน้ากากแห่งการเป็นคนดีอาจจะใส่โดยเจตนา หมายถึง เรารู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่ทำมันผิด แต่ก็ใช้ข้ออ้างว่าทำด้วยเจตนาดี 

            แต่โดยส่วนมากแล้วเราทุกคนต่างใส่หน้ากากแห่งการเป็นคนดี โดยที่เราไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ เราแทบจะไม่ได้ตระหนักเลยว่าเรามีเจตนาที่ไม่ดีอย่างไรบ้าง เพียงแต่เรามองว่าสิ่งที่เราทำไปคือสิ่งที่ถูกต้องและดีอยู่เสมอ แม้เราจะแสดงออกแย่มากในสายตาคนอื่น ๆ ก็ตาม นิกโกเลาะ มาเกียเวลี (Niccolò Machiavelli) นักเขียน นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงเคยกล่าวไว้ว่า "มนุษยชาติส่วนใหญ่พึงพอใจกับภาพลักษณ์ที่ปรากฎ ราวกับภาพพวกนั้นเป็นความจริง และมักตกอยู่ใต้อิทธิพลของสิ่งต่าง ๆ ที่ดูเหมือนเป็นเช่นนั้นยิ่งกว่าที่มันเป็นจริง" 

            ยกตัวอย่างในช่วงทศวรรษที่ 1930 เป็นต้นมา นาซีได้เริ่มบัญญัติกฎหมายลิดรอนสิทธิของชาวยิว อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)โยนความผิดพลาดทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเยอรมนีไปที่ชาวยิว ซึ่งกฎหมายเหล่านั้นห้ามมิให้ชาวยิวเข้าไปเรียนในสถานศึกษาของรัฐ บังคับให้มอบทรัพย์สินเงินทองแก่รัฐ และกำหนดให้พวกเขาต้องติดดาวสีเหลืองไว้กับตัว ชาวยิวทุกคนจะถูกต้อนจับแล้วบังคับให้ไปอยู่ในเขตชุมชนแออัดของเมือง ซึ่งกลายเป็นสถานที่จองจำสำหรับพวกเขา อาหารขาดแคลนและชีวิตยากลำบาก จนไปสู่แผนการครั้งสุดท้าย (Final Solution) ของฮิตเลอร์ คือการสังหารชาวยิวทั้งหมด

            อดอล์ฟ ไอช์มันน์ (Adolf Eichmann) คือทหารนาซีระดับสูงที่ดูแลการขนย้ายชาวยิวในยุโรปไปยังค่อยกักกันที่โปแลนด์ รวมทั้งค่ายเอาชวิทซ์ (Auschwitz) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนฆ่าชาวยิวทุกชีวิตที่อาศัยอยู่บนพื้นดิน ไอช์มันน์ซึ่งเป็นทหารนาซีระดับสูงนั่งจัดกองเอกสารอยู่ในสำนักงานและหมุนโทรศัพท์ติดต่อเรื่องสำคัญ ๆ และจัดการระบบรถไฟให้วิ่งตรงเวลา ทำให้รถบรรทุกสามารถบรรทุกชาวยิวเต็มเสมอ ซึ่งมีทั้งผู้ชาย ผู้หญิงและเด็ก พวกเขาต้องเผชิญกับการเดินทางอันยาวนานและทุกข์ทรมานไปสู่ความตาย

            ครั้งหนึ่ง อันนาห์ อาเรนท์ (Hannah Arendt) นักปรัชญาชาวเยอรมันเชื้อสายยิวที่อพยพไปอยู่สหรัฐอเมริกา เธอได้สัมภาษณ์ อดอล์ฟ ไอช์มันน์ เธอพบว่าเขาผิดกับนาซีคนอื่น เขาไม่ได้เกลียดชาวยิวเข้ากระดูก เพราะมีนาซีจำนวนมหาศาลยินดีที่จะทุบตีชาวยิวให้ตายคาถนน หากชาวยิวคนนั้นไม่กล่าวทักทายด้วยวลี "ไฮล์ ฮิตเลอร์" เขาไม่ใช่หนึ่งในนั้น แต่เขาก็ทำหน้าที่ทางการของนาซีและยอมรับมัน ที่แย่ยิ่งไปกว่านั้น ไอช์มันน์ไม่ได้คิดว่าสิ่งที่ตัวเองมันผิดอะไรเลย เพราะเขาไม่ได้ฆ่าใครตาย เขาไม่ทำผิดกฎหมาย 

            จากตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมาผู้อ่านคงจะเห็นภาพอย่างชัดเจนว่า อดอล์ฟ ไอช์มันน์ ไม่ได้คิดว่าตัวเองทำในสิ่งที่ผิดเลย เขาทำตามกฎหมายทุกอย่างของนาซี และทำตามคำสั่งของฮิตเลอร์ซึ่งเป็นประมุขในขณะนั้น กล่าวคือ ไอช์มันน์ เสแสร้งโดยการใส่หน้ากากแห่งความดีโดยที่เขาก็ไม่ตระหนักถึงความจริงที่ว่า มีมนุษย์เสียชีวิตเป็นจำนวนหลายล้านคน เช่นเดียวกัน อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก็อ้างถึงความถูกต้องและความชอบธรรมในการทำสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ แม้ว่าจะต้องทำลายชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนจำนวนมากแค่ไหนก็ตาม

ภาพลวงตาทางบวก (Positive Illusions)

            การเสแสร้งใส่หน้ากากแห่งความดีสามารถวิเคราะห์ทางจิตวิทยาได้หลายทฤษฎีไม่ว่าจะเป็นการใช้กลไกป้องกันตนเอง (Defense Mechanisms) หรือการใช้อคติเพื่อเข้าข้างตนเอง แต่ก็มีแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจสามารถนำมาอธิบายได้ นั่นคือ ภาพลวงตาทางบวก (Positive Illusions) กล่าวคือ อดอล์ฟ ไอช์มันน์ (Adolf Eichmann) ต่างก็ทำสิ่งที่เลวร้ายมาก แต่เขามีภาพลวงตาทางบวกว่าเขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง ถูกกฎหมาย หรือแม้แต่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ก็คิดว่าตัวเองกำลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง

            ไอช์มันน์ถูกสอนให้รักษากฎหมายและอบรมให้ทำตามคำสั่ง และทุกคนรอบตัวก็ทำสิ่งที่เขาทำเช่นเดียวกัน การรับคำสั่งจากคนอื่นทำให้เขาหลีกเลี่ยงที่จะรู้สึกว่าตัวเองต้องรับผิดชอบต่อผลลัพธ์จากงานประจำวันของเขาที่ดูแลการขนส่งชาวยิวไปตายอย่างทุกข์ทรมาน เขาไม่ได้ต้องพบเห็นคนถูกรวบขึ้นรถบรรทุกสัตว์ หรือต้องไปที่ค่ายกักกัน ยิ่งไปกว่านั้นเขายังบอกกับศาลหลังจากที่เขาถูกจับกุมว่าเขาไม่สามารถเป็นหมอได้เพราะเขากลัวเลือด

            ไม่เพียงแค่เรามีภาพลวงตาทางบวกกับพฤติกรรมของเราเพียงอย่างเดียว แต่เรายังมีภาพลวงตาทางบวกในภาพรวมเกี่ยวกับตัวเองด้วย เรามักจะมองว่าเราเป็นคนดีกว่าคนอื่น ๆ ซึ่งช่วยให้เราสบายใจและรู้สึกดีกับตัวเอง แต่ในเวลาเดียวกันอคตินี้ก็ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองสมควรได้รับอะไร ๆ มากกว่าที่ได้อยู่ ยกตัวอย่างเช่น เราคิดว่าตัวเองทำงานหนักกว่าคนอื่นจึงสมควรจะได้รับเงินเดือนมากกว่า และจะรู้สึกโกรธ อิจฉาอย่างมากที่คนอื่นได้เงินเดือนเยอะกว่าเราทั้ง ๆ ที่เขาทำงานน้อยกว่า สำคัญน้อยกว่า แม้ว่าความจริงอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้นก็ตาม

หน้ากากที่เราใส่ไม่เพียงแต่บิดเบือนสายตาของผู้อื่นที่มองเรา แต่ยังบิดเบือนสายตาของเราต่อความเป็นจริงด้วย

เราจะถอดหน้ากากออกได้อย่างไร

            ด้วยอคติ ภาพลวงตา และกลไกการป้องกันตัว มันทำให้เราทุกคนเหมือนมีหน้ากากเพื่อปกปิดความจริงเอาไว้จากสายตาของผู้อื่น ไม่เพียงเท่านั้นมันยังบิดเบือนความจริงจากสายตาของเราด้วย เราอยากให้คนอื่นสนใจ อยากมีคุณค่า เราจึงใส่หน้ากากในแบบที่สังคมยอมรับ ในขณะเดียวกันหน้ากากนั่นมันก็หลอกตัวเราเองด้วย มันทำให้เราค่อย ๆ หลุดออกจากความจริง หลุดออกจากการเป็นตัวของตัวเอง นอกจากนั้นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยังกัดกินหัวใจของเรา เปลี่ยนแปลงเรากลายเป็นเครืองจักรที่มีชีวิตอย่างว่างเปล่า

            เมื่อเราตระหนักอย่างไม่รู้ตัวว่า "เรามันไม่มีค่า" และ "ไม่มีความหมาย" เราจึงแสดงพฤติกรรมที่แย่ต่อคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น ใช้อำนาจในการกดขี่คนอื่น ทำตัวเป็นสารพิษ (Toxin) ที่ทำให้สภาพแวดล้อมรอบตัวเลวร้ายไปเรื่อย ๆ เขาไม่ได้ตั้งใจหรอกครับ เพียงแต่มันเป็นความปรารถนาที่อยากจะมีค่า มีความหมาย แต่แสดงออกอย่างผิด ๆ ยิ่งเราใส่หน้ากากนานขึ้นกำแพงที่ขวางกั้นเราจากความจริง ก็จะเรื่มหนาขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเราอาจจะไม่สามารถถอดมันออกมาได้เลย

            ดังนั้นวิธีการที่จะถอดหน้ากากได้ก็คือ การตระหนักถึงความจริงให้มากที่สุด การเข้าใจว่าโลกนี้เป็นอย่างไร เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ในบางมุม การที่เราเข้าใจความจริงให้มากที่สุด จะสามารถทำให้เรายอมรับความจริงเกี่ยวกับตัวเองได้ เพราะว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะทำตัวยิ่งใหญ่อยู่เหนือคนอื่น ทั้ง ๆ ที่ในความจริงเราก็ตัวเล็กจิ๋วอย่างมากถ้าเทียบกับจักรวาล เราจึงควรถ่อมตัวต่อกันและกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัย นึกถึงจิตใจคนอื่นที่เป็นเพื่อนร่วมโลกของเรา เพื่อให้โลกนี้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น

            นอกจากเราจะต้องตระหนักถึงความจริงของสิ่งต่าง ๆ แล้วเราสามารถสังเกตข้อผิดพลาด ความอ่อนแอ ความขัดแย้ง เห็นความอยากมีคุณค่าและอยากมีควาหมายภายในตัวเราเอง โจนาธาน เฮดต์ (Jonathan Haidt) ได้อธิบายว่า "เวลาคุณมองหาข้อผิดพลาดในตัวเอง มันจะเจ็บแค่ครู่เดียว แต่ถ้าคุณมองหาต่อไปจนรับรู้ความผิดพลาด คุณจะได้รับรางวัลเป็นความรู้สึกยินดีผสมผสานไปกับความภาคภูมิใจอย่างประหลาด มันคือความสุขที่เกิดจากการรับผิดชอบในพฤติกรรมของคุณเอง มันคือความรู้สึกมีเกียรติ"

เพราะสุดท้ายแล้วคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ของชีวิตมนุษย์คือการดำรงชีวิตอย่างมีเกียรติและแตกต่าง

            อย่างไรก็ตามเมื่อถึงวันที่เราสามารถตระหนักรู้ถึงความจริงพอได้บ้าง แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าคนรอบข้างจะตระหนักได้เหมือนกับเรา ในหนังสือ The Midnight Library ที่เขียนโดย แมตต์ เฮก (Matt Haig) ตัวละครหลัก นอรา ซีด ตระหนักได้ว่า "ต่อให้คุณซื่อตรงมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในชีวิต แต่ผู้อื่นจะเห็นความจริงก็ต่อเมื่อมันใกล้เคียงกับความจริงของพวกเขามากพอ เหมือนกับที่ธอโรเขียนไว้ว่า สิ่งที่เธอมองไม่ใช่เรื่องสำคัญ สิ่งที่เธอเห็นต่างหากที่สำคัญ" 

            ดังนั้นอย่าไปใส่ใจว่าคนรอบตัวจะใส่หน้ากากแบบใด มีเจตนาเลวร้ายมากน้อยแค่ไหน ขอให้เราตระหนักถึงความจริงที่ว่ามนุษย์ทุกคนล้วนใส่หน้ากาก เพื่อที่เราจะได้คอยสำรวจตัวเองว่า "เรากำลังใส่หน้ากากอะไรอยู่" เพราะเราไม่สามารถถอดหน้ากากออกได้ทุกเวลา เราสามารถถอดได้ก็ต่อเมื่อเรากำลังใช้สติในการคิดอยู่เท่านั้น ซึ่งมนุษย์มีธรรมชาติที่จะใช้อารมณ์ดำเนินชีวิตไปตามความเคยชินมากกว่า ทำให้แต่ละวันเราใช้สติน้อยเหลือเกิน (การฝึกสติจะช่วยยืดเวลาและความไวในการตระหนักรู้ได้)

            การหาข้อผิดพลาดของตัวเองจึงเป็นกุญแจที่จะรู้เท่าทันพฤติกรรมเสแสร้งและสามารถอดหน้ากากออกมาได้ และเมื่อเรามองเห็นความจริงมากขึ้น ความโกรธจะเบาบางลง อาจเพียงเล็กน้อย แต่ก็มากพอที่เราจะรับรู้ถึงเจตนาของอีกฝ่ายมากขึ้น อย่างที่ผมกล่าวเอาไว้เราจะสามารถก้าวออกจากเกมปั่นหัวทางสังคมแบบโบราณที่ถูกกระบวนการวิวัฒนาการกล่อมเกลาให้มีธรรมชาติแบบนั้น เมื่อมองเห็นความจริงด้วยตาของตัวเอง เราจะมีอคติน้อยลง ยึดมั่นในความดีจอมปลอมน้อยลง 

สุดท้ายเราจะสามารถถอดหน้ากาก 
ที่เต็มไปด้วยความเสแสร้งออกไปได้

อ้างอิง

Haidt, J. (2013). The Righteous Mind: Why Good People Are Divided by Politics and Religion NY: Vintage.

Haig, M. (2020). Midnight Library. NY: Viking

Warburton, N. (2012). A Little History of Philosophy. CT: Yale University Press.

คาลอส บุญุสุภา. (2564). อาการปากว่าตาขยิบทางศีลธรรม (Moral Hypocrisy). https://sircr.blogspot.com/2021/08/moral-hypocrisy.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). กลไกการหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization). https://sircr.blogspot.com/2021/08/rationalization.html

ความคิดเห็น